Skip to main content
sharethis

เราเริ่มตระหนักกันมากยิ่งขึ้นว่า ไม่ใช่แค่ตัวเราที่แก่ขึ้นทุกวันตามกาลเวลา แต่ว่าสังคมไทยที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ กำลังจะเปลี่ยนไปในแบบที่เรียกกันว่า สังคมผู้สูงอายุ

เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนาจนยื้ออาการป่วยให้คนตายช้าลง และทั้งเพราะอัตราการเกิด ที่มีแนวโน้มลดลง และน่าจะลดลงยิ่งขึ้นอีกในอนาคต สิ่งเหล่านี้ทำให้เราพอจินตนาการภาพในอนาคตได้ว่า สังคมรอบตัวเราจะรายล้อมด้วยผู้สูงวัยในสัดส่วนที่มากกว่าเด็กวัยรุ่น คนทำงาน อย่างแน่นอน

สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อมูลว่า ในปี 2550 สังคมไทยมีผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากร หรือราว 7 ล้านกว่าคน และประมาณการณ์ว่า ในอีก 40 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุร้อยละ 16.96 หรือราว 22 ล้านคน

การวางแผนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุว่า สมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคมนี้จะมีชีวิตบั้นปลายด้วยสวัสดิภาพในชีวิตแบบไหนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการวางแผนระยะยาว ในวันนี้จึงมีหลายฝ่ายออกมาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “หลักประกันชราภาพ” หรือ “บำนาญชราภาพ”

ประกันสังคม
ระบบประกันสังคม เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นระบบที่บังคับให้คนวัยทำงานทุกคนต้องจ่ายประกันสังคมทุกเดือน เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ได้แก่ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และรวมถึงชราภาพ

โดยหลักการแล้ว กองทุนประกันสังคมออกแบบมาให้มี 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) นายจ้าง และรัฐ โดยทั้งสามฝ่ายนี้จะลงขันกันเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ทดแทน ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของชีวิต

เมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปี จะได้รับเงิน “บำนาญ” จำนวนร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ยในช่วง 60 เดือนสุดท้าย สำหรับกรณีที่เป็นผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบมาน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็น “บำเหน็จ” ตามจำนวนเงินสมทบที่จ่ายไปในส่วนของประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้กองทุนประกันสังคมจะมาจากการร่วมจ่ายของ 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ แต่สำหรับสิทธิประโยชน์ในส่วนของกองทุนชราภาพ เป็นข้อยกเว้นที่รัฐไม่ได้เข้ามาร่วมจ่ายด้วย

และที่สำคัญ กองทุนประกันสังคมมีปัญหาใหญ่ คือ แม้จะเป็นระบบที่บังคับตามกฎหมาย แต่รัฐยังไม่สามารถทำให้คนจำนวนมากเข้าสู่ระบบได้ เพราะยังมีแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีราวร้อยละ 60 ของประชากรวัยทำงาน หรือราว 24 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทุนประกันสังคม

เบี้ยยังชีพ
แต่เดิม รัฐไทยมี “เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ” ให้เงินยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล

จนเมื่อเมษายน 2552 นี้เอง รัฐบาลประชาธิปัตย์ริเริ่มนโยบาย “เบี้ยยังชีพ” ที่ให้เงินจำนวน 500 บาทแก่ผู้สูงอายุทุกคน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนจนรายได้ไม่พอเท่านั้น โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล


กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

เรื่องการออมที่สนับสนุนโดยภาครัฐ เป็นแนวคิดใหม่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวนิช กำลังผลักดันให้เกิดขึ้น บนหลักการว่า เราทุกคนที่อายุ 20-60 ปี เริ่มออมตั้งแต่วันนี้เดือนละ 100 บาท รัฐจะร่วมจ่ายให้เดือนละ 50-100 บาท

ในเบื้องต้น แนวคิดการออมแห่งชาติ เปิดให้การเข้ากองทุนเป็นไปแบบสมัครใจ แต่มีเงื่อนไขว่า คนที่เข้ากองทุนจะต้องไม่ได้ซ้ำซ้อนกับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสวัสดิการของข้าราชการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นกองทุนที่เปิดให้แก่แรงงานนอกระบบโดยเฉพาะ เพราะแรงงานในระบบถูกบังคับตามกฎหมายให้จ่ายกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว

หากแนวคิดนี้ได้รับการผลักดันเป็นกฎหมายจริง คาดการณ์ว่าเมื่อผู้ที่ออมในกองทุนนี้อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 1,710 บาท และบวกกับเงินที่ได้จากเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท ผู้สูงอายุจะได้เงินเดือนละ 2,200 บาท

ทั้งนี้ การออมในกองทุนนี้จะสะสมเงินในรูปแบบบัญชีส่วนบุคคล ใช้สูตรคำนวณอนาคตของกองทุนไว้ที่อายุเฉลี่ย 80 ปี ซึ่งหากผู้ออมเสียชีวิตเร็ว เงินที่สะสมไว้สามารถมอบให้แก่ทายาทได้ จุดนี้ตรงกันข้ามกับระบบประกันสังคมที่เป็นบัญชีรวมของทุกคนหรือที่เรียกกันนว่าระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

อย่างไรก็ตาม มีคำถามต่อการดำเนินงานของกองทุนนี้ว่า หากมองว่าหลักประกันชราภาพเป็นอีกหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล ทำไมรัฐจึงเลือกที่จะไม่สมทบเงินส่วนชราภาพเข้าไปในกองทุนประกันสังคมด้วย หรือทำไมไม่แก้ปัญหาของระบบประกันสังคมให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงได้ และแก้ปัญหาเรื่องที่สวัสดิการรัฐยังไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกรูปแบบอย่างเท่าเทียมกัน

หลักประกันชราภาพ
อาจอธิบายความหมายของ “หลักประกันชราภาพ” อย่างสั้นๆ เร็วๆ ได้ว่า เป็นภาคต่อฉบับสมบูรณ์ของ “เบี้ยยังชีพ” ที่มองเงินบำนาญเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทุกคน และเบี้ยยังชีพเพียงจำนวน 500 บาท เป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้

ภาคประชาชนเสนอแนวคิดว่า รัฐไทยควรมีหลักประกันชราภาพ โดยออกแบบกองทุนให้มีกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนด้วย และมีหลักการคำนวณเงินบำนาญโดยอิงจากเส้นความยากจน และอัตราเงินเฟ้อในอนาคต โดยมีข้อเสนอว่า ประชาชนทุกคนเมื่อถึงวัย 60 ปี จะได้รับบำนาญราวเดือนละ 1,500 บาท อย่างทั่วถึงทุกคนโดยเท่าเทียมกันโดยไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นคนรวยหรือจน

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ถูกตั้งคำถามว่า แล้วคลังจะเอาเงินมาจากที่ไหน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้ล่าสุดรัฐบาลผลักดันเรื่องการออมออกมาแทน หรือให้คนหนุ่มสาวช่วยกันออมในวันนี้ เพื่อผู้สูงอายุ และเพื่อตัวเองในวันข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทย ปัญหาแรงงานนอกระบบเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในภาวะความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งอาจจำเป็นต้องคิดเผื่อว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถออมได้

สำหรับภาคประชาชนแล้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มองการผลักดันเรื่องหลักประกันชราภาพ ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อรัฐสวัสดิการ ซึ่งยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องผลักดันควบคู่หรือปฏิรูปทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดช่องว่างในการกระจายรายได้ การปฏิรูประบบภาษี โดยอยู่ระหว่างการผลักดันและระดมความเห็น (อ่านเพิ่มเติม: หลักประกันชราภาพ บำนาญพื้นฐาน ไม่บังคับออม ไม่บังคับจน)

กองทุนชุมชน
มีหลากข้อเสนอที่มองเห็นอนาคตว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นอีกทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้มีบางชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีกลไกกองทุนชุมชน และมีบำนาญชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งกองทุนเหล่านี้มักมีลักษณะไม่เป็นทางการ และเกิดจากการเข้าร่วมโดยสมัครใจ

ในส่วนนี้ กระทรวงการคลังผู้ผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ก็คาดการณ์ไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐจะร่วมจ่ายสมทบในกองทุนชุมชน ในส่วนของชุมชนที่มีแนวทางจัดการที่ชัดเจนและมีผู้นำที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี แนวคิดกองทุนชุมชนเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและเป็นเสน่ห์เฉพาะของแต่ละชุมชน ซึ่งอาจจะไม่สามารถใช้กำหนดเป็นเรื่อง “หลักประกัน” ในระดับนโยบายของคนทั้งประเทศได้ เพราะชุมชนที่เข้มแข็งไม่ได้มีทั่วไป หรือแม้แต่มีความเข้มแข็ง แต่อาจไม่มีความเป็นถาวร

 

iLaw ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ อยู่ระหว่างการระดมความเห็นเรื่อง การสร้างหลักประกันชราภาพ ในฐานะที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานของชีวิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ หลักประกันชราภาพ บำนาญพื้นฐาน ไม่บังคับออม ไม่บังคับจน และร่วมแสดงโหวตความเห็นเรื่อง รัฐควรทำอะไรเพื่อให้เกิดสวัสดิการชราภาพ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net