Skip to main content
sharethis

อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องวันที่ 14 มิ.ย. นี้ คดีที่ณัฐพล เมฆโสภณ นักข่าว ‘ประชาไท’ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวอิสระ และนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ นักกิจกรรมการเมือง ถูกกล่าวหาสนับสนุนการพ่นสีกำแพงวัง 

 

9 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (9 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 9.55-11.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก 'เป้' ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว ‘ประชาไท’ 'ยา' ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวอิสระ และนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมการเมือง เดินทางมาพบอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง นัดส่งสำนวนอัยการ คดี “สนับสนุน เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน” จากการติดตามรายงานข่าวการทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อ 28 มี.ค. 2566

ภาพ ณัฐพล เมฆโสภณ, ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ และนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ (จากซ้ายไปขวา ภาพโดยแมวส้ม) 

พร้อมกันนี้ ณัฐพล เมฆโสภณ และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เพราะในวันเกิดเหตุทั้งสองคนไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าว จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น ตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศให้การรับรอง

สำหรับหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีมีเนื้อหาคำร้องโดยสรุปดังนี้

ตามที่พนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ได้แจ้งข้อกล่าวหากับเป้และยา ในความผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหาย ทำลายให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏข้อความ หรือภาพบนกำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ และยายังถูกแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองคนไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา และการสั่งฟ้องคดีนี้ ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน

ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ ยา ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ทำงานเป็นช่างภาพของสำนักข่าวสเปซบาร์ (Space Bar) รับจ้างถ่ายภาพตามที่มีผู้ว่าจ้าง ส่วนเป้ ผู้ต้องหาที่ 2 ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไท ซึ่งได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวในเหตุการณ์ดังกล่าว

ผู้ต้องหาทั้งสองคนขอยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าว ไม่ได้ไปมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

การไปปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวของผู้ต้องหาทั้งสองในวันเกิดเหตุเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตามหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 35  และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)  ที่ได้รับรองหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกไว้ในข้อบทที่ 19 วรรคสอง “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

ด้วยเหตุดังกล่าวการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามที่ถูกพนักงานสอบสวนกล่าวหา การสั่งฟ้องหรือดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสองคนจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน และจะมีผลกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของประเทศ เพราะจะเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ และจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้สื่อข่าว หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนและสังคมไม่กล้าที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นเช่นนี้อีก 

หลังจากยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการแล้ว ทางอัยการได้นัดฟังคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในวันที่ 14 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00 น.

สำหรับก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า สองนักข่าวถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนถูกนำตัวไปที่ สน.พระราชวัง เพื่อทำบันทึกจับกุม หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งสองถูกแยกคุมขังที่ สน. ฉลองกรุง และ สน.ทุ่งสองห้อง ตามลำดับ เป็นเวลา 1 คืน 

ต่อมา วันที่ 13 ก.พ. 2567 พนักงานสอบสวนนำตัวทั้งสองมาขอฝากขังต่อศาลอาญา ก่อนศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ด้วยหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก

ซึ่งในวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา นภสินธุ์ ซึ่งทราบว่ามีหมายจับในคดีเดียวกันได้เดินทางไปให้กำลังใจนักข่าวทั้ง 2 คนที่ศาลอาญาฯ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าเขาตั้งใจมาแสดงตัว ไม่ได้หลบหนี ก่อนถูกตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับในช่วงเย็น ทำให้นภสินธุ์ กลายมาเป็นผู้ต้องหาที่ 3 ในคดีเดียวกันนี้ และได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังในวันต่อมา โดยวางหลักทรัพย์ประกัน และมีเงื่อนไขประกันห้ามกระทำผิดซ้ำ

นอกจากนี้ ศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือบังเอิญ นักกิจกรรมการเมือง และศิลปินอายุราว 25 ปี มีนัดสืบพยานที่ศาลอาญา รัชดาฯ วันที่ 28 พ.ค.นี้ จากกรณีถูกกล่าวหาละเมิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากการทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พ่นสีสเปรย์ยกเลิกมาตรา 112 และสัญลักษณ์ ‘อนาคิสต์’ หรืออนาธิปไตย ที่กำแพงพระบรมมหาราชวังในวันที่ 28 มี.ค. 2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net