Skip to main content
sharethis

สหประชาชาติเตรียมจัดประชุมสุดยอดวิกฤตโลกร้อนในวันที่ 23 ก.ย. นี้ ในขณะที่ จนท.ยูเอ็นวางแผนงานปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นักกิจกรรมทั่วโลกก็วางแผนประท้วงในเรื่องโลกร้อน สิ่งที่ดูจะเป็นความหวังและแรงบันดาลใจของพวกเขาคือชัยชนะของชาวเคนยาที่เพิ่งสามารถต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สำเร็จเมื่อไม่นานนี้หลังต่อสู้รณรงค์มายาวนานหลายปี

ทั้งนี้ประเทศเคนยานับเป็นชาติบุกเบิกพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ระบบออฟกริด ดังนั้นการเลือกใช้พลังงานถ่านหินถึงเป็นเรื่องที่น่ากังขาในเคนยา

ธงชาติเคนยา ที่มา: Pumbaa80/Wikipedia

บทความใน Foreign Policy In Focus นำเสนอเรื่องชัยชนะของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในเคนยา หลังจากที่ศาลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเคนยาตัดสินให้ยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 1,050 เมกะวัตต์จากบริษัทอามูในพื้นที่เมืองลามูซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกบนพื้นที่ชายฝั่งของเคนยา

อนิตา พลัมเมอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านแอฟริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดระบุว่าชัยชนะของชาวเคนยาที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องถูกยกเลิกไปในที่สุดนี้เกิดขึ้นจากการจัดตั้งของกลุ่มสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีและได้รับการชื่นชมการนักกิจกรรมต้านโลกร้อนทั่วโลกว่าเป็นความก้าวหน้าในการต่อต้านการใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ

พลัมเมอร์ กำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองของเคนยา จากการที่จีนเข้ามาทำข้อตกลงร่วมด้วย เธอบอกว่าเธอได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมของเคนยาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-เคนยาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเธอ เรื่องนี้ทำให้เธอพบว่าถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะเริ่มถอยห่างจากเทคโนโลยีพลังงานถ่านหินในฐานะเทคโนโลยีที่กำลังจะตาย แต่ทั้งสองประเทศก็ยังคงส่งเสริมการใช้พลังงานถ่านหินในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็มักจะจับมือกับชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นโดยไม่สนใจความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา

เคนยาเป็นประเทศที่เคยบุกเบิกในเรื่องพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ระบบออฟกริด ดังนั้นการเลือกใช้พลังงานถ่านหินถึงเป็นเรื่องที่น่ากังขาในเคนยา

แต่แผนพัฒนาเคนยา 2030 ก็กลายเป็นตัวผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจากบริษัทอามู โดยมีเจ้าของเป็นนักลงทุนเอกชนของเคนยา และมีต่างชาติเข้าร่วมคือธนาคารจีนและบริษัทก่อสร้างจากจีน และมีบริษัท GE รับสัญญาในเรื่องเทคโนโลยีถ่านหินซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็น "ถ่านหินสะอาด"

อย่างไรก็ตามแผนการเหล่านี้ก็ทำให้ชาวเคนยารู้สึกไม่ไว้วางใจ เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นโครงการที่ให้ผลประโยชน์กับคนเฉพาะกลุ่มเป็นพิเศษ เช่น ข้าราชการระดับสูงที่ได้รับผลประโยชน์ขณะที่ประชาชนที่จ่ายภาษีต้องแบกรับภาระ จากกรณีที่ในสัญญาระบุให้บริษัทพลังงานของรัฐบาลจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนเหล่านี้เป็นเวลา 25 ปี ถึงแม้ว่าจะไม่มีความต้องการไฟฟ้าเหล่านี้ก็ตาม

โครงการที่เรียกว่า LAPSSET นั้นมีปัญหาตรงที่ทำเหมือนกับว่าอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์จะเป็นสิ่งที่ใช้การได้ในระยะยาว ทั้งๆ ที่เคนยาก็เป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว พวกเขามีทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา และมีระบบ M-Kopa ที่ถือเป็นนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์สามารถจ่ายไฟให้กับครัวเรือนต่างๆ ในแอฟริกาตะวันออกได้ 750,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ในการบริโภคพลังงานร้อยละ 72 ในเคนยายังนับเป็นพลังงานหมุนเวียนเทียบกับสหรัฐฯ หรือจีนที่มีการบริโภคพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 10 และ 13 ตามลำดับ ทั้งนี้ชาวเคนยากับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติยังลงความเห็นร่วมกันแล้วว่าอนาคตของเคนยาไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากถ่านหินเลยก็ได้

พลัมเมอร์ชี้ว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เคนยาประสบความสำเร็จในการต่อต้านถ่านหินคือการที่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมแบบก้าวหน้า และมีการพิจารณาคดีในเรื่องนีอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการกำกับดูแลอย่างจริงจังจากศาลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนของเคนยาเองก็มีประวัติด้านการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน ทำให้นักกิจกรรมในท้องถิ่นที่ลามูมีปฏิบัติการขับเคลื่อนทันทีที่รัฐบาลประกาศแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลายเป็นการวางรากฐานสู่ชัยชนะ

ถึงแม้ว่าผู้อยู่อาศัยในลามูจะสนใจเปิดรับเรื่องการสร้างงาน แต่พวกเขาก็มองไม่ออกเลยว่าโครงการพลังงานจากภาครัฐเหล่านี้จะช่วยสร้างงานพวกเขาอย่างไร นอกจากนี้สมาชิกชุมชนก็เล็งเห็นว่าไม่มีการปรึกษาหารือกับพวกเขาก่อนรวมถึงมีการยึดเอาที่ดินของพวกเขาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว นั่นทำให้พวกเขาก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อ เซฟลามู (Save Lamu) ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหว และกลุ่มของพวกเขาก็เข้าร่วมกับองค์กรของแอฟริกาใต้ชื่อ เนเชอรัลจัสติส (Natural Justice) ในการจัดการปรึกษาหารือของกลุ่มหมู่บ้าน 34 หมู่บ้านและองค์กร 40 องค์กร ในเทศมณฑลลามู ทำให้เกิดการร่างระเบียบการชีววัฒธรรมชุมชนของลามูขึ้น ซึ่งถือเป็นร่างวิสัยทัศน์ทางเลือกสำหรับชุมชน

ในปี 2559 องค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งเซฟลามู, เนเชอรัลจัสติส, 350.org และกรีนพีชแอฟริการ่วมกันก่อตั้งเป็นองค์กรแนวร่วมที่ชื่อ deCOALonize ซึ่งเล่นคำกับคำว่า "COAL" ที่หมายถึง "ถ่านหิน" และ "decolonize" ที่หมายถึง "ปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคม" พวกเขาร่วมกันส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยในเคนยา กลุ่มสิ่งแวดล้อมในเคนยายังใช้ช่องทางทางสังคม สื่อ ปฏิบัติการทางตรง มีการส่งจดหมายที่เขียนเรื่องผลกระทบทางลบจากถ่านหิน และมีการจัดตั้งกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเคนยาในการต่อสู้กับนโยบายพลังงานที่ล้าหลังเช่นนี้

นักกิจกรรมโดยเฉพาะผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนขบวนการในลุ่มน้ำมุยซึ่งถูกวางให้เห็นแหล่งทำเหมืองแร่แห่งใหม่โดยที่จะมีการนำเข้าวัสดุมาจากแอฟริกาใต้ มีการจัดประชุมกลุ่มผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นราว 100 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา พวกเขาตอบคำถามที่ว่า "คิดอย่างไรกับการพัฒนานี้" โดยพูดเน้นถึงเรื่องที่พวกเขามีความผูกพันแน่นแฟ้นกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน มีความเชื่อมโยงกันทางจิตวิญญาณและบรรพบุรุษกับผืนแผ่นดินของพวกเขา มีผู้หญิงคนหนึ่งในที่ประชุมเสนอว่ารัฐบาลควรจะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรรมที่พวกเขาทำอยู่แล้ว "พวกเราต้องการต้องการปลูกแตงโม ไม่ใช่ทำเหมืองถ่านหิน"

นักกิจกรรมยังรายงานถึงเรื่องที่พวกเขาไปเยือนพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินในแอฟริกาใต้โดยระบุว่าสภาพอากาศที่เป็นพิษทำให้คนทำเหมืองและครอบครัวของพวกเขาป่วยหนัก พลัมเมอร์ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมครั้งนั้นด้วยระบุว่าเธอรู้สึกได้ว่าชาวบ้านในที่ประชุมมีความเป็นห่วงลำดับแรกๆ คือเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของพวกเขา อย่างไรก็ตามประเด้นของพวกเขาก็แผ่ไปไกลกว่าเรื่องในท้องถิ่น

พลัมเมอร์ระบุว่าคำตัดสินจากศาลสิ่งแวดล้อมในเคนยาเป้นการส่งสัญญาณต่อรัฐบาลเคนยาและอิทธิพลจากภายนอกเช่นจีนว่าการร่วมมือกันและการจัดตั้งชุมชนอย่างยั่งยืนจะกลายเป็นพลังได้ หลังจากคำตัดสินนี้ทูตจีนได้เข้าพบกับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและบอกว่าจีนจะทำตามการตัดสินใจของเคนยา ในทางตรงกันข้าม ทูตสหรัฐฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ กลับทวีตก่อนหน้าคำตัดสิน 1 วันว่าถ่านหินเป็นพลังงานที่ "สะอาดที่สุด และแพงน้อยที่สุด"

พลัมเมอร์ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มผลประโยชน์ในเคนยา จีน และสหรัฐฯ จะพยายามฟื้นโครงการนี้ แต่นักกิจกรรมก็ยังคงมีแผนส่งแรงขับเคลื่อนต่อเนื่องโดยการขอความร่วมมือจากประชาชนเคนยา กดดันเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างการสนับสนุนจากนานาชาติ และมีการต่อสู้ทางกฎหมาย พวกเขาจะสามารภเอาชนะได้ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนับสำคัญไม่เพียงแค่ต่อเคนยา แต่สำหรับทวีปแอฟริกาและต่อที่อื่นๆ ของโลกด้วย

เรียบเรียงจาก

An Inspiring Climate Victory in Kenya, Foreign Policy in Focus, 04-09-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net