Skip to main content
sharethis

คนหนุ่มสาวกว่า 72 ล้านคนในทวีปแอฟริกา ตกอยู่ในภาวะ 'NEET' ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง – ILO ชี้การแก้ไขปัญหาการว่างงานและความเหลื่อมล้ำทางเพศ เป็นสิ่งสำคัญ หากประเทศต่างๆ ในแอฟริกาหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 8 ว่าด้วยการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG 8: Decent work and economic growth) ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนภายในปี 2030


ที่มาภาพ: Marcel Crozet/ILO

คนหนุ่มสาวมากกว่า 1 ใน 4 ในแอฟริกา หรือประมาณ 72 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะ "ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม" (Not in Education, Employment or Training - NEET) ในจำนวนนี้สัดส่วน 2 ใน 3 เป็นผู้หญิง ทั้งที่แอฟริกามีจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวเติบโตอย่างรวดเร็ว ถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงสำหรับกำลังแรงงานวัยหนุ่มสาว แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายด้วยเช่นกัน 

เพื่อให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในทวีปแอฟริกามากขึ้น องค์การแรรงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับมูลนิธิมาสเตอร์การ์ด (Mastercard Foundation) ได้จัดทำทำชุดข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานคนหนุ่มสาว 7 ประเทศ ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ได้แก่ เอธิโอเปีย กานา เคนยา ไนจีเรีย รวันดา เซเนกัล และ ยูกันดา โดย ILOSTAT ได้สรุปข้อมูลไว้ดังนี้

อัตรา NEET เพิ่มขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวแอฟริกัน ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด

สำหรับ 'เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 8 ว่าด้วยการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ' (SDG 8: Decent work and economic growth) คือการมุ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านการยกระดับผลิตภาพแรงงานและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิต โดยการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างงาน รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อขจัดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนภายใน ปี 2030 ซึ่งประเทศในทวีปแอฟริกายังคงเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะสาเหตุจากความเปราะบางของคนหนุ่มสาวในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่การทำงาน ข้อมูลในปี 2015 คนหนุ่มสาวชาวแอฟริกาใต้ซาฮาราเกือบ 60 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะ NEET 

ตั้งแต่ปี 2005 อัตราของ NEET ทั่วโลกลดลงเล็กน้อย สวนทางกับภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาราก ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาตั้งแต่ปี 2020 สัดส่วนของ NEET ทั่วโลกเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (แม้จะมีการฟื้นตัวในเวลาต่อมา) ปัจจุบันผู้ตกในภาวะ NEET (ของคนอายุ 15-29 ปี) ใน 7 ประเทศที่ทำการศึกษา มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 14.4 เปอร์เซ็นต์ ในยูกันดา ไปจนถึง 34.9 เปอร์เซ็นต์ ในเซเนกัล

ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ยังคงมีอยู่

สอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลก หญิงสาวในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นในการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ในปี 2022 ทั้ง 7 ประเทศมีสัดส่วนหญิงสาวที่ตกอยู่ในภาวะ NEET มีเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังมีอัตราการจ้างงานต่ำกว่าชายหนุ่ม หญิงสาวในเอธิโอเปียมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะ NEET เกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับชายหนุ่ม ส่วนในไนจีเรีย เซเนกัล และยูกันดา สูงเป็น 2 เท่า สาเหตุสำคัญคือการที่หญิงสาวต้องแบกรับภาระงานบ้านมากกว่าชายหนุ่ม เช่น ดูแลเด็ก ดูแลคนป่วย และคนชรา ทำอาหาร ตักน้ำและเก็บฟืน สิ่งเหล่านี้ได้กีดกันไม่ให้หญิงสาวมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานและการศึกษา

อัตรา NEET ในหมู่คนหนุ่มสาวนั้นแตกต่างกันไปตามลักษณะต่างๆ ตัวอย่างเช่น การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการได้มาซึ่งงานที่มีคุณค่า โดยทั่วไปแล้ว อัตรา NEET มักจะลดลงตามความสำเร็จทางการศึกษาของแต่ละคนที่เพิ่มขึ้น

ความแตกต่างของอัตรา NEET ของคนหนุ่มสาวตามระดับการศึกษานั้นค่อนข้างน้อยในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าอัตราการสร้างตำแหน่งงานเพื่อรองรับพวกเขา ปรากฏการณ์นี้เป็นหลักฐานของความไม่สมส่วนกัน นั่นคือ เห็นได้ชัดว่าการได้รับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่วิธีแก้ไขที่สมบูรณ์สำหรับการขาดงานที่มีคุณค่าสำหรับคนหนุ่มสาวชาวแอฟริกัน

อย่างไรก็ตามในทั้ง 7 ประเทศนั้นอัตรา NEET ของผู้ได้รับการศึกษาต่ำนั้นสูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาสูง นอกจากนี้หญิงสาวยังตกอยู่ในภาวะ NEET สูงกว่าชายหนุ่มในทุกๆ ระดับการศึกษา เรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะชี้ให้เห็นว่าวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นไม่ได้ปิดช่องว่างระหว่างเพศได้

หญิงสาวมีโอกาสน้อยที่จะได้ 'ทำงานที่มั่นคงและน่าพอใจ' หลังสำเร็จการศึกษา

แม้ว่าอัตรา NEET จะเป็นมาตรวัดการใช้ประโยชน์จากแรงงานวัยหนุ่มสาวว่าแต่ละประเทศ ว่าได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพหรือไม่ แต่แนวคิดนี้อ้างอิงแค่จำนวนการจ้างงานเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของงานที่คนหนุ่มสาวทำ 

ทั้งนี้ตัวชี้วัดการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่ที่ทำงานของ ILO ช่วยพิจารณาคุณภาพของงานในหมู่คนหนุ่มสาวได้เช่นกัน ตัวชี้วัดเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของคนหนุ่มสาวสู่ตลาดแรงงาน ตามตัวบ่งชี้ 'ขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง' การเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปสู่การทำงานจะสำเร็จได้ เมื่อคนหนุ่มสาวได้งานที่มั่นคง หรือการจ้างงานที่น่าพอใจ ไม่ใช่แค่การจ้างงานประเภทใดก็ได้ นี่คือความแตกต่างที่สำคัญ

จาก 4 ใน 7 ประเทศ (เคนยา รวันดา เซเนกัล และยูกันดา) ที่มีข้อมูลการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปสู่การทำงาน พบว่าสัดของคนหนุ่มสาวที่ได้งานที่มั่นคงหรือน่าพอใจ มักจะน้อยกว่าสัดส่วนของคนหนุ่มสาวที่ได้รับการจ้างงานโดยรวมอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในรวันดา มีเพียง 29.5 เปอร์เซ็นต์ และในเคนยา มีเพียง 15.5 เปอร์เซ็นต์ ของคนหนุ่มสาวที่ได้งานที่มั่นคงหรือน่าพอใจ ใน 3 ประเทศ (เคนยา เซเนกัล และยูกันดา) มีชายหนุ่มมากกว่าหญิงสาวที่ได้งานที่มั่นคงหรือน่าพอใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก นอกจากนี้ในเซเนกัล ชายหนุ่มมีโอกาสได้งานที่มั่นคงหรือน่าพอใจมากกว่าหญิงสาวถึง 2 เท่า

ในขณะเดียวกัน หญิงสาวส่วนใหญ่ – 95 เปอร์เซ็นต์ในเคนยา 89 เปอร์เซ็นต์ในรวันดา 79 เปอร์เซ็นต์ในเซเนกัล และ 78 เปอร์เซ็นต์ในยูกันดา ยังไม่ได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงหรือกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปสู่การทำงาน นัยว่าคนหนุ่มสาวในประเทศจำนวนมากยังอยู่ในการศึกษา ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ดี กระนั้น ในบรรดาหญิงสาวที่ยังไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงหรือยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปสู่การทำงาน ราว 60 เปอร์เซ็นต์ กลับยังไม่ได้เข้าโรงเรียน.


ที่มา:
African youth face pressing challenges in the transition from school to work (Vipasana Karkee | Niall O'Higgins, ILOSTAT, 10 August 2023)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net