Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) เตือนว่ากฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันของยูกันดาที่ออกมาเมื่อสองเดือนก่อน ไม่เพียงแค่จะส่งผลต่อคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่เนื้อหากฎหมายบางส่วนเสี่ยงต่อการกระทบต่อเสรีภาพสื่อเองด้วย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีที่ยูกันดาผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาทำให้การรักเพศเดียวกันแบบที่สมยอมทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในระดับที่อาจจะถูกระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการกระทำในเชิง "รักเพศเดียวกันในระดับร้ายแรง" เช่นการมีเพศสัมพันธ์กับคนพิการหรือผู้สูงอายุที่เป็นเพศเดียวกันมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

มีรายงานข่าวที่ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวนี้กระตุ้นให้เกิด "การใช้ศาลเตี้ยเพิ่มมากขึ้น" ในการลงโทษต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ชาวยูกันดา และในบางกรณีถึงขั้นทำให้ชาว LGBTQ+ ถูกบีบให้ต้องพลัดถิ่นหรือไม่ก็หลบซ่อนตัว

สำหรับในประวัติศาสตร์ยูกันดานั้น ก่อนหน้าที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สังคมของยูกันดาเคยยอมรับความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันมาก่อน แต่หลังจากที่อังกฤษเข้ามายึดอาณานิคมก็มีการออกกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกัน ซึ่งยังคงอยู่ต่อมาหลังจากที่ได้รับเอกราชแล้ว และดูเหมือนว่าอิทธิพลของมิชชันนารีศาสนาคริสต์นิกายอีแวนเจลิกที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการออกกฎหมายต่อต้านความหลากหลายทางเพศในยูกันดา

มีข่าวเรื่องที่นักบวชคริสต์ ในยูกันดาชื่อ จอห์น อะโวดี ประกาศอย่างดุเดือดว่า "การรักเพศเดียวกันถือเป็นบาปที่ต้องไถ่" บอกว่าเป็นการกระทำที่ต่อต้าน "พระบัญชาของพระเจ้า" และอ้างว่า "ไม่เป็นธรรมชาติ"

การขยายโทษของการรักเพศเดียวกันในยูกันดาล่าสุดนี้ จะทำให้ยูกันดาเป็นประเทศที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจนำประเทศเดียวที่มีกฎหมายประหารชีวิตต่อการมีเพศสัมพันธ์แบบยินยอมพร้อมใจของคนรักเพศเดียวกัน

ทั้งนี้ในกฎหมายจองยูกันดายังมีการระบุว่า การ "ส่งเสริมเรื่องคนรักเพศเดียวกัน" จะถือเป็นความผิดที่มีบทลงโทษจำคุก 20 ปีด้วย ซึ่ง คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวกังวลว่ามันจะส่งผลต่อเสรีภาพสื่อ ไม่เพียงแค่สื่อที่เน้นประเด็นความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสื่อโดยทั่วไปที่รายงานเรื่องเหล่านี้ด้วย

กฎหมายที่เสี่ยงลิดรอนเสรีภาพสื่อ

ในยูกันดา มีการใช้คำว่า "คูชู" เรียกผู้มีความหลากหลายทางเพศ และมีสื่อเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่ชื่อว่า "คูชูไทม์" เป็นสื่อที่ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อปี 2558 เป็นพื้นที่ที่ชาว LGBTQ+ ในยูกันดาจะได้ส่งเสียงของตนเอง แต่กฎหมายใหม่ก็เริ่มส่งผลให้ชาวเกย์ในยูกันดาซ่อนตัวตนของตัวเองกันมากขึ้น

รุท มูกันซี รองผู้อำนวยการของคูชูไทม์บอกว่า ผู้คนจะเล่าเรื่องราวของพวกเขา แต่ก็จะขออย่าเพิ่งนำเสนอลงในสื่อจนกว่าจะปลอดภัยมากกว่านี้ เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการออกกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันล่าสุด มันทำให้พวกเขาถูกบีบให้ไม่สามารถนำเสนอเรื่องราวขอองชาว LGBTQ+ ได้

เรื่องนี้ทำให้ถึงแม้ว่าสื่อคูชูไทม์จะยังคงโพสต์ในเว็บไซต์ของตัวเองต่อไป แต่พวกเขาก็ยกเลิกนิตยสารรายปีที่ชื่อ "บอมบาสติก" ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน้านิตยสารฉบับนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวส่วนบุคคลจากของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการนำเสนอเรื่องของพวกเขาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ที่เล่าเรื่องได้

CPJ แสดงความกังวลว่า กฎหมายใหม่นี้จะกระทบต่อสื่ออื่นๆ อีกด้วย จากที่เนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายระบุบทลงโทษจำคุก 20 ปี ต่อ การตีพิมพ์, ถ่ายทอด, เผยแพร่เนื้อหาที่ "ส่งเสริมหรือสนับสนุนการรักเพศเดียวกัน"

นิโคลาส โอพิโย นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในทนายความที่ยื่นเรื่องร้องเรียนว่ากฎหมายฉบับใหม่ของยูกันดาขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ บอกว่า "กฎหมายนี้เป็นกฎหมายต่อต้านสื่อในหลายๆ แง่ การที่มันมีนิยามคำว่าการส่งเสริมการรักเพศเดียวกันในแบบกว้างๆ นั้นทำให้มันสามารถตีความเป็นอะไรก็ได้"

โอพิโยยกตัวอย่างว่า "การทำข่าวที่แสดงให้เห็นถึงชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในแง่บวกก็อาจจะถูกตีความว่าเป็นการส่งเสริมการรักเพศเดียวกันได้"

โรเบิร์ต เซมพาลา ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายสิทธิมนุษชนเพื่อผู้สื่อข่าวยูกันดา กล่าวว่า กฎหมายยังมีการลงโทษสื่อที่ทำผิดในเรื่องดังกล่าวโดยการถอนใบอนุญาตสื่อหรือการสั่งปรับเป็นเงิน 1,000 ล้านยูกันดาชิลลิง (ราว 9.5 ล้านบาท) ซึ่งเซมพาลาบอกว่าเป็นการลงโทษที่ออกแบบมาเพื่อ "บีบเค้น" ปิดปากสื่อ

CPJ ระบุว่าแม้แต่สื่อที่ไม่ได้เน้นเรื่อง LGBTQ+ ก็จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ไปด้วย จากการที่มันทำให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเอง มีนักข่าวบางคนบอกว่าพวกเขากลัวการถูกลงโทษทางสังคมและในทางหน้าที่การงาน จากการที่ห้องข่าวของพวกเขาไม่ได้ลดเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBTQ+ พวกเขากลัวว่ากฎหมายจะส่งผลกระทบต่องานของพวกเขา

มีนักข่าวอีกบางส่วนที่บอกว่ากฎหมายนี้ส่งผลให้พวกเขาหาผู้มีความหลากหลายทางเพศมาสัมภาษณ์ได้ยากขึ้น เกี่ยวกับประเด็นที่ว่ากฎหมายนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี และเกี่ยวกับประเด็นคนที่ถูกลงโทษจากกฎหมาย

มีบรรณาธิการข่าวที่กลัวว่าจะถูกลงโทษจนต้องให้นักกฎหมายมาช่วยให้คำแนะนำว่า มีเนื้อหาที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศมากไปหรือไม่ ดูส่งเสริมมากไปหรือไม่ แบบไหนถึงเป็นการรายงานข่าวเฉยๆ ควรลดความสำคัญของเนื้อหาเหล่านี้หรือไม่ บรรณาธิการรายนี้ยังชี้ให้เห็นว่าปัญหาของความคลุมเครือของกฎหมายยังทำคนทำสื่อมองออกยากว่าพวกเขาล้ำเส้นของกฎหมายไปหรือยัง

นอกจากนี้ยังมีนักข่าวที่พูดถึงการที่ประเทศยูกันดามีปัญหาด้านการขาดเสรีภาพสื่ออยู่แล้ว มีนักข่าวถูกทำร้าย, ถูกจับกุม และถูกอ้างข้อหาหมิ่นประมาทเล่นงานพวกเขา ทำให้กฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ฉบับใหม่นี้อาจจะถูกนำมาอ้างใช้เล่นงานสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ด้วย

กฎหมายที่ลดทอนความเป็นมมนุษย์ของบุคคลหลากหลายทางเพศ

ในประวัติศาสตร์ของยูกันดาเองก็เคยมีการลงโทษสื่อที่นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศมาก่อน ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เช่นในปี 2547 มีการสั่งปรับสถานีวิทยุ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 34,000 บาท จากค่าเงินปัจจุบัน) ด้วยหาข้อหานำเสนอการรักเพศเดียวกันในฐานะ "วิถีชีวิตที่ยอมรับได้" และในปี 2550 ก็มีการสั่งพักงานพิธีกรรายการวิทยุรายหนึ่งหลังจากที่เขาสัมภาษณ์นักกิจกรรมเลสเบียน สื่อนิตยสารบอมบาสติกยังเคยเผชิญกับการข่มขู่คุกคามมาก่อนด้วย

ในทางตรงกันข้าม เคยมีกรณีที่สื่ออีกสายหนึ่งทำการนำเสนอข่าวในแบบที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันถึงขั้นกระตุ้นเร้าให้เกิดความรุนแรง เคยมีสื่อในปี 2553 แห่งหนึ่งที่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้วเคยเรียกร้องให้มีการแขวนคอคนรักเพศเดียวกัน จนส่งผลให้ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นมีนักกิจกรรมสิทธิเกย์คนหนึ่งที่ถูกแขวนโดยสื่อแห่งนี้ชื่อ เดวิด คาโต ถูกทุบตีจนเสียชีวิต และในปี 2557 เคยมีสื่อหัวสีแห่งหนึ่งที่ชื่อเรดเปปเปอร์นำชื่อของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 200 คน มาเสียบประจาน

คีเรียววา คีวานูกา อัยการสูงสุดของยูกันดาโต้ตอบคำร้องคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ว่ากฎหมายของพวกเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่ได้ละเมิดหลักการเสรีภาพในการแสดงออกด้วย คีวานูกา อ้างว่ากฎหมายนี้ "มีเจตนาต้องการคุ้มครองครอบครัวตามประเพณี" และ "ไม่มีความคลุมเครือและมีเป้าหมายชัดเจน"

แต่นักกิจกรรมด้านสิทธิมองต่างออกไป โจน อาเมก ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสตรีเรลลากล่าวว่า กฎหมายใหม่นั้น "ลดทอนความเป็นมนุษย์" ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ "มันไม่ได้ปฏิบัติต่อพวกเราในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง พวกเรากลายเป็นอาชญากรและพวกเราผิดกฎหมายในพื้นที่ของพวกเราเองที่พวกเราเรียกว่าบ้าน ไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในยูกันดา"

มูกันซี จากสื่อคูชูไทม์ระบุว่าเธอจะยังคงยืนหยัดต่อต้านกฎหมายนี้ต่อไปและคูชูไทม์จะเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับมัน

"พวกเราต้องออกปากพูดเพื่อให้ชาวยูกันดามีมุมมองต่อชาว LGBTQ+ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น พวกเราต้องคอยบอกย้ำว่า พวกเราไม่ใช่สิ่งที่ไร้ตัวตน พวกเราไม่ใช่สิ่งที่รับมาจากตะวันตก พวกเราคือเพื่อนของพวกคุณ เพื่อนบ้านของพวกคุณ พี่น้องของพวกคุณ ... ในฐานะผู้หญิงที่เป็นเลสเบียน ฉันไม่มีอภิสิทธิ์ในการที่จะหวาดกลัวและเงียบเฉยต่อไป"

 

เรียบเรียงจาก
Uganda’s anti-homosexuality law poses free speech fears for journalists, CPJ, 20-07-2023
Uganda passed one of the world’s harshest anti-gay laws. LGBTQ people describe living there as ‘hell’, CNN, 29-06-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/LGBT_rights_in_Uganda

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net