Skip to main content
sharethis

 

คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้กำกับการแสดงเรื่อง ‘สัตว์มนุษย์’ การแสดงด้วยกระบวนการทดลอง เมื่อการแสดงไม่ได้เกิดขึ้นจากยอดมนุษย์ แต่เกิดขึ้นจากสัตว์มนุษย์ ที่ลองปลดอาวุธ ลดเกราะกำบัง เผยอีกด้านของความเป็นมนุษย์

 


ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

“ตอนนี้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐจริงรึเปล่า”

คือหนึ่งในคำถามที่ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้กำกับการแสดงเรื่อง ‘สัตว์มนุษย์’ บอกกับเราในตอนหนึ่ง

‘สัตว์มนุษย์’ คือการแสดงด้วยกระบวนการทดลอง หรือ laboratory ที่ให้นักแสดงรับเชิญได้ลอง ‘ปลดอาวุธ’ ปลดปล่อยตัวเองออกจากเกราะกำบังหรือฉากหน้าของความเป็นมนุษย์ และยอมปล่อยด้านที่เป็นสัตว์ ด้านที่ถูกเก็บซ่อนไว้ออกมา

แน่นอนว่าต่างจากการแสดงปกติที่นักแสดงผ่านการฝึกซ้อมแบบเดิมซ้ำๆ จนรู้คิวทุกอย่างเป็นอย่างดี การแสดงนี้ใช้เวลาซ้อมกับนักแสดงเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ภายใน 2 วันเป็นแค่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางของการแสดง แต่นักแสดงจะไม่รู้รายละเอียดใดๆ โดยดุจดาวจะทำหน้าที่คล้ายเป็นผู้นำกระบวนการ ที่โยนคำถามและโจทย์ต่างๆ ใส่นักแสดง โดยที่นักแสดงจะไม่รู้มาก่อน ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ความสดและความดิบ ที่ตัวผู้แสดงเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างคือนักแสดงที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละรอบ โดยมีทั้งนักแสดงและนักเขียนผู้มีความสามารถมากมาย ประกอบด้วย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, ดุษฎี ฮันตระกูล, เกรียงไกร ฟูเกษม, ปานรัตน์ กริชชาญชัย, โตมร ศุขปรีชา, ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล, ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, ประดิษฐ์ ประสาททอง, ประทีป สุธาทองไทย, หญิง รฐา โพธิ์งาม, ปอนด์ ภริษา ยาคอปเซ่น, ทัศยา เรืองศรี, ปรัชญพร วรนันท์

 

การแสดงเรื่อง 'สัตว์มนุษย์' โดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์

 

สัตว์มนุษย์

 

สัตว์มนุษย์ คือชื่อนิยายที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2519 และเคยสร้างเป็นหนัง แต่งโดย พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์ ซึ่งเป็นคุณปู่ของดุจดาว

การแสดงเรื่องสัตว์มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ของประทีป สุธาทองไทย ดุจดาวเล่าว่า ขณะที่งานของประทีปเกี่ยวกับเรื่องมายาคติที่ถ่ายทอดผ่านทางแบบเรียนหรือตำรา ส่วนงานเธอเองก็เริ่มจากหนังสือ ไม่ใช่ตำราแต่เป็นนิยายเพื่อความบันเทิง

 

คุยกับศิลปิน ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ นิทรรศการอีสานในมุมมองรัฐไทยผ่านแบบเรียน

 

“แม้จะเป็นนิยาย แต่ก็เอามาจากเรื่องจริง คุณปู่เป็นลูกชาวนา ยุคนั้นชาวนาถูกกระทำมาก หนังสือจึงพูดถึงเรื่องทุนนิยมและนายทุนที่เข้ามาทำลาย กดขี่ชาวนา ในบทนำคุณปู่บอกว่ามนุษย์คือสัตว์ประเสริฐ ส่วนคนที่เข้ามากดขี่ เอารัดเอาเปรียบคือสัตว์มนุษย์ แต่พอผ่านมา 40 ปี บางทีเราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐจริงรึเปล่า เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำว่าสัตว์ประเสริฐแล้ว สัตว์ประเสริฐเองก็เป็นคนสร้างระบบทุนนิยมขึ้นมาเหมือนกัน” ดุจดาวเล่าถึงที่มาของไอเดีย

หลังจากนั้นเธอจึงสกัดเอาแต่คอนเซปต์ของความเป็นสัตว์มนุษย์ไว้ เพราะเธอสนใจในเรื่องของจิตวิทยาและความเป็นมนุษย์ มากกว่าประเด็นในเชิงทุนนิยม

“เราไม่ได้มองว่ามันไม่ดีซะอย่างเดียว เราทุกคนก็คงมีพาร์ทที่เป็นสัตว์ในตัวของเราทั้งนั้น ด้วยพื้นหลังเราที่เป็นนักจิตบำบัด เราเห็นว่าทุกคนมีสัตว์ในตัวหมด เพียงแต่เราจะดีลกับสัตว์ในตัวเราได้มากแค่ไหน หรือเราจะปล่อยให้มันมาควบคุมเราแล้วจัดการสิ่งต่างๆ”

 


ภาพหน้าปกของหนังสือเรื่อง 'สัตว์มนุษย์'

 

ปลดอาวุธ ความไหวหวั่น อีกด้านที่สวยงามของมนุษย์

 

‘อาวุธ’ ในความหมายของดุจดาว คือ โล่หรือเกราะกำบังที่ป้องกันการถูกทำร้าย และสิ่งที่เอาไว้วาดลวดลายไปฟาดฟันกับคนอื่นในชีวิตประจำวัน อาจเป็นสิ่งสวยงามที่เราปะติดตัวเองอยู่เพื่อให้ดูดี ให้คนหลงใหล หรือเป็นภาพบางอย่างที่เราอยากให้คนอื่นเห็นเราแบบนี้ หรือการปิดกั้นความรู้สึกบางอย่างที่ไม่อยากให้คนนี้เห็น

สำหรับดุจดาว คำว่าปลดอาวุธ ไม่ใช่เพียงการปลดปล่อยสัญชาตญาณดิบออกมา

“สภาวะปลดอาวุธของเราคือ แล้วถ้าเราลองศิโรราบกับตัวเองจริงๆ อยู่กับใครสักคนแบบลดการ์ด ลดอาวุธที่จะปั้นแต่ง เผยสิ่งที่ถูกกดเก็บ ซุกซ่อนไว้ออกมา แล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็อนุญาตให้สภาวะนั้นคงอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปจัดการอะไรมัน เราคิดว่าโมเมนต์ของการปลดอาวุธเป็นโมเมนต์ที่ค่อนข้างกล้าหาญมากสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง เพราะเราจะต้องไว้ใจเขามากๆ เมื่อเราเอาการ์ดของเราลงมันอาจมีความหวั่นไหวเป็นธรรมดา ซึ่งเราเห็นว่าความหวั่นไหวก็เป็นความสวยงามของมนุษย์เหมือนกัน”

“ทุกวันนี้คนเราไม่คุยกันเรื่องความไหวหวั่นในตัวเลย มองว่าเป็นเรื่องน่าอาย น่าเกลียด ต้องเก็บมันไว้ ที่เราเคยเจอคือตอนคนในครอบครัวเสียแล้วเราอยากร้องไห้ แต่วันนั้นแขกมางานศพเต็มไปหมด ก็มีคนมาบอกว่าอย่าร้องไห้ตอนนี้นะ เก็บไว้ก่อน ทำให้เราตั้งคำถามว่าอันไหนคือมนุษย์ อันไหนคือไม่ใช่มนุษย์ ทำไมเราจะต้องฝืนไว้เพื่อให้เราดูมีวัฒนธรรม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์มีวัฒนธรรมเหรอ”

“สำหรับเราเราชอบเห็น insecurity ความไหวหวั่น ความสั่นสะเทือนของมนุษย์ เราว่ามันสวยดี” ดุจดาวกล่าว

 

 

กระบวนการทดลอง

 

“เรามาจากที่ที่เราปะรอยรั่วตัวเองไม่ให้ใครเห็น พอมาทำแบบนี้ยอมรับเลยว่ายาก” ดุจดาวเล่าถึงความรู้สึกของกระบวนการทำงานของการแสดงชุดนี้

“เราเป็นสายประดิษฐ์ ทุกอย่างเราแพลนมาหมด แต่ครั้งนี้ถ้าเราไม่ได้แพลนทุกอย่าง มีแค่กระบวนการที่เป็นกระดูกสันหลัง ซึ่งยากกว่าตอนประดิษฐ์อีก เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะซ้อมๆๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ แต่ครั้งนี้ทั้งเราและนักแสดงอาจจะมีความประหม่า ตื่นเต้น เครียด กังวล ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์”

“ส่วนใหญ่เวลาไปดูการแสดงเราจะไม่ได้เห็นด้านแบบนี้ของนักแสดง ทุกคนต้องมั่นใจ เดินขึ้นไปบนเวทีอย่างยอดมนุษย์ เราจะเห็นยอดมนุษย์ทำงานศิลปะซึ่งเราก็เคยชอบแบบนั้นมาก แต่เราแค่ตั้งคำถามว่าถ้าการแสดงไม่ได้เกิดขึ้นจากยอดมนุษย์ แต่เกิดขึ้นจากสัตว์มนุษย์ การแสดงนี้จะหน้าตาเป็นยังไง”

ดังนั้นวิธีการแสดงของเธอจึงเป็นการชวนให้เขาทำบางอย่างที่ฝืนความเป็นมนุษย์ ฝืนความเป็นธรรมชาติ หรือให้ลองประดิษฐ์ให้สุด แล้วลองลดวางความประดิษฐ์ทั้งหมดนั้นลง ทดลองในแบบต่างๆ ให้นักแสดงค้นหาและดีลกับตัวเองแบบเรียลไทม์ ไม่มีปั้นแต่งมาก่อนจากบ้าน

“นักแสดงทุกคนเป็นศิลปินที่เก่ง ใช้อาวุธของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เขาจะมีอาวุธในการประดิษฐ์ถ้อยคำ เรียงร้อยเรื่องราวที่ดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่พอเราเห็นคนที่เก่งมากๆ ใช้อาวุธต่างๆ ได้ดี แล้วเขาจะดีลกับการยอมปลดอาวุธของเขายังไง เราว่ามันคงน่าสนใจดีที่คนเจ๋งๆ มีอาวุธเยอะๆ แบบนั้น จะสามารถยืนตั้งอยู่แบบไม่มีอาวุธได้” ดุจดาวกล่าว

 

สัตว์มนุษย์

การแสดงเป็นภาษาไทยและมี surtitle ภาษาอังกฤษ
รอบการแสดง 16 รอบ
21 – 24, 28 – 31 มีนาคม และ 18 – 21, 25 – 28 เมษายน 2562 (แสดงทุกวันพฤหัส-อาทิตย์)
เวลาการแสดง 20.00 - 21.15 น.
สถานที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่, BTS ชิดลม ทางออก 4
บัตรราคา 650 บาท
สอบถามเพิ่มเติมโทร 081 207 7723, 098 792 2954

วิธีชำระเงิน
เงินสดและการโอน: ระบุรอบที่ต้องการชม, จำนวนบัตร, ชื่อ, เบอร์ติดต่อกลับ ได้ตามช่องทางต่อไปนี้
1) Post ที่หน้า Event
2) ส่งอีเมลมาที่ manie@100tonsongallery.com

ธนาคารไทยพาณิชย์
เลขที่บัญชี : 408 - 740791 - 8
นางสาว สุธีรา บุตรนาค
พร้อมเพย์ : 081-2077723

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net