Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับ 2 ศิลปินข้างถนน สะท้อนปัญหาศิลปะถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายและอำนาจนิยมแบบไทยไทย โดยพวกเขาย้ำให้เห็นถึงหน้าที่ของศิลปะในฐานะเครื่องมือทลายกรอบเพื่อไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ   

 

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป 

Street Art หรือ ศิลปะข้างถนน ด้วยที่มาของงานประเภทนี้มักเกิดจากการสร้างงานบนกำแพงในพื้นที่ต่างๆ นิยมมากที่สุดก็จะเป็นกำแพง แน่นอนว่าในทางกฎหมายถือเป็นเรื่องที่ผิด เพราะขัดกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เว้นแต่ว่าศิลปินจะทำงานลงบนพื้นที่ของตัวเอง เช่น กระดาษ เฟรมผ้าใบ กำแพงบ้านตัวเอง หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น

แต่ในโลกของศิลปะ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และหายไป เกิดเป็นงานชิ้นใหม่ขึ้นมาแทนที่นั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา และบางครั้งยังนับว่าเป็นการให้เกียรติศิลปินที่สร้างงานเก่าขึ้นมา เหมือนเป็นการต่อยอดงานเดิม บันทึกร่องรอยใหม่ของยุคสมัยลงไป ทับซ้อนงานกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาพซ้อนของแต่ละยุคสมัยในภาพเดียวกัน จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับโลกศิลปะประเภทนี้ไปเสียแล้ว

กฎหมายไม่ได้ออกแบบมาให้เราทำตาม

“เรารู้สึกว่ากฎหมายมันไม่ได้ออกแบบมาให้เราทำได้อย่างถูกกฎหมาย” วัดชี้ลาฯ (นามสมมติ) หนึ่งในศิลปินข้างถนน เล่าว่ากฎหมายปัจจุบัน หรือ รัฐธรรมนูญ 60 ออกแบบมาจากคำสั่งคณะรัฐประหาร คสช. ไม่ใช่กฎหมายที่เกิดจากการร่างของประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่พยายามปิดกั้นเสรีภาพ ดังนั้นงานศิลปะที่ทำออกไปมันผิดกฎหมายที่ประชาชนไม่ยอมรับอยูแล้ว

วัดชี้ลาฯ อธิบายว่า การที่อำนาจนิยมในไทยครอบงำศิลปะไว้ให้เห็นแค่งานวิจิตรตระการตา ความดีงาม แต่ไม่ท้าทายและไม่ขยายขอบเขตเสรีภาพงานศิลปะออกไป จึงทำให้คนที่มาเห็นงานสตรีทอาร์ต หรือ street politics art ซึ่งเป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการเมือง จึงมักสร้างความน่าสนใจ ข้องใจ ตั้งคำถามต่อผลงาน และความน่าสงสัยนี้นำไปสู่การขุดคุ้ยต่อว่าศิลปะชิ้นนี้กำลังพูดอะไร ทำไมเขาถึงทำ เป็นต้น รวมทั้งงานสตรีทอาร์ตการเมืองมีข้อจำกัดในการสร้างงาน เพราะมันต้องเร็ว จึงออกมาในรูปเป็นกราฟิตี้เป็นส่วนมาก

รัฐคือผู้อนุญาตให้เกิดงานศิลป์?

“เราอยากให้งานศิลปะถูกพูดขึ้น เพราะช่องทางอื่นบางทีมันบิดเบือนเลยต้องใช้ศิลปะลงถนน เพื่อต่อสู้” แฟลตบอย (นามสมมติ) กล่าว เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ออกมาพ่นสีสเปรย์เพื่อใช้ส่งเสียงความต้องการของประชาชน ช่วงปี 2563 โดยสร้างผลงานไว้ในสถานที่ที่เกิดการชุมนุม เช่น การชุนุมประชาชนปลดแอก หรือ Free People ปี 2563 และ NoNPOBills ปี 2564 ก็มีผลงานผลงานของ “แฟลตบอย” แทรกซ่อนนแอบตัวอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น จนไปถึงสถานที่สาธารณะเพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคมออกไป

“ไม่ต้องกระโดดถีบ แต่งานศิลปะทำให้รัฐรู้สึกตัว โดยที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ” แฟลตบอยอธิบายถึงจังหวะปะทะ ระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจว่า คนที่อยู่แนวหน้าคือคนที่อยากเข้าไปช่วย และช่วยอย่างเต็มใจ งานศิลปะที่เขาสร้างมันจะทำหน้าที่สนับสนุนเสียงเรียกร้องประชาชน ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากให้งานศิลปของเขาได้ สนับสนุนและช่วยเหลือสิ่งที่ผู้ชุมนุมและประชาชนพยามเรียกร้องออกมา

“กลัวบ้างนะ เพราะเราก็รู้ว่าบ้านเราที่ออกมาเคลื่อนไหวเจอพวกตำรวจพิทักษ์สันติราษฎร์ที่พลิกลิ้นได้ตลอด ทำร้ายประชาชนได้ทุกเวลา” แฟลตบอย กล่าว 

Street Politics งานศิลปะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมากในช่วงนับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น งานพ่นงานวาด เพ้นท์ เขียนหรือแม้แต่สติกเกอร์จนไปถึงงานที่เป็นมีมไวรัลอยู่ในโซเชียลก็ตาม แฟลตบอยเล่าถึงปัญหาที่รัฐใช้ศิลปะในการครอบงำความคิดผู้คนผ่านงานศิลปะที่สร้างจากภาษีประชาชน โดยออกแบบจากความคิดของรัฐ เช่น สะพานลอยที่มีรูปตกแต่งเพื่อสื่อถึงความยิ่งใหญ่ความสวยงามของชนชั้น หรือการที่นำความเชื่อว่ามีคนบางคนอยู่สูงส่งกว่าประชาชนนำไปทำเป็นสื่อภาพยนตร์โฆษณาหรือศิลปะแขนงอื่นก็ตามล้วนเป็นการใช้ศิลปะเพื่อครอบงำความคิดของประชาชนโดยมีรัฐเป็นผู้กระทำ แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะรัฐเขียนกฎหมายให้ตัวเองถูกต้อง และผลงานที่คิดต่างจากรัฐธรรมนูญ 60 ก็กลายเป็นงานผิดกฎหมายแทน

ดังนั้น “รัฐ” คือผู้ดูแล และให้อนุญาตในการกระทำนั้นหรือการสร้างผลงานเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นกรอบกฎหมายที่ครอบศิลปะไม่ให้มีเสรีภาพและรับใช้ประชาชนได้ หรือหากแสดงในพื้นที่สาธารณธแต่ไม่ได้มีความคิดเห็นที่ตีงกับรัฐ ก็สามารถถูกดำเนินคดีได้ เรียกว่า “รัฐ” เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์การสร้างงานบนพื้นที่สาธารณะ

“คุกคามประชาชนนอกเกมได้” แฟลตบอย กล่าว พร้อมอธิบายว่าการอยู่ในประเทศไทยและใช้งานศิลปะในการสื่อสารสิ่งที่ผู้คนต้องการออกไป ไม่ได้ปลอดภัย เพราะความคิดหรือสิ่งที่อยากสื่อสารออกไปเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับความคิดของรัฐ มันจึงเป็นการสร้างงานที่ผิดกฎหมาย แม้จะเป็นสิ่งที่มาจากเสียงเรียกร้องจากผู้ชุมนุมก็ตาม แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐและยังถูกดำเนินคดี ซึ่งมันทำให้สามารถเกิดการคุกคามตามมาทีหลังได้ เช่นการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม การติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

“ทุกครั้งที่ทำเรารู้สึกมีความเสี่ยงเสมอ ต้องแอบซ่อน ระแวง เพราะถ้าอยู่ดีๆ มันเป็นเราโดนคดีคงไม่ดีเท่าไร” แฟลตบอย กล่าว

ถ้างานกราฟฟิตี้สามารถเปลี่ยนอะไรบางอย่างบนโลกได้ มันก็มักจะเป็นงานที่ผิดกฎหมาย

"If Graffiti changed anything, It would be ILLEGAL" "ถ้างานกราฟฟิตี้สามารถเปลี่ยนอะไรบางอย่างบนโลกได้ มันก็มักจะเป็นงานที่ผิดกฎหมาย" Banksy หนึ่งในศิลปินกราฟฟิตี้ที่สร้างผลงานไว้มากมาย และมีชื่อเสียงในด้านการสื่อสารถึง การต่อต้านระบบทุนนิยม ไม่เคยเปิดเผยตัวตน และเป็นศิลปินที่หลังสร้างผลงานแล้วตำรวจไม่เคยจับได้

หลายงานของ Banksy สื่อสารชัดเจนถึงการต่อต้านทุนนิยม ซึ่งงานส่วนมากจะไม่เป็นที่ถูกใจในสายตารัฐเอาเสียเลย จึงเป็นศิลปินลึกลับที่มีชื่อเสียงทั้งคนที่ชื่นชอบและคนที่อยากจับเขา เพราะขัดต่อกฎหมาย แม้สิ่งที่เขาสื่อสารจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ตรงนั้นก็ตาม

แฟลตบอย อธิบายว่าการทำสตรีทอาร์ตเพื่อสื่อสารสิ่งที่ประชาชนต้องการมีความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจคุกคามเรื่องคดีหรือถูกติดตาม เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความคิดแบบที่รัฐอยากให้คิด ดังนั้นมันจึงต้องระวังตัวเพราะไม่รู้ว่าอะไรจะสามารถเกิดขึ้นกับชีวิตของศิลปินหรือครอบครัวของเขาได้

“มันเหมือนกับว่าเราคือคนที่ทำงานศิลปะที่ผิดกฎหมายเราจึงต้องเป็นคนร้ายที่คอยระวังตัว” แฟลตบอย กล่าว พร้อมอธิบายว่า เพราะไม่ได้คิดเหมือนรัฐ จึงเป็นเหมือนการสร้างงานที่รัฐมองว่าเป็นความผิด เป็นเรื่องผิดฎหมาย โดยเขาสังเกตถึงความไม่ปลอดภัยนี้ผ่านการเจอคนนอกและในเครื่องแบบคอยตรวจประชาชน เหมือนประชาชนที่คิดต่างเป็นคนร้าย เป็นนักโทษเพราะคิดไม่เหมือนรัฐ  

แฟลตบอยเล่าว่าปี 2564 ภายในการชุมนุม NoNPOBills ทุกคนต่างก็ต้องระวังตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวเขาเองก็ไม่สามารถสร้างงานได้สะดวกนัก ต้องแอบซ่อน เพราะหากมีเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปตอนทำงานศิลปะเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยังทำในพื้นที่ชุมนุม จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อตัวเองที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งอาจส่งผลต่อการสูญเสียเวลาในการทำงานศิลปะด้านประชาธิปไตยตามที่ตัวองต้องการได้ จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องปิดบังตัวและซุ่มซ่อนทำงาน ซึ่งท้ายที่สุดผลงานของเขาก็ได้จัดแสดงและรอดจากสายตาเจ้าหน้าที่รัฐไปได้อีกครั้ง

ตัวอย่าง การดำเนินคดีและจับกุมศิลปินที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

  • นักวาดภาพประกอบประชาธิปไตยโดนแจ้งความมาตรา 112 (อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2022/06/99311) กรณี ทอปัด นักวาดภาพประกอบถูกแจ้งจับด้วยมาตรา 112เหตุเพราะวาดรัชกาลที่ 10 และโพสต์ลงในไอจี
  • การฟ้องร้องศิลปินหนึ่งคนถึง 7 คดี ฟ้องข้ามจังหวัด รามิล-ศิวะ วิธญ ศิลปินเชียงใหม่ที่ออกมาต่อสู้ด้วยศิลปะ performance art (อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2022/01/96769)
  • ศิลปินกลุ่ม แพะในกุโบร์ แปะสติ้กเกอร์บนกำแพงแผ่นสังกะสี เป็นกลุ่มศิลปินที่ออกมาแปะสติ้กเกอร์เรียงเป็นภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และข้อความ หมดเวลา 8 ปีนายกเถื่อน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2022/08/100200)
  • ช่วยกันเองความจริงออกมา ผลงานศิลปะสื่อผสมผสาน ติดตั้งและจัดแสดงภายในรั้วมหาวิทยาลัยถูกแจ้งความมาตรา 112 (อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2023/03/103060)
  • พึ่งบุญ ใจเย็น ช่างสักที่โดนฟ้องและเข้ารายงานตัวที่ศาลเชียงใหม่เพราะเขียนข้อวามบนป้ายจราจร “ประเทศทวย” (อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2022/08/99833) และยังถูกพิพากษาจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท เพราะด้อยค่าตำรวจด้วยนิ้วกลางพร้อมตะโกนว่า “ควย” (อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2022/08/100043)
  • และยังมีศิลปินเช่น RAD ศิลปินแร็ปที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยการร้องเพลงแร็ป ศิลปินโปรดัคชั่นส์และศิลปินด้านอื่นๆที่ถูกดำเนินคด (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/23223)

Street politics

วัดชี้ลาฯ เริ่มแสดงงานสตรีทอาร์ตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แสดงผลงานในพื้นที่การชุมนุมและในแกลลอรี เริ่มตั้งแต่ปี 2563 เช่น ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 แก้รัฐธรรมนูญ ปล่อยนักโทษทางการเมืองหรือ “ปล่อยเพื่อนเรา” ล้วนเป็นประเด็นทางสังคมที่วัดชี้ลาฯให้ความสนใจ

วัดชี้ลาฯ อธิบายว่า Street politics ก็คืองานศิลปะที่แสดงออกถึงการเมืองโดยนำเสนอบนท้องถนน พื้นที่สาธารณะ หรือในการชุมนุม เพื่อเรียกร้องหรือพูดแทนผ่านงานศิลปะต่อสังคม งานประเภทนี้จึงมักพบเห็นในที่ที่เห็นได้ง่าย ใช้เวลาทำรวดเร็ว เพราะมีความเสี่ยงถูกดำเนินคดี และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็ต่างแสดงออกได้ แตกต่างจากการแสดงงานในแกลลอรี่ที่มีระยะเวลาในการวางแผนแสดงงาน เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับแสดงงานศิลปะ ความเสี่ยงน้อยกว่า 

“สำหรับผม มันคือคำจำกัดความของเวลาในการจัดแสดงงาน ฟีลข้าวมันไก่ในโรงแรมกับข้าวมันไก่ข้างถนน” วัดชี้ลาฯ กล่าว

“ตอนแรกที่ทำงานไปลงในม็อบ คือสามนิ้วสีน้ำเงิน เพราะรู้สึกว่าฝั่งเราโดนความรุนแรงเยอะ แต่เราพูดอะไรไม่ได้ พูดไปก็ไม่มีคนฟัง เลยเป็นผลงานทดลองที่ลองสื่อสารออกไปตรงๆ เหมือนลองระเบิดอารมณ์ตัวเองดู แล้วก็ลองไปเรื่อยๆ ทำทั้งงานเรียนที่ไปด้วย ใช้บนการเรียกร้องบนท้องถนนได้ด้วย”

วัดชี้ลาฯ กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองหลังจากที่ทำลงไปว่า หลังจากที่ทำลงไปแล้ว รู้สึกได้ปลดปล่อย อยากพูดแทนคนที่เขาพูดไม่ได้ หรือไม่มีวิธีที่จะพูดออกไปว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงแต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมได้กลับมามักจะเป็นการสลายการชุมนุม 

สิ่งที่ทำให้วัดชี้ลาฯ เลือกที่จะแสดงงานในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่การชุมนุของประชาชน เพราะเขาคิดว่างานศิลปะสามารถช่วยนำเสนอความต้องการต่างๆ ของประชาชนออกไปได้ โดยเป็นการทำงานที่นำความคิดเห็นที่ประชาชนพูดออกไปได้ยาก คำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนต่อรัฐ รวมถึงข้อเรียกร้องจากประชาชน มาเปลี่ยนเป็นงานศิลปะและจัดแสดงในการชุมนุม นอกจากจะได้สนับสนุนเสียงเรียกร้องของประชาชนแล้ว ยังคงเป็นการเก็บรักษาความต้องการของประชาชน หรือเรื่องราวต่างๆไว้ในงานศิลปะ โดยผลงานศิลปะจะเล่าเรื่องราวออกไปแทนผู้คนในสังคมได้

“รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สังคมพูดไม่ได้ในตอนนั้น แต่เราใช้ศิลปะพูดได้ ชีวิตมันสั้น แต่ศิลปะมันยังอยู่” วัดชี้ลาฯ กล่าว

ยศที่ได้มาก็เหมือนอาหารที่เขาให้

“ยศที่มึงได้มาก็เหมือนอาหารหมาที่เขาให้มึง จะวิจารณ์ตำรวจยังทำไม่ได้เลย” วัดชี้ลาฯ กล่าวถึงสถานการณ์การสลายการชุมนุมปี 2563 ที่ตำรวจทำต่อประชาชนด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมักจะมีความรุนแรง “เพราะเป็นคำสั่งนาย ไม่รับใช้ประชาชน จึงชื่อผลงาน “อาหารหมา”

ภาพจากศิลปินนามสมมุติวัดชี้ลาฯ

ความรุนแรงจากรัฐทำให้เขามีความตั้งใจว่างานทุกชิ้นในชั้นเรียนจะต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง และตั้งเป้าไว้ว่าทุกชิ้นจะสามารถนำไปแสดงบนถนนของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนได้ เพราะอย่างน้อยงานศิลปะก็สามารถพูดแทนความรู้สึกที่อัดอั้นของคนในสังคมได้เพื่อสื่อสารถึงการใช้ความรุนแรงกับประชาชน 

วัดชี้ลาฯ ย้ำว่าสิ่งที่ตามมาก็คือคำวิพากย์วิจารณ์ผลงานชิ้นนี้ออกมาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือ ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจออกไปได้ตรงๆ ต้องแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองต่างๆผ่านชิ้นงานที่เขาแสดงออกไปอีกที 

ความท้าทายของศิลปะ

“ทุกวันนี้คนยังไงเข้าใจว่าศิลปะคือการวาด ซึ่งจริงๆ มันไปไกลมากกว่านั้น ในไทยนะมีงานประเภทอื่น แต่การศึกษาไม่สอน พื้นฐานคนเลยไม่มีเรื่องนี้อยู่ เลยให้ความรู้สึกว่าสิ่งนี้คืออะไร ไม่รู้จัก อยู่ๆ มาเจอ” วัดชี้ลาฯ กล่าว และระบุว่าเมื่อการศึกษาไม่ได้สอนให้เห็นถึงความหลากหลายในการสร้างศิลปะมันทำให้คนเข้าถึง หรือ ไม่เข้าใจว่างานคืออะไร กำลังสื่อสารอะไร เพราะเสรีภาพของงานศิลปะถูกจำกัดไว้โดยรัฐ ให้ศิลปะพูดเพียงแต่ความดีงาม ที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศิลปะในไทยจึงไม่หลากหลาย และเมื่อเกิดการสร้างงานที่ไม่คุ้นตา เลยเกิดการตั้งคำถามต่อผลงานที่ทำและสิ่งที่ผลงานต้องการจะสื่อสาร

“กฎหมายเป็นความกังวลที่ทำให้ศิลปินรู้สึกเหมือนทำอะไรก็ผิดได้ ประเทศไทย แค่จะเยี่ยวยังไม่รู้เลยว่าผิดไหม ผิดได้ทุกอย่างอะถ้ากฎหมายจะทำให้กูผิด”

วัดชี้ลาฯ อธิบายทิ้งไว้ว่า สภาวะที่ศิลปินรู้สึกว่างานที่เราสร้างออกไปจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายเราไม่สามารถมีเสรีภาพที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกความต้องการออกไปให้รัฐรับรู้ได้ เรารู้สึกกลัวกับสิ่งนี้ มันสะท้อนเสรีภาพในสังคมว่า มันมีปัญหาเพราะเหมือนสังคมโดนกดจนเคยชินกับความไร้เสรีภาพ เมื่อเริ่มจะเงยหน้าขึ้นมาก็มาโดนความรุนแรงกดต่อไป

หน้าที่ของศิลปะทลายกรอบเพื่อไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ

ในบทความ “ช่วยกันเอาความจริงออกมา” ศิลปะซุกไว้ใต้หมอน ของนิสิตจุฬาฯ ลงความคิดเห็นของทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความเห็นถึงยุคสมัยของศิลปะที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์สังคม สถาบันต่างๆ โดยที่ศิลปะเป็นสิ่งที่พาสังคมไปสู่แนวคิดที่ใหม่กว่าเดิม การทลายกรอบเพื่อไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ จึงเป็นหน้าที่ของศิลปะ

“มันจึงเป็นหน้าที่ศิลปินที่ต้องทลายเรื่องพวกนี้ เรามีอารยะอยู่เพราะมนุษย์ท้าทายตัวเอง ท้าทายความคิดมันจึงก้าวหน้า มันจึงเป็นมนุษย์”

วัดชี้ลาฯ เปรียบเทียบงานศิลปที่จัดแสดงในแกลเลอรี่กับงานศิลปะที่จัดแสดงในที่ที่หวงห้าม เหมือนข้าวมันไก่เหมือนกัน แต่บริบทต่างกัน มันทำให้สิ่งต่างๆ รอบตัวต่างออกไป หากงานจัดในแกลลอรี่ก็อีกความรู้สึกหนึ่ง กำแพงวังก็อีกความรู้สึก แต่มันเกิดขึ้นแล้วได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว

“คนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นเรื่องปกติ เราทำงานจบละ” วัดชี้ลาฯ กล่าว

ขณะที่ แฟลตบอย อธิบายว่าประเทศไทยไม่คุ้นชินกับศิลปะและไม่คุ้นชินกับการเรียกร้อง เมื่อมนุษย์หรือคนในประเทศเกิดความโกรธและอยากแสดงออกมันต้องการการมองเห็นความรู้สึกความต้องการ ที่อยากจะเรียกร้อง การพ่นจึงเป็นอาวุธที่ง่ายที่สุดในการสำแดงอารมณ์ความต้องการของตัวเองออกไป

“มันสร้างความสะใจให้สังคม เป็นความท้าทายสิ่งเดิมๆ” แฟลตบอย

โดย วัดชี้ลาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่าการท้าทายความรู้สึกบนบันทัดฐานศีลธรรมในใจคน มันทำให้สังคมตั้งคำถามเปิดเพดานการตั้งคำถามสังคม ผลลัพธ์ของงานชิ้นนี้คือสังคมเกิดการตั้งถามต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกำแพงวัดพระแก้ว มากกว่าความสำเร็จหรือความสวยงามของชิ้นงาน 

“มันอาจจะไม่ใช่งานศิลปะที่สวยมีเทคนิคที่สวยงามเลิศเลอเพอร์เฟคแต่ว่ามันทำงานจบแล้วมันได้สร้างการตั้งคำถามให้กับสังคมถือว่างานนี้สำเร็จแล้ว " วัดชี้ลาฯ กล่าว พร้อมอธิบายว่ามันอาจจะเป็นหนึ่งในผลกระทบของการที่ประเทศนี้ไม่มีพื้นที่ศิลปะ หรือแม้แต่ที่แสดงงานไม่เพียงพอต่อคนในประเทศนี้ บางครั้งสถานที่จัดแสดงงานเช่นของรัฐก็จะควบคุมงานศิลปะว่างานแบบไหนสามารถจะแสดงได้และไม่สามารถจะแสดงได้

 "บังเอิญ" ศิลปินอิสระอายุ 25 ปี ใช่สีสเปรย์พ่นลงบนกำแพงวัดพระแก้วทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ "อนาคิสต์" เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 

“ยิ่งถูกกดขี่มาเท่าไหร่ความรุนแรงและพื้นที่ที่ต้องการให้ถูกเห็นก็จะยิ่งมากขึ้น”แฟลตบอยให้ความเห็นต่อการพ่นกำแพงวัดพระแก้วด้วยว่า แม้งานพ่นกำแพงวังจะจบลงที่การรดำเนินคดีก็ตาม แต่การแสดงงานชิ้นนี้ได้ทำงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพราะได้สร้างคำถามต่อสถานที่อย่างกำแพงวัดพระแก้ว ที่มีความศักดิ์สิทธิ์จากอำนาจนิยมไทยได้มอบความศักดิ์สิทธิ์ไว้ ไม่ให้ผู้ใดสามารถแตะต้องได้ แม้ความจริงกำแพงวัดพระแก้วและกำแพงอื่นๆ ก็เป็นกำแพงเหมือนกัน แค่ไม่ได้อยู่ในบริบทที่อำนาจนิยมไทยต้องมามอบใส่ไว้ แต่เพราะเป็นวัดพระแก้ว บริบทความศักดิ์สิทธิ์จึงถูกยกขึ้นมา ทำให้เกิดการท้าทายอำนาจรัฐ

“เรารู้สึกว่ามันคือสร้างแรงกระเพื่อม ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกำแพงต้องห้ามที่มันแค่กำแพงหนึ่ง” แฟลตบอย กล่าวและให้ความเห็นต่อการพ่นกำแพงว่า มันเป็นกำแพงที่อุปโลคขึ้นมาเอง ทั้งๆ มันก็กำแพงที่สร้างขึ้นมาปกติ แต่ถูกใช้ไปเป็นพื้นที่ของใคร และตั้งคำถามว่าทำไมมันแตะไม่ได้ แม้จะรู้ว่าการแสดงงานแบบสุ่มเสี่ยงในนประเทศนี้ ด้วยการพ่นกำแพงในพื้นที่ที่รัฐให้ความสำคัญจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

“งานมันไม่ได้สวย แต่มันสำเร็จมันได้เขย่าความเชื่อของคนในสังคมต่อกำแพงธรรมดาอันนึงที่ถูกยกย่องให้มันไม่ธรรมดางานมันสำเร็จแล้ว” แฟลตบอย กล่าวทิ้งท้าย และย้ำว่างานได้วัดแรงกระเพื่อมความเชื่อของสังคมต่อความศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐสร้างขึ้นมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net