Skip to main content
sharethis

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอและผลกระทบจากเทคโนโลยีพลิกผัน (Disruptive Technology) คาดการณ์ส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้ติดลบไม่ต่ำกว่า 6% ดุลการค้าขาดดุลหนักสุดในรอบ 7 ปีจากการนำเข้ายุทธปัจจัยในช่วงที่ผ่านมา หวั่นการใช้อำนาจยุบพรรคและตัดสิทธิคู่แข่งทางการเมืองด้วยความไม่เป็นธรรมโดยผู้มีอำนาจรัฐเพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างหนัก


ที่มาภาพประกอบ: Russ Allison Loar (CC BY-NC-ND 2.0)

24 ก.พ. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าตัวเลขยอดส่งออกในเดือนมกราคมที่ติดลบค่อนข้างมาก 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อนและ ดุลการค้าขาดดุลในรอบ 7 ปี ขาดดุลสูงถึง 4,032 ล้านดอลลาร์เป็นผลมาจากการนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัย 2,133 ล้านดอลลาร์เนื่องจากการซ้อมรบ สถานการณ์ดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเตรียมรับมือกับผลกระทบการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ และ มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการการเงินและการคลังเพิ่มเติม พร้อมเร่งรัดการแสวงหารายได้จากภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว หากดูรายละเอียดของการหดตัวลงของภาคส่งออกพบว่า   มีทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม โดยที่สินค้าส่งออกไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีนได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ค่าเงินบาทแข็งค่ายังกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก  

คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้น่าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 6% โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 19,000-20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยประเมินว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้สถานการณ์การส่งออกน่าจะกระเตื้องขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีความคืบหน้า ขณะกลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในกัมพูชาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบที่อียูอาจตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรกัมพูชา อียูต้องการกดดันทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชาเนื่องจากมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาความเป็นประชาธิปไตยและการโกงการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยอัตราภาษีศุลกากรจะเพิ่มจาก 0% เป็น 12.5% คาดว่าโรงงานจำนวนหนึ่งจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆโดยเฉพาะเวียดนามที่มีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกับอียู เศรษฐกิจโลกนั้นจะเผชิญแนวโน้มการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศและมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ชะลอตัวลง ส่วนการค้าด้านบริการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความก้าวหน้าทางด้านการเชื่อมโยงกันทางดิจิทัล (Digital Connectivity) และเทคโนโลยีข้อมูล   

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าผลกระทบของเทคโนโลยีพลิกผัน (Disruptive Technology) ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ตลาดใหม่ ช่องทางใหม่ๆทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็มีผลกระทบต่อการปิดกิจการ การถดถอยและเสื่อมทรุดลงของกิจการจำนวนไม่น้อยที่ปรับตัวไม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งกระทบต่อตลาดแรงงาน มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น และ คาดว่าจะทำให้อัตราการว่างงานในระยะต่อไปปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคม และ การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ผ่านมาช่วยลดระดับผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ปัญหาการว่างงานจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นแนวโน้มระยะยาว รัฐบาลใหม่ควรมีการขยายบทบาทศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการหรือจัดตั้งศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่เพื่อรองรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการรวมทั้งผู้ว่างงาน นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งกองทุนคนเปลี่ยนงาน พัฒนาทักษะใหม่ สร้างงาน สร้างธุรกิจ สร้างกิจการให้กับพนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โอกาสที่ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาต่างๆจะพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการโดยใช้ปัจจัยค่าแรงถูกจะลดน้อยลงตามลำดับ ความก้าวหน้าทางด้านระบบจักรกลอัตโนมัติ Automation, 3D Printing, สมองกลอัจฉริยะ ทำให้ค่าแรงถูกไม่ใช่ปัจจัยในการกำหนดการเลือกฐานการผลิตอีกต่อไป แรงงานทักษะสูงและตลาดภายในภูมิภาคที่ใหญ่จะเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนมากกว่า หากเราไม่ปรับตัวในเรื่องดังกล่าวจะเผชิญหน้ากับการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆแน่นอน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าสำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเฉพาะหน้าก่อนการเลือกตั้ง คือ การใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิคู่แข่งทางการเมืองด้วยความไม่เป็นธรรมโดยผู้มีอำนาจรัฐจะเพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวม    

ส่วนกลุ่มทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผูกขาดแพลตฟอร์มธุรกิจในไทย ผูกขาดช่องทางการตลาดยุคใหม่ อย่าง อี-มาร์เก็ตเพลส ถูกผูกขาดโดยทุนต่างชาติ ผู้เล่นหลักๆในตลาด E-commerce โซเชียลมีเดีย อี-มาร์เก็ตเพลส ในไทยล้วนเป็น “กลุ่มทุนต่างชาติ” ทั้งสิ้น การครอบงำผูกขาดในตลาดค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไขและการแก้ไขกฎหมายให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวมถึงความสามารถในการจัดเก็บภาษีจากสินค้าและบริการที่มีการซื้อขายในอี-มาร์เก็ตเพลสด้วย สัดส่วนของกำไรที่ตกกับขั้นตอนการผลิตสินค้าและผู้ผลิตลดลงตามลำดับ ขณะที่กำไรส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่การให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูล กำไรจะไปอยู่ที่เจ้าของเครือข่ายที่ทำให้เกิดข้อมูล การสร้างการปฏิสัมพันธ์และคุณค่าที่แลกเปลี่ยนกันบนแพลตฟอร์มกลุ่มผู้บริโภคกับผู้ผลิต สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็คือ Alibaba, Amazon เข้ามาเจาะตลาดค้าปลีกในไทยและเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของร้านค้าแม้แต่ร้านเดียวในไทยก็ได้ Airbnb เข้ามาทำธุรกิจจัดหาที่พักได้โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของโรงแรมแม้แต่แห่งเดียว Uber หรือ Grab ให้บริการขนส่งโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของรถ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net