Skip to main content
sharethis

ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มีมานาน ทราบกันดีว่าใครคือผู้แพ้ตลอดมา สิทธิชุมชนถูกร่างไว้สวยงามในรธน.40 และลดความงามลงเรื่อยๆ จนถึง รธน.60 อีไอเอมีก็เหมือนไม่มี ท่ามกลางมหากาพย์การต่อสู้นี้ มีเครื่องมือใหม่ในทางสากลที่หวังจะมาจัดการความขัดแย้ง ชักนำให้เอกชนมีมาตรฐานการเคารพสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น เครื่องมือนี้อยู่ระหว่างการจัดทำและเรากำลังจะพาไปดู แต่ก่อนอื่นมาทบทวนสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโฟกัสพื้นที่อีสานในยุครัฐบาลทหารที่คำสั่งต่างๆ ออกมาง่ายดายแทบจะเท่าใจนึก

คืนหนึ่ง กลางเดือนพฤศจิกายนปีก่อน หลังเสร็จงานเกี่ยวข้าว ประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายมาประชุมที่บ้านหลังไม้หลังเล็กๆ หลายสิบคนจนแน่นขนัดใต้ถุนกว้าง พวกเขาเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)

เป้าหมายเพื่อสบตากับคณะกรรมการที่กำลังพิจารณาการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานให้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) โครงการซึ่งพ่วงติดมากับโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของบริษัทมิตรผล พวกเขาเห็นว่าขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน ไม่เคารพความคิดเห็นของคนในพื้นที่

ก่อนขึ้นรถบัสออกเดินทางออกจาก ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.สโยธร เพียง 1 ชม. สิริศักดิ์ สะดวก นักพัฒนาเอกชน ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้รับการติดต่อด่วนจากสำนักงาน กกพ. ว่า การพิจารณาถูกเลื่อนออกไปอีก 1 เดือน รถบัสที่จองไว้ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ส่วนเงินมัดจำที่จ่ายไปก่อนหน้าก็ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ต่อมาวันที่ 21 ธ.ค. 2561 กกพ. มีมติเลื่อนการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมรับปากว่าจะลงพื้นที่รับฟังข้อมูล ความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติม

เป็นชัยชนะของชาวบ้านหรือการประวิงเวลา ยังเป็นคำถาม ท่ามกลางความคาใจของคนในพื้นที่ต่อกระบวนการจัดทำรายงานการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงงานน้ำตาล เพราะไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ ไม่เปิดทางให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงออก ทั้งที่โครงการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกับชุมชนและอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว ท่ามกลางตัวอย่างอีกมากมายที่เกิดซ้ำเหมือนแผนเสียงตกร่องเดิมในช่วงเวลาหลายสิบปี หากแต่พ.ศ.นี้ดูจะมี ‘เครื่องมือใหม่’ ที่อ้างว่าจะช่วยกลบร่องเดิม ให้การพัฒนาและสิทธิชุมชนเดินหน้าไปคู่กันได้ เราจะนำเสนอรายละเอียดในตอนต่อไป ส่วนรายงานตอนนี้จะนำเสนอภาพรวมของความขัดแย้งระหว่างรัฐ-ทุน กับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่อีสาน เจาะจงช่วงเวลาของรัฐบาลทหารซึ่งออกคำสั่งมากมายด้วยความง่ายดาย

รัฐช่วยเสริม‘ทุน’ หยุดประชาชนค้านโครงการ

รายการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยปี 2557 – 2558 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) พบว่ามีการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งหมด 170 กรณี จำนวนมากเกี่ยวข้องกับการทำธุกิจของบริษัทเอกชน ธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจพลังงาน โรงงานอุตสาหกรรม รัฐวิสาหกิจ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ

(ปี 2557 มีเรื่องร้องเรียน 87 เรื่อง ปี 2558 มีเรื่องร้องเรียน 83 เรื่อง ส่วนปี 2559 – 2560 และก่อนปี 2557 ไม่มีการรายงานตัวเลขข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในรายงานของ กสม. มีเพียงการรายงานในเชิงประเด็น)

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการ แต่หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 พบว่า สถานการณ์ด้านสิทธิชุมชนและการละเมิดสิทธิมนุษยชนตกอยู่ในภาวะแย่กว่าที่เคย ถูกปล่อยปละละเลย หลายกรณีรัฐบาลทหารเข้าไปมีส่วนร่วมและเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธินั้นด้วย

กลุ่มอนุรักษ์นามูล ตั้งข้อสงสัย เหตุใดนายทุนทำงานง่ายในช่วงรัฐประหาร

เริ่มแล้ว อพิโก้ฯ ย้ายแท่นขุดเจาะ ใต้กฎอัยการศึก ท่ามกลางเสียงค้านของชุมชน

บริษัทอพิโก้ฯ ขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียม เข้าพื้นที่บ้านนามูล จ.ขอนแก่น ภายใต้การดูความสงบของเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ 1 กองร้อย

ยกตัวอย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งประชาชาชนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูลสาด (จังหวัดขอนแก่น) ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินกิจการ

เช้าวันที่ 13-19 ก.พ. 2558 ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองผนึกกำลังเปิดทางให้บริษัทสามารถขนย้ายอุปกรณ์ของบริษัทเข้าพื้นที่แปลงสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านนามูลเพียง 1.5 กม. ที่สำคัญคือ มีการอ้างกฎอัยการศึกเข้าควบคุมดูแลความเรียบร้อยในช่วงขนย้ายอุปกรณ์

นอกจากนี้ยังเรื่องราวการคุกคามประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยเจ้าหน้าที่ทหาร เหตุการณ์นั้นมีประชาชน 15 คนถูกเรียกไปรายงานตัวที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ มณฑลทหารบกที่ 44 เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนที่ทำเนียบฯ หรือกรณีการกดดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นห้ามให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนประชาชนในเครือข่ายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งทำกิจกรรมเดินรณรงค์ค้านการทำเหมืองแร่โปแตช

ชาวท่าแซะชุมพร ร้องกรรมการสิทธิฯ ถูกทหารคุกคาม หลังค้านสร้างเขื่อน

เริ่มกิจกรรม 'ไทวานรก้าวเดิน' ปกป้องสิ่งแวดล้อมและคัดค้านโปแตชวานร

กฎหมาย (ละเมิด) พิเศษยุค คสช.

หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาพบว่ามีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และอาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. 2560) หลายฉบับที่มีลักษณะเป็นไปในทางละเมิดและกระทบต่อสิทธิชุมชน ประกอบด้วย

1.นโยบายทวงคืนผืนป่า ในทางปฎิบัติมีการไร่ลื้อชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าทั้งที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานฯ เป็นจำนวนมาก โดยการไล่รื้อนั้นไม่ได้มีพื้นที่รองรับประชาชนที่จำต้องออกจากพื้นที่
(คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน)

2.ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิกถอนพื้นที่ป่า เอื้อประโยชน์ภาคอุตสาหกรรม มีคำสั่งให้เพิกถอนการเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพิกถอนการเป็นเขตป่าไม้ถาวร เพิกถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จากพื้นที่ใน 7 จังหวัด เพื่อนำพื้นที่มารองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ เวลานี้ประชาชนในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวถูกไล่ออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่ปี 2558

(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 74/259

3.ยกเว้นกฎหมายผังเมือง และการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  สั่งให้ละเว้นการปฎิบัติตามกฎหมายเพื่อให้การดําเนินการและการบริหารจัดการพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สามารถดําเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ทำให้ใช้พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมได้

(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559)

4.ยกเว้นกฎหมายผังเมืองสำหรับการประกอบกิจการพลังงานและการจัดการขยะ / โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ,โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ, โรงงานบำบัดน้ำเสีย และเตาเผาขยะ เป็นต้น  เป็นการเปิดทางให้รัฐและเอกชนสามารถประกอบกิจการในพื้นที่สีเขียวตามกฎหมายผังเมืองได้

(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมและกฎหมายควบคุมอาคาร สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท)

5.เอื้อรัฐดำเนินจัดหาผู้รับเหมาในโครงการที่เกี่ยวข้องกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ก่อนผลการพิจารณา EIA ได้รับการพิจารณาเห็นชอบ

(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559)

6.เปิดทางให้นำที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดิน (ที่ดิน สปก.) ไปใช้ประโยชน์ในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมได้  โดยมีการเปิดช่องให้ใช้พื้นที่สำหรับการประกอบกิจการพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก สํารวจและประกอบกิจการปิโตรเลียม-เหมืองแร่

(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 31/2560)

7.ยกเว้นกฎหมายผังเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) จัดทํานโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และแผนการดําเนินงาน โดยการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดําเนินการจัดทําผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว

(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 47/2560)

20 ปีผ่านไป สิทธิชุมชนหล่นหายจากรัฐธรรมนูญ

สิทธิชุมชน ได้รับการทำคลอดเป็นทางการครั้งแรกในมาตรา 46 มาตรา 56 และมาตรา 59 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยมีสารสำคัญคือ บุคลมีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการการบํารุงรักษาสิ่งแวดล้อม และจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งยังวางหลักการว่า การดําเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะกระทํามิได้เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐเพื่อให้ปฎิบัติตามมาตราการดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครอง และมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิต ก่อนที่โครงการนั้นๆ จะได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการ พร้อมสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครง และมีการระบุถึงองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

สาระสำคัญของบทบัญญัติดังกล่าวนี้ได้ถูกส่งต่อมายังรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในมาตรา 57  66 และมาตรา 67 แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่เป็นเช่นนั้น ภาคประชาสังคมออกมาวิพากษณ์วิจารณ์อย่างหนักจนมีการปรับแก้ก่อนจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไข หากแต่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ชี้ให้เห็นว่ายังมี 3 ประเด็นที่หล่นหายไปจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 คือ

1.สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต

2.รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่กลับระบุไว้ในมาตรา 58 ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนดำเนินโครงการที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม "อย่างรุนแรง"

3.ตัดความเป็นไปได้ในการมี “องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม” ออกจากรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ได้พูดถึงองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเชื่อว่าจะผลักดับมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แม้จะยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับอำนาจหน้าที่และโครงสร้างขององค์กร

กล่าวอย่างสรุป พัฒนาการของประเด็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญนั้นได้ผันเปลี่ยนจากการยันยืนว่าบุคคลหรือชุมชนมีสิทธิอย่างไรบ้าง กลายเป็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นอำนาจในการตัดสินใจของรัฐ ส่วนประชาชนและชุมชนคงเหลือเพียงสิทธิในการร้องเรียนร้องทุกข์ให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา

โครงการขนาดใหญ่ในอีสาน  

หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ภาคอีสานเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งถูกละเมิดอย่างหนักจากเข้ามาเข้ามาประกอบธุรกิจ หรือพยายามดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ข้อมูลที่สามารถสืบค้นและปรากฎเป็นข่าวทั่วไปพบว่า ตลอด 5 ปีนี้ มีข้อพิพาทระหว่างชุมชน กับกลุ่มทุนและรัฐอย่างน้อย 9 กรณี ดังนี้

พื้นที่

ลักษณะของการละเมิดสิทธิ

ประเภทธุรกิจ

เจ้าของกิจการ

บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย

-การฟ้องร้องดำเนินคดี (ฟ้องปิดปาก)

-การทำร้ายร่างกาย

-การข่มขู่คุกคาม

-ธุรกิจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เหมืองแร่ทองทำ

บริษัททุ่งคำจำกัด

บ้านนามูล อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

-ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสกัดกั้นประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยอ้างกฎอัยการศึก

-ไม่มีการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงของโครงการอย่างรอบด้าน

ปิโตรเลียม

บริษัท อพิโก้ โคราช จำกัด

ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

-ฟ้องปิดปาก

-ไม่มีการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงของโครงการอย่างรอบด้าน

เหมืองแร่โปรแตช

บริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

รอยต่อระหว่าง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ

-กระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีปัญหา เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร

โรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล

บริษัทในเครือมิตรผล

ต.บ้านเมืองเพลีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

-มีการกว้านซื้อที่ดินกว่า 4,000 ไร่จากประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่มีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าจะนำที่ดินไปทำอะไร

-หน่วยงานรัฐไม่ได้ดำเนินการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบก่อนเริ่มต่อกระบวนการ

นิคมอุตสาหรกรรมชีวภาพ

มติคณะรัฐมนตรี +ดำเนินการเตรียมที่ดินโดยบริษัทมิตรผล

ต.บ้านเพชร และต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

-กระบวนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ศาลปกครองนครราชสีมารับพิจารณาคดีโดยยังอยู่ในกระบวนการของศาล)

เหมืองแร่โปแตช และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)

ต.ปาฝา อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

-ขาดการชี้แจ้ง ข้อมูลข้อเท็จจริง ผลดีผลเสียของโครงการอย่างครบถ้วน

-มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยที่ประชาชนไม่รับทราบข้อมูลมาก่อน

-ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2559

-ได้รับการงดเว้นการจัดทำรายงานประมาเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  EIA (กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาดต่ำว่า 10 เมกะวัตต์) ตามประกาศคณะกรรมการกิจการพลังงาน

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาด 9.9 เมกะวัตต์

บริษัท สยามพาวเวอร์

ชุมชนบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

-บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ประชาชนกลุ่มรักษ์น้ำอูน 21 คน หลังยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน (ปัจจุบันถอนฟ้องแล้ว)

โรงงานน้ำตาลกำลังผลิต 12,500 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 48 เมกะวัตต์

บริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม

ชุมชนบ้านหนองแต้  ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 

-กระทรวงมหาดไทย ลงนามอนุมัติให้บริษัทใช้ที่ดินสาธารณะห้วยเม็ก ที่บ้านหนองแต้ หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม โดยอ้างว่าใช้ที่ดินสาธารณะห้วยเม็ก ที่บ้านหนองแต้ หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม ทว่าในสภาพจริงที่ดินดังกล่าวกลับมีความอุดมสมบูรณ์ และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (สุดท้ายบริษัทยินยอมยกเลิกโครงการเช่าพื้นที่)

เตรียมโครงการก่อสร้าง ที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม

บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เครือกระทิงแดง)

ถอดบทเรียนการละเมิดสิทธิจาก 3 ชุมชน

รูปแบบของการละเมิดสิทธิชุมชนจากการทำธุรกิจในพื้นที่ภาคอีสานที่เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนแล้ว เนื่องจากส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คน คือ การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำฯ ในจังหวัดเลย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ศาลจังหวัดเลยได้พิพากษาให้ บริษัทฯ ดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ทองคำและเรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ 149 ครอบครัว

ในหลายกรณีแม้จะยังไม่มีความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าโครงการต่างๆ ของเอกชน และรัฐจะดำเนินไปด้วยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน บทเรียนจาก 3 พื้นที่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินการ และหลังสิ้นสุดการดำเนินการแล้ว อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอย่างไร

ไม่รู้ล่วงหน้า ไม่แจ้งข้อมูล ไม่มีโอกาสตัดสินใจ

สมัย คดเกี้ยว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

สมัย คดเกี้ยว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทในเครือมิตรผล ให้ข้อมูลว่า ประชาชนในพื้นที่เพิ่งรับรู้ข้อมูลว่าจะมีการเข้ามาก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้กับชุมชนในช่วงปี 2559 ทั้งที่ในปี 2558 เริ่มมีนายหน้าที่ดินมากว้านซื้อที่ดินไปจากคนในพื้นที่แล้วโดยไม่บอกว่าจะนำที่ดินนั้นไปทำอะไร

ข้อมูลมาถึงหูสมัยจากการพูดปากต่อปากของคนในพื้นที่ว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล แต่ก็ไม่ได้พูดถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่พ่วงมาด้วยกัน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ก็ไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลใดๆ จนกระทั่งบริษัทติดป้ายเชิญชวนให้ชาวบ้านไปเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงานใกล้กับชุมชนจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เดินทางไปแสดงจุดยืนคัดค้านการดำเนินการของบริษัท

สมัยเห็นว่า การที่บริษัทใดๆ จะเข้ามาก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนควรต้องจัดประชาคมหมู่บ้านเพื่อนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งชี้แจงขั้นตอนกระบวนการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสินใจว่าจะยอมให้มีการตั้งโรงงานในพื้นที่ได้หรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับมีเพียงการประกาศให้ประชาชนไปเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจัดงานในลักษณะการกินเลี้ยงโต๊ะจีน แจกของชำร่วยเป็นเสื้อยืดและน้ำตาล เนื้อหาในเวทีนำเสนอข้อดีของการมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพียงอย่างเดียว และยังมีการจดรายชื่อผู้เข้าร่วมเวทีเพื่อไปประกอบในอีไอเอด้วย

สมัยเห็นว่า กระบวนการนี้ไม่อาจเรียกได้ว่ามีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าใจตามข้อมูลที่มีการชี้แจง คล้ายกับว่าประชาชนในพื้นที่กำลังถูกใช้เป็นฐานสร้างความชอบธรรมในการก่อสร้างโรงงาน

เช่นเดียวกันกับโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพที่อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2561 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท โดยมีพื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่คือ 1.ภายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  2.ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จ.ขอนแก่น

ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ ต.เมืองเพี้ย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เริ่มมีการกว้านซื้อที่ดินจากประชาชนจำนวนมากโดยกลุ่มผู้นำชุมชน จนปลายปีจึงเริ่มสังเกตว่าซื้อที่ดินไปแล้วกว่า 2,000 ไร่ ต้นปี 2561 ถึงทราบข่าวว่าที่ดินของชาวบ้านที่ถูกกว้านซื้อไปนั้นเป็นการซื้อเตรียมไว้รับกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งคาดว่าจะมีเนื้อที่ทั้งหมด 4,000 ไร่

ทางเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้าจึงได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามข้อมูลทั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมจังหวัด แต่คำตอบที่ได้รับคือ เวลานี้ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลใดๆ ได้ ว่าพื้นที่ทั้งหมดที่ถูกกว้านซื้อจะมีการทำอุตสาหกรรมอะไรบ้าง เนื่องจากทางบริษัทฯ ยังไม่ได้ดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงมติ ครม. เท่านั้น คาดว่าเมื่อถึงเวลาทางบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนจะเป็นผู้ชี้แจงข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่เอง

เธียรชัย สุนทอง ประธานสภาวัฒนธรรม ต.เมืองเพี้ย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

เธียรชัย สุนทอง ประธานสภาวัฒนธรรม ต.เมืองเพี้ย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่มีนายหน้าเข้ามาซื้อที่ดิน หลายรายให้เหตุผลที่เข้ามาซื้อที่ดินไม่ตรงกัน บางรายอ้างว่าจะนำที่ไปทำการเกษตร เช่น ปลูกอ้อย บางรายบอกว่าจะสร้างโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นโรงงานอะไร ขณะที่องค์กรส่วนท้องถิ่นรวมถึงแขนขาของมหาดไทยอย่างกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ กับประชาชน ซ้ำบางรายยังเป็นผู้พานายหน้าซื้อที่ดินเข้ามา

“สิ่งที่ชาวบ้านคิดกันอยู่ในขณะนี้คือ หน่วยงานต่างๆ คุณจะทำอะไร คุณควรมาบอกให้เรารู้หน่อย เราจะได้เตรียมตัว ไม่ใช่มีเงินอย่างเดียวแล้วเข้ามาซื้อโดยไม่บอกอะไรกับชุมชนเลย ไม่ถามความเห็นชาวบ้านเลย แล้วยิ่งมารู้ว่าจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เรายิ่งกังวลว่ามันจะเกิดมลพิษ” เธียรชัยกล่าว

สำหรับความคืบหน้าของพื้นที่ ต.เมืองเพี้ย ล่าสุดทราบว่า เดือน มี.ค.จะมีการจัดเวทีฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) เพื่อประกอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งคาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ ประชาชนในพื้นที่จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มฮักบ้านเกิด ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า และกลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายอำเภอบ้านไผ่ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 ขอให้ชะลอการดำเนินการของบริษัทออกไปก่อน พร้อมขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อประชาชน

การไม่ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนยังเห็นได้ชัดจากกรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมภาคอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดกาฬสินธุ์กับจังหวัดขอนแก่น พื้นที่แปลงสำรวจ L27/43 หลุมดงมูล-บี (ดงมูล-5)

ยุทธ แพนดี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูลสาด

ยุทธ แพนดี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูลสาด ให้ข้อมูลว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับพื้นที่บ้านนามูล-ดูนสาด ได้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบที่มีรัฐและกลุ่มทุนเป็นตัวแทนหลัก เขาชี้ว่าบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด ได้รับสัมปทานสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2546 แต่ระยะเวลาหลังจากนั้นเป็นต้นมาประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้รับทราบเรื่องราวการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทอีกเลย จนได้ทราบว่ารายงานผลการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทได้ผ่านความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2557 โดยประชาชนที่ตื่นตัวในพื้นที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง ผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นมีเพียงสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

“คนที่เข้าไปให้ความเห็นในเวที คือ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเขาอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ แต่ประชาชนอย่างเราไม่ได้รับรู้อะไร” ยุทธ กล่าว

ยุทธกล่าวต่อว่า เมื่อประชาชนในพื้นที่เริ่มตื่นตัวและออกมาคัดค้าน ทางบริษัทก็ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ แต่เวทีนี้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารกว่า 200 นายเข้ามาดูแลความสงบ มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เมื่อมีผู้ที่ลุกขึ้นพูดถึงปัญหาผลกระทบหรือข้อกังวลเกี่ยวกับการขุดเจาะปิโตรเลียมก็จะถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้าประกบทันที แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลางในการจัดเวที  นอกจากนี้ยังมีคนของบริษัทเข้ามาในพื้นที่เพื่อแจกของชำร่วยแล้วขอให้ผู้ที่รับเซ็นชื่อรับของ โดยชาวบ้านคาดว่าจะนำรายชื่อเหล่านั้นไปประกอบในการรับฟังความคิดเห็น

ยุทธให้ข้อมูลต่อว่า ช่วงที่จะมีการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียมเข้ามาในพื้นที่ในเดือน ก.พ. 2558  ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาคัดค้าน แต่สิ่งที่เห็นคือมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เข้ามาสกัดกั้นประชาชน โดยใช้ทั้งกำลัง กฎอัยการศึก และมีการขมขู่คุกคามคนที่ออกมาต่อต้านบริษัทฯ

ยุทเล่าด้วยว่า สุดท้ายแล้วกลุ่มคัดค้านก็ไม่สามารถสู้กับอำนาจรัฐและทุนได้ นับจากต้นปี 2558 จนถึงต้นปี 2562 ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านเรียกร้องในหลายช่องทางทั้งผ่านจังหวัด ผ่านศูนย์ดำรงธรรมแต่ก็ไม่การตอบรับ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการขุดเจาะสำรวจก๊าซปิโตรเลียมในที่ดินที่ทำกินของประชาชนคือ ต้นยางพาราไม่สามารถกรีดน้ำยางได้กินพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ แต่ก็ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใด ทั้งยังอ้างว่าหากต้องการได้เงินชดเชย ประชาชนจะต้องไปเรียกร้องกับรัฐบาลเองหรือไปขอเงินชดเชยจากปัญหาภัยแล้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงขั้นตอนของการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมเพียงเท่านั้น หากทางบริษัทเห็นว่าก๊าซธรรมชาติที่สำรวจพบคุ้มค่าต่อการลงทุนก็จะมีการดำเนินการตั้งโรงแยกก๊าซ และมีการวางแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติต่อไปในอนาคตอีก

ปัญหาของกระบวนการทำอีไอเอ

บทเรียนจาก 3 พื้นที่ข้างต้นฉายให้เห็นถึงกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้นในการเข้ามาดำเนินธุรกิจของกลุ่มทุน รวมถึงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประชาชนคาดหวังของหน่วยงานรัฐ แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือปัญหาในกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกระบวนการในการพิจารณา

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัทซึ่งเป็นผู้ลงทุนในการประกอบกิจการมีหน้าที่จ้างบริษัทเอกชนซึ่งรับจัดทำรายงานเป็นผู้ดำเนินการ ความสัมพันธ์ในลักษณะของผู้จ้างและผู้ถูกจ้างนี้ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ผลการศึกษารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมจนทำให้รายงานดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เนื่องจากระบบวิธีการจ้างงานส่วนมากมักจะเป็นการจ่ายเงินเพียงครึ่งหนึ่งของค่าจ้างทั้งหมดก่อน เมื่อรายงานผ่านความเห็นชอบจึงจะมีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือ

สิริศักดิ์เสนอว่า เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความเป็นธรรมทั้งต่อชุมชนและเอกชนเอง ผู้ที่จะจัดทำรายงานควรเป็นคณะกรรมการกลางซึ่งประชาชนในพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตั้งขึ้น เช่น นักวิจัยหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน วัฒนธรรม ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยจะต้องตั้งโจทย์ของการทำรายงานว่า เป็นการเปิดเผยให้เห็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง มากกว่าการตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้รายงานผ่านความเห็นชอบ

นอกจากนี้สิริศักดิ์ยังชี้ให้เห็นว่า การประกอบกิจการอุตสาหกรรม ใบเบิกทางที่สำคัญที่สุดคือ ความเห็นชอบของหน่วยงานรัฐต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม บทเรียนจากของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ผ่านการพิจารณาในการยื่นรอบแรก แต่เมื่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เปิดช่องให้เอกชนสามารถแก้ไขรายงานได้ในระยเวลาที่กำหนด และยื่นเข้าสู่การพิจารณได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ท้ายที่สุดรายงานของโรงงานน้ำตาลก็ได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาครั้งที่ 4 ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาครั้งที่ 3 แม้ว่าหนึ่งในประเด็นการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายคือการชี้ให้เห็นกระบวนการในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันไม่ชอบธรรมก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือภาพของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน อย่างไรก็ตามแผนการพัฒนาในภาคอีสานที่วางไว้ในระยะยาวผ่านแผนการพัฒนาหลายฉบับก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไปว่า พรมแดนระหว่างการพัฒนากับพื้นที่สิทธิมมนุษยชนจะถูกจัดวางร่วมกันอย่างไร

ท่ามกลางความไม่ลงรอยดังกล่าวก็เกิดจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน นำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ แผนดังกล่าวถูกคาดหวังว่าจะเป็นเหมือนตาข่ายกรองการประกอบธุรกิจ โดยดักจับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ พร้อมกับยกเครื่องปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อให้น้ำหนักกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มากกว่ากับคุ้มครองผลประโยชน์ของเอกชน

แผนนี้จะนำพาไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

ขอขอบคุณ คุณณัฐพร อาจหาญ ที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการประสานงานแหล่งข่าว แล้วช่วยเหลือด้านข้อมูลในงานเขียนชิ้นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net