Skip to main content
sharethis

แฟ้มภาพ

28 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และประชุม คสช. ว่าที่ประชุมหารือในรายละเอียดที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามกำหนดเวลาเดิมที่วางไว้ เพราะรัฐบาลและ คสช. ไม่ได้มุ่งหวังให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป โดยเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โปรดเกล้าฯ แล้ว จะให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้บางเรื่อง เช่น การประชุมพรรค แก้ไขข้อบังคับพรรค ตั้งกรรมการบริหารพรรค รับสมัครสมาชิกเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามที่พรรคการเมืองเสนอมา เช่น เรื่องช่วงเวลาการจัดหารทุนประเดิมพรรค เรื่องจำนวนสมาชิกพรรค และการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะเน้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับการทำไพรมารีโหวต

“การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยรัฐบาลพิจารณาตามที่กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เสนอมาให้จัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเตรียมการและลงคะแนน วันเลือกตั้งจึงเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าจากวันนี้ถึงวันดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง วันนี้เรากำลังรอกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่คาดว่าจะลงมาในเดือนกันยายน เมื่อกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศเราจะมีเวลาอีก 90 วันปลดล็อคต่าง ให้ดำเนินการได้ คือช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง โดยจะออกคำสั่งมาตรา 44 เร็ว ๆ นี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า การแก้ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ ให้กลับไปใช้ตามแนวทางคล้ายกับที่กรธ.เสนอ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกมาประกอบการพิจารณาในการสรรหา แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร จะต้องรอดูคำสั่งอีกที ทั้งนี้จะเป็นการใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามโรดแมปการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งก็ยังคงสะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยอีก 4 ปีค่อยทำไพรมารีโหวต ถ้าไม่ทำก็ต้องไปแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ 2560

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้หลังจากที่ กกต.ชุดก่อน จัดประชุมร่วมระหว่าง กกต. คสช. และพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ได้มีการถามความเห็นเรื่องการทำไพรมารีโหวต ท้ายสุดจากที่ประชุมได้กล่าวได้สรุปแนวทางออกมาทั้งหมด 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ยืนยันการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมเป็นรายจังหวัด 2.เปลี่ยนเป็นการทำไพรมารีโหวตรายภาค 4 ภาค 3.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ และ 4.หาแนวทางอื่นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

รู้จัก 'ไพรมารีโหวต' ที่ร่างมาแต่อาจไม่ได้ใช้ หลังผุด 4 แนวทาง

มีเวลา! กม.บังคับใช้ตั้งแต่ปลาย 60 แต่ คสช. สร้างเงื่อนไขห้ามพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่กำหนดให้มีการทำไพรมารีโหวต คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2560 แต่หลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 (ซึ่งถูกแปลงรูปมาอยู่ในมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งบัญญัติให้ คสช.ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเข้ารับหน้าที่ และในระหว่างนี้ หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช.และคณะยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 เพื่อเป็นการวางกรอบการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองว่าสามารถทำอะไรด้ในช่วงในช่วงใดบ้าง ซึ่งทำให้พรรคการเมืองสามารถทำได้เพื่อการแจ้งจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ และเปิดให้พรรคการเมืองมีที่อยู่ก่อนหน้าดำเนินการยืนยันสมาชิกที่มีอยู่เดิม โดยไม่ถือตามจำนวนสมาชิกพรรคเดิมที่แต่ละพรรคมีอยู่ ทั้งยังมีคำสั่งให้ยุบสาขาพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีมาก่อนหน้า แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองใหม่ และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในกระบวนการทำไพรมารีโหวต ทั้งนี้การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองในมาตรา 140 และมาตรา 141 โดยไม่ผ่านกระบวนของสภานิติบัญญัติ

สำหรับสาเหตุที่พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการเมืองใดๆ ได้เลยนั้นเป็นเพราะ คสช. ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยในข้อ 2 ของคำสั่งระบุให้ ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ  ในทางการเมือง และการดําเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้หลังจากมีการออกคำสั่งหน้าหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยได้เข้ายื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วิฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.25, 26, 27 และ 45 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมติวินิฉัยว่าคำสั่งดังกล่าว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามที่ระบุไว้ข้างต้น เนื่องจากทั้งสองประเด็นดังกล่าว ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่บุคคล

จากคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้กระบวนการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ถูกรับรองและตามปฏิบัติตามนั้นมาโดยตลอด ก็จะมีกระข่าวว่าจะมีการใช้ อำนาจตามมาตรา 44 อีกครั้งเพื่อคลายล็อคบางส่วน แต่ยังคงสั่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่ ต่างยืนยันว่าสามารถดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวต ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติไว้ได้ หาก คสช. รีบปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้เต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net