Skip to main content
sharethis

ขณะที่บางประเทศที่อ้างศีลธรรมแบบปากว่าตาขยิบยังมอง 'เซ็กส์ทอย' หรือของเล่นทางเพศเป็นสิ่งที่เสื่อมต่อศีลธรรม แต่ในประเทศอื่นๆ มีการพยายามปรับแต่งเซ็กส์ทอยให้กลายเป็นสิ้งที่ผู้เคยประสบภัยจากการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนสามารถใช้เยียวยาตัวเองเพื่อให้กลับมามีความสุขทางเพศอีกครั้งได้

16 พ.ค. 2561 นักออกแบบชาวดัทช์ เนียนเคอ เฮลเดอร์ เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามปรับแต่งเซ็กส์ทอยให้นำมาใช้บำบัดผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์ข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน (rape survivor) โดยอาศัยประสบการณ์ของเธอเอง เฮลเดอร์บอกว่าเธอต้องการใช้เซ็กส์ทอยเหล่านี้เป็น "เครื่องมือที่จะให้โอกาสในการฟื้นฟูทางเพศสัมพันธ์ในแบบส่วนตัวของตัวผู้ใช้งานเอง"

สำหรับผู้ที่เผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนมาก่อนนั้น อาจจะรู้สึกเข้าถึงกิจกรรมทางเพศที่จะให้ความสุขพวกเขาได้ยากขึ้น ในขณะที่มีการเยียวยาทางจิตใจและทางอารมณ์สำหรับพวกเขาแล้วสิ่งที่ยังขาดคือการพูดถึงรอยแผลใจที่จะส่งผลถึงเพศสัมพันธ์

เฮลเดอร์จึงได้ออกแบบเซ็กส์ทอยในคอลเลคชั่นที่ตั้งชื่อว่าเป็น "การเยียวยาทางเพศ" (Sexual Healing) เช่น แปรงขนม้าที่นำมาใช้สำรวจการสัมผัสและการจักกะจี้ กระจกที่ทำให้ผู้ใช้เห็นปากช่องคลอดตัวเองได้ง่ายขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสะท้อนและกระตุ้นเตือนการทำงานของร่างกายผู้ใช้อย่าง เครื่องมือที่จะสั่นเตือนถ้าพบว่าส่วนของอวัยวะเชิงกรานของผู้ใช้ตึงเครียดเกินไป หรือเซนเซอร์ตรวจจับว่ามีการหายใจเร็วเกินไปเพื่อเตือนให้ทำอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เฮลเดอร์บอกว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าใจเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายตัวเองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้

ถึงแม้ว่าเซ็กส์ทอยแบบของเฮลเดอร์ยังเป็นต้นแบบทดลองอยู่ แต่ก็มีบางสถานที่อย่างทางตะวันออกของลอนดอนที่มีร้านค้าเซ็กส์ทอยที่เน้นสำหรับผู้หญิงอยู่ชื่อ "Sh! Women's Erotic Emporium" ที่นอกจากจะขายเซ็กส์ทอยแล้วยังมีการให้การศึกษาเรื่องเพศด้วย ทาง Erotic Emporium ยังเคยปรึกษาหารือกับหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษเพื่อให้มีเซ็กส์ทอยที่คนหลายแบบสามารถเข้าถึงได้รวมถึงผู้ที่เคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศหรือการข่มขืนด้วย เรเน เดนเยอร์ ผู้จัดการร้านและผู้ให้การศึกษาทางเพศกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนทำงานสาธารณสุขจำนวนมากยังรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะพูดถึงเรื่องเพศ

นอกจากนี้เดนเยอร์ยังเป็นคนที่ดำเนินการตั้งกลุ่มให้คำปรึกษาสำหรับผู้หญิงที่เคยเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมาก่อน เดนเยอร์บอกว่าสำหรับผู้ที่เคยเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศหรือการข่มขืนมาก่อนพวกเธอจะรู้สึกว่า "ส่วนหนึ่งของร่างกายพวกเธอถูกดึงออกไป" แต่ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่เดนเยอร์กล่าวถึงคือหลังจากที่มีการบำบัดทางจิตใจพวกเธอจนพร้อมที่จะคิดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์แล้ว กลับไม่มีพื้นที่ที่จะทำให้พวกเธอฟื้นฟูตัวเองในแง่เพศสัมพันธ์นี้

เดนเยอร์บอกว่าเซ็กส์ทอยจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยให้คนที่เคยเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศทำให้ร่างกายกลับมาเป็นของตัวเองได้ เพราะสำหรับคนที่เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศแล้วบางที่พวกเขาหรือพวกเธอจะต่อต้านการถูกสัมผัสในทางเพศโดยปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกาย แม้ว่าจะเป็นสัมผัสของคนที่พวกเขาเลือกจะเป็นคู่รักเองก็ตาม เดนเยอร์เชื่อว่าเซ็กส์ทอยจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ได้

ถึงแม้ว่าจะมีการแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เน้นในสิ่งที่สัมผัสไม่เหมือนเนื้อ ไม่เป็นลักษณะอวัยวะเพศ และเป็นไปในเชิงสอดใส่ รวมถึงแนะนำให้ใช้สารหล่อลื่นที่จะไม่ทำให้เกิดกลิ่นแบบอวัยวะเพศซึ่งจะกระตุ้นความรู้สึกแย่กับผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้คนได้สำรวจเรื่องเพศของตัวเองอีกครั้งในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ในวิธีที่ถูกสุขภาวะ และไม่จำเป็นต้องถูกกดดันด้วยเรื่องทางกายภาพหรือเวลา จนกระทั่งสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนได้ในที่สุด

ซาบรินา ฟารามาร์ซี นักข่าววัฒนธรรมของเดอะการ์เดียนระบุว่ากระบวนการบำบัดผู้เคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนอาจจะยังห่างจากความสมบูรณ์แบบอยู่มาก แต่แนวทางที่เปิดในเรื่องทางเพศ (sex-positive) จะทำให้พวกเขาหรือพวกเธอมีชีวิตทางเพศที่ดีขึ้นได้บ้าง

 

เรียบเรียงจาก

How sex toys are being redesigned to help survivors of sexual assault, The Guardian, 15-05-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net