Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


Source: https://www.express.co.uk/news/world/957484/Malaysia-election-2018-results-who-won-Malaysia-election-Mahathir-Mohamad-Najib-Razak

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 9 พฤษภาคมปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan-PH) ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีมหฎิร มูฮัมหมัด สามารถเอาชนะกลุ่มแนวร่วมรัฐบาลบารีซัน เนชั่นแนล (Barisan Nasional-BN) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนาญิบ รอซักจากพรรคอัมโน (United Malays National Organization-UMNO) ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจำนวน 113 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่งในสภา ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ขณะที่กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลได้เพียง 79 ที่นั่ง ซึ่งลดลงจาก 133 ที่นั่งที่เคยได้เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2013 ต่อมาดอกเตอร์มหฎิรและกลุ่มแนวร่วมได้ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้ง และหลังจากนั้น 1 วันก็เข้าสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคมปี ค.ศ. 2018 ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีนาญิบและพันธมิตรได้ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจจากประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทำให้เกิด 3 ปรากฏการณ์สำคัญในการเมืองมาเลเซีย


1. พรรคอัมโนและแนวร่วมไม่ได้ไปต่อ

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1957 ประเทศมาเลเซียถูกปกครองภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคอัมโน ตลอดระยะเวลา 61 ปี นายกรัฐมนตรี 6 คนของมาเลเซียก่อนหน้านี้คือ ต่วนกูอับดุลเราะห์มาน, อับดุลรอซัก, ฮุสเซน อนท์, มหฏิร มูฮัมหมัด, อับดุลเลาะห์ อะหมัดบาดาวี และนาญิบ รอซัก ล้วนเป็นคนที่มาจากพรรคอัมโนทั้งสิ้น ชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปันและการก้าวขึ้นมากุมบังเหียนประเทศอีกครั้งของนายมหฎิร ซึ่งกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7  นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มาเลเซียมีผู้นำ และพรรครัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคอัมโมปกครองประเทศ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองมาเลเซีย คำถามที่น่าสนใจคือ ที่มาของประวัติศาสตร์ครั้งนี้คืออะไร ย้อนไปในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีนาญิบ รอซัก ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ประเด็นที่อื้อฉาวที่สุดคือ เขาถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในกองทุนรัฐบาล 1 MDB หรือ Malaysia Development Berhad โดยมีการโอนเงินกว่า 20,000 ล้านบาทเข้าบัญชีส่วนตัว แม้นาญิบจะยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด แต่เรื่องนี้ถือเป็นจุดเสื่อมที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาเสียหายพอสมควร ขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซียภายใต้การบริหารงานของนาญิบในช่วงหลังมีภาวะถดถอย ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าเงินริงกิตตกต่ำ ทำให้ชาวมาเลเซียเริ่มเบื่อหน่ายและไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอัมโน ในทางตรงกันข้าม แม้มหฎิรได้ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 แต่เขายังคงได้รับความนิยมและเชื่อมั่นจากชาวมาเลเซียเป็นจำนวนมากในฐานะบิดาแห่งยุคสมัยใหม่ของมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาเลเซียให้มีความเจริญก้าวหน้าจนมีการตั้งวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับมาเลเซียให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2020 ที่เรียกว่า “Wawasan 2020” (Vision 2020) สถาปัตยกรรมตึกแฝดปิโตรนาส เมืองใหม่ปุตราจายา รวมไปถึงรถยนต์ยี่ห้อโปรตอนสัญชาติมาเลเซีย ล้วนแต่เป็นผลงานของรัฐบาลในช่วงที่เขาปกครองประเทศทั้งสิ้น ทำให้ชื่อของมหฎิรยังคงขายได้ในสนามการเมืองมาเลเซีย ขณะที่เขาก็ยอมรับว่า มีส่วนผิดพลาดที่เลือกนาญิบขึ้นมาเป็นผู้นำปกครองประเทศ ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย การลงเลือกตั้งครั้งนี้ก็เพื่อกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาดที่เขามีส่วนต้องผิดชอบ


2. การจับมือระหว่างมหฎิร มูฮัมหมัดและอันวาร์ อิบรอฮิม

การร่วมมือกันระหว่าง 2 อดีตผู้นำคนเคยสนิทกันระหว่างมหฎิรและอันวาร์ในการต่อสู้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ถือเป็นการตอกย้ำวลีอมตะที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” ในวงการเมือง อันวาร์เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงที่มหฎิรกุมบังเหียนประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นทายาทเข้ามาสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากมหฎิร แต่แล้วโชคชะตาทางการเมืองของอันวาร์ก็พลิกผัน เขาถูกมองว่ามีความพยายามจะไปวัดรอยเท้าทางการเมือง และมีความขัดแย้งทางด้านความคิดกับมหฎิร โดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1997 อันวาร์ต้องการให้ใช้มาตรการเปิดเสรีตามข้อเสนอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ขณะที่มหฎิรต้องการควบคุมการเข้าออกของเงินทุนอย่างเคร่งครัด ท้ายที่สุดอันวาร์ก็ถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง ในเวลาต่อมาอันวาร์ก็โดนข้อหาคดีทุจริต และคดีรักร่วมเพศจนทำไห้เขาต้องติดคุกหลายปี ซึ่งถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมากสำหรับประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่หลายฝ่ายก็มองว่าการตั้งข้อหานี้กับอันวาร์มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้ อันวาร์ยังเคยให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์ระบบของพรรคอัมโนอย่างเผ็ดร้อนว่า “UMNO is rotten to the core” (อัมโนเน่าไปถึงไส้ใน) ในเวลานั้น มีการคาดหมายว่าอนาคตทางการเมืองของอันวาร์คงสิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม มหฎิรและอันวาร์ได้กลับมาร่วมมือกันอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การนำของนาญิบจากพรรคอัมโน ถึงแม้อันวาร์ยังอยู่ในคุกหลังจากถูกศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินและศาลกลางมาเลเซียยืนยันคำตัดสินตามศาลอุทธรณ์ในปี ค.ศ. 2014 และ ค.ศ. 2015 ตามลำดับ ในข้อหารักร่วมเพศกับผู้ช่วยชาย ซึ่งเขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี อันวาร์ได้ส่งภรรยาของตัวเองนางวันอาซีซะห์ลงในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านเคียงบ่าเคียงไหลกับมหฎิรจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในที่สุด ส่วนมหฎิรก็ได้ยืนยันที่จะหาทางช่วยเหลืออันวาร์ทั้งเรื่องการปล่อยตัวและขออภัยโทษเพื่อให้เขาสามารถกลับมาเล่นการเมืองได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นการกรุยทางให้อันวาร์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต


3.มหฎิรกลายเป็นผู้นำที่อายุมากที่สุดโลก

เส้นทางของการทำงานมหฎิรเริ่มต้นจากเป็นหมอในบ้านเกิดรัฐเกดะห์ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นก็เข้าสู่แวดวงการเมืองจากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอัมโน ต่อมาก็ไต่เต้าจนได้เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมถึงเป็นรองนายกรัฐมนตรี ท้ายที่สุดมหฎิรก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ.1981-2003 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดของประเทศเป็นเวลา 22 ปี และเป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของเอเชียและโลกมุสลิม การสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้มหฎิรในวัย 92 ปีกลายเป็นผู้นำที่มีอายุมากที่สุดในโลก เป็นเสือเฒ่าทางการเมืองตัวจริงที่ทำให้การเลือกตั้งของมาเลเซียครั้งล่าสุดได้รับความสนใจ และติดตามจากนักวิเคราะห์ทั่วโลก การบริหารประเทศและการรับมือกับปัญหาทางการเมืองที่อาจจะถาโถมเข้ามาต่อจากนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าเสือเฒ่าแห่งแดนเสือเหลืองคนนี้ยังมีกึ๋นและเขี้ยวเล็บหลงเหลือมากน้อยแค่ไหน


บทสรุป

การเลือกตั้งของมาเลเซียเมื่อพุธที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ขับเคี่ยวอย่างดุเดือด ระหว่างกลุ่มแนวร่วมรัฐบาลบารีซัน เนชั่นแนลภายใต้การนำของนาญิบ รอซักจากพรรคอัมโน และกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปันภายใต้การนำของเสือเฒ่าอย่างมหฎิร มูฮัมหมัด ผลการเลือกตั้งที่ออกมาพลิกล็อกหักปากกาเซียนพอสมควรจากการที่กลุ่มฝ่ายค้านได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ถือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองระดับประเทศ ในฐานะชาวอาเซียน เราต้องติดตามว่าการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นไปในทิศทางใด การเมืองมาเลเซียภายใต้การนำของมหฎิรจะเป็นอย่างไร การจับมือระหว่างมหฎิรและอันวาร์ผ่านนางวันอาซีซะห์จะเหนียวแน่นและยาวนานแค่ไหน คนที่เคยเป็นมิตรในวันวานต่อมาได้กลายเป็นศัตรู และวันนี้จากศัตรูกลับมาเป็นมิตรครั้งอีกครั้งจะเป็นอย่างไร รัฐบาลมหฎิรจะจัดการกับเรื่องอื้อฉาวทุจริตของนาญิบหรือไม่และอย่างไร พรรคอัมโนภายใต้การนำของนาญิบจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนภายหลังจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ และพรรคอัมโนจะทำงานและแสดงบทบาทในฐานะการเป็นฝ่ายค้านครั้งแรกอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการติดตามการเมืองมาเลเซียหลังจากนี้ ในฐานะคนไทย เราก็คงต้องดูท่าทีและนโยบายของรัฐบาลมาเลเซียชุดนี้ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมา มาเลเซียภายใต้รัฐบาลชุดเก่าได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างและรัฐไทย การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะมีผลต่อนโยบายเดิมหรือไม่ ถ้ามีการปรับเปลี่ยน จะเป็นไปในทิศทางใด นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงและติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน




ที่มาเรียบเรียงจาก

https://www.youtube.com/watch?v=QbLn-iKIojc

https://www.youtube.com/watch?v=mzqlNHnByCM

https://www.youtube.com/watch?v=IWd__MzcGqI

https://en.wikipedia.org/wiki/Mahathir_Mohamad

https://en.wikipedia.org/wiki/Anwar_Ibrahim

https://www.bbc.com/thai/thailand-44063936

https://www.bbc.com/thai/features-44066397

 

เกี่ยวกับผู้เขียน อาดีลัน อุสมา เป็น นักศึกษาปริญญาเอก Centre for Indo-Pacific Studies. School of International Studies. Jawaharlal Nehru University. New Delhi. India. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net