Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



สำหรับเมื่อครั้งก่อนผมได้พาทุกคนไปเรียนรู้และรู้จักเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ซึ่งเป็นเอกในด้านสังคมศาสตร์และเป็นมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศอินเดียมาอย่างต่อเนื่องในหลายภาคส่วนของสังคม ถ้าจะเปรียบเทียบดูก็คงไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเมืองไทยเท่าไหร่นัก ในบทความเมื่อครั้งก่อนผมได้อธิบายถึงภาพบรรยากาศชันเรียน รูปแบบการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเข้มข้นอยู่กับประเด็นทางด้านสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นระดับประเทศ หรือระดับระหว่างประเทศก็ตาม นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสะท้อนเสียงของวงการนักศึกษาภายในประเทศอินเดียได้เป็นอย่างดี เพราะต้องยอมรับว่า แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน แต่องค์การและภาคีเครือข่ายนักศึกษาในระดับประเทศกลับมีความเข้มแข็งอย่างมาก ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้การเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาภายในประเทศอินเดียทรงพลัง และมักได้รับความใส่ใจอย่างมากจากนักการเมือง และผู้บริหารประเทศเสมอมา


ภาพการนำขบวนการประท้วงของคณาจารย์

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอินเดียกับโลกดิจิตอลและสังคมสมาร์ทโฟน

หนึ่งในเรื่องหน้าสนใจที่ผมได้มีโอกาสพบเห็นในฐานะผู้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าขบวนการนักศึกษาเข้มข้นอย่างมากคือความไม่ล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินเดียในห่วงเวลาที่โลกหมุนไว และกระแสเทคโนโลยีเคลื่อนตัวเข้ามาอย่างรวดเร็ว มันเป็นคำถามที่ผมคิดอยู่ในหัวเสมอว่าทำไมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินเดียยังคงอยู่รอดในขณะที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเข้ามาแทนที่และลดทอนความใส่ใจต่อประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมโดยภาพรวม เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีส่งผลอย่างมากต่อแนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาทั่วโลก ทั้งยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการอีกด้วย แสง สี เสียง ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยียังผลให้คนจำนวนมากละเลยต่อประเด็นปัญหารอบตัวของตนมากยิ่งขึ้น มองปัญหาสังคม และการเมืองเป็นเรื่องที่ไกลตัว อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญทางด้านเทคโนโลยีของโลก โดยเฉพาะในเมืองบังกาลอร์ ที่เป็นศุนย์เทคโนโลยีสำคัญของประเทศ ตลาดสมาร์ทโฟนของอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้ Whatsapp ของอินเดียสูงที่สุดในโลก ในขณะที่รัฐบาลเองก็มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตในสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น ผ่านการให้บริการ 4G ฟรี เป็นเวลาหลายเดือน และส่งเสริมให้เกิดการผลิตสมาร์ทโฟนราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชนอินเดียเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ตามนโยบาย Digital India ซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสังคมอินเดียให้เชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเช่นนี้ย่อมมีส่วนอย่างมากต่อขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาโดยภาพรวมไม่มากก็น้อย เราได้เห็นปรากฏการณ์การอ่อนกำลังลงของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในหลายพื้นที่ทั่วโลกจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากความสามารถในการหยิบฉวยโอกาสความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับในส่วนของอินเดียเองผมต้องขอบอกว่าขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินเดียยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ไม่ดีเพียงพอ เพราะเท่าที่สังเกตเห็นคือนักศึกษายังคงใช้เพียงช่องทาง Whatsapp เท่านั้นในการสื่อสารกับกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน ผมยังไม่ค่อยเห็น page ทาง facebook ของนักศึกษาที่มีคุณภาพเพียงพอ หรือแม้แต่ช่องทางการเผยแพร่อื่นๆ ในโลกออนไลน์ ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับฝ่ายรัฐบาล ที่เปิดหลากหลายช่องทางในโลกออนไลน์ให้สังคมและประชาชนสามารถเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตามผมมิได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ผมกับมองว่าแม้ขบวนการนักศึกษาอินเดียจะไม่ได้ใช้ช่องทางเหล่านี้อย่างมีคุณภาพเพียงพอ แต่กลับสามารถเคลื่อนขบวนการประท้วงได้ทรงประสิทธิภาพมากกว่าประเทศไทยหลายเท่านัก โดยเปรียบเทียบทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มันจึงเป็นคำถามใหญ่ในใจผมต่อมาว่า แล้วขบวนการนักศึกษาอินเดียทำอย่างไร และมีวิธีการเช่นไรในการจูงใจนักศึกษาและคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่กำลังจะเข้าสู่กับดักทางด้านเทคโนโลยี อันถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้ความใส่ใจต่อประเด็นปัญหาของผู้คนลดลงในเชิงการปฏิบัติ ความหมายคือเราอาจมีความรับรู้ต่อปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากยิ่งขึ้น ผ่านระบบสังคมออนไลน์ แต่มันหาคือการกระทำของเรากลับสะดุดอยู่เพียงการคอมเมนท์ เท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร ดังกรณี นาฬิกา เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจริง ส่วนตัวผมยังมองว่าการเมืองบนท้องถนนยังคงเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับประเทศที่มีความเป็นรัฐราชการสูง แต่จะทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวเหล่านี้ สันติ ปราศจากอาวุธ และไม่สร้างความเดือดร้อน ซึ่งเท่าที่ผมรับรู้มา การประท้วงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถือเป็นอุดมคติสำคัญที่ขบวนการเรียกร้องต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ของประเทศไทยควรเดินตาม แต่สำหรับอินเดียต้องยอมรับขบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนนยังคงเข้มข้น


เครื่องมือ วิธีการ และปฏิสัมพันธ์ในการวางกรอบการประท้วง

เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างหนึ่งสำหรับตัวผมเองที่ได้หลุดเข้ามาอยู่ในวังวนของบวนการนักศึกษาของประเทศอินเดีย จริงๆ ต้องบอกว่าไม่ว่าใครที่เข้ามาเรียนที่อินเดีย จะรู้เลยว่าการเมืองในมหาวิทยาลัยอินเดียไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการเมืองในระดับประเทศเท่าไหร่นัก เพราะมันทั้งร้อนแรง เต็มไปด้วยอุดมคติ และความต่างแบบสุดขั้วของแต่พรรคการเมือง สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้นักศึกษาไทยใสๆ ในห้วงที่การเมืองมหาวิทยาลัยของประเทศไทยไม่หวีหวา ไม่ได้หน้าตื่นเต้นอีกแล้ว ต้องตาลุกวาวเพราะความแปลกใหม่ที่ตัวเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน ด้วยความสงสัยใคร่รู้ก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาอินเดียอยู่เนืองๆ เป็นนิจ ทำให้ผมพอจะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างคร่าวๆ ว่าเหตุผลที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินเดียบนท้องถนนยังคงประสบความสำเร็จสามารถมองได้เป็นประเด็นหลักๆดังนี้

1. ความเป็นหนึ่งเดียวแม้ไม่เห็นด้วย ต้องยอมรับว่าในระบอบประชาธิปไตยความเห็นของผู้คนนั้นมีความหลากหลาย แตกต่างกันออกไปตามแต่ความเชื่อของบุคคล ซึ่งอินเดียก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก แถมยังมีความต่างที่สุดขั้วอีกด้วย เพราะอินเดียมีตั้งแต่ซ้ายตกขอบนิยมการปฏิวัติสู่คอมมิวนิสต์ ไปจนถึงขวาตกขอบที่เชิดชูอุดมการณ์ฮินดูนิยม ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ได้อยู่เพียงการเมืองในระดับชาติ หากแต่ลงมาเล่นในการเมืองมหาวิทยาลัยด้วย แน่นอนว่าความไม่เห็นด้วยต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่เป็นที่น่าสนใจว่าไม่ว่าประเด็นปัญหาใดที่ขบวนการนักศึกษาลงความเห็นแล้วว่าจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แม้อีกฝากฝั่งจะไม่เห็นด้วย แต่ก็จะไม่ได้เห็นการออกมาต่อต้านอย่างกว้างขวาง เป็นเพียงในกลุ่มเล็ก ที่ไม่แสดงออกสู่สังคมภายนอก ภาพการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาของอินเดียจึงเดินไปในทิศทางเดียวกัน แม้มันจะเกิดจากการรวมตัวของหลากหลายกลุ่มทางการเมืองก็ตาม

2. Face to Face is the best ความหมายของคำนี้ก็คือ แนวทางที่ดีที่สุดคือการพบเจอกันตัวเป็นๆ นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าขบวนการนักศึกษาอินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำการเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นทางสังคม กล่าวคือเมื่อพวกเขาต้องการประท้วงประเด็นปัญหาอย่างหนึ่งและต้องการแรงสนับสนุนจากคนกลางๆ ฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ไม่สนใจอะไรเลย สิ่งที่พวกเขากระทำก็คือ พวกเขาจะไปไล่เคาะตามหอพักต่างๆ ที่นักศึกษาอยู่อาศัย นั่งพูดคุยและแจกแจงรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย และประเด็นที่พวกเขาเรียกร้อง พร้อมนัดหมายวัน เวลา และสถานที่ของการชุมนุม เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนเหล่านั้น หันมามองเห็นปัญหาอย่างใกล้ชิด และรู้สึกว่าการออกไปร่วมประท้วงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และช่วยให้ความรู้สึกด้านความไม่เป็นธรรมสามารถแสดงออกได้หลากหลายช่องทางไม่ใช่เพียงการคอมเมนท์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คนกลางๆ จำนวนมากเลือกออกไปร่วมเดินขบวนกับนักศึกษา

3. นักศึกษาไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวในการเคลื่อนไหวทางสังคม ต้องยอมเลยว่าเรื่องนี้ผมค่อนข้างแปลกใจและร้องว้าว เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่าทุกๆ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา องค์การคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนเสมอ ส่งผลให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์การนักศึกษาและคณาจารย์ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นในทุกประเด็นทางสังคม ผมได้เห็นภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยเดินเท้าเปล่ากว่า 10 กิโลเมตรไปกับนักศึกษา แม้ท่านๆ เหล่านั้นจะมีตำแหน่งเป็นถึงศาสตราจารย์ ได้รับเชิญบรรยายไปพูด ไปสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในโลก อาจารย์ทุกคนล้วนเปิดหน้าเปิดตา และพร้อมสู้ไปกับความยุติธรรมและเคียงคู่ไปกับนักศึกษาเสมอ ดูๆ แล้วก็แตกต่างจากมหาวิทยาลัยในไทย ที่อาจารย์หลายคนยังคงได้แต่พูด แต่การแสดงก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก อยู่แนวหลังมากกว่าแนวหน้า

ด้วยกลยุทธ์และกลวิธีเหล่านี้ทำให้ศักยภาพในการเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาของอินเดียมีศักยภาพสูงมากในการสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของรัฐบาล และผู้บริหารประเทศ ในขณะเดียวกันยังส่งผลให้เสียงของนักศึกษาไปได้รับฟังอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น มากกว่าที่จะถูกมองว่าเป็นพวกไม่รู้จักเรียนหนังสือ บ้าการเมือง เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ เยาวชน และนักศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสังคมในอนาคต ซึ่งพวกเขาต้องอยู่อาศัย เสียงของพวกเขาจึงเป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองคนรุ่นเขาและรุ่นอนาคตที่ไม่ต้องการติดกับดักของคนรุ่นเก่าที่บางครั้งเปลี่ยนแปลงไม่ทันกระแสโลก


ความพยายามของรัฐในการลดทอนศักยภาพของนักศึกษา

สำหรับในส่วนสุดท้ายนี้จะเป็นการอธิบายถึงความพยายามของฝ่ายรัฐบาลอินเดียในการลดทอนศักยภาพของขบวนการนักศึกษา ซึ่งประเด็นร้อนในรอบเดือนที่ผ่านของวงการการศึกษาของอินเดียคือการประกาศให้มหาวิทยาลัยของรัฐส่วนกลางออกนอกระบบทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลสำคัญว่าเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารจัดการทางด้านวิชาการ และดำเนินการจัดการด้านงบประมาณได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถและคุณลักษณะพิเศษของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาสำคัญก็คือว่าระบบการศึกษาของอินเดียอธิการบดีซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายบริหารยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่สำคัญ เนื่องจากที่อินเดียอธิการบดี เป็นการแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง ฉะนั้น อธิการบดีจำนวนมากจึงรับลูกเข้ามาเล่นการเมืองในมหาวิทยาลัย และลดทอนบทบาทของนักศึกษาได้ ซึ่งต้องบอกว่าหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ถูกรัฐเพ่งเล็งที่สุดก็ไม่พ้นว่าเป็น JNU เพราะสร้างความวุ่นวายให้รัฐบาลได้มากที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวง จึงสามารถเดินทางมาประท้วงตามกระทรวง และทำเนียบรัฐบาลได้ไม่ยากนัก

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลฝ่ายขวาจัด การเปลี่ยนแปลงตัวอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้นำมาสู่ประเด็นปัญหาหลายด้าน เริ่มต้นจากการลดจำนวนที่นั่งเรียนในแต่ละปี กล่าวคือมหาวิทยาลัยแห่งนี้รับนักศึกษาในแต่ละปี โดยเฉพาะอนุปริญญาเอก และปริญญาเอก เกือบๆ 1 พันที่นั่ง แต่ภายหลังการเข้ามาของอธิการคนใหม่ มีการลดจำนวนเหลือเพียง ไม่ถึง 100 ที่นั่ง นี่ถือเป็นการตัดขุมกำลังครั้งใหญ่จากฝ่ายบริหาร ตามมาด้วยการยุบเลิกคณะกรรมการหลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และฝ่ายบริหาร เช่นคณะกรรมการว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา เป็นต้น โดยอธิการบดีทดแทนคณะกรรมการเหล่านั้นด้วยอำนาจฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว และประเด็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือการบังคับเข้าชั้นเรียนที่ต้องมีมากกว่าร้อยละ 75 ซึ่งกฎนี้ใช้กับทุกระดับการศึกษา


ภาพนักศึกษาถูกสลายการชุมนุมขณะเดินไปรัฐสภา

สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การตั้งคำถามของนักศึกษาจำนวนมากว่านี่คือความพยายามในการลดทอนพลังของนักศึกษาใช่หรือไม่ จึงไม่ต้องแปลกใจว่านับตั้งแต่นโยบายการผลักมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวในหลายภาคส่วนของประเทศอินเดีย ในระดับมหาวิทยาลัย เพราะอำนาจเต็มถูกถ่ายโอนไปให้ฝ่ายบริหาร ที่ไม่มีความยึดโยงกับตัวมหาวิทยาลัย และตลอดมาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอกกำลังศึกษาปริญญาโท สาขา International Relations and Area Studies ณ Jawaharlal Nehru University ประเทศอินเดีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net