Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การจัดกิจกรรมของนักศึกษาชาวแคชเมียร์ของ JNU เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากลับได้ทำให้เกิดประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน จนต้องทำให้ทางการของอินเดียได้ลงมามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ และได้ใช้ความรุนแรงในฐานะรัฐจับตัวประธานองค์การนักศึกษาของ JNU ไป พร้อมกับกล่าวหาว่า JNU เป็นสถาบันบ่มเพาะการต่อต้านความเป็นชาติ (Anti-Nationalism) เนื่องด้วยเหตุดังกล่าวทำให้การเกิดปรากฏการณ์เหล่าปัญญาชน JNU ทุกระดับทั้งนักศึกษา และคณาจารย์ออกมาสร้างโซ่ตรวนมนุษย์เป็นสัญลักษณ์ในการปกป้อง JNU จากการเข้าแทรกแซงจากภายนอก การเปิดห้องเรียนสาธารณะขนาดใหญ่ในหัวข้อการเรียนการสอนตลอดสัปดาห์เรื่อง"Nationalism" ดังนั้นงานเขียนชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์อธิบายถึงภาพรวมกับปมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงจุดยืนของ JNU ที่เป็นพื้นที่ร่วมที่มีอิสรเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง และการวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของการเมืองอินเดียปัจจุบัน


ปมปัญหา

กว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยยาวหะร์ลาลเนห์รู (Jawaharlal Nehru University) ได้เผชิญกับเสียงด่าทอและประณามว่าเป็น “พวกต่อต้านชาตินิยม (Anti-nationalism) ปลุกปั่น (Sedition) และเป็นผู้ทรยศต่อชาติ (Traitor)” ทั้งนี้ สาเหตุมาจากเมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีการจัดกิจกรรมของเหล่านักศึกษาที่สังกัดพรรค DSU (Democratic Students Union) พรรคเล็กที่สนับสนุนแนวคิด Maoism เป็นฝ่ายซ้ายจัด (Ultra-Leftist) ซึ่งมีทั้งอดีตนักศึกษาและนักศึกษาปัจจุบันรวมไปถึงประชาชนชาวแคชเมียร์จากภายนอกเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่นาย Afzal Guru นักโทษชาวมุสลิมแคชเมียร์ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2556 ด้วยการแขวนคอจากการถูกตัดสินให้เป็นผู้ก่อการร้ายโดยมีความผิดฐานโจมตีรัฐสภาอินเดียในปี 2544 และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 14 ราย และนาย Maqbool Bhat นักโทษผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี 2527 ด้วยข้อหาเป็นผู้นำและวางแผนในการจี้เครื่องบินในปี 2514 พร้อมกับเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแนวร่วมปลดแอก Jammu Kashmir (Jammu Kashmir Liberation Front) โดยทางกลุ่ม DSU ต้องการแสดงให้เห็นถึงถึงกระบวนการในการตัดสินโทษของ 2 นักโทษดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส และไม่ยุติธรรม เนื่องจากมีข้อกังขาในคำตัดสินประหารชีวิตอยู่หลายประการ ยิ่งไปกว่านั้น ศพของนาย Afzal Guru ไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับไปประกอบพิธีศพตามศาสนาอีกด้วย นับเป็นอีกประเด็นของความไร้มนุษยธรรมที่ทางกลุ่ม DSU ยกขึ้นมาจัดกิจกรรม ซึ่งกระทำมาทุกปีหลังจากการประหารนาย Afzal Guru

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมดังกล่าวที่ได้รับการอนุมัติแล้วของพรรค DSU ได้เผชิญการต่อต้านจากพรรคฝ่ายขวาชาตินิยมฮินดูอย่าง ABVP (Akhil Bharatiya Vidyarthi Parishad) ซึ่งมีฐานะเป็นพรรคลูกของพรรคระดับชาติและชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) มีแนวคิดอุดมการณ์ในการสนับสนุนฮินดูชาตินิยม ทางพรรค ABVP ได้ทำเรื่องร้องเรียนถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยให้หยุดกิจกรรมดังกล่าว ด้วยความกลัวที่จะเกิดการปะทะทำให้อธิการบดีสั่งให้หยุดกิจกรรมลง หลังจากนั้นทางพรรค DSU จึงได้ขอความช่วยเหลือไปทาง องค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัย (Jawaharlal Nehru Students’ Union-JNUSU) และ พรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆ เช่น AISA (All India Students’ Association) SFI (Students’ Federation of India) เป็นต้น เพื่อให้มาช่วยสนับสนุนและเจรจากับทางมหาวิทยาลัยในเรื่องสิทธิการจัดกิจกรรมอย่างสงบ โดยสามารถจัดงานต่อไปได้ แต่จะไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง อย่างไรก็ตาม ระหว่างการจัดงาน ทางฝ่ายกลุ่ม ABVP ได้พยายามเข้ามาขัดขวางและตะโกนยั่วยุ ซึ่งหลังจากนั้น ได้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นระหว่าง กลุ่ม ABVP และกลุ่มDSU พร้อมทั้งแนวร่วม แต่ขณะที่เหตุการณ์กำลังดุเดือดขึ้นก็ได้มีคำตะโกนว่า “ปากีสถานรุ่งเรือง!” (Pakistan Zindaba) และได้มีการบันทึกภาพวีดิโอไว้ ซึ่งถูกนำไปเสนอข่าวว่า เป็นการพูดของทางฝ่าย DSU และฝ่ายซ้ายอื่นๆ จากคำพูดดังกล่าวได้ถูกแพร่ขยายไปในกระแสสังคม (ทั้งๆที่คำพูดดังกล่าวยังไม่มีการสืบสวนและพิสูจน์ว่า เป็นบุคคลใดจากฝั่งไหนเป็นผู้ตะโกน)

วันต่อมา เหล่าองค์กรนักศึกษา และประธานนักศึกษานาย Kanhaiya Kumar สมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรค AISF (All India Students Federation) ก็ได้ออกมาเรียกร้องและรณรงค์ต่อทางอธิการบดีและฝ่ายบริหารให้ JNU เป็นพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเปิดพื้นที่ให้ทำกิจกรรมกันอย่างสันติ พร้อมกับพยายามป้องกันเหตุปะทะระหว่างกันของผู้ชุมนุมอย่างที่เคยเป็นมา แต่ด้วยคำพูดสโลแกนที่เหมือนการสนับสนุนปากีสถานแพร่กระจายอยู่ในสังคม ทำให้มีกระแสกดดันจากสังคมต่อ JNU ให้ยุติการเรียนการสอนและประณามเหล่าพรรคฝ่ายซ้ายอยู่ตลอด

เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 นาย Kanhaiya ได้ถูกตำรวจเข้าจับกุมตัวขณะอยู่ในมหาวิทยาลัยในข้อหากบฏและปลุกระดม (Sedition) ซึ่งนับเป็นข้อหาร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญอินเดีย

ทั้งนี้ การจับกุมดังกล่าวปราศจากหลักฐานการกระทำผิดใดๆ โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ขยายไปสู่การออกมาประท้วงมากขึ้นของเหล่านักศึกษา JNU ทั้งกลุ่มฝ่ายซ้ายและกลุ่มอื่นๆ รวมถึงเหล่าสภาคณาจารย์ (Jawaharlal Nehru University Teacher Association – JNUTA) ก็ได้ออกแถลงการณ์และเข้าร่วมกับนักศึกษาในการประท้วงเพื่อให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวนาย Kanhaiyaพ้นจากข้อหาปลุกระดมก่อความไม่สงบ รวมถึงเหตุที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของอธิการบดีในการอนุญาตให้ตำรวจเข้ามาจับกุมตัวนักศึกษา และการเข้าตรวจค้นตามหอพักนักศึกษา พร้อมทั้งวางกำลังตำรวจไว้ภายในและทำการปิดล้อมมหาวิทยาลัย

ต่อมา นักศึกษา JNUSU และ JNUTA ก็ได้ร่วมจัดกิจกรรมบริเวณหน้าตึกบริหารของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโต้ต่อข้อกล่าวหาว่า JNU เป็นที่บ่มเพาะให้เกิดความไม่รักชาติ (Anti-nationalism) รวมทั้งทบทวนถึงเจตนารมณ์ของความเป็น JNU โดยลักษณะการประท้วงของเหล่านักศึกษาและคณาจารย์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยจะอยู่ในลักษณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยืนกั้นเป็นกำแพงมนุษย์ (Human Chain) เพื่อปกป้องเหล่านักศึกษาและผู้ที่เข้ารับฟังการปราศรัยคนอื่นๆในพื้นที่เวทีการปราศรัยให้ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 การเดินทางมาร่วมประท้วงกับเหล่านักศึกษาเพื่อการปล่อยตัวนาย Kanhaiya ของนาย Rahul Gandhi รองประธานพรรคคองเกรส (Congress Party) และนาย Sitaram Yechuryประธานพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (The Communist Party of India) ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเหล่าผู้ประท้วงและเหล่าผู้สนับสนุนพรรค ABVP และ BJP ฝ่ายฮินดูชาตินิยม จนนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายขณะเดินทางกลับของนาย Rahul และ มีส.ส. ของพรรคคองเกรสโดนทำร้ายจากเหตุดังกล่าว

หลังจากที่นาย Kanhaiya ได้ถูกควบคุมตัวและมีนัดพิจารณาคดีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 โดยนาย Kanhaiya ได้ให้การต่อศาลว่า “ตนไม่ได้เป็นผู้ตะโกนสโลแกนต่อต้านชาตินิยมอินเดีย ไม่เคยเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนแคชเมียร์ และศรัทธาในรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย” สาเหตุที่ตนเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงชนในวันนั้นก็มีเจตนาเพื่อระงับการปะทะระหว่างสองฝ่ายเพียงเท่านั้น และในขณะเดียวกัน เหล่าผู้ประท้วงของ JNU ที่รวมถึงคณาจารย์ ได้ออกเดินทางไปประท้วงที่ศาลแขวง (Patiala district Court) ที่อยู่ภายใต้อำนาจของศาลสูงสุด (Supreme Court) ซึ่งเป็นศาลพิจารณาคดีดังกล่าว แต่ในวันนั้นกลุ่มทนายที่ศาลและตำรวจได้ทำการสลายการชุมนุม ทำให้คณาจารย์และนักศึกษาที่ไปประท้วงหน้าศาลได้รับบาดเจ็บ โดยที่ทางศาลได้ให้เหตุผลการสลายการชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าเหล่าผู้ประท้วงและอาจารย์จะเข้ามาวุ่นวายต่อกิจกรรมของศาล ซึ่งทำให้ศาลขยายระยะเวลาฟังความคดีไปสู่ วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งวันดังกล่าวศาลได้รับเรื่องคดีความของนาย Kanhaiya พร้อมทั้ง ขยายเรื่องเวลาการฝากขังภายใต้การควบคุมของศาลต่อนาย Kanhaiya เป็นระยะเวลา 14 วัน แต่ในขณะเคลื่อนย้ายนาย Kanhaiya เข้าสู่ศาล เหล่าทนายความได้เข้าไปทำร้าย และกล่าวประณามนาย Kanhaiyaและเหล่านักหนังสือพิมพ์ว่า “สนับสนุนศัตรู”

ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยก็ได้ดำเนินไปในลักษณะการจัดเวทีพูดให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ชาติ และชาตินิยม (Nation and Nationalism) โดยมีการเชิญวิทยากรมาพูดให้ความรู้สลับกันตลอดทุกวันของการประท้วง รวมถึงเรื่องการให้ปล่อยตัวประธานนักศึกษา ซึ่งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีจดหมายเปิดผนึกพร้อมลงชื่อจากเหล่าคณาจารย์ทั่วทั้งอินเดียและต่างประเทศส่งมาให้กำลังใจแก่เหล่าผู้ประท้วงและเหล่าคณาจารย์ในการต่อสู้ครั้งนี้ และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา เหล่าผู้ประท้วงมีการนัดหมายรวมตัวครั้งใหญ่เพื่อเดินทางจากบริเวณ Mandi House ไปชุมนุมประท้วงที่หอดูดาว Jantar Mantar ในกรุงนิวเดลี สุดท้ายเหล่าผู้ประท้วงได้พูดถึงว่า การประท้วงครั้งนี้จะไม่สิ้นสุดจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลในการกระทำต่อภาพลักษณ์ของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย

 

การเดิมพันครั้งสำคัญในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา JNU ต่อเหตุการณ์ 9th Feb incident

ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยยาวหะร์ลาลเนห์รู (Jawaharlal Nehru University-JNU) นอกจากจะมีชื่อเสียงทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยที่เข้มข้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การต่อสู้และการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งและมีพลังของนักศึกษา[2]ต่อประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมอันซับซ้อนของอินเดียทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย  ซึ่งขับเคลื่อนโดยฝ่ายซ้ายภายใต้องค์กรนำที่เรียกว่า “องค์การนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยยาวหะร์ลาลเนห์รู” (Jawaharlal Nehru University Students’ Union-JNUSU) จึงทำให้สถาบันแห่งนี้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งจากคนในและนอกประเทศ

แต่ ณ วันนี้ นักศึกษา JNU ถูกกล่าวหาว่า ไม่รักชาติ ทรยศต่อชาติ และใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งมาจากเม็ดเงินภาษีของประชาชนเป็นที่เคลื่อนไหวเพื่อกระทำการดังกล่าว จนนำไปสู่การเข้ามาของตำรวจเพื่อตรวจค้นตามหอพักนักศึกษา และจับตัวประธานนักศึกษาของ JNUSU ขึ้นศาลในข้อหากระทำการอันเป็นกบฏต่อต้านรัฐ (Sedition charge) อีกทั้งยังมีกระแสเรียกร้องจากโลกออนไลน์ให้ปิดมหาวิทยาลัยภายใต้แฮชแท็ก“Shut down JNU” ดังนั้น การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ของแนวคิดที่แตกต่างระหว่างกลุ่มการเมือง ระหว่างนักศึกษากับอธิการบดี (Vice chancellor) ของมหาวิทยาลัย หรือระหว่างนักศึกษากับตำรวจ แต่ยังเป็นการงัดข้อกับอำนาจรัฐ ทำให้การเคลื่อนไหวที่เข้มข้นในเวลานี้อาจมีเดิมพันบางอย่างที่เป็นนัยสำคัญทั้งต่อนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบัน และรัฐบาล

ในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวและต่อสู้ของนักศึกษา JNU แต่ล่ะครั้ง ล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองและสังคมของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมในระหว่างชนชั้นวรรณะและสตรีเพศ การกินดีอยู่ดีของคนชั้นล่าง การตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่มีผลต่อนักศึกษา การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศ รวมถึงการต่อต้านการกระทำอันหมิ่นเหม่ต่อค่านิยมสากล เช่น สิทธิมนุษยชน การละเมิดอำนาจอธิปไตย เป็นต้น ทุกครั้งของการต่อสู้

นักศึกษา JNU จะเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง อดทน กัดไม่ยอมปล่อย และใช้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง อาทิ การแจกแผ่นพับ การออกแถลงการณ์ การโต้วาที (Debate) การจัดเวทีสัมมนาและให้ความรู้ การเดินขบวนประท้วง การอดอาหาร (Indefinite Hunger Strike) ตลอดจนถึงการหยุดเรียน (University Strike) นอกจากนี้ โดยยุทธศาสตร์ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และความเข้มแข็งอันเป็นที่ประจักษ์ ฉะนั้น ยามที่ต้องเคลื่อนไหวนอกรั้วมหาวิทยาลัย หรือขนานคู่ไปกับนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา JNU มักเป็นหัวขบวนและอยู่แนวหน้าของกลุ่มนักศึกษาอื่นๆเสมอ

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้สร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นในความเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยยาวหะร์ลาลเนห์รู ซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนในอินเดียว่า นักศึกษา JNU “มีวัฒนธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียง (Debate culture) การประท้วง (Demonstration) และต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนทุกเพศทุกชนชั้นในสังคม” และมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เปิดพื้นที่อย่างเสรีสำหรับการแสดงออกดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การเข้ามาของตำรวจเพื่อตรวจค้นหอตามพักนักศึกษา จับตัวประธานนักศึกษาขึ้นศาลในข้อหากบฏ และการที่ฝ่ายบริหารลงโทษพักการเรียนนักศึกษา 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยไม่มีโอกาสที่จะแก้ต่าง สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศของความหวาดระแวง (Paranoid) ในหมู่นักศึกษา และคณาจารย์ เพราะนักศึกษาถูกกล่าวหาว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศ นักศึกษามุสลิมรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกรงว่าจะตกเป็นเป้าหมาย คณาจารย์และสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ฝ่ายเดียวกับนักศึกษารู้สึกถึงการถูกคุกคาม[3]  

หากบรรยากาศลักษณะนี้ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และประธานนักศึกษาถูกตัดสินว่ามีความผิดในทางใดทางหนึ่ง อาจส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษา JNU ที่เคยเข้มข้น ดุเดือด และมีเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ มีความเบาบางลงและ/หรือ ทำให้การเคลื่อนไหวต่อประเด็นอื่นๆในวันข้างหน้าต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ และละเอียดมากกว่าเดิม เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและตกเป็นเป้าหมายของการเพ่งเล็งจากรัฐ

แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเจ้าหน้าที่และกลไกของรัฐไม่สามารถเอาผิด หรือจัดการกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา JNU ครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ตามมุมมองของรัฐ) และตามความคาดหวังของกระแสประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นปรากฏการณ์ “Shut down JNU” รัฐบาลอาจถูกมองได้ว่า “ไม่มีน้ำยา”ในการจัดการกับกลุ่มนักศึกษา ทั้งๆที่มีกลไกอำนาจรัฐทุกอย่างอยู่ในมือ และอาจส่งผลให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษา JNU ในอนาคตมีความเข้มแข็งและฮึกเหิมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของความกล้าหาญ อดทน และใช้สันติวิธีในการงัดข้อกับอำนาจรัฐให้กับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆของอินเดียที่คิดออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องในประเด็นต่างๆต่อรัฐอีกด้วย


บทสรุป

ถึงกระนั้น ทางรัฐบาลยังไม่มีท่าทีจะประนีประนอม หรือมีการพูดคุยกับแกนนำนักศึกษา JNU แต่อย่างใด อีกทั้ง การชุมนุมของนักศึกษา และคณาจารย์ได้ขยายวงกว้างจากในมหาวิทยาลัยไปสู่ภายนอก เพื่อเพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลให้ปล่อยตัว นาย Kanhaiya Kumar ประธานนักศึกษา JNU ไม่ว่าบทสรุปของเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอาจส่งผลต่อสัมพันธภาพอันดีระหว่าง JNU กับ รัฐบาลในอนาคตอีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความขัดแย้งที่อสมมาตร ซึ่งไม่มีทางใดที่ทำให้เห็นว่าจะลงเอยด้วยการชนะกันทั้งสองฝ่าย การร่วมเจรจาพูดคุยอย่างประนีประนอมถึงแนวคิดการต่อสู้ของกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมและแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสันติวิธีที่ช่วยบรรเทาหรือยุติสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวมิให้ลุกลามไปมากกว่าที่เป็นอยู่ บทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การสร้างแนวความคิดร่วมเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ที่มาของภาพประกอบ: scoopwhoop.com/Things-JNU-Wants-The-World-To-Know

 

อ้างอิง

[1]อาดีลัน อุสมา นักศึกษาระดับปริญญาเอก, คุณากร เกษมภักดี นักศึกษาระดับปริญญาโท, และ กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี นักศึกษาระดับเตรียมปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยยาวหะร์ลาลเนห์รู (Jawaharlal Nehru University)

[2]อ่านรายละเอียดได้จาก Batabyal, Rakesh. JNU: The Making of a University. Harper Collins, 2014.

[3]ข้อมูลจากเอกสารแผ่นพับของสหพันธ์นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยยาวหะร์ลาลเนห์รู (JNUSU) ออกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net