Skip to main content
sharethis

ชาวกัมพูชายื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มกรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการน้ำตาลของไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศกัมพูชา ด้าน 'มิตรผล' แจงกับบีบีซีไทย ยันดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ กลุ่มสารสนเทศอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม

2 เม.ย.2561 รายงานข่าวจาก มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Centre Foundation (CRC) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เวลา 9.00.น. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมตัวแทนทางกฎหมายของชาวบ้าน 2 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านประมาณ 600 ครัวเรือน จาก 5 หมู่บ้าน ใน อ.สำโรง จ.โอดอร์ เมียนเจย์ (Oddar Meanchey) ประเทศกัมพูชา เข้ายื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม ต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ชาวบ้านจากกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดิน ขับไล่ชาวบ้านจากที่ดิน เผาทำลายบ้านเรือน ภายใต้โครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ

กรณีนี้ ชาวบ้านได้ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนในประเทศกัมพูชา และ องค์กร Inclusive Development International (IDI) เพื่อให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายแก่บริษัทที่กระทำละเมิด จึงได้มีการขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดน

โดยคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากตัวแทนจากกลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการก่อตั้งบริษัทขึ้นมา 3 บริษัท เพื่อเข้าดำเนินการขอสัมปทานที่ดินในประเทศกัมพูชา บริเวณ หมู่บ้านบอส (Bos) หมู่บ้านโอบัดมวน (O ‘Bat Moan) หมู่บ้านตะมาน (Taman) หมู่บ้านตะเพียนเวง (Trapain Veng) และหมู่บ้านคะตุม (Ktum) ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นบริษัทเดียว คือบริษัท อังกอร์ซูการ์ จำกัด (Angkor Sugar Co., Ltd.) แล้วได้ดำเนินการเข้ายึดที่ดินบริษัท 5 หมู่บ้านดังกล่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการเข้ายึดที่ดินมีผลทำให้ ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ ไม่มีที่ทำกิน เสียบ้านเรือน เผชิญปัญหาความยากจน ต้องอพยพมาขายแรงงานในประเทศไทย แม้ว่า บริษัทที่ละเมิดสิทธิที่ดินทำกินได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยาจากบริษัทแต่อย่างใด

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า กรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้รับเรื่องร้องเรียน ตามคำร้องที่ 259/2556 และมีรายงานผลการตรวจสอบออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2558 เสนอให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ถูกกระทำละเมิด และต่อมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีตามการรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 และ 2 พ.ค. 2560 ให้จัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย เพื่อให้เกิดการเคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (การปฏิบัติตามกรอบ การคุ้มครอง เคารพ เยียวยา) แต่ยังไม่ปรากฏความคืบหน้า ทางชาวบ้านผู้ถูกกระทำละเมิดจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลในประเทศไทย

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า การยื่นฟ้องคดีนี้เป็นครั้งแรกที่จะได้ใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมของไทยในทางแพ่ง เพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดน และเพื่อให้เห็นถึงแนวทางในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดการเคารพและคุ้มครองการลงทุนข้ามพรมแดน เพื่อให้บริษัทไทยเกิดความระมัดระวังในการลงทุน และปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อประชาคมโลกและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน

สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางสมาคมได้ดำเนินการการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มครั้งแรกในประเทศไทย และศาลรับฟ้องแล้ว แต่การยื่นฟ้องคดีของชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้าน อ.สำโรง จ.โอดอร์ เมียนเจย์ คดีนี้ จะเป็นครั้งแรกที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทข้ามชาติไทยที่ลงทุนและสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ

ปัจจุบัน มีนักลงทุนทั้งภาครัฐเเละเอกชนจากประเทศไทยที่ไปลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก จึงอาจเกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนจากการลงทุนได้

โดยศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องการฟ้องคดีแบบกลุ่มในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.

'มิตรผล' แจง ดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ชี้แจงกับบีบีซีไทยผ่านอีเมลระบุว่า ในโครงการนี้ มิตรผลเข้าไปลงทุนด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา และได้รับสัมปทานชั่วคราวจากรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าพื้นที่สัมปทานชั่วคราวนั้นได้มาอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ มิตรผล เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศและอันดับ 5 ของโลก โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และเป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 22 จากการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2560 อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
 
บีบีซีไทย ระบุด้วยว่า ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ ได้ระบุคำกล่าวอ้างของชาวบ้านว่าบริษัทตัวแทนของมิตรผลได้มีการยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังทลายบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และการทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย
 
คำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่า โครงการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในกัมพูชา ได้ลงทุนโดยตรง 1 บริษัท และลงทุนรวมกับบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท โดยได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด และการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในประเทศกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายของประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ
 
ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลได้แนะนำให้นำพื้นที่นั้นคืนให้แก่ชุมชน แต่จากการตรวจสอบของบีบีซีไทยพบว่าปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินคืนจากรัฐบาล
 

หมายเหตุ ประชาไท ดำเนินการปรับแก้พาดหัว เมื่อ 22.00 น วันที่ 2 เม.ย.2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net