Skip to main content
sharethis

กรธ. สรุปความเห็นแย้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 4 ประเด็น จำกัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้งห้ามได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ การจัดมหรสพ การขยายเวลาลงคะแนนเสียง และการออกเสียงแทนผู้พิการ ส่วนกฎหมายสรรหา ส.ว. เห็นแย้ง 3 ประเด็น เรื่องลดจำนวนกลุ่มอาชีพ แก้เลือกไขว้ และแยกประเภทผู้สมัคร

13 ก.พ. 2561 อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวถึงการส่งข้อโต้แย้งของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .... ว่ามีทั้งหมด 4 ประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1.มาตรา 35 (4) และ (5) และวรรคสามการจำกัดสิทธิในการได้รับแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ โดย กรธ.เห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การจำกัดสิทธิบางประการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควรเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อเป็นการลงโทษผู้นั้นมิให้ได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิบางประการที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งหมายถึงสิทธิเฉพาะตัวของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นเองที่ผู้นั้นสามารถเลือกที่จะใช้สิทธินั้นได้ตามอำนาจที่กฎหมายรับรอง โดยสิทธิที่จะจำกัดต้องไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การจำกัดสิทธิของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่การจำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้นั้นที่จะเลือกให้มีผลได้ด้วยตนเอง แต่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และอาจเป็นผลลงโทษให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งนั้นต้องรับผิดชอบหากแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวโดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิด้วยเหตุผลดังกล่าว โดยเฉพาะข้าราชการการเมืองบางตำแหน่ง

2.มาตรา 73 การจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ซึ่งเดิมมีบทบัญญัติห้ามไว้ เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การที่ สนช. ตัดบทบัญญัติดังกล่าวออกไปจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองที่มีฐานะทางการเงินแตกต่างกันได้

3. มาตรา 86 การขยายระยะเวลาการออกเสียงลงคะแนน ที่กำหนดให้เริ่มตั้งแต่เวลา 7.00 - 17.00 น. นั้น กรธ.เห็นว่ากำหนดเวลาการออกเสียงลงคะแนนตามที่กำหนดไว้แต่เดิม คือ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.00 น. เป็นระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งสามารถปฏิบัติงานได้โดยเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการขยายระยะเวลาเลือกตั้งนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ กกต.โดยตรง และอาจส่งผลต่อการจัดการเลือกตั้งในบางพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความสงบในพื้นที่ได้ อาทิ 3จังหวัดชายแดนใต้ และ

4. มาตรา 92 การออกเสียงลงคะแนนแทนคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ที่ สนช.ได้แก้ไขให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ นั้น กรธ.เห็นว่า วิธีการดังกล่าว ไม่ตรงตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับแล้ว การเลือกตั้งก็ไม่อาจที่จะเป็นการเลือกตั้งโดยเสรีได้ ดังนั้น กรธ.เห็นว่า กกต.ต้องหาวิธีดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กรธ. ได้มีมติเสนอรายชื่อกรรมการ กรธ. ที่จะเข้าร่วมหารือในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย พลเอกอัฎฐพร เจริญพานิช , ภัทระ คำพิทักษ์ , ศุภชัย ยาวะประภาษ , ธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนรชิต สิงหเสนี ทั้งนี้ กรธ.เห็นว่าข้อโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็นเป็นเรื่องทางเทคนิค ที่สามารถหารือให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้

ขณะที่ข้อถกแย้ง ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. .... มีทั้งหมด 3 ประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1. มาตรา 11 การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดย กรธ.มีเจตนารมณ์ให้ ส.ว.เป็นสภาที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้แท้จริง โดยประชาชนซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สามารถสมัครเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติได้ ดังนั้น การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ลดจำนวนกลุ่มลงเหลือเพียง 10 กลุ่ม จากเดิมที่ กรธ.กำหนดไว้ 20 กลุ่ม จึงเป็นการลดทอนหลักประกันว่าวุฒิสภาจะเป็นสภาที่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง

2.มาตรา 13 การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่สมัครโดยอิสระ กับประเภทที่สมัครโดยต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรตามที่กำหนด และให้ผู้สมัครในแต่ละประเภทเลือกกันเองเท่านั้น ไม่สามารถเลือกข้ามประเภทได้แม้จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของการเลือกกันเองตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถสมัครรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างเสรี โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเสนอชื่อหรือรับรองหรือผ่านการคัดกรองจากองค์กรใดๆ ก่อน และ

3. การยกเลิกการเลือกไขว้ ตามมาตรา 42 มาตรา 43 และมาตรา 44 กรธ. เห็นว่า การกำหนดมาตรการเลือกไขว้จะทำให้การสมยอมกันในการเลือกทำได้ยากขึ้น อันจะทำให้การเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ สนช.ตัดมาตรการเลือกไขว้ออกโดยไม่มีมาตรการที่เท่าเทียมหรือเข้มข้นกว่าในการลดความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกมาแทน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมกันโดยไม่สุจริตในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ทั้งนี้ที่ประชุม กรธ.ได้มีมติเสนอ 5 รายชื่อกรรมการ กรธ. ที่จะเข้าร่วมหารือในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย อัชพร จารุจินดา , อภิชาต สุขัคคานนท์ , ชาติชาย  ณ เชียงใหม่ , ปกรณ์ นิลประพันธ์และ อุดม รัฐอมฤต ทั้งนี้ คาดว่า สนช.จะตั้ง กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ในการประชุม สนช.วันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.นี้ และจะต้องพิจารณาร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

 

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา 1 , 2

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net