Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเพื่อมุทิตาจิต ‘นลินี ตันธุวนิตย์’ หัวข้อ “โลกสาธารณะ” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ชี้ปัญหาโลกวิชาการและโลกสาธารณะยังไม่ประสานกัน เหตุต่างจุดยืนการเมือง ความคิดแบบชาตินิยมของทั้งสองโลกเป็นเหตุผลสนับสนุนรัฐประหาร ขณะที่สุไลพร ชลวิไล ชี้นโยบายรัฐมองไม่เห็นทุกคน ใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ งานวิชาการถูกเพศชายผูกขาด

เมื่อวาน (10 ต.ค.) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการ เนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ โดยในหัวข้อ “โลกสาธารณะ” มีวิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นคือ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก สุไลพร ชลวิไล นักกิจกรรมอิสระ และประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ฐิติรัตน์ กิตติวิวัฒน์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากซ้ายไปขวา สุไลพร ชลวิไล ฐิติรัตน์ กิตติวิวัฒน์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง กรณ์อุมา พงษ์น้อย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

โลกวิชาการและโลกสาธารณะไม่ประสานกัน ต่างจุดยืนการเมือง ไม่มีพลังในการเคลื่อนไหว ความคิดชาตินิยมที่ฝังอยู่เป็นเหตุผลสนับสนุนการรัฐประหาร

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ผู้ทำงานเกี่ยวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมือง กล่าวว่า เรื่องที่ดีของโลกวิชาการคือได้สร้างงานเขียน งานคิดให้แก่โลกสาธารณะ ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ คัดค้าน โครงการขนาดใหญ่ และนโยบายของรัฐก็อาศัยงานของโลกวิชาการเป็นที่พึ่งมาตลอด แต่โลกวิชาการมีข้อจำกัดอยู่ในพื้นที่การคิด เขียน อ่าน เป็นส่วนใหญ่ เป็นโลกที่สังเกตแต่ไม่ได้ทำการเคลื่อนไหว แม้ลงไปในสนามเพื่อคลุกคลีก็เพื่อสร้างวิธีวิทยาภาคสนามขึ้นมา หรือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นหลัก ลักษณะเด่นของโลกวิชาการคือ บ้างก็แนะนำ วิพากษ์ บ้างก็จับผิดการเคลื่อนไหวประชาชนตลอดเวลา

เสรีภาพทางวิชาการเป็นคำมีปัญหา ไม่ต่างจากคำที่ยกขึ้นมาพูดว่าปัญหาชาวบ้านไม่ใช่การเมือง เวลาที่เราลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวโดยบอกว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง เราจะโดนสวนกลับทันทีว่ามีปริมณฑลไหนในชีวิตและจิตวิญญาณที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ตรรกะแบบนี้ถูกยกเว้นให้กลุ่มคนที่เหน็บแนมคนอื่น โดยสร้างพรมแดนหรือพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการของตัวเองที่แยกออกมาจากเสรีภาพในการพูดของประชาชนซึ่งเป็นคำที่ตรงกว่าและครอบคลุมประชาชนมากกว่า

เสรีภาพในการพูดแตกหน่อเป็นเสรีภาพทางการพูด ไม่ได้แตกหน่อเป็นเสรีภาพทางวิชาการ การแตกหน่อเป็นเสรีภาพทางวิชาการเหมือนผ่าเหล่าแบ่งชนชั้น ทำให้เห็นว่าถึงแม้โลกวิชาการจะลงพื้นที่คลุกคลีสนามมากเท่าไหร่ แต่แยกเสรีภาพการคิดการพูด ออกจากเสรีภาพทางวิชาการ ก็เป็นโลกที่อยู่ในตำรา โลกแบบหอคอยงาช้าง มีแต่แนวคิดทฤษฎีเต็มไปหมด แต่นำมาใช้กับการเคลื่อนไหวประชาชนไม่ได้

โลกสาธารณะแม้จะมีปฏิบัติการหลายแห่งสร้างรูปธรรมที่น่าสนใจแก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรูปธรรมของสิทธิชุมชน ที่ขยายความสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุม ลงลึก และชัดเจนมากขึ้น การสร้างรูปธรรมแบบนิเวศวิทยาพื้นบ้านเพื่อต่อสู้กับความรู้แบบนิเวศวิทยาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปิดกั้น ขับไล่คนออกจากพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นด้วยการพัฒนา และเป็นนิเวศวิทยากระแสหลักที่แยกคนออกจากนิเวศป่าไม้ เรื่องเหล่านี้เป็นคุณูปการของโลกสาธารณะที่สร้างพื้นที่รูปธรรมเหล่านี้ รวมถึงได้สร้างความหมายของเศรษฐกิจแบบสองระบบ ที่มีตัวแบบการพัฒนาแบบอื่น มีการสร้างรูปธรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ที่พึ่งตัวเอง และทำได้จริง เป็นได้ทั้งภาคส่วนเศรษฐกิจที่ผนวกรวมและแยกส่วนจากเศรฐกิจกระแสหลักที่วัดค่าด้วย GDP

แต่ขบวนการประชาชนก็มีข้อเสีย คือสนใจปฏิบัติการของตัวเอง กันตัวเองออกจากการเมือง อำนาจ อิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ ต่อให้โลกถูกคุกคาม ผุผัง ในส่วนของพื้นที่งานร้อนก็ตีบตันเมื่อไม่แตะต้องการต่อสู้ทางการเมือง ส่วนพื้นที่งานเย็นตราบใดที่พื้นที่ที่ตัวเองทำงานอยู่ยังหล่อเลี้ยงสภาวะความเงียบงันที่ไม่สู้ของรัฐต่อไปได้ ตราบนั้นก็พอใจในพื้นที่สงบสุข

โลกสาธารณะจึงเป็นโลกที่อยู่ในกะลาครอบ ผมหมายถึงตัวเองก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย เป็นกะลาครอบจากความคิดแบบอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม ชาตินิยม ศักดินานิยม ไม่สนับสนุนแต่อยากผนวกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะแบบนั้นอยู่ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนหรือเฉื่อยชาต่อการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา

โดยพยายามผนึกกำลังผ่านกลไกประชารัฐ องค์กรอิสระที่สนับสนุนรัฐประหารทั้งหลาย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) เพื่อรับใช้ยุทธศาสตร์ของคสช. ไม่ได้หมายรวมถึงใครรับงบประมาณจากแหล่งทุนเหล่านั้น

ประเด็นเหล่านี้ทำให้เห็นว่าโลกสาธารณะมันมีจุดอ่อน หรืออาจเป็นเพราะโลกเล็กๆ เหล่านั้นถูกคุกคามอยู่เสมอจากรัฐแบบเผด็จการคสช. ไปจนถึงรัฐแบบประชาธิปไตยที่ส่งเสริมการลงทุนจนไปแย่งยึดและขับไล่ ทำให้การแสดงออกมีทั้งรักทั้งชัง มีอะไรให้พึ่งพาได้ก็คว้าไว้หมด เพราะไม่มีทางเลือกใดให้พึ่งพาได้มากไปกว่านี้ มันจึงเป็นภาวะแบบลักษณะนิยมอยู่ตลอดเวลา กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ก็มีอีกพวกที่มีอุดมการณ์ลักษณะนิยมอยู่เด่นชัด อันนั้นก็เป็นอีกพวกหนึ่ง

ปัญหาอีกชั้นของสองโลก คือโลกของความคิดทฤษฎี กับโลกการลงมือปฏิบัติ โลกหอคอยงาช้างกับโลกที่อยู่ในกะลาครอบ คือไม่พยายามประสานการพัฒนาชุมชนกับการต่อสู้ทางการเมืองเข้าด้วยกัน ในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยใน 10 กว่าปีนี้เราเห็นคนสองโลกนี้วิพากษ์กันไปมา ทั้งที่โลกของตัวเองก็ไม่ต่างจากโลกของอีกฝ่ายเท่าไหร่

มีปัญหาที่น่าสงสัยอีกอย่าง ท้าวความไปเมื่อยุคสงครามเย็นที่โลกวิชาการรับใช้ยุทธศาสตร์ทางทหารของอเมริกา เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมลงไปพัฒนาชนบทอีสาน เพื่อต่อต้านการลุกลามของลัทธิคอมมิวนิสต์ มีแนวคิดสร้างโครงการตามฐานประชาธิปไตยเพื่อให้คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนภาคอีสานดีขึ้น จนต่อยอดเป็นการสร้างพิมพ์เขียวแผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง และพวกเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า อีสานเขียว

คำถามผมคือนักวิชาการเหล่านั้นที่ทำงานรับใช้ยุทธศาสตร์ของอเมริกาเพื่อป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ จนมีส่วนให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทยสลายไป เป็นพวกชาตินิยมรึเปล่า เหตุเพราะผลงานวิชาการเหล่านั้นมีส่วนส่งเสริมลัทธิชาตินิยม จนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โลกวิชาการตั้งคำถามและวิพากษ์ต่อความเป็นชาตินิยมอื่นหรือชุมชนอื่น แต่ไม่ได้ตั้งคำถามต่อชาตินิยมของตัวเอง

ความคิดชาตินิยมทั้งสองโลกที่ฝังอยู่เป็นเหตุผลสนับสนุนการรัฐประหาร

งานเคลื่อนไหวคือหัวใจของทุกสิ่ง ช่วงหนึ่งโลกวิชาการและโลกสาธารณะได้ใกล้ชิดกันมันมีคุณค่ามาก แต่มันหายไป หลังรัฐประหาร มีความห่างกันมาก เพราะวิพากษ์กันบนจุดยืนการเมืองที่แตกต่าง ทำให้งานวิชาการไม่มีความหมาย ไม่มีพลังพอที่จะให้กระบวนการคนตัวเล็กตัวน้อยได้ใช้ประโยชน์ มันถูกลดทอนจากบรรยากาศทางการเมือง

 

งานวิชาการที่ดีจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน แต่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบสัดส่วนนักวิชาการทั้งหมด

กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า โลกสาธารณะ ตรงข้ามสิ้นเชิงกับโลกส่วนตัว คนทั่วไปมักอยู่ในโลกส่วนตัว มักถูกสอนให้อยู่ในโลกส่วนตัว ในวัยเรียนต้องเรียนให้เก่ง โตเป็นเจ้าคนนายคน โลกสาธารณะจึงเป็นโลกที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้เปลืองตัว หรือเราเข้าไปยุ่งก็จะมีคนถากถางเยาะเย้ย เอาตัวเองรอดแล้วเหรอถึงไปทำแบบนี้ แนวคิดนี้ทำให้โลกสาธารณะถูกทอดทิ้ง

วันนี้มีกลุ่มคนหรือชาวบ้านที่เห็นปัญหา จากโครงการหรือการกำหนดนโยบายจากรัฐ เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากประสบการณ์ของตัวเอง พวกเราชาวบ้านมีจิตใจมีวิธีคิดแบบ เกิดที่นี่ขอตายที่นี่ กระบวนการเริ่มต้นมีแค่จิตใจอยากต่อสู้ องค์ความรู้เราไม่มี แต่มีกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์ เอ็นจีโอ ที่เข้ามาช่วยเหลือ ให้แนวคิด องค์ความรู้ ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ขยับไปทีละขั้น สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

บทบาทความเป็นนักวิชาการที่เข้ามาเสริมเป็นบทบาทที่สำคัญ เป็นสะพานเชื่อมประสานคนเล็กคนน้อยให้ขยับไปสู่โลกที่กว้างขึ้น มีองค์ความรู้มากขึ้น นำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้

ในขณะที่ชาวบ้านมีการพัฒนามีทักษะที่มากขึ้น อาจารย์นลินี ถือเป็นอาจารย์คนแรกที่นำนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในชุมชน ไม่ปล่อยให้ประสบการณ์มีค่าหายไปกับโลกส่วนตัวของชาวบ้าน บทบาทนี้ทำหน้าที่สืบทอด ทำให้งานวิชาการไม่ได้ล่องลอยอยู่บนหอคอยงาช้าง สองบทบาทเป็นส่วนสำคัญของอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เอ็นจีโอ ถ้าบทบาทเหล่านี้มีคนทำมากขึ้น ใส่ใจมากขึ้น เป็นโอกาสที่เราจะพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

ประเทศเราเท่าที่ผ่านมาอยู่ในมือของกลุ่มทุน ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทั้งประเทศยังขาดอาจารย์ นักวิชาการ เอ็นจีโอที่มีความกล้าหาญในการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน เห็นอาจารย์ไม่กี่ท่าน ไม่เกินยี่สิบ ในขณะที่สัดส่วนนักวิชาการ อาจารย์มีมหาศาล

 

นโยบายรัฐจัดกลุ่มไม่มองรวมทุกคน ใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ งานวิชาการถูกผูกขาดโดยเพศชาย

สุไลพร ชลวิไล นักกิจกรรมอิสระ ผู้ผลักดันเชิงนโยบายด้านเอชไอวี ความหลากหลายทางเพศ และสิทธิผู้หญิง กล่าวว่า การกำหนดนโยบายสุขภาพนั้นถูกกำหนดโดยหมอ ผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณะสุขส่วนใหญ่เป็นหมอทั้งนั้น หมอถูกเทรนด์มาแบบหมอ วิธีคิด การรักษาโรค ควบคุมโรค เป็นแบบหมอ

ความเป็นสาธารณะ คือทุกคนต้องเข้าถึง ไม่เลือกปฏิบัติ แต่นโยบายนั้นถูกกำหนดโดยการมองแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการควบคุมโรค ไม่ได้มองในเชิงวิชาการสังคมศาสตร์ เขาไม่มองแบบทุกคน เพราะถ้ามองทุกคนเขากำหนดมาตรการไม่ได้ เขามองเป็นกลุ่มๆ จัดกลุ่มเสี่ยงแยกออกมา กลุ่มไหนมีอัตราการติดเชื้อสูงก็จะทำงานกับกลุ่มนั้น ทุกอย่างเป็นกราฟ เป็นแท่ง เป็นตัวเลข

ส่วนตัวเกี่ยวทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ วิชาการเรามักนึกถึง ทางการ ทฤษฎีต่างๆ แต่วิชาการแบบความรู้ที่มาจากประสบการณ์จริงๆ ของคน ไม่ถูกนับว่าเท่ากัน เราทำงานประเด็นผลักดันนโยบาย ที่เป็นปัญหาคือวิธีการค้นหาข้อมูล ของเราได้มาจากการสัมภาษณ์คน แต่เขาต้องการตัวเลขยืนยัน เราไม่สามารถลงทุนไปสัมภาษณ์คนทั่วประเทศได้ขนาดนั้น จึงรู้สึกเหนื่อยที่จะพูดคุยกับเขา กี่ปีๆ ก็ซ้ำเดิม

ช่วงแรกๆ เอชไอวี พบในกลุ่มชายรักชาย ต่อมาเป็นพนักงานบริการ ต่อมาเป็นกลุ่มแม่บ้าน เขามองเป็นแพทเทิร์นของการระบาดของโรค และมีมาตรการทำงานกับกลุ่มเหล่านี้เพื่อทุ่มเทงบประมาณไปทำงานกับกลุ่มเหล่านี้ ดังนั้นกลุ่มผู้หญิงจึงไม่อยู่ในนี้ เพราะไม่มีสถิติว่าผู้หญิงติดเชื้อสูง

เขาอยู่ในโลกการคำนวณและวิทยาศาสตร์ เราอยู่ในโลกการทำงานกับผู้หญิง ปีที่แล้วไทยได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกมีอัตราน้อยมาก เพราะวิธีที่เขาทำคือตรวจเลือดหาเอชไอวีตอนฝากครรภ์ ถ้าคุณมีเชื้อก็จะให้ยาต้านเอชไอวี ดังนั้นอัตราจึงลดลง แต่ถามว่ามาตรการนี้ฟังเสียงผู้หญิงไหม บางทีเขาตรวจก่อนแล้วมาบอกคุณทีหลัง ไม่ได้มาจากความสมัครใจจริง เวลาพูดเรื่องการเคารพสิทธิมันพูดยากเพราะตัวเลขยืนยันความสำเร็จที่เขาทำได้

บางครั้งพบว่ารัฐบาลไทยไปนำเสนอผลงานในต่างประเทศ ในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เขาก็รายงานแต่สิ่งดี นโยบายที่ออกมา กฎหมายที่พูดถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ เราเริ่มมีคำถามว่าที่ออกกฎหมายหรือนโยบายเหล่านี้มาเพราะจะได้ไปพูดกับนานาชาติได้ แต่ในทางปฏิบัติใช้ไม่ได้ เช่น โรงเรียนนี้บอกว่าไม่รับเด็กที่เป็นกระเทยเข้าเรียน ตามกฎหมายแล้วต้องจัดการ แต่พอถึงเวลาจริง เขาบอกว่าคุณต้องให้เจ้าตัวมาร้องเรียนอง ให้เอ็นจีโอมาร้องเรียนแทนไมได้

ดังนั้นกฎหมายไม่มีความหมาย และเมื่อนโยบายออก ไม่ได้กำหนดแผน งบประมาณ จึงมีแค่คำพูดเฉยๆ

เราไม่ได้อยู่ในฐานะง่ายที่จะเข้าไปนั่งในวงกำหนดนโยบาย บางทีเราต้องเสนอหน้าเข้าไปนั่งในที่ประชุมเอง และตามเรื่องประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และเขาฟังเราเพราะเขารู้ว่าระดับนานาชาติก็มีประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่เราเสนอ

ประสบการณ์ของผู้หญิงไม่ได้ถูกนับให้เป็นมุมมองสาธารณะ บ่อยครั้งเรื่องผู้หญิงถูกลืมเลือนเพราะถูกจัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว คุณถูกสามีทำร้าย ท้องไม่พร้อม เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความจริงเป็นเรื่องสา และเป็นความรู้ทางวิชาการได้

ถ้าจริงๆแล้วสังคมไทยยอมรับเรื่องวิทยาการความก้าวหน้า การทำแท้งสามารถทำได้โดยปลอดภัย เก้าสัปดาห์ ตัวอ่อนมีขนาดเล็กมาก บางทีเราไม่กล้าพูดเรื่องพวกนี้เพราะเรากลัวถูกสังคมมองไม่ดี

อยากให้มองเห็นวิชาการที่กว้างไกลไปกว่าวิชาการแบบตำรา มหาลัย นักวิชาการมีชื่อเสียง แต่วิชาการแบบประสบการณ์จากการทำงานด้านปฏิบัติ และวิชาการก็มีเพศด้วย บางทียากมากที่จะต่อสู้กับการผูกขาดโดยองค์ความรู้โดยวิชาการวิทยาศาสตร์โดยผู้ชาย แม้คุณมีนโยบายที่ดีแต่แต่ละกระทรวงไม่สามารถไปบอกให้กระทรวงอื่นๆทำนโยบายแบบนี้ด้วย เช่น กระทรวงสาธารณะสุขมีเรื่องการละเมิดผู้หญิง กระทรวงพัฒนาสังคมไม่สามารถจัดการประเด็นนี้ทั้งที่มีนโยบายนี้ได้

 

งานวิชาการเกี่ยวกับกระบวนการทางสังคมต้องขยายมิติขอบเขตให้กว้างออกไป

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผมสนใจทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการทางสังคม แต่ในไทยไม่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องเป็นราวในแง่งานเขียน ในมิติทางวัฒนธรรม การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นงานที่มีน้อยมาก

เราสนใจเรื่องเดินขบวน ชุมนุมประท้วง แต่เชิงทฤษฎีต้องขยายความในมิติที่มากไปกว่านี้ งานที่ขยายไปยังหลายกลุ่มคน คนจน คนด้อยอำนาจ คนที่ถูกกดทับ คนชายขอบ คนที่ไร้ปากเสียง คนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง ที่อาจารย์นลินีใช้คำว่า “กลุ่มคนในสังคมที่ถูกกดทับให้อยู่ในผนึกหลุม” กับโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ งานอ.นลินีได้ขยายกว้างออกไปในมิติเหล่านี้ ไปสู่กลุ่มคนถูกกดทับในมิติใหม่ๆขยายเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทั้งงานวิทยานิพนธ์ และในฐานะที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

นักวิชาการในฐานะพันธมิตรที่ลงไปช่วยเปิดพื้นที่ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ให้องค์ความรู้ ไม่ให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนอื่น พูดแทนกลุ่มคนเหล่านี้ วัดในเชิงผลสะเทือนทางงานวิชาการสร้างอิมแพคมหาศาล แต่ในสังคมวิชาการไม่ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net