Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ย้อนกลับไปประมาน 10 กว่าปีที่แล้ว คงจำกันได้ถึงเหตุการณ์ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกของชาวประจวบคีรีขันธ์ ที่นำโดยนายเจริญ วัดอักษร (อดีต) ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก พร้อมด้วยชาวบ้านในชุมชนบ่อนอก บ้านกรูดและทับสะแก ต่อภาครัฐ ตั้งแต่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่เริ่มมีมติสร้างโรงไฟฟ้า เรื่อยมาถึงสมัยชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา ชวลิต ยงใจยุทธ ชวน หลีกภัย (อีกครั้ง) และสิ้นสุดที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้ การต่อสู้กับกลุ่มคนที่เราเรียกว่า รัฐบาล (หรือจริงๆ ก็คือกลุ่มผลประโยชน์ เช่น บริษัท Gulf Power Generation จำกัด บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น) ค่อนข้างจะแตกต่างจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มมวลชน กล่าวคือ รัฐบาลมีข้อได้เปรียบชาวบ้านในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ข้อมูล หรือแม้กระทั่งความน่าเชื่อถือ

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์พี่กระรอก นางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร และประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดการความขัดแย้งของภาครัฐในขณะนั้น ซึ่งจากมุมมองของคนนอกอาจมองว่า วิธีการของภาครัฐนั้นเป็นขั้นตอนและดูน่าเชื่อถือ กล่าวคือ วิธีการจัดการความขัดแย้งของภาครัฐโดยความพยายามลดความน่าเชื่อถือของชาวบ้าน และในขณะเดียวกันก็พยายามเพิ่มความชอบธรรมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกหินกรูด

การสร้างโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นวิธีการแรกที่ภาครัฐเลือกใช้ โฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda คือ ปฏิบัติการทางจิตวิทยาประเภทหนึ่ง เน้นการให้ข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคน เปลี่ยนความคิด มุมมอง เพิ่มความชอบ ความเกลียด หรือทำให้รู้สึกคล้อยตาม วิธีการที่ภาครัฐเลือกใช้จะเน้นไปที่การให้ข้อมูลที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเท็จจริง เพียงแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ (Factoid) และเน้นการเล่นกับความกลัวของประชาชน (Appeal to fear) ซึ่งในที่นี้คือการให้ข้อมูลเรื่องพลังงานสำรองของประเทศ (โดยเน้นไปที่ภาคใต้เป็นส่วนมาก) และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกหินกรูดที่จะเอื้อประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่าผลเสีย

อย่างไรก็ตาม การสร้างโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) อาจใช้ได้ผลในยุคสมัยหนึ่ง ดังเช่น ในยุคนาซี สงครามเวียดนาม หรือจอมพล ป. แต่ในปัจจุบัน วิธีการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการเปลี่ยนความคิดของประชาชนอีกต่อไป

เมื่อขั้นตอนแรกไม่เป็นผล รัฐจึงหันมาใช้วิธีการที่ลดความน่าเชื่อถือของชาวบ้านลง นั่นคือการใส่ร้ายป้ายสีทั้งตัวแกนนำและกลุ่มต่อต้านว่า การต่อต้านของพวกเขาจะสร้างผลประโยชน์ให้ตัวพวกเขาเอง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน เหตุผลที่รัฐเลือกใช้วิธีนี้จากคำบอกเล่าของพี่กระรอกเป็นเพราะในช่วงที่มีการต่อสู้นั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งการเข้าถึงสื่อของภาครัฐ เมื่อเทียบกับชาวบ้านแล้ว ถือว่าได้เปรียบอยู่มาก การสร้างเสียงสนับสนุนให้ตัวภาครัฐเองจึงต้องใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลออกไปเพื่อลดความน่าเชื่อถือของกลุ่มต่อต้าน โดยเน้นไปที่การใส่ร้ายป้ายสีโจมตีที่ตัวบุคคล (Ad hominem) และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิธีการนี้มากที่สุดคือ นายเจริญ วัดอักษร แกนนำกลุ่มต่อต้านในขณะนั้น และแน่นอนว่าการป้ายสีที่เกินจริงนี้ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ภาครัฐตั้งความหวังเอาไว้ เนื่องจากแกนนำและกลุ่มต่อต้านได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่แท้จริงในการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าในครั้งนี้ นั่นคือการรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

เมื่อวิธีการทั้ง 2 ขั้นต้นไม่ได้ผล ภาครัฐจึงหันมาเล่นกับข้อจำกัดของกลุ่มต่อต้าน นั่นคืองบประมาณและความรู้

การให้เงินชาวบ้านเพื่อนำไปลงทุนถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อหวังลดการเคลื่อนไหว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงิน ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีพเป็นอย่างมาก และข้อจำกัดของชาวบ้านอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เงิน นั่นเอง ลำพังรายได้การทำประมงหรือเกษตรกรรมไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนอย่างอื่น ดังนั้น การที่ภาครัฐให้เงินลงทุนแก่ชาวบ้านจึงเปรียบเสมือนการซื้อสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของชาวบ้าน ในอีกแง่หนึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับชาวบ้านด้วย กล่าวคือ หากชาวบ้านยินยอมรับเงินจำนวนนั้นจากภาครัฐ นั่นหมายความว่าชาวบ้านยินยอมที่จะสละสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามวิถีประชาธิปไตยของตนและถอนตัวออกจากการชุมนุมดังกล่าว การตัดสินใจเลือกระหว่างเงินลงทุนที่จะช่วยสร้างฐานะให้ตน กับการต่อสู้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างยากพอสมควร วิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่เกือบจะได้ผลในเชิงปฏิบัติ หากแต่ว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือการยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ใช่ เงิน

ดังนั้น วิธีการสุดท้ายที่ภาครัฐเลือกใช้ คือการเล่นงานกับจุดอ่อนที่สุดของชาวบ้าน นั่นคือ ความรู้ องค์กร EIA (Environmental Impact Assessment) คือองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนา ซึ่งตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมสากล ในการดำเนินการโครงการพัฒนาใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องได้รับการรับรองจาก EIA ว่าโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ดังนั้น ข้อมูลจาก EIA ถือว่าเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงและได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล อย่างไรก็ตาม การฮั้วกันระหว่างภาครัฐและ EIA ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ พิสูจน์ได้จากการที่กลุ่มต่อต้านบ่อนอกได้ร่วมมือกับกลุ่ม NGOs ต่างๆ ในเรื่องของข้อมูลรายงานดังกล่าว ด้วยความที่รายงานจาก EIA เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดและเป็นคำศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการยากที่ชาวบ้านบ่อนอกที่มีข้อจำกัดเรื่องภาษาและความรู้เฉพาะจะสามารถต่อสู้ได้เพียงลำพัง ดังนั้น กลุ่ม NGOs ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงมีบทบาทอย่างมาก อีกทั้งสิ่งที่ EIA รายงานบิดเบือนไปจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก วิธีการดังกล่าวของภาครัฐจึงไม่ได้ผลและถูกประณาม

ผลลัพธ์ของความพยายามที่เริ่มต้นจากศูนย์ การต่อสู้ของภาคประชาชน และความสูญเสียที่เกิดขึ้น คือชัยชนะที่พวกเขาได้รับ

คำถามที่ตามมาคือ บทเรียนจากอดีตสอนอะไรเราได้บ้าง เมื่อในปัจจุบัน รัฐบาลคสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน มีความพยายามในการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดที่มีการบรรจุคำว่า ‘แหล่งถ่านหิน’ ลงในคำขวัญของจังหวัด วิธีการเดียวกันกับที่รัฐบาลนายอานันท์ใช้เมื่อครั้งบ่อนอกหินกรูด คือการสร้างความกลัว (Appeal to fear) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มชาวบ้าน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องพลังงานไฟฟ้าสำรอง นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านโดยการรับรองว่าจะสร้างงานให้คนในพื้นที่

บทเรียนอย่างหนึ่งที่กลุ่มต่อต้านกลุ่มใหม่ได้เรียนรู้ คือวิธีการและขั้นตอนการจัดการความขัดแย้งจากภาครัฐที่มีมาในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 วิธีการย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจและความชอบธรรมในการใช้อำนาจของคณะรัฐบาล เห็นได้ชัดจากการที่ภาครัฐส่งนายทหารเข้าไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ความรู้ และการจัดการขีดจำกัดของชาวบ้านกระบี่ ผ่านชุดประสบการณ์ของชาวบ้านบ่อนอกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

ความท้าทายที่เกิดขึ้น คือการประเมินความสามารถของชาวบ้านจากมุมมองของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่ทุกประเด็นปัญหาถูกทำให้ประชาชนที่เป็นคนนอก รู้สึกว่าได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net