Skip to main content
sharethis

ผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2015 ผู้ได้รางวัลคือคณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซีย ซึ่งหลังการปฏิวัติตูนีเซีย มีการใช้เวลาการเจรจาหารือเพื่อหาฉันทามติร่วมกัน และยุติข้อพิพาทระหว่างกลุ่มศาสนากับกลุ่มที่ต้องการแยกรัฐจากศาสนาในตูนีเซีย จนทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในตูนีเซีย

การสานเสวนาแห่งชาติตูนีเซียในปี 2555 ล่าสุดคณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซียได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพปี ค.ศ. 2015 (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

9 ต.ค. 2558 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2558 ได้แก่คณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซีย (Tunisia National Dialogue Quartet) ซึ่งทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่าองค์กรภาคประชาสังคมในตูนีเซียมีส่วนช่วยกันในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังมีการปฏิวัติในปี 2554 ในขณะที่คณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซียเป็นผู้วางกระบวนการทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในช่วงที่ประเทศ "หมิ่นเหม่ต่อการเกิดสงครามกลางเมือง"

ตูนีเซียมีการประท้วงเมื่อปลายปี 2553 ถึงปี 2554 ซึ่งเป็นการประท้วงของประชาชนต่อต้านผู้นำซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี จากปัญหาหลายอย่างในประเทศรวมถึงเรื่องปัญหาความยากจนและการขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จนทำให้เบน อาลี ผู้เคยก่อรัฐประหารและดำรงตำแหน่งผู้นำมาเป็นเวลานานยอมสละตำแหน่ง โดยการลุกฮือของประชาชนในตูนีเซียกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการลุกฮือของประชาชนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่เรียกว่าปรากฎการณ์ 'อาหรับสปริง' สำนักข่าวบีบีซีระบุว่าตูนีเซียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีปรากฎการณ์อาหรับสปริง

หลังจากการปฏิวัติในตูนีเซียปี 2554 มีการจัดตั้งคณะเจรจาสี่ฝ่ายที่มาจากกลุ่มองค์กร 4 องค์กร เป็นหนึ่งในความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบพหุนิยม โดยสี่องค์กรที่เข้าร่วมคณะเจรจาได้แก่กลุ่มสหภาพแรงงานตูนีเซีย, สมาพันธ์อุตสาหกรรม การค้า และหัตถกรรม, สหพันธ์สิทธิมนุษยชนตูนีเซีย และสมาคมนักกฎหมายตูนีเซีย

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนักการเมืองตูนีเซีย 2 คนในปี 2556 ที่เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอิสลามและกลุ่มผู้ฝักใฝ่รัฐที่แยกจากศาสนาจนเกิดการประท้วงใหญ่อีกครั้งในปีนั้น คณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซียได้ทำหน้าที่สร้างสันติด้วยการเปิดให้มีการเจรจาหารือกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและจัดการเลือกตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ฮูซีเน อับบาสซี ประธานสหภาพแรงงานตูนีเซียหนึ่งในตัวแทนของคณะเจรจาสี่ฝ่ายกล่าวว่ารางวัลโนเบลที่พวกเขาได้รับถือเป็นของกำนัลแด่ประชาชน "ผู้เสียสละต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในตูนีเซีย" และความพยายามของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ทำให้ประเทศข้ามพ้นจากเผด็จการได้

แอบเดสสัตตาร์ เบน มูสซา จากสหพันธ์สิทธิมนุษยชนตูนีเซีย กล่าวว่ารางวัลในครั้งนี้ทำให้พวกเขารู้สึกยินดีในช่วงเวลาตูนีเซียผ่านพ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองและภัยก่อการร้ายมาแล้ว เขาหวังว่ารางวัลในครั้งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาแสดงความรับผิดชอบมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาของตูนีเซีย

ทางด้าน เบจิ คาอิด เอสเซบซี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของตูนีเซียกล่าวว่าการที่ตัวแทนขอองค์กรในประเทศได้รับรางวัลโนเบลในครั้งนี้ถือว่าเป็นการยอมรับวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยฉันทามติ (consensus) โดยอาศัยการเจรจาร่วมกันแม้ว่าจะมีความเห็นไม่ตรงกันในด้านอุดมการณ์

อย่างไรก็ตามรานา จาวัด นักข่าวบีบีซีในตูนีเซียกล่าวว่าถึงแม้จะได้รับรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่สภาพความเป็นจริงของตูนีเซียในปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหา โดยมีกลุ่มหัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และหนทางการสร้างความยุติธรรมในสังคมยังอยู่อีกยาวไกล แต่เธอก็เชื่อว่าตูนีเซียควรได้รับรางวัลนี้เพื่ออย่างน้อยก็เป็นการฟื้นคืนศรัทธาในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ได้บ้าง

บีบีซีระบุว่าถึงแม้ตูนีเซียเพิ่งมีการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วจนทำให้เอสเซสซีซึ่งมาจากพรรคการเมืองสายที่มีแวคิดแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันได้รับชัยชนะ แต่ในช่วงที่ผ่านมาตูนีเซียก็ประสบปัญหาด้านความมั่นคงเช่นภัยจากกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาติดกับชายแดนลิเบีย และในช่วงปีนี้ก็เกิดเหตุก่อการร้าย 2 ครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 คนในเหตุการณ์เดือน มี.ค. และมีผู้เสียชีวิต 38 คนในเหตุการณ์เดือน มิ.ย.

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) นำเสนอข่าวการได้รับรางวัลของคณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซียโดยระบุว่ารางวัลในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสารอย่างแรงกล้าในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคประชาสังคมในแถบภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งต้องเผชิญกับกลุ่มหัวรุนแรงและการปิดกั้นเสรีภาพมาเป็นเวลานานแล้ว

เรียบเรียงจาก

Nobel Peace Prize for Tunisian National Dialogue Quartet, BBC, 09-10-2015 http://www.bbc.com/news/world-europe-34485865

Nobel Peace Prize 2015 : Tunisian choice for dialogue rewarded, FIDH, 09-10-201 https://www.fidh.org/en/region/north-africa-middle-east/tunisia/nobel-peace-prize-2015-tunisian-choice-for-dialogue-rewarded

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Tunisian_National_Dialogue_Quartet

https://en.wikipedia.org/wiki/Tunisian_Revolution

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net