Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมอ่านบทความในประชาไทที่โยงสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดากับสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบันในประเทศไทยว่าเป็นบทความที่น่าอ่านเพื่อการเตือนสติและเพื่อจุดประเด็นความคิดโดยเฉพาะในแง่ของการทำความเข้าใจกับการหว่านและฝังรากความเกลียดชังในสังคมไทยที่ผ่านมา ซึ่งความเกลียดชังนี้โหมกันมาเกือบสิบปีแล้วทั้งโดยฝ่ายที่เกลียด"ระบอบทักษิณ"และฝ่ายที่เกลียด"ระบอบอำมาตยธิปไตย"

การเผยแพร่ความเกลียดชังนั้น นอกจากเกิดขึ้นบนเวทีชุมนุมแล้ว ยังอาศัยสื่อประจำต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ วิทยุชุมชน ตลอดจนทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี

ผมมีข้อสังเกตว่าระยะหลังสื่อออนไลน์จากที่มีการพยายามใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายการเมืองตรงข้ามกลับกลายเป็นสื่อที่สามารถใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนกันระหว่างสองฝ่าย เพราะมีคุณสมบัติเป็นการสื่อสารสองทางจึงมีทั้งลักษณะที่เป็นอันตรายและลักษณะในทางสร้างสรรค์ในกรณีความขัดแย้ง ยกตัวอย่างเพจของ กปปส.ที่พยายามเสนอว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบ"วันแมนวันโหวต" ถูกผู้อ่านทั้งสองฝ่ายด่ายับเยิน จน กปปส.ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เว็บทางการของ กปปส.

แต่สำหรับสื่อวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น เนื่องจากเป็นสื่อทางเดียว จึงมีประสิทธิภาพสูงในการสื่อสารข้อมูลเท็จ ข้อมูลด้านเดียว และสร้างความเกลียดชัง และเนื่องจากเป็นสื่อที่อาศัยทรัพยากรของส่วนรวม จึงเป็นปัญหาปวดหัวสำหรับองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งได้แก่ กสทช.

ที่ประเทศเราต่างจากกรณีรวันดาคือความเกลียดชังทางการเมืองในสังคมไทยไม่ใช่ความเกลียดชังทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์(ยกเว้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงมีอยู่) และในสายตาของผมยังไม่ใช่ความเกลียดชังทางชนชั้นอีกด้วย! (แม้มีความพยายามที่จะอธิบายเช่นนั้น) ที่แปลกยิ่งกว่านั้นมันไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในทางสากลระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาหรือระหว่างความเชื่อสังคมนิยมกับความเชื่อทุนนิยมหรือระหว่างผู้นิยมเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการกับผู้นิยมระบบตลาดสุดโต่ง ทั้งนี้เพราะคู่ขัดแย้งในประเทศไทยทั้งสองฝ่ายมีทั้งผู้นิยมสังคมนิยมและผู้นิยมทุนนิยม

ที่ผมคิดว่าพอจะฟันธงได้คือความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้นมาในสังคมไทยเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีบุคคลถืออำนาจจริงเพียงไม่กี่คนล้อมรอบด้วยสมุนรับใช้ที่ได้ส่วนแบ่งหรือได้แสดงฝีมืออย่างเป็นระบบ

ตามปกติแล้วประชาชนทั่วไปควรจะอยู่เฉยๆ ชมช้างชนกัน หรือดีกว่านั้นประชาชนกลุ่มต่างๆ ควรเรียกร้องสิทธิของตนต่อผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ตามปัญหาที่เผชิญอยู่จริง หรือยิ่งดีกว่านั้นอีก ควรมีการก่อตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชนที่ฝังรากอยู่ในชุมชนต่างๆ

แต่บังเอิญขั้วอำนาจทางการเมืองทั้งสองขั้วต้องอาศัยฐานมวลชนเพื่อขึ้นสู่อำนาจและโค่นอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งอาศัยระบบการเลือกตั้งเพื่อขึ้นสู่อำนาจ ส่วนอีกฝ่ายอาศัยฐานมวลชนเพื่อก่อรัฐประหาร

ในระยะแรกของรัฐบาลทักษิณฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ว่าจะล้มคุณทักษิณได้อย่างไร จนกระทั่งคุณทักษิณเชื่อมั่นในอำนาจของตนจนเกินไปมีการกระทำที่ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการทุจริตด้านนโยบาย การควบคุมสื่อ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจสำคัญเข้าตลาดหุ้น การฆ่าประชาชนชาวมุสลิมภาคใต้ การฆ่าตัดตอนสองพันกว่าคนในสงครามยาเสพติด เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสของฝ่ายตรงข้ามในการปลุกกระแสความเกลียดชังต่อรัฐบาลทักษิณจนสร้างมวลชนเพียงพอที่จะก่อรัฐประหารเมื่อปี 2549 และในปัจจุบันประวัติศาสตร์ดูเหมือนว่ากำล้งจะซ้ำรอยเนื่องจากความผิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่อง ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม

ส่วนความเกลียดชังต่อขั้วอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ปี2549 ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของฝ่ายรัฐประหารเองในการทำลายระบอบประชาธิปไตย การควบคุมสื่อออนไลน์ การจับกุมชาวบ้านจำนวนมากตั้งข้อหาตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฏหมายอาญา การดำเนินคดีอาญากับคุณทักษิณในลักษณะที่เกิดคำถามเรื่องความเป็นธรรม จนกระทั่งการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์และสุเทพในการสั่งทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 ซึ่งมีผลทำให้ผู้ชุมนุมและบุคคลอื่นเสียชีวิตเกือบ 100 บาดเจ็บเป็นพัน และมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีโดยไม่สามารถประกันตัวอีกจำนวนมาก

แน่นอนความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้ามได้รับการเผยแพร่ขยายโดยกลไกต่างๆของคุณทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆที่ใช้ทุนของคุณทักษิณและพวก และที่สำคัญคือขบวนการ นปช.

แต่ปัจจุบันผมเห็นว่าความเกลียดชังระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่ายมีลักษณะคล้ายคลึงความเกลียดชังระหว่างแฟนทีมฟุตบอลที่เป็นคู่อริกันในต่างประเทศมากกว่าอย่างอื่น เพราะเรื่องของหลักการและเหตุผลได้กลายเป็นเรื่องรอง มวลชนทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะรับต่อการกระทำของฝ่ายตนซึ่ง่จะไม่ยอมรับหากเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม(เช่นการยึดหรือขัดขวางกลไกต่างๆของรัฐ)

ความรู้สึกอบอุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันเมื่อร่วมชุมนุมกับพวกพ้อง ความรักต่อฝ่ายตนและความแค้นต่อฝ่ายตรงข้าม นี่คือกาวที่ยึดเหนี่ยวมวลชนแต่ละข้างเหนืออุดมการณ์แท้ๆทางการเมือง

คนที่ไปร่วมชุมนุมจำนวนมากจะไปกันเป็นกลุ่มเพื่อนฝูงหรือไปกันทั้งครอบครัวอย่างสนุกสนาน นี่คือลักษณะของแฟนทีมฟุตบอลมากกว่าขบวนการทางการเมือง

ส่วนในเรื่องคำขวัญ ฝ่ายหนึ่งเล่นเรื่องประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ศักดิ์ศรีของผู้ด้อยโอกาส อีกฝ่ายเล่นเรื่องคุณธรรม การกำจัดคอรัปชั่น ความไร้จริยธรรมของนักการเมือง

ที่ผมใช้คำว่า "เล่น" นั้นหมายความว่าคำสวยๆเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในสงครามทางจิตวิทยาระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตนและสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงกันข้าม ทั้งๆที่คุณค่าต่างๆที่ทั้งสองฝ่ายอ้างถึงไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด แต่ย่อมต้องไปด้วยกันในสังคมที่สงบสุข

ฝ่ายที่เล่นเรื่องประชาธิปไตยปัจจุบันสามารถขึ้นสู่อำนาจได้โดยการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนฝ่ายที่เล่นเรื่องความเน่าเฟะของระบบการเมืองปัจจุบันสามารถขึ้นสู่อำนาจได้โดยการรัฐประหารเท่านั้น แต่การรัฐประหารปัจจุบันทำได้ยาก ต้องรวบรวมมวลชนเรียกร้องจำนวนมากพอและสร้างสถานการณ์ที่ประเทศ(หรือกรุงเทพฯ)เป็นอัมพาตจึงจะมีโอกาส

เราจึงกำล้งเดินหน้าไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อและโหดร้ายมาก เพราะทั้งสองฝ่ายจะไม่ยอมกันแนนอนและมีกำลังมวลชนพอๆกัน

สำหรับผู้ที่มองเห็นคลื่นสึนามิที่กำล้งจะฟาดลงมาท่วมแผ่นดินไทยทางออกมีทางเดียวก็คือ อย่าร่วมทำรัฐประหารเป็นอันขาด และบอกเพื่อนๆที่เคยร่วมเวที กปปส.ด้วยว่าช่วงนี้อย่าไปร่วม แต่ขอให้ไปร่วมการลงคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ให้มากที่สุด (แม้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม)

ถ้าไม่ศรัทธาพรรคเพื่อไทยก็อย่าเลือก! เลือกพรรคการเมืองอื่นที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย

ก่อนการเลือกตั้งต้องร่วมกันเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆเพื่อให้ได้สัญญาประชาคมเรื่องกระบวนการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง

ไม่มีทางอื่นแล้วครับที่จะเลี่ยงสงครามกลางเมืองนอกจากที่เสนอไว้ตรงนี้ แต่เราจะทำกันสำเร็จหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net