Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้วิกฤตทางการเมืองและการสู้รบในเมียนมาส่งผลกระทบต่อไทยแทบทุกด้านมาโดยตลอด แต่เมียวดีเป็นจุดที่สะเทือนต่อความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ เพราะแม่สอด-เมียวดีเป็นเส้นทางข้ามพรมแดนทางบกที่เชื่อมกับใจกลางอำนาจของระบอบทหารเมียนมาใกล้มากที่สุด รวมถึงสำคัญต่อการค้าข้ามพรมแดนที่เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ทั้งหลายในเมียนมา ปฏิบัติการยึดเมืองเมียวดีของกองกำลังฝ่ายต่อต้านในช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 จึงเป็นจุดเร่งให้รัฐบาลไทยตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ไม่เพียงแค่นั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้เมียนมาเป็นกระแสหลักในพื้นที่สื่อไทยมากขึ้นและกลายเป็นประเด็นร้อนในหมู่คนไทย อย่างไรก็ตาม แม่สอดเป็นพื้นที่หน้าด่านของเหตุการณ์สำคัญในครั้งนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอเสียงที่หลากหลายจากแม่สอด

ย้อนไปในวันที่ 20 เมษายน 2567 เมืองแม่สอดในวันนั้นเริ่มต้นวันด้วยเสียงปืนที่ดังขึ้นตั้งแต่เช้ามืด เมื่อกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงพร้อมพันธมิตรโจมตีทหารของกองพัน 275 ที่ยังหลบอยู่บริเวณไม่ไกลจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่สอง ในช่วงสายจวบจนตลอดช่วงบ่ายเครื่องบินพม่าโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีเสียงระเบิดและเสียงเครื่องบินรบสลับกับเสียงปืนดังก้องไปทั่วเมืองแม่สอด สงครามประชิดเขตแดนไทยอย่างแท้จริง ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับเขตโจมตีรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนและมีรายงานว่ามีกระสุนตกเข้ามาฝั่งไทย หากอยู่ในที่โล่งในเมืองก็เห็นควันพวยพุ่งจากตึกที่ไฟไหม้จากระเบิด ในช่วงกลางคืนการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่าเกิดขึ้นอีกครั้ง เสียงที่รัวเหมือนกลองใหญ่ไม่เพียงสร้างความหวาดหวั่นในจิตใจของผู้คนที่ได้ยิน แต่ยังหมายถึงการเสี่ยงภัยต่อชีวิต

แม่น้ำเมยที่กั้นเขตแดนเป็นเหมือนแนวป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย แต่เขตแดนสมมตินั้นไม่อาจกั้นผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย และขณะเดียวกันก็ไม่เคยขวางความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างผู้คนสองฝั่ง ฉากสงครามนี้จึงไม่ใช่เรื่องราวของคนอื่นแต่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างแยกไม่ได้ การอพยพย้ายถิ่นฐานที่มีมาตลอดเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีกสองสามเท่าในวันที่มีการสู้รบ สิ่งที่เห็นชัดกว่าคือผลกระทบทางการค้าข้ามแดน รถบรรทุกส่งของที่ไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก มีรถขนส่งสินค้าตกค้างในฝั่งเมียนมาซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเมื่อการสู้รบรุนแรงมากขึ้นผู้บาดเจ็บจากสงครามก็ต้องเข้ามารับการรักษาในฝั่งไทย

การอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นผลลัพธ์สำคัญของการสู้รบและความขัดแย้ง แม้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่เพราะผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมามีจำนวนหลายล้านในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่พื้นที่อำเภอแม่สอดตลอดจนชายแดนไทย-เมียนมาทั้งหมดรองรับผู้ย้ายถิ่นฐานหลายรูปแบบและมีความซับซ้อนกว่าพื้นที่ชั้นใน ประชากรในพื้นที่ชายแดนเหล่านี้มีชาติพันธุ์เดียวกับประชากรในฝั่งเมียนมา ไม่น้อยที่มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดหรืออาจมีความผูกพันกันในรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เมื่อชาวเมียนมาบริเวณชายแดนจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาในฝั่งดินแดนไทย ก็อาศัยเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้ในการทำให้ชีวิตอยู่รอด เครือข่ายทางสังคมในพื้นที่เหล่านี้จึงเป็นแรงดูดซับสำคัญของผู้ย้ายถิ่นฐานมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ดี ภาพเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์เมียวดีแตกตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน พี่น้องในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงทยอยย้ายถิ่นฐานเข้ามาในฝั่งไทย เมื่อมีการโจมตีหนักขึ้น ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็คราคร่ำไปด้วยชาวเมียนมาที่สะพายกระเป๋าเป้หอบลังเข้ามา ผู้อพยพที่หนีระเบิดและกระสุนปืนก็ข้ามแม่น้ำเมยเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักชั่วคราวที่ทางการไทยจัดไว้ บางส่วนกลับบ้านเมื่อเสียงปืนสงบลงในสองสามวันถัดมา แม้ว่าสถานการณ์ยังคงตึงเครียดและมีแนวโน้มที่จะเกิดการสู้รบต่อไป และแย่สุดคืออาจเกิดการโจมตีทางอากาศได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ แม่สอดเองก็เป็นพื้นที่ของการย้ายถิ่นฐานของชาวพม่าจากเมืองชั้นใน จากช่วงก่อนรัฐประหารที่มักจะเป็นพื้นที่รองรับและทางผ่านของแรงงานข้ามชาติ หลังรัฐประหารสามปีมานี้ก็เป็นพื้นที่หลักสำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากหลากหลายที่มา ที่ไม่ใช่เพียงแต่กลุ่มชาติพันธุ์ด้วย และเมืองแม่สอดเองก็เป็นพื้นที่หลักพื้นที่หนึ่งของการรองรับผู้คนที่หลบหนีการบังคับเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่าเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ผู้คนจากในเมียนมาที่เข้ามาอย่างหลากหลายเช่นนี้ ไม่ว่าเขาจะเข้ามาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ก็จำเป็นต้องหาช่องทางในการเอาตัวรอด ทั้งการพยายามหางานทำ การหาเอกสารประจำตัว หรือกระทั่งการหาวิธีต่อรองกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ  

แม่สอดยังเป็นเมืองที่สำคัญต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติของไทย แม้ว่าการจัดการแรงงานข้ามชาติตามกรอบข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาล หรือ MOU จะถูกท้าทายด้วยโควิด-19 และการเมืองหลังการรัฐประหารเมียนมา แต่ทางการไทยยังคงรักษาช่องทางนี้ไว้ และด่านแม่สอด-เมียวดีเป็นช่องทางหลักของการรับส่งแรงงานข้ามชาติตามกรอบ MOU เหตุการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดีส่งจึงผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติแบบทวิภาคี ทำให้ต้องใช้เส้นทางการบินจากย่างกุ้งหรือด่านชายแดนแห่งอื่นที่มีความสะดวกในการเดินทางน้อย ระบบการจัดทำเอกสารแก่แรงงานก็เปลี่ยนไปเช่นกัน 

คนในท้องถิ่นแม่สอดมีการปฏิบัติและความคิดที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งคนที่มุงดูสถานการณ์เหมือนดูฉากสงครามไปจนคนที่คร่ำเครียดหวาดกลัว มองว่าเสียงระเบิดและปืนแม้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนก็ไม่ควรมองเป็นเรื่องปกติ และฉากตรงหน้านั้นมันมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันการโจมตีทางอากาศที่มองเห็นได้จากแม่สอดและอำเภอใกล้เคียงก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งนี้ใกล้แม่สอดแบบแทบประชิดอย่างแท้จริง คนไทยบางคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจสถานการณ์ก็มีเช่นกัน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับระดับความคลุกคลีใกล้ชิดหรือพึ่งพาคนเมียนมา ผู้ประกอบการไทยที่แสดงความเห็นใจชาวเมียนมาที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาก็มีไม่น้อย หลายเสียงเล่าถึงการที่ต้องเจอคนเมียนมาเข้ามาของานทำตามร้านค้าร้านอาหารหรือหาห้องเช่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นและน่าชื่นชมอย่างยิ่งคือการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของทางการไทย องค์กรต่างๆ  โรงพยาบาล และคนในท้องถิ่นที่ช่วยบริจาคเงินและสิ่งของต่อผู้อพยพ 

ทหารชายแดนระดับปฏิบัติการตามจุดข้ามพรมแดนต่างๆ เองก็ทำตามหน้าที่อย่างแข็งขัน ทหารไทยที่จุดข้ามพรมแดนถาวรต้องคอยสังเกตสถานการณ์ หากมีทหารจากฝั่งประเทศเมียนมาไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามข้ามพรมแดนเข้ามาจะต้องผ่านกระบวนการปลดอาวุธและชุดทหาร ส่วนทหารในจุดข้ามแดนอื่นๆ  ก็ต้องคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้อพยพในกรณีที่มีการสู้รบอยู่ ซึ่งปกติทหารตามจุดผ่อนปรนก็มีหน้าที่ในการดูแลการข้ามพรมแดนอย่างไม่เป็นทางการของคนสองฝั่งเมยที่วิถีชีวิตประสานกัน ทหารระดับปฏิบัติการเหล่านี้มักมาจากพื้นที่ต่างถิ่นและต้องผลัดเวียนประจำการทุกๆ ปี แต่จากสถานการณ์ที่ตึงเครียดตรงชายแดนทำให้ทหารนายหนึ่งกล่าวว่าต้องประจำอยู่ที่จุดมาสามเดือนแล้วไม่สามารถกลับบ้านเกิดของตัวเองได้เลย แม้กระทั่งในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา 

เสียงที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งจากในพื้นที่ ตัวละครและประเด็นที่ต้องคำนึงถึงยังคงมีอีกมาก การเปิดใจรับฟังหลายๆ ด้านนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อนสูง 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net