Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความชิ้นนี้มีที่มาจากบทสนทนาเล็กๆ บนหน้าเฟซบุ๊กที่ประกาศให้ผู้สนใจสันติภาพเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ Wawasan Patani และงานเปิดตัววิทยาลัยประชาชน (People’s College) โดยมีหัวข้อเสวนา เรื่อง “สันติภาพปาตานี 2020: ความรู้คืออำนาจ” ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี [1]

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิทยากรจำนวน 5 ท่าน ว่า ทำไมจึงไม่เห็นมี “ผู้หญิง” สักคนเป็นวิทยากรอยู่บนเวทีด้วย

ถ้าไม่นับรวมองค์ปาฐกและผู้ดำเนินรายการ ซึ่งก็เป็นผู้ชาย เช่นเดียวกัน

คำตอบในเบื้องต้นที่ผู้เขียนได้รับคือ เวทีในลักษณะเช่นนี้ยังมีอีกเยอะ ผู้จัดไม่ได้เพิกเฉย เพราะนักเรียนในรุ่นสองจะมีผู้หญิงมาเรียนด้วย รวมทั้งอาจารย์ในหลักสูตรก็เป็นผู้หญิงด้วยเช่นกัน

แต่ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนว่า ทำไม “ผู้หญิง” จึงไม่ปรากฏอยู่บนเวทีดังกล่าว ถ้ายังไม่นับองค์ปาฐก ซึ่งมักจะเป็นผู้นำศาสนาและเท่าที่ติดตามก็มักจะเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่

จากจุดเริ่มต้นในบทสนทนาเล็กๆ ดังกล่าว ทำให้ต้องกลับไปมองเรื่องราวในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สักหน่อย โดยใช้วิธีสุ่มและคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ดูเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการและเวทีสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสันติภาพจากอินเทอร์เน็ต โดยมีโจทย์ใหญ่ 2 ข้อ คือ 1) มีผู้หญิงอยู่ในคณะกรรมการหรือวิทยากรในเวทีสาธารณะหรือไม่ 2) ถ้ามีรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิง คณะกรรมการหรือรายชื่อวิทยากรที่ปรากฏในเวทีสาธารณะนั้น จะอยู่ภายใต้ประเด็นใด

ที่ต้องสุ่มและคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเนื่องจากตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เวทีสาธารณะในลักษณะเช่นนี้มีมากมาย และจัดโดยหลากหลายองค์กรและหน่วยงานทั้งของรัฐ เอ็นจีโอ และมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าผู้เขียนจะไม่สามารถรวบรวมให้ได้ครอบคลุมทุกเวที และอาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ข้อมูล และถ้าจะตอบโจทย์สองข้อดังกล่าว จะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป โดยผู้เขียนตระหนักดีว่า จะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 2547-ปัจจุบัน และจะต้องถูกท่วมท้นด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเวทีสาธารณะเพื่อสันติภาพอย่างมากมายมหาศาล

แต่ถ้าบทความนี้จะพอเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อตั้งข้อสังเกต ต่อการที่ผู้เขียนที่มองไม่เห็น “ผู้หญิง” ในเวทีวิชาการเพื่อสันติภาพ และตอบต่อข้อสังเกตดังกล่าว ก็น่าจะทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งโจทย์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่า ผู้เขียนมองไม่เห็น “ผู้หญิง” นั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อเริ่มมีกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ณ บริเวณมัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยเหตุการณ์นี้เรียกกันสั้นๆ ว่า เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ [2]  จนทำให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ [3] ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 104/2547 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 เนื่องจากแรงกดดันทางสังคมที่มองการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทั้งหมด 7 ท่าน โดยรัฐบาล เป็นผู้ชาย

อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน [4] จนทำให้รัฐบาลตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในปี 2548 โดยมีคณะกรรมการทั้งสิ้นจำนวน 50 คน อย่างน้อยมีรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงจำนวน 8 คนร่วมอยู่ด้วย [5] ในฐานะนักฝึกอบรมด้านสันติวิธี ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมืองและภาคราชการ ถึงแม้ว่าโดยสัดส่วนแล้วมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ยังมีพื้นที่ของผู้หญิงอยู่บ้าง

จากนั้นเป็นต้นมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการและมีการจัดเวทีสาธารณะ อย่างมากมายมหาศาล เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจุดแข็งคือ ผู้เขียนเห็นความตื่นตัวของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นและผู้คนที่รู้สึกอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา แต่จุดอ่อนที่สำคัญคือ กลุ่มที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หลายกลุ่มได้สลายตัวไป เพราะขาดการจัดการที่ดีและขาดการบริหารงานในลักษณะองค์กร

อีกทั้งข้อมูลของการเกิดขึ้นของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและหายไป ไม่ได้มีการศึกษาและบันทึกไว้อย่างละเอียดและจริงจัง ทำให้ในภายหลังผู้เขียนขาดข้อมูลที่จะนำมาเรียนรู้ โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้มิติหญิงชาย (gender) วิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพ และนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในการศึกษาพลวัตการเปลี่ยนแปลงด้านสันติภาพในระดับพื้นที่

ถ้าจะยกตัวอย่างอีกกรณีคือ คณะอนุกรรมการเยียวยา มีจำนวน 6 คณะ [6] ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อไม่ให้ผู้ใดแอบอ้างการใช้สิทธิดังกล่าวหรือใช้สิทธิซ้ำซ้อน โดยผู้เขียนได้จัดทำเป็นตารางเพื่อดูว่ามีสัดส่วนของคณะอนุกรรมการที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายจำนวนเท่าไหร่ ดังนี้

 

ลำดับ ชื่อคณะ หญิง ชาย รวม
1. คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และประเมินผลการเยียวยา 3 17 20
2. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 8 20 28
3. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับผลกระทบ 3 17 20
4. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ) และ 25 ต.ค.2547 (เหตุการณ์ตากใบ) 7 13 20
5. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูก ละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต 5 16 21
6. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์เฉพาะกรณี 3 19 22

 

ผู้เขียนพบว่า ในรายชื่อคณะอนุกรรมการเยียวยา มีรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงร่วมด้วยทุกคณะ ถึงแม้ว่าเกือบทั้งหมดจะมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของจำนวนคณะอนุกรรมการ ยกเว้นคณะอนุกรรมการชุดที่ 4

อย่างไรก็ตามการจะตอบโจทย์ข้อที่ 1) อาจจะได้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์เสียทีเดียวเพราะต้องมานั่งนับดูว่า มีเวทีสาธารณะหรือมีคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งในพื้นที่ทั้งหมดในช่วงมีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมดกี่เวที/คณะ และมีสัดส่วนของผู้หญิงทั้งหมดกี่เวที/คณะ เพื่อให้เห็นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพในระดับพื้นที่ แต่ก็ถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจในการศึกษาเรียนรู้ต่อไป

แต่ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ พบว่ามีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อสันติภาพหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏอยู่บ้างที่ไม่มีผู้หญิงเป็นวิทยากร/คณะกรรมการ ร่วมอยู่ด้วย รวมทั้งสัดส่วนของจำนวนคณะกรรมการและวิทยากรที่เป็นผู้หญิง ก็อาจจะมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด

แต่สำหรับนักสังคมวิทยาเชิงคุณภาพ สิ่งที่สำคัญมากกว่าจำนวนการจัดเวทีในประเด็นสันติภาพ หรือสัดส่วนของคณะกรรมการหรือวิทยากรในแต่ละเวทีนั้น คือ มุมมองด้านสันติภาพจากผู้หญิงได้รับความสนใจในระดับนโยบายและถูกปฏิบัติให้เห็นรูปธรรมหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และถึงแม้ว่าจะปรากฏรายชื่อผู้หญิงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่เสียงของเธอได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด

ในปี 2554 ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ องค์กรภาคประชาสังคมจำนวน 20 องค์กร ที่ทำงานประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ ได้ผนึกกำลังกันในนาม “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” [7] และถึงแม้ว่าจะมีผู้หญิงในนามขององค์กรเข้าร่วมอย่างเป็นทางการอยู่ 3 องค์กรและอีก 1 คนที่เป็นตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อม หรือสัดส่วนผู้หญิง 4 คนใน 20 คนที่เป็นคณะกรรมการ [8] ถึงแม้จะไม่มากนักแต่ก็พอเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงได้

ภายหลังก็มีเวทีสาธารณะด้านสันติภาพอีกหลายเวที เช่น เวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” [9] โดยมีพิธีกรคู่ผู้หญิงกับผู้ชาย คือ คุณโซรยา จามจุรี และคุณตูแวดานียา มือรีงิง และที่สำคัญ มีการพูดคุยในหัวข้อ “ผู้หญิงกับสันติภาพ” โดย คุณสุไบดะห์ ดอเลาะ ผอ.โรงเรียนอิสลามบูรพา ผู้ซึ่งได้รับรางวัลสตรีดีเด่น ด้านการส่งเสริมสันติภาพ ประจำปี 2556 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

จากเวทีในลักษณะดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า อย่างน้อยก็มีพื้นที่ของผู้หญิงอยู่ในเวทีกระบวนการสันติภาพอยู่ด้วย

โดยถ้าเป็นเวทีสาธารณะเฉพาะประเด็นเด็กกำพร้าและสตรีชายแดนใต้ ที่มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมเป็นเด็ก เยาวชน และผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง [10]

เพราะฉะนั้นตอบคำถามข้อที่สองคือ ส่วนมากเวทีที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพได้นั้น จะเกี่ยวข้องกับเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายเป็นหลัก เพราะเด็กกำพร้าและหญิงหม้าย จัดเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และนี้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

โดยสรุป กระบวนการสันติภาพโดยเฉพาะการจัดเวทีสาธารณะและคณะกรรมการด้านความรุนแรง ความขัดแย้ง และสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้หญิงเป็นวิทยากร ก็ปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวข้องกับประเด็นเฉพาะ เช่น ประเด็นเด็กกำพร้าและหญิงหม้าย สัดส่วนของวิทยากรก็จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ในขณะเดียวกันก็ปรากฏว่ามีเวทีสาธารณะและคณะกรรมการที่จัดในหัวข้อด้านสันติภาพและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้หญิงเป็นวิทยากรหรือคณะกรรมการอยู่ด้วยเช่นกัน คณะกรรมการ/วิทยากร บางชุด ถึงแม้ว่าจะมีผู้หญิงร่วมอยู่ด้วย แต่ทว่าสัดส่วนของผู้หญิงมีไม่ถึงครึ่งของรายชื่อคณะกรรมการทั้งหมด

ดังนั้น จะว่าไปแล้ว การปรากฏของรายชื่อ “ผู้หญิง” ในฐานะวิทยากรหรือคณะกรรมการในกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้ถูกเพิกเฉยเสียทีเดียว เพียงแต่ว่าในหลายเวทีและการมีอยู่ของรายชื่อคณะกรรมการ/วิทยากร ผู้เขียนเพียงแต่มองไม่เห็นเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง:

  1. http://www.facebook.com/#!/photo.php?fbid=525478977497793 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  2. ในวันดังกล่าว เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้เกิดเฉพาะที่บริเวณมัสยิดกรือเซะแห่งเดียว เพราะมีการปะทะกันหลายจุด โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 108 คนเฉพาะตัวเลขของผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะมีความไม่ชัดเจนแต่โดยรวมแล้วอยู่ระหว่ง 30-35 คน
  3. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B0 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  4. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%9A สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  5. http://chaisuk.files.wordpress.com/2008/09/nrcreport-thai1.pdf สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  6. http://www.cesd.soc.cmu.ac.th/2012/news.php?cmd=detail&id=13876 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  7. http://www.isranews.org/south-news/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99/item/3293-20-%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89-%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9.html
  8. http://prachatai.com/journal/2013/05/46896 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  9. http://www.deepsouthwatch.org/node/4175 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  10. เช่น มหกรรมเด็กกำพร้าและสตรีชายแดนใต้ ตอน มหกรรมพื้นที่ 3 สีเพื่อสันติภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 - 28 เมษายน 2556 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส http://www.deepsouthwatch.org/node/4141 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net