Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนยังไม่เคยเขียนเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงๆ จังๆ สักที

เพราะที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าไม่จำเป็น เนื่องจากเห็นมีผู้หญิงอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ประกอบด้วยผู้หญิงที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม[1] ถือเป็นคนในพื้นที่ ร่วมเป็นคณะทำงานและเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการจากองค์กรต่างๆ ได้แก่

มาเรียม ชัยสันทนะ จากศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา เน้นการทำงานร่วมกับเยาวชน

โซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้  เน้นการทำงานกับหญิงหม้ายที่สูญเสียสามี พ่อ พี่ชายหรือน้องชาย จากสถานการณ์ความรุนแรง

กัลยา เอี่ยวสกุล จากศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี เน้นประเด็นสุขภาพและการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม

ส่วนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะมี คุณละม้าย มานะการ เป็นตัวแทนเข้าประชุมแทน ผศ.นุกูล รัตนดากูล อยู่อย่างสม่ำเสมอ

แต่อย่างน้องจากจุดเริ่มต้นของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ใน 20 องค์กร ก็มีผู้หญิงเข้าร่วมอย่างเป็นทางการอยู่ 3 องค์กร และอีก 1 ที่เป็นตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อม ถึงแม้โดยจำนวนคนแล้วอาจจะไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็มีเสียงของผู้หญิงและมีมิติของผู้หญิงอยู่บ้าง หากจะมีการขับเคลื่อนด้านสันติภาพ

แต่เมื่อสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ประกาศตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน คำสั่งเลขที่ที่ 17/2556 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2556[2] ก็สร้างความประหลาดใจให้ข้าพเจ้าไม่น้อย เพราะกลับไม่ปรากฎรายชื่อผู้หญิงแม้แต่สักคนเดียวในคณะกรรมการชุดนี้!

อย่างไรก็ตามข้อดีของ สปต. คือ คณะทำงานชุดนี้ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านสันติภาพโดยพยายามรวบรวมคณะทำงานที่มาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย คือ ผู้นำศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีความพยายามเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน นั้นคือ ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายอาชีพ นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ

แต่ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตซึ่งเป็นคำถาม 2 ข้อใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติหญิงชาย (gender) คือ 1) สปต. อาจจะไม่ทราบว่า มีผู้หญิงที่ทำงานด้านสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ 2) สปต.อาจจะทราบว่ามีผู้หญิงที่ขับเคลื่อนด้านสันติภาพแต่ขาดความละเอียดอ่อนด้านมิติหญิงชายในกระบวนการสันติภาพ หรือ gender sensitivity

จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าไปร่วมคลุกคลีกับการเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ ข้าพเจ้าพบว่า มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพนี้

การที่ผู้หญิงต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะผู้หญิงถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางสังคมมากที่สุดหลังจากที่สามีเสียชีวิต พิการ สูญหาย ถูกกุมขัง อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรง

ลองยกตัวอย่างบางตัวอย่างที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสด้วยตัวเอง

ผู้หญิงบางคน เมื่อสามีหรือลูกชายคนโตเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ผู้ที่อยู่ในฐานะภรรยาหรือแม่ ต้องแบกภาระเลี้ยงลูกๆตามลำพัง และในบางครอบครัวที่มีลูกมากและอาจจะมากถึง 6-8 คน ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของผู้หญิงจากการเป็นแม่บ้าน ต้องกลายมาเป็นผู้นำครอบครัว

การเสียชีวิตของผู้ชายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือลูกชายคนโตนั้นสำคัญมาก เพราะส่วนมากบทบาทของผู้หญิงมักจะเป็นแม่บ้านและทำงานเพื่อช่วยสามีเป็นหลัก

บางครอบครัวที่สูญเสียสามี อาจจะมีลูกเล็กอายุไม่กี่เดือน จำเป็นต้องให้ลูกหย่านมและเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อหารายได้ เพราะเดิมทีผู้ที่หาเลี้ยง คือ สามีหรือลูกชาย ดังนั้นผลกระทบทางสังคมที่สำคัญตามมาก็คือ เด็กทารกขาดสารอาหารเพราะไม่ได้รับน้ำนมจากมารดา พี่ๆ น้องๆ ที่อายุมากหน่อยก็เลี้ยงน้องด้วยนมข้นหวานผสมน้ำเปล่าแทนนมของแม่ ลูกบางคนในบางครอบครัว ต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยแม่หาเงินเลี้ยงน้อง

บางครอบครัวถ้าสามีหรือลูกชายไม่ตาย แต่ต้องกลายเป็นผู้พิการ  ภรรยาหรือแม่ ต้องมีภาระในการดูแลอุ้มชูไปตลอดชีวิต แต่ที่ยากลำบากที่สุดคือ บางคนอาจจะต้องไปรักษาตัวที่กรุงเทพ การขึ้นไปดูแลลูกที่กรุงเทพหรือโรงพยาบาลในตัวเมืองหาดใหญ่ การเดินทางและค่ารักษา ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ หลายคนไม่ได้มีงานประจำ นอกจากจะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหรือขายข้าว อาจจะต้องพึ่งพารายได้ในวันต่อวัน และในแต่ละวันอาจจะได้ไม่ถึง 300 บาท ทั้งยังต้องหักต้นทุน ค่าจ้างคนมาช่วยเสริฟ์อาหาร ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน ส่งผลให้ลูกค้าไม่กล้าออกมาทานอาหารนอกบ้านเหมือนก่อนเหตุการณ์ความไม่สงบ รายได้ที่ควรจะได้รับจึงน้อยลง

ในช่วงประมาณ 3-4 ปีแรกของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้หญิงจึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นอย่างมาก ดังนั้นในช่วงแรกๆ ที่ทำได้คือ การรวมตัวกันระบายความทุกข์และความอึดอัดคับข้องใจ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน หลังจากนั้นอาจจะมีการระดมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นคือ การเริ่มบริจาคนมผง และเงินเพื่อช่วยเหลือเหล่าบรรดาหญิงหม้ายทั้งหลาย ซึ่งก็สามารถเข้าถึงได้เฉพาะบางกลุ่ม บางคน ไม่ทั้งหมดทุกคน

ภายหลังจากการพูดคุยไปนานๆ เข้า ก็มีการรวมกลุ่มกัน เริ่มมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กร เพื่อเสริมสร้างการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ผู้หญิงที่ทำงานด้านสันติภาพนอกจาก 4 คนที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานในสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ยังมีผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญอยู่อีกมากหลายคน และข้าพเจ้าอาจจะไม่สามารถกล่าวถึงองค์กรต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงเริ่มต้นทั้งหมดได้เพราะว่ามีเยอะแยะเหลือเกิน

แต่ที่รู้จักอยู่บ้างและบางคนอาจจะไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ก็ทำงานด้านสันติภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ในช่วงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น

คุณนารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี

ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของคุณสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมที่ถูกอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ นักภาษาศาสตร์ภาคสนามจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินโครงการทวิภาษา ไทย-มลายู ในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา แพทย์หญิงนักสันติวิธี

ผอ.ซูไบดะห์ ดอเลาะ ร.ร.อิสลามบูรพา พึ่งได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านสันติภาพชายแดนภาคใต้[3] เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล จากนายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา

ดวงสุดา สร้างอำไพ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

แยน๊ะ สะแลแม ผู้ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเองเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2555

ถ้าจำไม่ผิด ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่ม BRN ก็มีผู้เสนอว่า ขอให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมได้หรือไม่ และทางกลุ่ม BRN ก็ยินดีและไม่ขัดข้อง

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าไม่มีผู้หญิงที่ทำงานด้านสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกลุ่ม BRN จะไม่พูดคุยกับผู้หญิงเลยนั้นประเด็นนี้อาจจะต้องตกไป

ต่อคำถามข้อที่ 2) สปต.อาจจะทราบว่ามีผู้หญิงที่ขับเคลื่อนด้านสันติภาพแต่ขาดความละเอียดอ่อนด้านมิติหญิงชายในกระบวนการสันติภาพ หรือ gender sensitivity

ข้าพเจ้านึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อ อายู เธอเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย นักเรียนปริญญาเอกมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และนักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติ (UN) กล่าวถึงความสำคัญของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับกระบวนการด้านสันติภาพในอะเจห์ว่า “เป็นเพราะว่ากระบวนการสันติภาพในอะเจห์ไม่ได้มีมิติของผู้หญิงตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่ออะเจห์ได้สันติภาพ ผู้หญิงจึงไม่มีที่ยืนและมารู้สึกเสียใจมากมายมหาศาลในภายหลัง” เธอกล่าวว่า “มันไม่จำเป็นหรอกว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพจะมีข้อถกเถียงที่ชัดเจนและเข้มแข็งตามหลักการทางวิชาการ เพียงแต่ขอให้ผู้หญิงได้เข้าร่วม ได้นำเสนอมุมที่มาจากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ได้รับการสนับสนุนจากมุมของพวกเธอ เพียงเท่านี้ก็นับว่าเพียงพอแล้ว”[4]

ในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย ข้าพเจ้าไม่คิดว่า ผู้หญิงเผิกเฉยหรือไม่อยากมีส่วนร่วม

ในมุมมองของข้าพเจ้า ผู้หญิงอยากมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปร่วมได้อย่างไรในเมื่อผู้กำหนดว่าใครควรเป็นคณะกรรมการหรือไม่เป็นคณะกรรมการ ขาดความละเอียดอ่อนด้านมิติหญิงชายในกระบวนการสันติภาพ หรือ gender sensitivity

การที่มีผู้หญิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน ที่แต่งตั้งโดยสปต. ซึ่งข้าพเจ้าคาดหวังว่า น่าจะมีการแต่งตั้งเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกนั้น น่าจะช่วยให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพมีความเข้มแข็งและหนักแน่นมากยิ่งขึ้น

เพราะผู้หญิงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับ อายูที่บอกว่าอย่างน้อย “ขอพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมและได้นำเสนอมุมที่มาจากผู้หญิง เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว”

เพราะผู้หญิงก็มีความต้องการด้านสันติภาพที่อาจจะมีมิติแตกต่างจากผู้ชาย โดยเฉพาะการดูแลลูกๆ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่อยู่ในชุมชน

ผู้หญิงจึงมีความสามารถที่จะพูดจากประสบการณ์ตรงในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเธอและภาระที่พวกเธอต้องแบกรับ และสามารถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสีย ความเศร้า ความสงสาร ความน่าเห็นอกเห็นใจ ความอึดอัดคับข้องใจ ในมุมมองของแม่ ภรรยา ลูกสาว น้องสาว พี่สาว ที่สูญเสียสามี ลูกชาย น้องชาย ได้อย่างลึกซึ้ง

โดยประสบการณ์ตรงนั้น จะทำให้การเจรจามีน้ำหนักมากพอที่ฉายเห็นภาพได้ชัดว่า ทำไมจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องการสันติภาพ

และข้าพเจ้าคิดว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่สมบูรณ์หากขาดซึ่งผู้หญิง ผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน

 




[1] http://www.deepsouthwatch.org/node/2228

[2] http://prachatai.com/journal/2013/05/46849

[3] http://prachatai.com/journal/2013/03/45635

[4] http://prachatai.com/journal/2013/05/46711

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net