Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความ: “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้”: ชัยชนะของ ‘สุภาพ เกิดแสง’ กับนัยยะที่ตามมา [1]

 

ในขณะที่คนในแวดวงวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยกำลังตื่นเต้นกับการที่ธงชัย วินิจจะกูลได้ขึ้นเป็นประธานสมาคมเอเชียศึกษา (Association for Asian Studies) และสาธารณชนจำนวนไม่น้อยก็ยังตื่นเต้นกับแรงกระเพื่อมทางการเมืองของการออกโทรทัศน์ในรายการ “ตอบโจทย์” ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่นักวิชาการชาวไทยที่เป็นข่าวไปทั่วโลกกลับเป็นนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่าง สุภาพ เกิดแสง ที่ก็ไม่ได้ถูกจับตาในฐานะนักวิชาการ แต่ถูกจับตาในฐานะของพ่อค้าที่ชัยชนะของสิทธิทางการค้าของเขามีผลต่อสิทธิของผู้บริโภคโดยทั่วไปด้วย

สุภาพเคยเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงราวๆ 1 ปีมาแล้วเมื่อสื่อเริ่มสนใจคดีที่สำนักพิมพ์ Wiley ฟ้องเขาฐาน “ละเมิดลิขสิทธิ์” เมื่อเขาได้นำเข้าแบบเรียนราคาถูกที่ทำมาขายเฉพาะในเอเชียของสำนักพิมพ์ Wiley ไปขายในสหรัฐอเมริกาในขณะที่เขากำลังศึกษาอยู่ [2] ในตอนนั้นคดีสู้กันไปถึงจบชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว และสุภาพก็แพ้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นมาจนถึงศาลอุทธรณ์ และยืนยันว่าจะสู้ต่อไปในชั้นศาลสูงสุด หรือจะเรียกว่าศาลฎีกาก็ได้ในบริบทไทย

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บรรดาสื่อที่ให้ความสนใจด้านลิขสิทธิ์ล้วนให้ความสนใจจับตามองคดีของสุภาพมาตลอด และสื่อจำนวนมากที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบลิขสิทธ์ หรือมีจุดยืนในการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ก็มักจะลงข่าวของเขาอย่าง “เชียร์” สุภาพมาโดยตลอด ซึ่งนี่เป็นภาพที่ต่างจากภาพของเขาในสื่อไทยมากๆ ที่คนมักจะมองเขาอย่างค่อนข้างลบ ซึ่งคนรอความพ่ายแพ้ของเขาในศาลสูงสุดของเขาอย่างใจจดใจจ่อก็มักจะเป็นผู้ที่หวาดกลัวว่าชัยชนะของเขาจะนำมาสู่จุดจบของแบบเรียนฉบับเอเชียราคาถูก

อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุด ในวันที่ 19 มีนาคม 2555 ศาลสูงสุดก็กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และตัดสินให้เขาชนะคดีด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 โดยผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าวลี “lawfully made under this title” (น่าจะแปลไทยได้ว่า “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้”) [3] ในประมวลกฎหมายอเมริกาหมวดลิขสิทธิ์นั้นครอบคลุมถึงสิ่งที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ที่ผลิตในต่างประเทศด้วย (เข้าใจว่าหมายถึงบรรดาประเทศคู่สัญญาด้านลิขสิทธิ์เท่านั้น) ดังนั้นสุภาพจึงมีสิทธิภายใต้ “หลักการขายครั้งแรก” (first sale doctrine) หรือมีสิทธิที่จะขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ที่ตนได้ซื้อมาอย่างชอบธรรมแม้ว่าเขาจะซื้อมาจากนอกอเมริกา กล่าวในอีกแง่หนึ่ง “หลักการขายครั้งแรก” ก็คือหลักที่ว่าสิทธิในการผูกขาดการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจะจบลงเมื่อผู้ซื้อได้ซื้อมันมาอย่างถูกต้องนั้นครอบคลุมไปในทุกที่ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าไม่ใช่แค่ในอเมริกา

ที่น่าสนใจคือผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่เสริมในคำตัดสินด้วยว่า “หลักการขายครั้งแรก” เป็นหลักการที่มีระบุไว้ในกฎหมาย แต่สิทธิในการผูกขาดการตั้งราคาต่างกันในแต่ละพื้นที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่มีในกฎหมาย และก็ไม่น่าจะอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน

แน่นอนอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ก็ออกมาประสานเสียงโวยวายกันกับคำตัดสินว่าคำตัดสินนี้จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจอเมริกันมหาศาล และสื่อกระแสหลักในต่างประเทศก็มักจะแสดงออกซึ่งเสียงเหล่านี้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่สื่อจำนวนมากไม่ค่อยจะกล่าวถึงก็คือถ้าคำตัดสินออกมาตรงกันข้ามจะเกิดอะไรขึ้น?

ถ้าคำตัดสินออกมาตรงข้ามหรือตัดสินว่า “หลักการขายครั้งแรก” นั้นไม่ครอบคลุมถึงสินค้าในต่างประเทศผู้ที่เสียหายที่สุดเบื้องต้นคือเหล่าผู้บริโภคอเมริกันที่จะถูกลิดรอนสิทธิที่ตนมีทั้งหมดจากสินค้าลิขสิทธิ์นำเข้า แน่นอนว่าเบื้องต้นหนังสือ เสื้อผ้า ซีดี ฯลฯ ที่ผลิตในต่างประเทศนั้นจะไม่ถูกนำมาขายได้ในตลาดมือสองโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะหลังจาก “หลักการขายครั้งแรก” นั้นไม่ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศแล้ว ผู้ที่มีสิทธิ์ขายสินค้านี้ไม่ว่าจะเป็นมือ 1 มือ 2 มือ 3 หรือมือที่เท่าไรก็มีแต่เพียงเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ผู้ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถจะนำไปขายได้ นอกจากนี้วลี “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้” นั้นยังอยู่ในข้อยกเว้นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของการ “แสดงให้เห็น” (display) ด้วย [4] ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โปสเตอร์ หรือสติ๊กเกอร์ที่ประกอบไปด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศอย่างถูกต้องนั้นเมื่อนำมาสวมใส่หรือแค่ปะกำแพงไว้ในบ้านก็อาจถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกันหากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนนำมานำมาแสดงให้เห็น ซึ่งข้อจำกัดทางกฎหมายแบบนี้แทบจะทำลายประโยชน์ใช้สอยของสิ่งของจำนวนมากไปเลยหากเจ้าของต้องการจะปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์

ถ้าปัญหาของสินค้าเล็กๆ ทั้งหมดนี้แน่นอนนี้อาจยังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยอยู่ อันที่จริงแล้วสินค้าใหญ่ๆ นั้นก็อยู่ใต้หลักเกณฑ์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น หากจะมีผู้ขายบ้านขายบ้านแล้วมีองค์ประกอบใดๆ ในบ้านผลิตในต่างประเทศ ผู้ขายบ้านก็ไม่อาจแน่ใจว่าเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจะมาฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ในการขายบ้านที่ประกอบไปด้วยสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ที่พ่วงอยู่ในบ้านหรือไม่ หรือแม้แต่รถยนต์สมัยใหม่ที่มีซอฟต์แวร์โปรแกรมติดอยู่ในรถ การนำรถมาขายเป็นรถมือสองก็มีความเสี่ยงที่จะละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของซอฟต์แวร์ และนี่ก็คือตัวอย่างที่ศาลสูงยกออกมาเองในคำพิพากษา

บรรดาร้านขายสินค้ามือสองก็มีความเสี่ยงไม่ต่างจากผู้บริโภคในการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือมือสอง ร้านเสื้อผ้ามือสอง ร้านซีดีมือสอง ร้านรถมือสอง ฯลฯ บรรดาธุรกิจการค้าออนไลน์ต่างๆ ก็มีความเสี่ยงในการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งในระดับของร้านค้าที่นำสินค้าจากต่างประเทศมาขายเอง หรือที่เป็นตัวกลางการค้าของผู้บริโภคอย่าง Ebay ร้านค้าออนไลน์ชื่อก้อง นอกจากนี้ทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงคลังจดหมายเหตุก็มีความเสี่ยงที่กิจกรรมของตนจะละเมิดลิขสิทธิ์ได้ได้หากสิ่งที่ตนให้บริการแก่ผู้คนนั้นผลิตมาจากต่างประเทศ อาทิ การที่พิพิธภัณฑ์แสดงรูปของศิลปินที่ยังไม่หมดลิขสิทธิ์ (เช่น ปิกัสโซ) หรือการที่ห้องสมุดให้ยืมหนังสือที่พิมพ์นอกสหรัฐอเมริกานั้นก็อาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งนั้นถ้าวลี “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้” นั้นไม่ครอบคลุมถึงภาคและหนังสือที่ถูกสร้างขึ้นในต่างประเทศ

หากจะกล่าวโดยย่นย่อแล้วถ้าคำตัดสินต่างออกไปจากนี้ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจอีกมากมายก็จะได้รับความเสียหายเช่นกัน ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ไม่เคยกล่าวถึง เช่นเดียวกับที่เคยฉายภาพความชั่วร้ายของการทำสำเนาเถื่อนบนฐานของความเสียหายทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมและมองข้ามมูลค่าผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้จากการทำสำเนาเถื่อนโดยตรง (ยังไม่ต้องพูดถึงผลดีทางอ้อมที่เกิดขึ้นทั้งหมด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาพิจารณาด้วยก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจใดๆ

นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนทันทีที่คำพิพากษาต่างออกไป แต่ในระยะยาวแล้วหลายๆ ฝ่ายก็มีการวิเคราะห์ว่าการที่ “หลักการขายครั้งแรก” ไม่ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศนั้นจะทำให้บรรดาอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ย้ายฐานการผลิตออกไปที่ต่างประเทศหมด เพื่อหาประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคในอเมริกันไม่มีสิทธิภายใต้ “หลักการขายครั้งแรก” อีกแล้ว เช่นการขายใบอนุญาตเพื่อใช้สินค้าต่างๆ [5]  ซึ่งการย้ายฐานการผลิตที่ว่านี้จะทำให้ชาวอเมริกันที่ทำงานในภาคการผลิตต้องสูญเสียอาชีพไปอย่างมหาศาลแน่ๆ ปัญหาการที่งานไหลออกนอกประเทศนี้ดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของระบบเศรษฐกิจอเมริกันและนี่ก็ไม่ใช่ภาพที่อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์จะฉายให้เห็นในกรณีที่สุภาพแพ้คดี

ปัญหาอันซับซ้อนทั้งหมดนี้ที่จะเกิดขึ้นถ้าคำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นไปในอีกทิศทางก็ดูจะไม่อยู่ในความสนใจของชาวไทยจำนวนมากที่มีความใส่ใจหลักเพียงแค่ “แบบเรียนจะแพงขึ้น” เนื่องจากความครอบคลุมของหลักการขายครั้งแรกนั้นจะทำให้มีบรรดาพ่อค้าทำการซื้อหนังสือที่ราคาถูกจากที่หนึ่งไปขายตัดราคาในที่ๆ ของขายแพงกว่าเช่นเดียวสุภาพกันเป็นล่ำเป็นสันจนบรรดาสำนักพิมพ์แบบเรียนไม่สามารถจะสร้างความเหลื่อมล้ำของราคาในแต่ละพื้นที่ได้ และขึ้นราคาแบบเรียนในเอเชียในที่สุด อย่างไรก็ดีการหมดสิ้นของความแตกต่างของราคาที่ว่านี้มันก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเป็นไปในทิศทางของการขึ้นราคาของแบบเรียนนอกอเมริกา เพราะแบบเรียนในอเมริกาเองนั้นก็อาจจะมีราคาลดลงมาเท่ากับแบบเรียนนอกอเมริกาก็ได้ เพราะอย่างน้อยๆ สำนักพิมพ์พวกนี้ก็ไม่ใช่นายทุนใจดีที่ตั้งใจจะพิมพ์หนังสือในเอเชียถูกๆ เพื่อให้เด็กเอเชียมีภูมิปัญญาทัดเทียมกับตะวันตก แต่พวกสำนักพิมพ์วิชาการในเชิงพาณิชย์คือ “นายทุนหน้าเลือด” อันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ [6] ที่พร้อมจะขูดรีดเงินจากระบบการศึกษาทุกรูปแบบ ดังนั้นการที่แบบเรียนในเอเชียราคาถูกกว่านั้นดูจะสะท้อนให้เห็นกลยุทธ์การตั้งราคาตามกำลังซื้อของนักศึกษาในเอเชียเพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุดมากกว่า ดังนั้นการขึ้นราคาแบบเรียนในเอเชียจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะนั่นจะทำให้ยอดขายลดลงจนผลกำไรหดหายไป ซึ่ง “นายทุนหน้าเลือด” พวกนี้ก็ย่อมต้องการหลีกเลี่ยง ดังนั้นวิธีการที่ดูจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดกว่าก็คือการล็อบบี้ให้รัฐบาลตั้งกำแพงภาษีหนังสือจำพวกแบบเรียน ที่จะส่งผลให้ราคาแบบเรียนจากเอเชียบวกกับภาษีนำเข้านั้นพอๆ กับราคาแบบเรียนที่ขายในอเมริกา ซึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจแบบนี้ย่อมลดแรงจูงใจในการที่คนอื่นๆ จะทำแบบเดียวกับสุภาพแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ในทางทฤษฎี

จะเห็นว่าไม่มีการแก้กฎหมายใดๆ เท่านั้นที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่ Wiley พยายามแก้ด้วยการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีพอเรื่องมาถึงขั้นนี้ที่ศาลสูงตัดสินไปแบบนี้แล้ว อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ก็สั่นสะเทือนไปเรียบร้อยแล้วและมี “นักการเมือง” บางคนของอเมริกาออกมาโวยวายให้มีการแก้กฎหมายเพื่อสนับสนุนธุรกิจของบรรดา “นายทุน” ของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว

น่าสงสัยเหลือเกินว่านายทุนพวกนี้จะรู้บ้างไหมว่ามีผู้คนจากประเทศโลกที่สามจำนวนไม่น้อยกำลังสนับสนุนเขาอยู่ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้แบบเรียนในเอเชียจะยังมีราคาถูกอยู่ ผู้สนับสนุนนายทุนเหล่านี้อย่างอ้อมๆ จะ “รู้ทัน” เหล่านายทุนพวกนี้หรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ผู้เขียนอยากจะแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้มีความรู้เพียงพอที่จะให้รู้ทันนายทุนเหล่านี้นั้นก็มาจากเว็บไซต์ที่ให้อ่านได้ฟรีๆ ที่น่าจะ “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้” ทั้งนั้น ไม่ได้มาจากแบบเรียนราคาถูกที่ผลิตในเอเชียใดๆ แม้แต่ฉบับเดียว

อ้างอิง:

  1. ผู้เขียนเคยได้เล่าความเป็นคดี “แบบเรียนมือสอง” ไปจนถึงมิติของทางกฎหมายต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้หากผู้สนใจในรายละเอียดโปรดตามไปอ่านที่บทความดังกล่าวที่ http://prachatai.com/journal/2012/04/40208 ในบทความนี้ผู้เขียนจะเน้นไปที่นัยยะของคำตัดสินของศาล
  2. ผู้เขียนจะไม่พูดถึง “ปริมาณ” ที่เขาเอาไปขาย เพราะภายใต้กฎหมายแล้ว ไม่ว่าเขาจะเอาไปขาย 8 เล่มหรือ 8 ตันมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางกฎหมายว่าเขาละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะอย่างน้อยๆ หลักกฎหมายลิขสิทธ์ของอเมริกาที่เป็นประเด็นในที่นี้ก็ไม่ได้มีการแยกแยะว่าละเมิดแต่น้อยจะไม่มีความผิด
  3. ตัวบทกฎหมายนี้คือส่วนที่เรียกว่า 17 USC § 109 - Limitations on exclusive rights: Effect of transfer of particular copy or phonorecord ดูได้ที่ http://www.law.cornell.edu/uscode/text/17/109
  4. สำหรับตัวบทข้อยกเว้น ดูได้ที่ 17 USC § 109 ตามลิงค์ในเชิงอรรถที่ 3 ส่วนคำนิยามคำว่า display ดูได้ในส่วนนิยาม หรือ 17 U.S.C. § 101 – Definitions ที่ http://www.law.cornell.edu/uscode/text/17/101
  5. กล่าวคือถ้าซื้อสินค้ามาจากต่างประเทศแล้ว ผู้ใช้ยังต้องการใบอนุญาตเพื่อที่จะใช้อีก เช่น ก่อนขายรถผู้ขายก็ต้องมีซื้อใบอนุญาตขายจากเจ้าของซอฟต์แวร์ในรถ ก่อนที่จะนำหนังสือออกให้บริการได้ ห้องสมุดก็ต้องซื้อใบอนุญาตจากเจ้าของหนังสือให้การให้ยืมก่อน เป็นต้น
  6. อ่านรายละเอียดได้ที่บทความเก่าของผู้เขียนที่ http://prachatai.com/journal/2012/05/40310

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net