Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ย้ำการใช้สิทธิคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องทำโดยรอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะกระทบที่เกิดต่อ SMEs และความแข็งแกร่งของฐานรากเศรษฐกิจ

จากกรณี 'ปังชา' ที่กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลเมื่อ 2 เดือนก่อนที่จะจบลงด้วยดีแก่ทุกฝ่ายแล้วนั้น สุรเดช อัศวินทรางกูร อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการใช้สิทธิในทำนองเดียวกันควรเกิดได้ด้วยเหตุอันสมควรเท่านั้น เพราะสังคมตระหนักรู้แล้วว่าการใช้สิทธิคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องทำโดยรอบคอบ เพราะความรู้ในการจดทะเบียน และขอบเขตของสิทธิที่ได้นั้นซับซ้อน แตกต่างกันตามประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา และยากแก่การพิจารณาโดยผู้ไม่ชำนาญการในทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทนั้นๆ ไม่ว่าสิทธิบัตร เครื่องหมาย และลิขสิทธิ์

อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฯ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพบว่ามีการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นและพร่ำเพรื่อ ดังเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับข้อมูลว่ามีผู้ยื่นโนติสต่อองค์กรขนาดยักษ์ของไทยรายหนึ่งที่ท่านได้ขยายกิจการไปสู่กิจการด้านยารักษาโรค แต่กรณีนี้ด้วยขนาดองค์กรท่านคงชนะสบายๆ แต่ข้อมูลนี้กระตุ้นให้ตนคิดว่าหากเกิดกรณีทำนองนี้กับ SMEs จะมีผลกระทบต่อ SMEs อย่างมาก ดังเห็นได้จากกรณีปังชา และหากมีมากรายแล้วย่อมกระทบต่อความแข็งแกร่งของฐานรากเศรษฐกิจไทย 

จึงขอยกระบบรองรับผลกระทบที่เกิดต่อ SMEs จากการใช้สิทธิการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมิชอบหรือเกินขอบ เขตจากเจ้าของสิทธิที่มีศักยภาพสูงกว่ามาแบ่งปันความคิดร่วมกันเพื่อว่าระบบนี้อาจมีประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจที่คิดปกป้องธุรกิจรายย่อยให้เติบโตได้, มีเบาะรองรับการใช้สิทธิของเจ้าของสิทธิที่ผิดพลาดโดยไม่เจตนาและจากการใช้สิทธิโดยมิชอบ ถึงแม้ระบบนี้อาจดำเนินการได้อย่างลำบากยากเย็นยิ่งก็ตาม เพราะต้องทำเป็นระเบียบ, กฎหมาย และประสานกับหน่วยงานอื่น เช่น ศาล และด้วยเหตุที่การใช้สิทธิผิดพลาดอาจมาจากการสับสนในความรู้ข้างต้น ดังนั้น การทำให้ทุกฝ่ายชัดแจ้งในความรู้ดังกล่าวโดยเปิดเผยทั่วไป ย่อมลดกรณีพิพาทให้น้อยลงได้ โดยสรุป คือ สร้างระบบตัวแทนทรัพย์สินทางปัญญารับอนุญาต ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมาย และลิขสิทธิ์ที่แยกขาดจากกัน โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นถึงทำงานในกระบวนการทรัพย์สินทางปัญญาได้ตลอดขบวนการแม้แต่กรณีคดีความโดยตัวแทน ทรัพย์สินทางปัญญา รับอนุญาตต้อง

(1) เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมความรู้ข้างต้นตามแนวทางที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา รวบรวมจากคู่มือที่เปิดเผยของกรม บวกกับคำวินิจฉัยคณะกรรมการฯ และคำพิพากษา และสอบผ่านเพื่อเป็นตัวแทนรับอนุญาต จึงขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนทรัพย์สินทางปัญญารับอนุญาตในแต่ละประเภทได้ และทำหน้าที่ได้เฉพาะประเภทที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ในบางกรณีคงต้องมีใบอนุญาตอื่นเช่น ใบอนุญาตทนายด้วย หรือหากไม่เป็นตัวแทนรับอนุญาตจะต้องมีตัวแทนรับอนุญาตร่วมงานอยู่ด้วย ส่วนเฉพาะสิทธิบัตรต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีร่วมด้วยและทำหน้าที่ได้เฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ของตนหรือใกล้เคียงเท่านั้น เช่น เป็นวิศวกรจะทำงานด้านเคมีไม่ได้ และปรับปรุงแนวทางข้างต้นให้ทันสมัยและเปิดเผยทั่วไป ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีค่าใช้จ่าย แต่อาจนำมาจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตต่างๆได้

(2) กำหนดเป็นกฎหมายว่าหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบหรือเกินขอบเขตแห่งสิทธิแล้ว ผู้ร้อง เรียนต้องชดเชยค่าเสียหายอื่นนอกจากปกติที่ได้กำหนดอยู่แล้วเพิ่มเติมเช่น ต้นทุนของโอกาสที่เสียไป แก่ผู้ถูกร้องเรียน เรื่องทำนองนี้ดูได้จากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตคุณปรีณาภา ศิริพานิช คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ  

(3) กำหนดให้มีการปรับผู้กล่าวหา, ทนาย / ตัวแทนรับอนุญาตที่ร่วมงานเป็นจำนวนทวีคูณของมูลค่าความเสีย หายที่เรียกร้องเพราะเรียนรู้หลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว กรณีนี้อาจเป็นการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มขึ้นด้วย

"หวังว่า ข้อเสนอนี้จะมีประโยชน์ต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญาโดยรวม และทำให้ SMEs ที่มีศักยภาพด้อยกว่ามีความมั่นคงในการประกอบกิจการมากขึ้น" สุรเดช ทิ้่งท้าย 

                                                                                                                                 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net