Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาว่าความรู้ควรจะเป็นของซื้อของขายหรือไม่นั้นอยู่มาคู่กับภูมิปัญญาตะวันตกมาอย่างต่ำๆ ก็ตั้งแต่ที่ต้นตำรับนักปรัชญาอย่างโสเครติสถกเถียงกับเหล่าพ่อค้าความรู้อย่างพวกโซฟิสต์ในสมัยกรีกโบราณแล้ว ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการขายความรู้นี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่องประปรายเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดีภายหลังการปฏิวัติการพิมพ์ ทุนนิยมก็ค่อยๆ ทำให้ความรู้กลายมาเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ที่มีขายทั่วไปในตลาดอย่างช้าๆ และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ขึ้นครองอำนาจในโลกของการเผยแพร่ความรู้อย่างแทบจะไร้ข้อกังขาในโลกที่วัฒนธรรมการอ่าน/เขียนได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้หลักแทนการถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาถะของโลกดั้งเดิม และอำนาจการควบคุมการเผยแพร่ความรู้นี่เองที่เป็นพื้นฐานเป็นกระบวนการที่ขูดรีดในระดับที่นายทุนสุดขูดรีดที่ไหนในโลกเห็นแล้วควรจะอาย

กระบวนการขูดรีดดังกล่าวอยู่ในกระบวนการผลิตบทความวิชาการในยุคบัจจุบันนี่เอง กระบวนการพื้นฐานในการสร้างบทความวิชาการในปัจจุบันเริ่มจากการที่นักวิชาการเสนอโครงร่างงานวิจัยให้แหล่งทุนซึ่งมักจะเป็นของรัฐ ถ้าโครงร่างผ่านก็เขาก็จะรับเงินจากแหล่งทุนมาทำการวิจัย หลังจากทำการวิจัยเสร็จ เงื่อนไขความก้าวหน้าของวิชาชีพและเงื่อนไขการประเมินผลจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็บีบให้เขาต้องมีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารทางวิชาการ นี่เป็นจุดที่สำนักพิมพ์วิชาการเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ กระบวนการตีพิมพ์งานวิชาการพื้นฐานก็คือการส่งบทความ (ที่มักจะเป็นบทสรุปของงานวิจัยชิ้นใหญ่) ไปที่วารสารทางวิชาการหนึ่งๆ ที่อยู่ภายใต้สำนักพิมพ์ แล้วสำนักพิมพ์ก็จะส่งไปให้ฝ่ายบรรณาธิการพิจารณา ถ้าฝ่ายบรรณาธิการพบว่าบทความมีความน่าสนใจ พวกเขาก็จะส่งให้นักวิชาการคนอื่นอ่านเพื่อทำการวิจารณ์ หลังจากนั้นผู้เขียนก็รับบทความพร้อมคำวิจารณ์กลับมาแก้ไข ก่อนที่จะส่งไปตีพิมพ์พร้อมมอบลิขสิทธิ์บทความให้สำนักพิมพ์ในขั้นสุดท้าย

นี่ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลยถ้าสำนักพิมพ์วิชาการให้บางสิ่งกลับไปแก้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการบ้าง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่ทั้งนักวิชาการที่เป็นผู้เขียน นักวิชาการที่เป็นผู้วิจารณ์ และนักวิชาการที่เป็นที่ทำงานบรรณาธิการจะให้บริการเขียนบทความ วิจารณ์บทความ และทำงานบรรณาธิการบทความฟรีๆ แก่สำนักพิมพ์วิชาการ การที่สำนักพิมพ์วิชาการจะไม่จ่ายเงินให้กับนักวิชาการในกระบวนการอันได้มาซึ่งต้นฉบับงานวิชาการพร้อมตีพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในโลกตะวันตก นี่ทำให้สำนักพิมพ์วิชาการได้ทั้งต้นฉบับและลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐซึ่งผ่านกระบวนการขัดเกลาบทความแบบอาสาสมัครของเหล่านักวิชาการมาฟรีๆ ก่อนที่จะนำมาขายเอากำไรในท้องตลาด ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสำนักพิมพ์วิชาการก็คงจะหนีไม่พ้นห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักนอกจากจะต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเพื่อรับวารสารทางวิชาการทั้งหมดของสำนักพิมพ์เหล่านี้ซึ่งมักจะขายแบบพ่วง งบประมาณของห้องสมุดในอังกฤษราวๆ 65% หมดไปกับการลงทะเบียนกับวารสารวิชาการเหล่านี้ [1] นี่เป็นงบประมาณมหาศาล อย่างไรก็ดีห้องสมุดก็ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะถ้าห้องสมุดไม่รับวารสารเหล่านี้ทางนักวิชาการของมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถที่จะติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อไปได้ ซึ่งในที่สุดงานวิจัยใหม่ๆ มันก็จะผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สำนักพิมพ์วิชาการได้ต้นฉบับมาตีพิมพ์อย่างฟรีๆ อีกครั้ง ...นี่คือแหล่งที่มาสำคัญของอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมการตีพิมพ์งานวิชาการในโลกตะวันตกที่สูงถึง 35% [2]

การหากินแบบกึ่งผูกขาดของสำนักพิมพ์วิชาการก็ไม่ได้รับเม็ดเงินหล่อเลี้ยงมาจากที่ไหนนอกจากเงินของรัฐที่อุดหนุนงานวิจัยและห้องสมุด [3] นี่เป็นการเกาะกินเงินของรัฐอย่างเลวร้ายที่หลายๆ ฝ่ายไม่ตั้งคำถามมานมนานว่าการที่สุดท้ายงานวิจัยที่รัฐสนับสนุนเองต้องกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปฟรีๆ แถมสถาบันของรัฐอย่างห้องสมุดก็ต้องจ่ายเงินซื้อมันกลับมาจากเอกชนอีกทีเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแค่ไหน ซึ่งนี่ก็ยังไม่รวมปัญหาที่ว่าเงินทั้งหมดก็เกิดจากภาษีประชาชนแต่ประชาชนก็กลับไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระด้วยซ้ำ ทั้งที่บทความวิชาการมีผู้จ่ายเงินสนับสนุนและผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ไม่สอดคล้องเช่นนี้ แต่ในสหรัฐอเมริกาต้นปี 2012 ที่ผ่านมาก็ได้มีการพยายามออกกฎหมายใหม่นาม Research Works Act ขึ้นเพื่อควบคุมการเผยแพร่งานวิจัย และในกฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อบัญญัติหนึ่งที่ห้ามไม่ได้งานวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ที่ผู้คนเข้าถึงได้โดยเสรี หรือที่เรียกว่า Open Access [4] แม้กฎหมายตัวนี้สร้างคำวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่วงวิชาการอเมริกันมากในความคับแคบของมัน แต่บรรดาสำนักพิมพ์วิชาการก็ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กันอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่างสำนักพิมพ์ Elsevier จะเกี่ยวข้องกับการลุกฮือครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

จุดเริ่มของการลุกฮือไม่ได้เกิดจากนักสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่ไหน แต่มันเริ่มจากนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cambridge ที่ได้รางวัลระดับเดียวกับโนเบลของสาขาคณิตศาสตร์นามศาสตราจารย์ Timothy Grover การลุกฮือเริ่มจากที่ Grover ออกมาประกาศจะบอยคอตต์สำนักพิมพ์ Elsevier ในบล็อกส่วนตัวของเขา ด้วยสามเหตุผลคือ 1. Elsevier คิดราคาผลิตภัณฑ์แพงเกินไป 2. Elsevier มักจะทำการขายวารสารพ่วงเป็นชุดใหญ่ที่ทำให้ห้องสมุดต้องจ่ายเงินซื้อวารสารที่ตนไม่ต้องการด้วย 3. Elsevier สนับสนุน Research Works Act ที่เป็นกฏหมายซึ่งกีดกันไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงงานวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐอย่างชัดเจน [5]  มีนักวิชาการมากมายเห็นด้วยกับเขาและไม่กี่วันต่อมาเว็บไซต์ http://thecostofknowledge.com/ ก็ถือกำเนิดขึ้นให้นักวิชาการจากทั่วโลกได้มาลงชื่อเพื่อแสดงเจตจำนงที่จะไม่ตีพิมพ์บทความ ไม่ช่วยงานอ่านและวิจารณ์บทความ และไม่ช่วยงานบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์ Elsevier ในตอนนี้นักวิชาการจากทั่วโลกก็ลงชื่อไปกว่า 10,000 คนแล้ว [6] และกระแสคลื่นการต่อต้านสำนักพิมพ์วิชาการอันเริ่มจากอังกฤษนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า อคาเดมิคสปริง (Academic Spring) อันเป็นการตั้งชื่อล้อกับการลุกฮือทางการเมืองในโลกอาหารที่ถูกขนานนามว่าอาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งก็ล้อกับปรากสปริง (Prague Spring) อีกที

การริเริ่มของ Grover ดูจะทำให้เกิดผลที่ใหญ่โตมาก มีบทความจำนวนนับไม่ถ้วนออกมาทั้งโจมตีและแฉการขูดรีดของบรรดาสำนักพิมพ์วิชาการอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีจะหยุดลง ในที่สุด Elsevier ก็ยกเลิกการสนับสนุน Research Works Act หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่จากวงวิชาการที่ดำเนินอยู่นี้ อย่างไรก็ดีนี่ก็ยังไม่ดีพอสำหรับโลกวิชาการ เพราะค่าลงทะเบียนวารสารอันสูงลิบก็ไม่ได้ลดลง เรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ ฝ่ายพร้อมๆ กันก็คือ การที่ในที่สุดห้องสมุดที่งบประมาณสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย Harvard ก็ประกาศออกมาแล้วว่าห้องสมุดไม่สามารถจะแบกรับค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนวารสารวิชาการของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ได้อีกต่อไปแล้ว เหตุผลที่ห้องสมุดให้ไว้ก็ใกล้เคียงกับ Grover มาก ห้องสมุดเน้นว่าปัญหาเกิดจากการการขายที่สำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ๆ ขายวารสารวิชาการหลายฉบับพ่วงเข้าด้วยกันและคิดค่าลงทะเบียนวารสารวิชาการสูงลิบ นอกจากนี้ทางห้องสมุดของ Harvard ก็เน้นด้วยว่าค่าลงทะเบียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเร็วกว่าอัตราการขึ้นดัชนีราคาผู้บริโภค หรือกระทั่งดัชนีราคาการศึกษาขั้นสูงและห้องสมุดด้วยซ้ำ [7] หรือพูดง่ายๆ ก็คือค่าลงทะเบียนวารสารเหล่านี้ขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทาง Robert Darnton นักประวัติศาสตร์หนังสือชื่อดังซึ่งนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการห้องสมุดได้ออกมากล่าวว่า

"ผมหวังว่ามหาวิทยาลัยอื่นจะทำแบบนี้เช่นกัน เราก็เจอความย้อนแย้งนี้กันหมด อาจารย์ทำวิจัย เขียนเปเปอร์ ให้นักวิจัยคนอื่นตรวจงานให้เรา ทุกอย่างทำฟรีๆ หมด ...และเราก็ซื้อผลผลิตของแรงงานของเรากลับมาในราคาอันบ้าคลั่งจากพวกสำนักพิมพ์วิชาการ

ระบบมันน่าขันสิ้นดี และมันก็ทำร้ายห้องสมุดอย่างมาก การจดทะเบียนรับ The Journal of Comparative Neurology เป็นเวลาหนึ่งปีมันราคาพอๆ กับซื้อหนังสือสัก 300 เล่มได้ เราไม่สามารถจะจ่ายค่าลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว ในระยะยาว ทางออกของเราคือการทำให้การตีพิมพ์วารสารวิชาการสามารถเข้าถึงได้โดยเสรีโดยทุกคน แต่เราต้องพยายามเพื่อจะไปถึงตรงนั้นให้ได้" [8]

ทางออกของวงจรอุบาทว์อันขูดรีดนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การตีพิมพ์งานในบรรดาวารสารวิชาการออนไลน์เสรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็ไม่ได้ปราศจากปัญหา มีการโต้เถียงเรื่องคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้อยู่มากว่า มันไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจารณ์โดยนักวิจารณ์คนอื่นๆ ก่อนตีพิมพ์ออกมาและก็มีคำวิจารณ์ว่าวารสารเหล่านี้บังคับให้ผู้เขียนจ่ายแทนที่จะบังคับให้ผู้บริโภคจ่ายเช่นกัน ข้อเท็จจริงคือคุณภาพและนโยบายของวารสารเหล่านี้ก็มีคละเคล้ากันไป วารสารออนไลน์เสรีที่มีกระบวนการวิจารณ์หรือกระบวนการคัดกรองเพื่อบทความคุณภาพก็มีอยู่แน่ๆ และวารสารที่ไม่เก็บค่าตีพิมพ์กับผู้ตีพิมพ์ก็มีเช่นกัน ดังนั้นนี่ไม่ใช่ปัญหาของวารสารออนไลน์เสรีโดยตัวมันเองแต่มันเป็นปัญหาของวารสารบางฉบับมากกว่า

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดของวารสารออนไลน์เสรีคือ มันจะเป็นการลดต้นทุนการเผยแพร่งานวิชาการโดยรวมๆ ลงจากที่บรรดาสำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ๆ ใช้มาก ซึ่งงบประมาณที่ลดลงก็อาจถึงแปดเท่าทีเดียว [9] นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรกับโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ต้นทุนของการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารควรจะต่ำลง ไม่ใช่สูงขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือกระแสวารสารออนไลน์เสรีทั้งหมดก็เปิดโอกาสให้มีการใช้โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ในการเผยแพร่งานวิชาการทางอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่างานสำนักพิมพ์วิชาการก็จะไม่ชอบมันแน่ๆ ซึ่งไม่ต่างจากปฏิกิริยาโต้ตอบของบรรดาค่ายเพลงเมื่อมันต้องเผชิญหน้ากับการเผยแพร่งานดนตรีทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด

ทั้งนี้สำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ในโลกมี 3 สำนักพิมพ์คือ Elsevier, Springer และ Wiley ซึ่งทั้งสามบริษัทถือครองลิขสิทธิ์บทความวิชาการ 42% ที่ได้รับการตีพิมพ์กันออกมาในวารสารวิชาการทั้งหมด [10] บริษัทสิ่งพิมพ์เหล่านี้พร้อมทั้งบริษัทอื่นๆ ต้องดิ้นรนที่จะดำรงอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่การเผยแพร่ออนไลน์กำลังจะทำลายรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และเราก็คาดหวังได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้ จะดิ้นรนอย่างถึงที่สุดเพื่อเอาตัวรอดในธุรกิจที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไป ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามของสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Wiley จะริเริ่มดำเนินการฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการดาวน์โหลดหนังสือ อันเป็นการฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการดาวน์โหลดครั้งแรกของอุตสาหกรรมหนังสือ และการฟ้องนี่ล่าสุดก็ไม่ใช่ฟ้องกันแค่คนเดียวแต่ฟ้องเป็นร้อยๆ คน ตรงนี้เราก็ไม่ลืมเช่นกันว่าคงไม่มีใครคิดว่าการฟ้อง “คนโหลดเพลง” รอบแรกของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกาในปี 2003 จากจำนวนหลักร้อยคนจะทวีจำนวนขึ้นมาเป็นหมื่นคดีไปแล้ว ในปัจจุบัน การฟ้องที่มีมาเหล่านี้ของอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าเป็นการฟ้องทางแพ่งเพื่อรีดเงินค่ายอมความ ที่เป็นรายได้เสริมชั้นดีในยุคที่การทำมาค้าขายของลิขสิทธิ์ในแบบเดิมยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล ในแง่นี้การฟ้องคนโหลดหนังสือของสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Wiley ก็ยิ่งจะดูเป็นการตอกย้ำภาพของนายทุกขูดรีดที่ผูกขาดแสวงกำไรกับแรงงานอาสาสมัครของนักวิชาการและเงินของรัฐอันเป็นหนทางแสวงรายได้หลักของสำนักพิมพ์ขึ้นไปอีก

...สำนักพิมพ์ Wiley ที่ว่าเริ่มฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์แบบดิจิตัลเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในอเมริกา ก็คือ Wiley เดียวกับที่ฟ้องนักศึกษาไทยที่เอาตำราจากสิงคโปร์ไปขายในอเมริกานี่แหละครับ ซึ่งเราก็เดาไม่ยากเลยว่าอีกต่อไป Wiley จะมีบทบาทมากในการสู้เพื่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ใส่ใจทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิผู้บริโภคใดๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นที่อุตสาหกรรมบันทึกเสียงและอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันได้เป็นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์รีดค่ายอมความกับผู้โหลดหนังสือ หรือการขึ้นราคาค่าลงทะเบียนวารสารวิชาการ มันก็เป็นกลยุทธโดยรวมในการอยู่รอดในยุคนี้ของอุตสาหกรรมอันขูดรีดนี่เท่านั้นเอง

อ้างอิง:

  1. ดู http://www.economist.com/node/18744177
  2. ซึ่งเป็นอัตรากำไรที่สูงมากๆ ดู http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2011/aug/29/academic-publishers-murdoch-socialist
  3. อีกส่วนหนึ่งคือค่าเทอมของนักศึกษาที่ส่วนหนึ่งจะเป็นค่าบำรุงห้องสมุด
  4. นี่ตรงข้ามกับอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกันที่รัฐพยายามจะมีแนวนโยบาย Innovation and Research Strategy for Growth ที่จะบังคับให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับเงินสนับสนุนทั้งหมดจากรัฐต้องตีพิมพ์ในวารสารที่ผู้คนเข้าถึงได้อย่างสาธารณะ
  5. แต่ที่คนมักจะไม่รู้กันก็คือ Elsevier สนับสนุนกฎหมายกีดกันอินเทอร์เน็ตอันฉาวโฉ่ที่ตกไปแล้วอย่าง SOPA และ PIPA ด้วย
  6. ข้อมูลวันที่ 27-04-2012
  7. ดู http://isites.harvard.edu/icb/icb.do?keyword=k77982&tabgroupid=icb.tabgroup143448
  8. ดู http://www.guardian.co.uk/science/2012/apr/24/harvard-university-journal-publishers-prices
  9. http://www.guardian.co.uk/science/blog/2012/apr/17/persistent-myths-open-access-scientific-publishing
  10. ดู http://www.guardian.co.uk/science/2012/apr/09/frustrated-blogpost-boycott-scientific-journals

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net