Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม : เมื่อหนังสือถูกลิขสิทธิ์ที่สิงคโปร์กลายเป็นหนังสือละเมิดลิขสิทธิ์ในอเมริกา: ว่าด้วย ขีดจำกัดการใช้ของ “หลักการขายครั้งแรก” ในกฏหมายสหรัฐ [1]

 

“คดีตัวอย่าง! ขายหนังสือในอีเบย์เจอคดีเรียก 18 ล้าน นศ.ไทยโดนฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์” [2] เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้กล่าวพาดหัวคดีของอดีตนักศึกษาปริญญาโท (ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย) ไว้ดังนี้ เรื่องราวย่อๆ ก็คือ นักศึกษาปริญญาโทไทยคนหนึ่งได้นำเข้าตำราเรียนจำนวนหนึ่งที่ผลิตถูกต้องตามกฏหมายทุกอย่างในสิงคโปร์เข้าไปขายในเว็บไซต์อีเบย์เพื่อหาเงินเรียนหนังสือโดยที่ตำราที่เขาขายมีราคาถูกกว่าที่ขายในตลาดอเมริกาถึงครึ่งหนึ่ง (เช่น เขาขายประมาณ 50$ ในขณะที่ตำราเล่มเดียวกันในท้องตลาดอเมริกาอยู่ที่ 100$) ทางบริษัท Wileys & Sons ในอเมริกาไม่พอใจจึงฟ้องนักศึกษาคนนี้ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งของประกอบลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดก็คือสิทธิ์ในการขายสินค้าลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในอเมริกา มีการสู้กันไปแล้วในสองชั้นศาลคือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ของรัฐ ซึ่งอดีตนักศึกษาผู้นี้ก็แพ้คดีไปแบบไม่เป็นเอกฉันท์ทั้งสองศาล และนักศึกษาผู้นี้ก็กำลังจะสู้คดีต่อในศาลสูงสหรัฐที่น่าจะพิจารณาคดีนี้ในตอนปลายปี 2012 นี้

สังคมออนไลน์ในไทยมีปฏิกิริยาต่อคดีนี้ในทางลบกันเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมากก็เห็นว่าอดีตนักศึกษาคนดังกล่าวมีความผิดจริงนี่เป็นกรณี “ละเมิดลิขสิทธิ์” ตัวอย่างที่ไม่ควรจะเอาเยี่ยงอย่าง อย่างไรก็ดีประเด็นที่สื่อไทยไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนักก็คือ การเป็น “คดีตัวอย่าง” ที่อาจพลิกการตีความกฎหมายลิขสิทธิ์ไปจนถึงการลดทอนสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคสินค้าศิลปวัฒนธรรมในระบบกฏหมายอเมริกา นี่เป็นเหตุให้คีดนี้เป็นคดีที่หลายๆ ฝ่ายในอเมริกาจับตามอง พวกเขาไม่ได้สนใจหรอกว่านักศึกษาจากประเทศโลกที่สามคนนี้จะถูกหรือผิดในทางศีลธรรมแบบชาวไทยหลายๆ คน แต่เขาสนใจนัยยะของการตัดสินของศาลมากกว่าเพราะถ้านักศึกษาคนนี้แพ้คดีในศาลสูงอีก มันจะหมายความว่า “หลักการขายครั้งแรก” (First-Sale Doctrine) นั้นจะไม่สามารถใช้ได้กับสินค้าศิลปวัฒนธรรมที่ผลิตนอกสหรัฐอเมริกา นี่จะทำให้ธุรกิจการนำเข้าสินค้า ห้องสมุดที่มีหนังสือต่างประเทศ ไปจนถึงการซื้อของฝากทางศิลปวัฒนธรรมจากต่างประเทศได้รับการประทบกระเทือนไปหมดดังที่จะชี้ให้เห็นต่อไป

หากจะกล่าวง่ายๆ “หลักการขายครั้งแรก” เป็นหลักกฎหมายอเมริกาที่ว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคในการทำการขายสินค้าลิขสิทธิ์ในเงื่อนไขที่ว่าสินค้าลิขสิทธิ์นั้นถูกผลิตขึ้นมาโดยชอบด้วยกฏหมาย กล่าวคือเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ในการขายเพียงครั้งแรกเท่านั้น เมื่อผู้ซื้อทำการซื้อของลิขสิทธิ์มา เขาก็มีสิทธิขายต่อโดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการขายสินค้าลิขสิทธิ์ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ สิทธินี้นอกจากจะครอบคลุมการนำไปขายครั้งที่สองของผู้ซื้อแล้ว ก็ยังครอบคลุมการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ไปจนถึงการให้เช่าสินค้าลิขสิทธิ์ของผู้ซื้อแก่ผู้อื่นอีกด้วย [3]

หลักกฏหมายนี้เกิดจากคดี Bobbs-Merrill Co. v. Straus ในปี 1908 เรื่องมีอยู่ว่าสำนักพิมพ์ Bobbs-Merrill ได้ติดข้อความแนบมากับหนังสือที่พิมพ์เล่มหนึ่งว่า “ราคาค้าปลีกของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ 1 $ ผู้จำหน่ายห้ามขายราคาต่ำกว่านี้ และเราจะถือว่าการขายราคาต่ำกว่านี้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์” อย่างไรก็ดีก็มีผู้ที่ซื้อไปแบบขายส่งเพื่อไปขายปลีกในราคา 0.89 $ สำนักพิมพ์ Bobbs-Merrill ไม่พอใจจึงฟ้องศาล ในที่สุดศาลตัดสินว่าการนำมาขายต่อดังกล่าวไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ และสถาปนา “หลักการขายครั้งแรก” ขึ้นในกฎหมายอเมริกา และนี่ก็เป็นบนเรียนที่สำคัญว่าในบางครั้งบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้มีสิทธิ์ดังที่พวกเขากล่าวอ้างเสมอไป อย่างน้อยก็ในสายตาของศาล

ถ้าลองมองดูดีๆ คดีนี้ก็ดูจะคล้ายคลึงกับคดีของนักศึกษาชาวไทยที่กล่าวมาข้างต้นที่เกิดขึ้นราว 100 ปีต่อมา เพราะทางผู้ซื้อก็ซื้อของถูกต้องตามลิขสิทธิ์ทุกอย่างจากเจ้าของลิขสิทธิ์และมาขายในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ดีความต่างคือศาลชั้นต้นกล่าวว่า “หลักการขายครั้งแรก” ดังกล่าวไม่สามารถใช้กับคดีนี้ได้ และศาลอุทธรณ์ที่ก็เห็นตรงกัน (แม้จะไม่เป็นเอกฉันท์) ศาลเห็นว่า “หลักการขายครั้งแรก” ไม่สามารถใช้กับสิ่งที่ผลิตขึ้นนอกสหรัฐอเมริกาได้ กล่าวคือ ศาลเห็นว่าหนังสือที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ที่ผลิตในสิงคโปร์ไม่เข้าข่ายสิ่งที่ “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย” หรือ “lawfully made” ในระบบกฎหมายอเมริกาตาม 17 USC § 109 (a) [4] เนื่องจากผู้ถือลิขสิทธิ์ในอเมริกาก็ทำการผลิตเช่นกันและในอเมริกาก็ให้ถือว่างานที่ผลิตในอเมริกาเท่านั้นที่เป็นการ “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย” นี่ส่งผลให้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ใช้ไม่ได้ และทำให้ทางนักศึกษามีความผิดฐานนำเข้าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ [5]

ในระดับศาลอุทธรณ์ คดีได้รับการตัดสินโดยผู้พิพากษาสามคน ผู้พิพากษาสองคนลงความเห็นว่านักศึกษามีความผิด ส่วนผู้พิพากษาอีกคนเห็นว่าไม่มีความผิด เขาเห็นว่านักศึกษาไม่มีความผิดหากมองเจตนารมณ์ของกฏหมายในคำว่า “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย” หรือ “lawfully made” ว่ามีความหมายรวมถึงการผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมายในประเทศคู่สัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้วย โดยอ้างข้อกฏหมายที่ว่ากฏหมายอเมริกายอมรับลิขสิทธิ์ของประเทศคู่สัญญาลิขสิทธิ์ [6] ซึ่งสิงคโปร์ก็เข้าข่ายอย่างไม่ต้องสงสัย และงานที่ว่าก็ไม่มีทางจะเป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไปได้ เนื่องจากเป็นงานที่ผลิตอย่างถูกต้องของบริษัทลูกของบริษัท Wiley & Sons ผู้ฟ้องเอง

มาถึงตรงนี้เราจะเห็นว่านัยยะของคำตัดสินนั้นใหญ่มาก มันเป็นการปฏิเสธสถานะอันถูกต้องตามลิขสิทธิ์ของงานที่ผลิตนอกอเมริกาด้วยซ้ำ และผลในทางปฏิบัติของการยืนยันว่าสิ่งที่ผลิตนอกอเมริกาเป็นสิ่งที่ไม่ได้ “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย” ตามนิยามของกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็ยังส่งผลให้ผู้ที่ซื้อสินค้าลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศนั้นไม่สามารถทำสิ่งใดๆ กับสิ่งที่เขาซื้อมาได้นอกจากนำมาใช้ส่วนตัว เพราะลำพังการมอบให้ผู้อื่นเป็นของฝากไม่ว่าจะเป็นการมอบให้ญาติสนิทแค่ไหนก็ถือว่าเป็นการละเมิดแล้วตามแนวทางของการตัดสินของศาล หากสินค้าลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีผู้ถือลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าแนวทางการตีความกฎหมายแบบนี้จะส่งผลกระทบกับผู้ค้าสินค้าลิขสิทธิ์นำเข้ารายย่อยจำนวนมากในอเมริกาที่ต้องคอยระวังว่าจะมีเจ้าของลิขสิทธิ์รายใหญ่มาฟ้องเขาหรือไม่ เพราะแม้แต่การนำเข้าของที่ถูกมองว่า “มีคุณภาพ” กว่าอเมริกาที่ราคาสูงว่าที่ผลิตในอเมริกา (เช่นแผ่น CD จากญี่ปุ่น) มาขายในอเมริกานั้นก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามแนวทางการตีความนี้ นอกจากนี้ปัญหานี้อาจลุกลามไปถึงการให้ยืมหนังสือต่างประเทศของห้องสมุดด้วยซ้ำเพราะมันก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐต้องยอมรับว่าหนังสือจากต่างประเทศนั้น“ผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย” เช่นกัน

ปัญหาดูจะลุกลามใหญ่โตไม่น้อยหากเป็นเช่นนี้ ในการอภิปรายกันบนอินเตอร์เน็ตก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยและยกข้อมูลที่สืบค้นมาเพื่อจะชี้ว่านักศึกษาคนดังกล่าวได้ขนหนังสือไปขายเป็นตันๆ ไม่ใช่เพียงแค่ 8 เล่มดังที่เขาโดนฟ้อง (ซึ่งเขาโดนเรียกร้องค่าเสียหายเล่มละ 75,000 $ ตามที่กฏหมายกำหนดไว้อย่างเต็มที่) อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่าประเด็นนี้ทำให้เราหลงประเด็นปัญหาในทางข้อกฏหมายของคำตัดสินเพราะ “หลักการขายครั้งแรก” ถือว่าการนำหนังสือขายครั้งที่สองไม่ว่าจะขายหนึ่งเล่มหรือขายหนึ่งล้านเล่มนั้นก็เป็นสิ่งถูกกฏหมายทั้งสิ้นหากหนังสือ “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย” และที่เราต้องไม่ลืมก็คือคดีที่สถาปนาหลักกฎหมายข้อนี้มาก็เกิดจากการซื้อหนังสือมาขายใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการให้เป็นในท้องตลาดและศาลก็ตัดสินว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิ์ควบคุมราคาในการขายครั้งที่สองมาเป็น 100 ปีแล้ว ดังนั้นการทำเพื่อการค้าใหญ่โตหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็นว่านักศึกษารายนี้จะผิดหรือไม่ผิดถ้าเรามองจากมุมมองของตัวบทกฎหมาย

สุดท้ายน่าสนใจที่ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักว่าการให้อำนาจแก่เจ้าของลิขสิทธิ์มากเกินไปมันจะทำให้เกิดภาวะ “เกรียนลิขสิทธิ์” (copyright trolls) ขึ้นได้เช่นกัน หากข้อโต้แย้งว่าสิ่งที่นักศึกษาทำนั้นแม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ก็เป็นการใช้ความคลุมเครือของกฎหมายเอาเปรียบเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็น่าจะโต้แย้งว่าการกระทำของเจ้าของลิขสิทธิ์จำนวนมากก็น่าจะใช้ความคลุมเครือของกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมเอาเปรียบผู้บริโภคได้เช่นกัน และการขู่จะฟ้องของ “เกรียนลิขสิทธิ์” ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง [7] สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคทั่วไปจะตระหนักถึง และอาจมองว่าเป็นปัญหา “การบังคับใช้กฎหมาย” ด้วยซ้ำในกรณีที่มันเป็นความผิดอาญา

อย่างไรก็ดี ความผิดพวกนี้จะไม่เกิดถ้ากฎหมายไม่ให้อำนาจการฟ้องหรือมีความชัดเจนพอในขอบเขตของการฟ้อง และท้ายที่สุดความย้อนแย้งของผู้บริโภคชนชั้นกลางชาวไทยผู้มีศีลธรรมสูงส่งทั้งหลายก็คือ พวกเขามักจะเรียกร้องให้จับคนผิด “เข้าคุก” และให้หลายๆ อย่างมีความผิดทางอาญามากขึ้นๆ แต่สิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นก็คือการยิ่งมีกฎหมายอาญามากขึ้น มีความผิดอาญามากขึ้น รัฐก็ต้องรับภาระหนักขึ้น และถ้าเจ้าหน้าที่มีเท่าเดิมจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ทำการบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่เพียงพอ นี่ทำให้เกิดภาวะในการเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายบางข้อของเจ้าหน้าที่ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยส่วนใหญ่แล้วในที่สุดการเลือกบังคับใช้กฎหมายก็จะนำไปสู่การคอร์รัปชั่นที่เหล่าผู้เปี่ยมด้วยศีลธรรมไม่ปรารถนาในที่สุด และที่น่าเศร้าก็คือ พวกเขาก็ไม่รู้เลยว่าการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของพวกเขานั้นสุดท้ายมันก็ได้นำมาพวกเขามาสู่โลกอันไม่พึงประสงค์ในที่สุด

 

หมายเหตุ:

  1. ผู้เขียนเขียนบทความนี้ในฐานะของผู้เฝ้าดูปรากฎการณ์ทางลิขสิทธิ์ในโลกที่ต้องการจะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ผู้อ่านทั่วไปที่ไม่มีความรู้เฉพาะทางด้านกฎหมายเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่อาจเกิดกับพวกเขา ผู้เขียนไม่ใช่เรียนกฎหมายโดยตรง ความรู้ที่เขียนในบทความนี้เกิดจากการตามอ่านคดี ตัวบทกฎหมาย และการสนทนากับนักกฎหมาย หากผู้เขียนกล่าวอะไรผิดไปจากหลักวิชาด้านกฎหมายก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
  2. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1334721992&grpid=03&catid=03
  3. นี่หมายความว่าผู้ที่ซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ใดๆ มามีสิทธิ์โดยชอบที่จะให้เช่าสินค้าลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิด ดังนั้นการให้ผู้อื่นเช่าหนังสือและดีวีดีจึงเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของผู้ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย อย่างไรก็ดีไม่ครอบคลุมการให้เช่าในกรณีของงานบันทึกเสียงและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดู 17 USC § 109 (b) (1) (A) http://www.law.cornell.edu/uscode/text/17/109
  4. ดู http://www.law.cornell.edu/uscode/text/17/109
  5. ดู 17 USC § 602 (a) (2) http://www.law.cornell.edu/uscode/text/17/602
  6. ดู 17 USC § 104 (b) (2) http://www.law.cornell.edu/uscode/text/17/104
  7. การเกรียนลิขสิทธิ์เกิดจากการที่เจ้าของลิขสิทธิ์เล่นกับอำนาจการฟ้องตามกฏหมายเพื่อรีดค่ายอมความจากผู้ถูกฟ้องซึ่งในหลายๆ ครั้งไม่ได้กระทำความผิด แต่เลือกที่จะยอมความเพราะค่ายอมความดูจะประหยัดกว่าค่าทนายในการสู้คดีจนชนะ กรณีนี้เกิดขึ้นมากมายในสหรัฐอเมริกาในการฟ้องคดีการดาวน์โหลดหนังและเพลงกว่า 200,000 คดีที่ผ่านๆ มาก็มีผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยต้องยอมจ่ายค่ายอมความเพราะเหตุผลดังกล่าว ในไทยภาวะการเกรียนลิขสิทธิ์ก็เกิดขึ้นเมื่อบริษัทเก็บค่าลิขสิทธิ์เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์การแสดงดนตรีในร้านอาหารหรือร้านต่างๆ ที่ไม่ได้ขายกิจกรรมทางดนตรีโดยตรง ที่ศาลไทยเคยชี้แล้วว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ หรือกรณีอื่นๆ ก็เช่นการกล่าวหาว่าร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ลอกลายผ้าของยี่ห้อใหญ่ๆ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่แน่ชัดว่าการลอกเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะการจ่ายค่ายอมความทั้งๆ ที่ตนไม่มีความผิดก็ดูจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกว่าการสู้เพื่อยืนยันความถูกต้องของตนในศาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net