Skip to main content
sharethis

วงเสวนาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เปรียบเป็นอาการป่วยของสังคมไทยที่รุมเร้าปากท้องชาวบ้านและยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ไข<--break- />

ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมาช้านาน เป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ยาก จนเกิดคำถามว่า หากมีการพัฒนาหรือส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และเท่าเทียมกัน หนี้นอกระบบในสังคมไทยจะหมดไปหรือไม่ หรือการสร้างหนี้จะอยู่ที่ตัวบุคคล ที่ต้องรู้จักจัดการระบบการเงินรวมถึงความพอเพียงด้วย วงเสวนาเรื่อง "ปัญหาวิกฤติหนี้นอกระบบ : ทางออกของสังคมไทย?" ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคการเมือง สถาบันการเงิน  และภาคเอกชน เข้าร่วมเสวนา ต่างเห็นพ้องว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผลควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และปรับปรุงการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีเป้าหมายเดียวกัน

ในวงเสวนาซึ่งประกอบด้วย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม  พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้อำนวยสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กระทรวงมหาดไทย ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย  และรศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้แสดงความคิดเห็นที่สำคัญ

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม    กล่าวว่า เรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้ไข เนื่องจากไม่ใช่แค่เรื่องความจนเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวโยงไปถึงการสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ด้วย พร้อมกับเปรียบปัญหาหนี้นอกระบบเป็นอาการป่วยของสังคมไทยที่มีตัวแปรหลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วนที่สุด

“ข้อแรกควรลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยการกระจายรายได้ ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสู้กับวัตถุนิยมได้ ข้อที่สองต้องร่วมกันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือส่งเสริมการอบรมความรู้ให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ทั่วถึงรวดเร็ว การบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ คนจนจะได้ไม่รู้สึกว่าความยุติธรรมเข้าถึงยาก เพราะขณะนี้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน”

                พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่เอาผิดได้ยากเนื่องจากสมยอมทั้งสองฝ่าย แม้เจ้าหนี้จะเก็บดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม ส่วนที่เป็นคดีความขึ้นมาเพราะมีการข่มขู่กรรโชกและบังคับเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพลูกหนี้ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่ายขึ้น

“สาเหตุและปัญหาการเป็นหนี้มาจากการที่เขาจำเป็นต้องใช้เงิน พอกู้ยืมไปแล้วไม่มีเงินใช้เจ้าหนี้ขึ้นมา ฝ่ายที่ถูกกู้ยืมก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะได้เงินคืนมา ก่อให้เกิดแก๊งหมวกกันน็อกที่มีการประทุษร้ายร่างกายเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับรายต่อๆไป ส่งผลให้เกิดความรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเหตุการณ์เหล่านี้ควรแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ทันที และอยากเสนอแนะให้ศูนย์รับร้องทุกข์ฯที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งขึ้น ประสานข้อมูลกับหน่วยงานราชการหน่วยอื่น เพื่อขยายผลในการดำเนินการกวาดล้างแก้ทวงหนี้โหดต่อไป”

เช่นเดียวกับ นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้อำนวยสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยเน้นแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ซึ่งเชื่อว่าถ้าแก้ได้ ปัญหาหนี้นอกระบบจะลดลง นั่นคือ 1.ต้องศึกษาเหตุผลการเป็นหนี้ 2.การจัดระดับความสำคัญของหนี้ 3.การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ว่ามีศักยภาพในการใช้หนี้หรือไม่ 4.เพิ่มช่องทางแหล่งทุนหลักคือเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย 5.การเพิ่มช่องทางแหล่งทุนแก่ประชาชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินส่งเสริมอาชีพ และสุดท้าย 6.มีหลักประกันเกษตรกรรวมทั้งการส่งเสริมสินค้าโอทอป โดยปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีการรับเจรจาแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบมาโดยตลอด

ขณะที่ ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทำให้ประชาชนรู้จักกลโกงของหนี้นอกระบบ ส่วนประชาชนเองต้องรู้จักประมาณตนด้วย เพราะการเป็นหนี้รายย่อยต้นทุนการบริหารสูง ฉะนั้นดอกเบี้ยก็จะสูงมากกว่าปกติ ทั้งนี้ตนอยากเสนอให้ในส่วนของธนาคารควรมีการปรับอัตราดอกเบี้ยต่ำลง เพื่อให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

“ถ้าเราสามารถกันคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ออกจากวงจรหนี้นอกระบบได้  ผมคิดว่าปัญหาหนี้นอกระบบจะลดลง  จะเหลือกลุ่มที่เป็นหนี้จริงๆ สำหรับคนที่สมควรช่วยเหลือ อยากเสนอให้ช่วยเหลือด้วยการพัฒนาให้เป็นสวัสดิการสังคม ขณะที่กฎหมายต้องมีบทลงโทษแก่เจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่มีศีลธรรมด้วย”

ด้านรศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเห็นด้วยกับความคิดเห็นของ ดร.ธวัชชัย กรณีการเปลี่ยนสังคมไทยจากประชานิยมเป็นสังคมสวัสดิการ พร้อมเสริมแนวคิดว่า กระทรวงยุติธรรมควรทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะการรับผิดชอบอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการกู้ยืม เนื่องจากหลายคนยังไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย

“การทำสัญญาเงินกู้-เงินผ่อนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะนำไปสู่หนี้นอกระบบ เป็นไปได้ไหมที่กระทรวงยุติธรรมจะจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นโค้ช(ที่ปรึกษา)คอยแนะนำชาวบ้านว่าเงินกู้ที่ได้มาแล้ว ควรมีการบริหารจัดการอย่างไร พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลตามกฎหมาย เพราะขนาดนักลงทุนที่เชี่ยวชาญยังต้องจ้างที่ปรึกษาว่าจะลงทุนอย่างไร เช่นเดียวกับชาวบ้านควรมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลให้คำแนะนำในเรื่องนี้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม บทสรุปของการเสวนาเห็นว่าควรหยิบยกปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริง โดยให้มีผลบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษกับขบวนการเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมการสร้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาโดยรวมและแก่นแท้ของการก่อหนี้ เป็นเรื่องของการใช้จ่ายที่เกินกว่ารายรับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงแก่ประชาชนด้วย.///

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net