Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกิจกรรมในนาม "ปล่อยเพื่อนในเรือนจำ" ยื่นหนังสือถึง รมว. กระทรวงยุติธรรม ติดตามการขอพักโทษของ 'ณัฐชนน' ผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมือง 

 

14 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (14 ธ.ค.) กลุ่มนักกิจกรรมชื่อว่า "ปล่อยเพื่อนในเรือนจำ" เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม เรื่องขอติดตามการพักการลงโทษ ณัฐชนน (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมือง

สำหรับคดีความของณัฐชนน ช่างไฟฟ้า อายุราว 25 ปี ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 13 มิ.ย. 2565  หลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและถูกตรวจค้นพบประทัดยักษ์ช่วงก่อนการชุมนุม #ม็อบ12มิถุนา65 โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ณัฐชนน ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 13 มิ.ย. 2565 จนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 เนื่องจากณัฐชนน ให้การรับสารภาพตามคำฟ้อง โดยศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากให้การรับสารภาพ ต่อมา ณัฐชนน ตัดสินใจไม่อุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุด

บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ นักกิจกรรมอิสระและครอบครัวของ 'ณัฐชนน' ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้ชูป้ายข้อความ "ผู้ต้องขังคดีการเมืองคือมนุษย์ที่มีความฝัน และความปรารถนาให้โลกดีขึ้น เป็นกำลังใจให้ครอบครัวนักสู้คดีการเมือง" และข้อความ "ปล่อยเพื่อนในเรือนจำ" และยื่นหนังสือให้ทางกระทรวงยุติธรรม โดยมี สุรไกร นวลศิริ  หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับหนังสือแทน ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร ตัวแทนจากกลุ่ม "ปล่อยเพื่อนในเรือนจำ" ให้สัมภาษณ์ว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อเรียกร้องขอพักโทษผู้ต้องขังทางการเมืองที่ได้รับสิทธิการยื่นขอพักโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 อนุ 7 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ต้องขังเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีพฤติกรรมดี และรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามหมายศาล จะได้รับสิทธิยื่นขอพักการลงโทษ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนที่เข้าข่าย และก่อนหน้านี้ เอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องขังทางการเมือง เคยช่วย ณัฐชนน ทำเรื่องขอพักติดตามโทษ ก่อนที่ตัวเขาจะป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล เพื่อนๆ จึงมาติดตามเรื่องต่อ

คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร

ต่อประเด็นสื่อ มีความกังวลหรือไม่ กรณีณัฐชนน ซึ่งถูกคุมขังจากคดีครอบครองวัตถุระเบิด อาจถูกใช้เป็นเกณฑ์หรือเงื่อนไขให้ไม่ได้รับการพักโทษ คเณศณัฏฐ์ มองว่า การขอพักการลงโทษเป็นเกณฑ์ที่ระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน ซึ่งเป็นสิทธิของนักโทษทุกคนที่จะได้รับโอกาสในการยื่นขอพักโทษเสมอกัน แต่ว่ามันอาจจะมีรายละเอียด และความละเอียดอ่อนของแต่ละเคสว่ามีพฤติกรรมขณะถูกคุมขังอย่างไร อย่างกรณีของณัฐชนน เขากำลังจะเลื่อนเป็นนักโทษชั้น “ดีเยี่ยม” นอกจากนี้ รายละเอียดในส่วนของครอบตัว ถ้าตัวของณัฐชนน ไม่ถูกพรากอิสรภาพไป ครอบครัวเขาอาจจะสมบูรณ์แบบกว่านี้ เพราะตอนนี้ภรรยาของณัฐชนน รับภาระในการดูแลลูกคนเดียว พ่อของณัฐชนน ก็มีอาการชักบ่อยๆ หลังจากประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างคนปกติ แม่ของณัฐชนน กับภรรยา จึงรับภาระในการสลับกันเลี้ยงดูลูกและช่วยกันทำงานไป ซึ่งถือว่าครอบครัวเขาลำบาก

ด้านสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนจากกลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตย วันนี้มาร่วมสังเกตการณ์การยื่นหนังสือ ระบุว่า ก่อนอื่นต้องมองว่าบุคคลเหล่านี้คือผู้ตื่นตัวทางการเมือง และออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นความผิดอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพการเมือง หรืออันเนื่องมาจากปัญหาของบ้านเมือง เพราะหลายคนที่ออกมาชุมนุม ไม่พอใจมาตรการของรัฐบาล อย่างช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 พอแสดงออกไปแบบนั้น ก็ถูกดำเนินคดี

สมยศ ระบุต่อว่า อยากให้ทาง ยธ. มีมาตรการเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ การพักโทษ ซึ่งถ้าพวกเขาผ่านเกณฑ์ ก็ควรได้รับการอนุมัติ การลดโทษโดยการทำงานบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ การขุดท่อ ทำงานห้องสมุด วัด หรือชุมชนต่างๆ ซึ่งเราเห็นว่า กระทรวงยุติธรรมควรมีมาตรการเฉพาะหน้าให้กลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงนักโทษคนอื่นๆ ที่มีคุณงามความดีระหว่างถูกจองจำในคุก เราได้ให้เขากลับตัว กลับใจ ควรได้รับโอกาสกลับคืนสู่สังคม

รายละเอียดหนังสือ

เรื่อง ขอติดตามการพักการลงโทษในคดีการเมือง

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เนื่องด้วย กลุ่มปล่อยเพื่อนเราในเรือนจำ ได้ติดตามความเป็นอยู่ของกลุ่มนักโทษในเรือนจำ
เข้าเยี่ยมเพื่อเป็นกำลังใจ และได้รวบรวมข้อมูลทราบว่ามีผู้ต้องขังบางส่วนสามารถเขียนหนังสือ เพื่อยื่นขอพิจารณาการพักการลงโทษ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 (7) บัญญัติว่า พักการลงโทษเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือหนึ่งในสาม ของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้นแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา และกำหนดระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขให้กำหนดเท่ากับกำหนดโทษที่ยังคงเหลืออยู่ ทั้งนี้ ในการคำนวณระยะเวลา การพักการลงโทษ ถ้ามีวันลดวันต้องโทษจำคุกตาม (6) ให้นำมารวมกับระยะเวลาในการพักการลงโทษด้วย โดยในการพักการลงโทษ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ

ดั้งนั้น กลุ่มปล่อยเพื่อนเราในเรือนจำ จึงได้ยื่นหนังสือฉบับนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอติดตามการขอพักโทษนักโทษคดีการเมืองตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ยังเล็งเห็นว่าผู้ต้องขังทางการเมืองเหล่านั้นคือมนุษย์ที่มีความฝันและความปรารถนาให้โลกดีขึ้น แม้จะดำเนินการด้วยวีถี และการเรียกร้องในวิธีที่แตกต่างกันออกไป หากแต่ความเป็นมนุษย์ของทุกผู้นามย่อมเท่าเทียม การให้โอกาสต่อพวกเขาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ประการต่อมาการคืนสิทธิและอิสรภาพให้แก่ผู้ต้องขังทางการเมืองตามสิทธิทางกฎหมายยังเป็นการร่วมฟื้นฟูสังคม ลดความขัดแย้ง และผดุงธรรมในการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีเป้าหมายหลากหลายและแตกต่าง

โดยนักโทษที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 52(7) ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และมีความประสงค์จะขอยื่นพักการลงโทษ ได้แก่ ณัฐชนน (สงวนนามสกุล)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net