Skip to main content
sharethis

'โมกหลวงริมน้ำ' และเครือข่ายยื่นหนังสือถึง ยธ. และ กสม. เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังทางการเมือง และมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ หลังมีเหตุ จนท.ใช้ความรุนแรงกับ 'เก็ท โสภณ' ขณะคุมตัวที่ศาลธนบุรี เมื่อ 27 ธ.ค. 2566

 

สืบเนื่องจากวานนี้ (9 ม.ค.) กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และแนวร่วมนักกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ระบุว่า กลุ่มนักกิจกรรมจะไปยื่นหนังสือถึง กระทรวงยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อผู้ที่ถูกคุมขังทางการเมืองในเรือนจำที่ถูกเลือกปฏิบัติ

สำหรับกำหนดการ นักกิจกรรมจะยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ในเวลา 9.00 น. จากนั้น จะยื่นหนังสือถึง กสม. ที่สำนักงาน กสม. ศูนย์ราชการ อาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ และ ยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เวลา 15.00 น.

10 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (10 ม.ค.) เมื่อเวลา 9.00 น. ที่สำนักงานกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมโมกหลวงริมน้ำ และแนวร่วมนักกิจกรรม ประกอบด้วย มริสสา อรุณกิตติชัย แทนฤทัย แท่นรัตน์ และอัญชลี อิสมันยี ยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิของผู้ถูกคุมขังทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีของ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงระหว่างควบคุมตัวฟังคำพิพากษาที่ศาลธนบุรี เมื่อ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้มีกลไกป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ โดย สุรไกร นวลศิริ หัวหน้าสำนักรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับเรื่องดังกล่าว

ก่อนการยื่นหนังสือ แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมได้อ่านแถลงการณ์ "ขอตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังในเรือนจำระหว่างฟังคำพิพากษาที่ศาล"

ภาพ: ระหว่างที่นักกิจกรรมยื่นหนังสือถึงตัวแทนกระทรวงยุติธรรม (ที่มา: เครือข่ายนักกิจกรรม)

มริสสา อรุณกิตติชัย นักกิจกรรมโมกหลวงริมน้ำ ให้สัมภาษณ์ก่อนการยื่นหนังสือว่า การยื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงานนั้นสืบเนื่องจากเมื่อ 27 ธ.ค. 2566 โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลธนบุรี ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องเสียง จากการปราศรัยในกิจกรรม "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก" เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 ที่วงเวียนอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช หรือวงเวียนใหญ่ 

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังฟังคำพิพากษา เก็ทถูกเจ้าหน้าที่พาตัวออกมาจากที่ห้องพิจารณาคดีที่ 11 ชั้น 3 ของศาลธนบุรี ได้มีการยกแขนซ้ายและชู 3 นิ้วขึ้นมา แต่เจ้าหน้าที่พยายามกดมือซ้ายลงไป ตัวของนักกิจกรรมจึงยกแขนขวาชูมือทำสัญลักษณ์ 3 นิ้วอีกครั้ง และมีการตะโกนคำว่า "ศักดินาจงพินาศ…" ยังไม่ทันกล่าวจบ เจ้าหน้าที่ได้หักมือซ้ายของนักกิจกรรมลง  นอกจากนี้ ตัวของนักกิจกรรมจากโมกหลวงริมน้ำ ถูกเจ้าหน้าที่เตะไปที่ขา และเหยียบกำไลข้อเท้าจนทำให้เก็ท ร้องเพราะความเจ็บ ก่อนที่จะตะโกนออกมาว่า ‘เจ้าหน้าที่ไม่มีความเป็นคน’ ขณะเจ้าหน้าที่พาตัวเก็ท ขึ้นรถเรือนจำ 

มริสสา กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นกับโสภณ แม้เราจะได้รับแจ้งว่าโสภณบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ว่าไม่มีใครควรถูกกระทำ มันไม่ควรเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายตั้งแต่ต้น ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยแล้ว

นอกจากนี้ มริสสา กล่าวว่า โสภณเล่าให้เธอฟังระหว่างเยี่ยมด้วยว่า วันเกิดเหตุผู้อำนวยการเรือนจำได้มาคุยกับเก็ทในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยโสภณ เรียกร้องให้เรือนจำต้องตรวจสอบการกระทำผิดและต้องมีการขอโทษตัวเขาในที่สาธารณะ ซึ่งทางเรือนจำแจ้งว่าจะออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 แต่เมื่อ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีแถลงการณ์จากเรือนจำแต่อย่างใด 

มริสสา อรุณกิตติชัย (ที่มา: เครือข่ายนักกิจกรรม)

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่กรณีเดียว แต่ยังมีผู้ถูกคุมขังอื่นๆ ที่ถูกคุกคาม กลั่นแกล้งภายในเรือนจำ ถูกพูดจาข่มขู่ ไปจนถึงถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย

"เราอยู่ข้างนอก เราไม่รู้ว่าเพื่อนในเรือนจำเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่พอเราทราบเหตุการณ์ว่า มันมีการเลือกปฎิบัติในเรือนจำ เราเลยอยากมาพูดเรื่องนี้ให้มันกว้างขวางมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้เพื่อนเราในเรือนจำปลอดภัย เราไม่ได้ยอมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" มริสสา กล่าว

กลุ่มนักกิจกรรมมีความกังวลด้วยว่า อาจมีอีกหลายกรณีที่ประชาชนยังไม่รับรู้เหตุการณ์ จึงมีข้อเรียกร้อง ถึงกระทรวงยุติธรรม และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการตรวจสอบต่อเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเรือนจำ และปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังให้เป็นไปตามหลักการของสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนอยากเชิญชวนประชาชนข่วยกันจับตาดูการละเมิดสิทธิฯ ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ อีกด้วย 

"กรมราชทัณฑ์ควรจะต้องดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการละเมิดสิทธิ์คนอื่นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังด้วยกันเอง และไม่เลือกปฏิบัติให้ใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร" มริสสา กล่าว

นักกิจกรรมโมกหลวงริมน้ำ ระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องของนักกิจกรรมคือ 1. ขอให้กระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งถึงกรมราชทัณฑ์ให้ตรวจสอบเหตุละเมิดสิทธิในเรือนจำ และมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ 2. ขอให้ กสม.ในฐานะองค์กรอิสระ เข้าไปร่วมตรวจสอบกรณีดังกล่าว และ 3. ขอให้สหประชาชาติ ตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน

ตัวแทนนักกิจกรรมหารือกับ สุรไกร นวลศิริ (ที่มา: ชนากานต์ เหล่าสารคาม)

หลังจากเสร็จภารกิจที่กระทรวงยุติธรรม นักกิจกรรมโมกหลวงริมน้ำ และแนวร่วม ได้ยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจากสหประชาชาติ อัญชลี อิสมันยี นักกิจกรรมจากภาคี Saveบางกลอย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุด้วยว่า กระทรวงยุติธรรม กสม. และสหประชาชาติ จะตอบกลับความคืบหน้าให้ได้ภายใน 15-90 วันโดยประมาณ 

นอกจากนี้ อัญชลี กล่าวด้วยว่า เธอได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่มายื่นหนังสือว่าระหว่างทำกิจกรรม พบความผิดปกติมีตำรวจไม่ทราบสังกัด มาติดตามการยื่นหนังสือเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานรัฐในอดีต พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์เป็นจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน

ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองต้องได้รับสิทธิการประกันตัว

มริสสา กล่าวว่า นอกจากประเด็นข้างต้น เธออยากเรียกร้องเรื่องสิทธิประกันตัวสำหรับผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทุกคน 

นักกิจกรรมโมกหลวงริมน้ำ มองว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะว่าผู้ถูกกล่าวหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และยังไม่มีการพิพากษาเด็ดขาดว่าผิดตามกฎหมาย ทำให้การให้ประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยทุกคน เพื่อให้จำเลยได้ออกมาหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตนเอง แต่ว่าสิ่งนี้มันหายไปจากผู้ถูกคุมขังทางการเมือง

มริสสา กล่าวต่อว่า กรณีที่ศาลระบุเหตุผลว่าไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเกรงจำเลยจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เธอมองว่า ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้กระทำสิ่งนั้นเลย ทำไมศาลต้องกลัวไปก่อน ถ้ามีกรณีที่ปล่อยตัวออกมา แล้วผู้ถูกกล่าวหาไปกระทำตามนั้นจริง ศาลยังคงมีอำนาจสั่งถอนประกันตัวได้ 

นอกจากนี้ การที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว มันทำให้ผู้ถูกคุมขังเสียโอกาสด้านเวลา และโอกาสในการใช้ชีวิต และผลสุดท้าย ถ้าผลพิพากษาออกมาว่ายกฟ้อง ใครจะรับผิดชอบในสิ่งที่เขาสูญเสียไประหว่างอยู่ในเรือนจำ

"ตัวบทกฎหมายมาตรา 112 มันเปิดกว้างมากว่าจะให้ใครฟ้องเราหรือเข้าคุกก็ได้ เราอยากให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมกับนักโทษการเมืองมากกว่านี้ ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหลักเหตุและผล และให้ศาลตัดสินพิจารณาอย่างเป็นธรรม และเป็นอิสระโดยปราศจากอำนาจครอบงำ" มริสสา ทิ้งท้าย

สำหรับโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมโมกหลวงริมน้ำ ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2566 หลังถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปี 6 เดือน คดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องเสียง จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม 'ทัวร์มูล่าผัว' ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อเมษายน 2565 ก่อนที่ต่อมา ศาลปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวของเก็ท

'เก็ท' โสภณ เมื่อ 22 เม.ย. 2565 (ที่มา: iLaw)

ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ เก็ทได้ประกาศเมื่อ 3 กันยายน 2566 ขอถอนประกันตัว และปฏิเสธอำนาจศาล โดยเขามี 2 ข้อเรียกร้องว่าคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน และต้องยุติการใช้มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์กับประชาชน

เมื่อ 27 ธันวาคม 2566 เก็ท ถูกพิพากษาจำคุก 3 ปีและถูกปรับ 200 บาท จากข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องเสียง กรณีปราศรัยกิจกรรม "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก" เมื่อ 6 เมษายน 2564 ทำให้เก็ท ถูกจำคุกรวมกับของเดิมเป็น 6 ปี 6 เดือน

ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง และเสรีภาพการแสดงออก โดยคดีความยังไม่สิ้นสุด 24 ราย แบ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 15 ราย และคดีอื่นๆ อีก 9 ราย

โดยสามารถอ่านรายชื่อผู้ถูกขังทางการเมืองได้ที่นี่ https://tlhr2014.com/archives/52351 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดของแถลงการณ์

แถลงการณ์
ถึงกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ขอตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังในเรือนจำระหว่างฟังคำพิพากษาที่ศาล

เนื่องด้วยศาลอาญาธนบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) ในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกิจกรรม ‘ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปีใครฆ่าพระเจ้าตาก’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 บริเวณอนุเสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

บริเวณศาลอาญาธนบุรีได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางขุนเทียน เจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สำนักอัยการประจำศาลอาญาธนบุรีรวมถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำพิเศษธนบุรีโดยตลอดห้องโถงก่อนเข้าพิจารณาที่ 11 บนชั้น 3 ของอาคารศาลมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานดังกล่าวยืนเรียงตลอดสองข้างทางก่อนถึงห้องพิจารณาคดี

ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้นำพานายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ขึ้นรถของเรือนจำไปฟังคำตัดสินพิจารณาที่ศาลอาญาธนบุรีเหตุด้วยเป็นผู้ต้องขังของทางเรือนจำฯ อยู่แล้ว โดยถูกใส่กุญแจเท้า ล่ามข้อเท้าทั้งสองเข้าด้วยกัน และได้เข้าห้องพิจารณาที่ 11 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อได้ฟังคำตัดสินพิจารณาแล้ว นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ได้ออกมาจากห้องพิจารณาคดีที่ 11 ระหว่างช่วงโถงทางเดินลงบันได นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ยื่นมือขวาแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ได้ถูกเจ้าหน้าที่กดมือลง จึงใช้มือซ้ายยื่นแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วขึ้นอีกครั้ง โดยพูดว่า "ศักดินาจงพินาศ…" ยังไม่ทันประโยคดังกล่าวจบ ทางเจ้าหน้าที่ได้กดหักมือขวาลง และในระหว่างทางเดินซึ่งเป็นพื้นที่ปิดเพื่อขึ้นรถของทางเรือนจำฯ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ได้โดนเจ้าหน้าที่เตะขา และเหยียบกำไลข้อเท้าจนได้รับบาดเจ็บนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จึงตะโกนเสียงดังว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย ให้คนที่ไปร่วมรับฟังคำพิพากษาได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นภายในระหว่างทางเดินนั้น

การกระทำของนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ดังกล่าวมานั้น มิได้กระทำในระหว่างศาลอ่านคำพิพากษา มิได้รบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด กระทำหลังจากออกห้องพิจารณาคดีที่ 11 แล้ว ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ตามเจตจำนง และเสรีภาพที่ประชาชนควรพึงมีหากแต่เจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำทำร้ายร่างกายของ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในตัวอาคารศาล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด ทางกลุ่มฯ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าไปตรวจสอบกรณีการทำร้ายร่างกายข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ของเจ้าหน้าที่ต่อ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 โดยต้องการหาเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดจริง และเรือนจำต้องออกแถลงการณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น

ในฐานะที่กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมของประเทศ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีสถานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะยืนอยู่เคียงข้างประชาชนโดยเฉพาะเมื่อประชาชนผู้นั้นได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หากยังเพิกเฉย ประชาชนรวมถึงผู้ต้องขังก็มิอาจไว้วางใจในเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรือนจำฯ และศาลในการกระทำต่อผู้ต้องขังได้เลย และยิ่งเหตุเกิดในตัวอาคารของศาลซึ่งดำรงไว้แห่งความยุติธรรมของประเทศไทยแล้วนั้น ทางกลุ่มฯ ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมและมาตรการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ต่อผู้ต้องขังอีกในภายภาคหน้า เพื่อให้ประชาชนและผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับความยุติธรรมอย่างทั่วถึงตามมาตรฐานสากล สร้างความหวัง ความไว้วางใจให้ยังคงอยู่และร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net