Skip to main content
sharethis

'กลุ่มปล่อยเพื่อนเราในเรือนจำ' และญาติผู้ต้องขังทางการเมือง ยื่นหนังสือขอพักโทษ-เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง เพิ่ม 4 ราย โดยมีคดีที่สำคัญคือคดีของ 'สรศักดิ์' อดีตคนเสื้อแดง ถูกกล่าวหาครอบครองอาวุธสงคราม เมื่อปี 2559 ติดคุกมาแล้วกว่า 400 วัน

 

25 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ กลุ่ม "ปล่อยเพื่อนในเรือนจำ" และญาติผู้ถูกคุมขังทางการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องของพักโทษ และเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง รวมถึงติดตามความคืบหน้ากรณีที่เคยมายื่นขอพักโทษผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมืองก่อนหน้านี้ 5 รายชื่อ 

บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ มีเรืออากาศโท นิตินาถ บุญมา เข้ารับมอบหนังสือ พร้อมหารือกับผู้มายื่นหนังสือวันนี้ เรื่องความคืบหน้าการขอพักโทษ และปัญหาการดำเนินคดีการเมือง และเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว โดยทางนิตินาถ รับปากจะนำเรื่องส่งต่อไปที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมต่อไป

คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร ตัวแทนกลุ่มปล่อยเพื่อนในเรือนจำ กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้สืบเนื่องจากที่เอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องหาคดีการเมือง พ.ร.บ.คอมฯ ได้เข้ามาช่วยทำเรื่องพักโทษให้กับ ณัฐชนน แก้วแพงมาก กลุ่มทะลุแก๊ซ แต่ช่วงที่ผ่านมา เนื่องด้วยเอกชัย ป่วยเป็นฝีที่ตับ กลุ่มปล่อยเพื่อนเราจึงเข้ามาช่วยติดตามการขอพักโทษให้กับณัฐชนน และผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน 
 
สำหรับข้อเรียกร้องถึงกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย 1. ติดตามรายชื่อผู้ที่ยื่นขอพักโทษถึงกระบวนการหรือขั้นตอนใด 2. ยื่นรายชื่อขอพักโทษ และเรียกร้องสิทธิประกันตัว เพิ่ม 4 รายชื่อ และ 3. เพิ่มเติมรายชื่อทุกคนในเรือนจำที่เป็นคดีการเมืองที่เราพอหารายชื่อได้ หรือคดีมาตรา 112 ตกหล่น ที่ไม่ได้เป็นคดีของศูนย์ทนายความฯ 

กรณีติดตามความคืบหน้าเรื่องการขอพักโทษ 5 รายชื่อก่อนหน้านี้ รวมกรณีของณัฐชนน โดยกลุ่มปล่อยเพื่อนเราในเรือนจำ เคยมายื่นที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อ 14 ธ.ค. 2566 คเณศณัฏฐ์ ระบุว่า ตอนนี้ทั้ง 5 คนได้รับการอบรมพักโทษหมดแล้ว และได้ข่าวว่าน่าจะได้รับการพักโทษอย่างน้อย 2 ราย ส่วนอีก 3 คนรวมถึง ณัฐชนน ได้เข้าไปอบรมแล้ว แต่ยังไม่ได้ผ่านกรรมการของราชทัณฑ์ว่าจะอนุญาตให้พักโทษเมื่อไร หรือถึงขั้นไหนแล้ว วันนี้ก็มาตั้งใจมาติดตามเรื่องดังกล่าวด้วย

คเณศณัฏฐ์ ระบุต่อว่า นอกจากนี้จะมีการยื่นขอพักโทษและเรียกร้องสิทธิประกันตัวเพิ่มอีก 4 รายชื่อ ซึ่งกรณีสำคัญคือ สรศักดิ์ ดิษปรีชา คนขายของเก่า และอดีตผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. โดยเขาถูกศาลทหารตัดสินจำคุก 3 ปี เมื่อปี 2559 ถูกกล่าวหาว่าครอบครองอาวุธสงคราม และเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566

ตอนนี้ สรศักดิ์ ถูกจำคุกมานานกว่า 5 เดือนแล้ว และได้รับเลื่อนขั้นเป็น 'นักโทษชั้นดี' เข้าเกณฑ์การขอพักโทษทุกอย่าง เราเลยยื่นเรื่องขอพักโทษให้ เพื่อให้แกได้ออกมาใช้ชีวิต 

"เหมือนคดีนี้มีความไม่เป็นธรรมในเรื่องกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว และก็เขาต้องมาเจอชะตากรรมแบบนี้ มันมีเพิ่มเติมว่าครอบครัวมันสูญเสียหลายอย่าง แกมีลูกบุญธรรม และก็แฟนแกต้องเลี้ยงดูลูกบุญธรรม และมีแม่เลี้ยงที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่เขายังหนุ่ม สรศักดิ์เขาก็เป็นห่วงทุกคน โดยเฉพาะภรรยาที่ว่าต้องรับผิดชอบเองทุกอย่าง ในขณะที่ถ้าแกอยู่ แกจะเป็นคนขับรถไปขายของเก่า แฟนก็ต้องจ้างคนอื่นมาขับให้เวลาที่มีงาน เราก็อยากจะช่วยเคสแบบนี้ออกมาให้ได้ก่อน เลยเกิดการยื่นหนังสือขึ้น" คเณศณัฏฐ์ กล่าว

คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร

คดีของ 'สรศักดิ์' ถูกบังคับรับสารภาพครอบครองอาวุธสงคราม

เว็บไซต์ sanook เคยรายงานเมื่อปี 2559 ระบุว่า สรศักดิ์ ดิษปรีชา ชาวกรุงเทพฯ  ตอนเกิดเหตุเขาอายุ 49 ปี อดีตผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. เคยถูกศาลทหารออกหมายจับคดีอั้งยี่ ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา แต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว สรศักดิ์ ถูกตำรวจกองปราบอายัดตัวมาสอบสวน เนื่องจากเป็นผู้ต้องหารายเดียว ที่เจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นบ้านพักย่านสะพานสูง แล้วพบอาวุธปืนเอเค 47 หรือปืนอาก้า ซุกซ่อนไว้ในท่อน้ำ 'PVC'

ข้อมูลจากกลุ่ม ปล่อยเพื่อนในเรือนจำ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อ 23 ม.ค. 2567 ระบุว่า คดีของสรศักดิ์ มีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก เนื่องจากจากการสอบถาม สรศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำ เขาเปิดเผยว่า ตัวเขาถูกทหารจับไปในค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 11 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า คดีของเขาถูกโยงว่าเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดในจังหวัดชายแดนใต้ และเขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นกลุ่มพรรคปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย (นปป.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกออกมาจาก นปช. และมีความคิดหัวรุนแรง 

"รอบแรก เขาค้นที่ร้านขายของเก่าไม่เจออะไร แต่พอออกมาจากค่าย เขาพบอาวุธสงคราม" สรศักดิ์ กล่าว

ตรงกับคำให้การให้ชั้นศาลของสรศักดิ์ ที่ระบุว่า "เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งว่า กูสั่งอะไรมึง มึงต้องทำตามนะ แล้วนำตัวจำเลยขึ้นรถไปที่บ้านของจำเลย ซึ่งบ้านของจำเลยมีลักษณะเป็นที่โล่ง… เมื่อจำเลยลงจากรถ เจ้าหน้าที่ทหารเดินนำหน้าจำเลยไปที่ห้องครัวแล้วไปหยิบถุงสีขาว ซึ่งห้องครัวดังกล่าวมีลักษณะเป็นที่โล่ง ไม่ได้กั้นห้องไว้มิดชิด เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารหยิบถุงสีขาวมาแล้ว ได้เทถุงดังกล่าวออกมาเอาอาวุธปืนมาเรียงไว้และสั่งให้จำเลยนั่งแล้วเอานิ้วชี้ไปที่อาวุธปืน"

ทั้งนี้ สรศักดิ์ ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 2 คดีหลักคือ อั้งยี่ และครอบครองอาวุธสงคราม โดยทั้ง 2 คดีอยู่ในยุค คสช. 

สำหรับคดี 'อั้งยี่' เมื่อปี 2559 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพสั่งไม่ฟ้องสรศักดิ์ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่เขาถูกศาลทหารตัดสินจำคุกในคดีครอบครองอาวุธสงคราม 4 ปี จากกรณีมีส่วนพัวพันกับพรรค นปป. ต่อมา ก่อนศาลลดโทษให้ 1 ใน 4 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ ทำให้โทษจำคุกเหลือ 3 ปี และเมื่อปี 2562 คดีของสรศักดิ์ จะถูกโอนมายังศาลยุติธรรม (ศาลพลเรือน) เนื่องจากมียกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

เจ้าตัวปฏิเสธข้อหามาโดยตลอดจนกระทั่งคดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ เมื่อ 5 กันยายน 2566 เนื่องจากเจ้าตัวตัดสินใจไม่อุทธรณ์ต่อ สรศักดิ์ ถูกจำคุกรวม 427 วัน หรือนับเป็น 1 ปี 61 วัน นับตั้งแต่พิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์

นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการเงินด้วย เพราะว่าเป็นโทษที่ต้องใช้เงินประกันตัวสูงมากทำให้ครอบครัวสรศักดิ์ เลือกไม่อุทธรณ์ต่อ และให้คดีสิ้นสุด กลายเป็นนักโทษการเมืองเด็ดขาด 

คเณศณัฏฐ์ ระบุว่า กรณีของสรศักดิ์ มีโอกาสได้พักโทษ เนื่องจากเขาถูกคุมขังร่วม 1 ใน 3 ของโทษจำคุกแล้ว และตอนนี้เขาได้เลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีอีกด้วย ถือว่าเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ

นอกจากคดีของสรศักดิ์ สมาชิกกลุ่มปล่อยเพื่อนในเรือนจำ ระบุด้วยว่า ตอนนี้มีหลายเคสที่กำลังลำบากจากการเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงโควิด-19 เนื่องจากได้รับความลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจ พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะว่าเป็นคนที่ชั้นฐานล่างสุดของประเทศ แต่พอออกมาเคลื่อนไหวก็โดนคดีความ บางคนมีครอบครัว พอเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว ต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หาเลี้ยงชีพไม่พอใช้จ่าย

พอใจผลการหารือกับ ตัวแทน สร. 

ทั้งนี้ ก่อนการยื่นหนังสือ ทางกระทรวงยุติธรรม หารือกับนักกิจกรรม และญาติผู้ต้องขังทางการเมือง ถึงปัญหา และการดำเนินการเข้าถึงผู้ตกหล่นสิทธิการประกันตัว

คเณศณัฏฐ์ มองว่า พอใจการทำงานของกระทรวงยุติธรรมในสมัยพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ ทวี สอดส่อง เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่ารัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชารัฐ กระบวนการในการยื่นแต่ละครั้งมีความคืบหน้ามาตลอด เพียงแต่ว่ามันต้องมีกระบวนการติดตามต่อเนื่อง เราอยากให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น เราอยากให้เขาออกมาได้เร็วที่สุด

คเณศณัฏฐ์  ระบุว่า เธออยากยื่นเรื่องขอพักโทษคนเสื้อแดงคนอื่นๆ ด้วย แต่ว่ามีอุปสรรคสำคัญคือความยากลำบากในการเข้าพูดคุยกับผู้ถูกกล่าวหา อย่างกรณีของสรศักดิ์ มีตัวกลางคอยติดต่อให้ นักโทษบางคนติดคุก ไม่เกิน 10 ปี อาจจะอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือ 24 ปี หรือ 30 ปี เขาจะไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม ก็วันนี้เรามีการคุยกับกระทรวงยุติธรรมด้วยว่า ถ้ามีเคสแบบนี้จะขอเข้าไปเจอนักโทษได้หรือไม่ หรือว่ามีวิธีไหนที่จะคุยกับนักโทษหรือช่วยเหลือในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net