Skip to main content
sharethis
รายงาน “ถ่ายโอนสถานีอนามัย สู่ อปท.” บทเรียนและข้อเสนอ จาก HSRI Forum ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 พบสิ่งที่กังวลคือ "ความกลัว" ทัศนคติที่กลัวไปเองว่า อบต.จะบริหารไม่ได้ 
 
แกะรอย “ถ่ายโอนสถานีอนามัย” สู่ท้องถิ่น
 
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 และ ปี 2550 จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแล้ว แต่รูปธรรมความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจยังปรากฏให้เห็นได้น้อยมาก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ
 
โครงการนำร่องถ่ายโอนสถานีอนามัยไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2550 เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพลงไปสู่ท้องถิ่นจริงๆ โดยเริ่มต้นในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมี นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ที่มีบทบาทผลักดันนโยบายดังกล่าว
 
ในระยะเริ่มต้นของการถ่ายโอนสถานีอนามัย มีจำนวนเพียง 28 แห่งเท่านั้น ต่อมาในปี2554-2555 มีสถานีอนามัยที่ผ่านการประเมินและได้ถ่ายโอนเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่ง เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วก็ได้เพียง 39 แห่ง จากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่ทั้งหมด 9,762 แห่งทั่วประเทศ
 
เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยหากจะได้มีการทบทวนบทเรียนทั้งด้านบวกและด้านลบของสถานีอนามัย 39 แห่ง ที่ผ่านการถ่ายโอนมาสู่ อปท. ก่อนจะมีการก้าวเดินกันต่อไป เพราะยังมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปแล้วหลายต่อหลายคนตัดพ้อเปรียบเทียบตัวเองทำนองว่า “เป็นลูกสาวที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เพราะหลังจากแต่งงานออกไปแล้วชีวิตไม่มีความสุข” ขณะเดียวกัน สถานีอนามัยหลายแห่งก็ทำงานร่วมกับ อบต.ได้อย่างราบรื่น แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็แก้ไขได้ โดยเน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
 
งานนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้ติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนการถ่ายโอนสถานีอนามัยดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) จัดประชุม ‘สรุปบทเรียนและทิศทางในอนาคตการถ่ายโอนสถานีอนามัย’ ขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน
 
เริ่มจากผลการศึกษา ‘การประเมินผลท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบสุขภาพในบริบทการกระจายอำนาจ :การสังเคราะห์บทเรียน และข้อเสนอเชิงนโยบาย’
 
โดย รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฉายภาพรวมสถานการณ์และความสำเร็จที่แตกต่างหลากหลายของสถานีอนามัยถ่ายโอนทั้ง 28 แห่งว่า แม้ว่าหลายแห่งจะยังคงมีปัญหาการบริหารเดิมๆแต่ส่วนใหญ่ก้าวรุดไปข้างหน้าการปรับตัวได้ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้บริหารท้องถิ่นเริ่มชัดเจนขึ้นภาพความสำเร็จตามอุดมคติ คือสามารถตอบโจทย์สุขภาพของท้องถิ่นที่ตรงจุด โดยในการทำงานของ สอ. จำนวน 12 แห่ง จาก 28 แห่ง สามารถมีแพทย์ให้บริการประจำ เปิดคลินิกนอกเวลา ขยายบริการด้านทันตสุขภาพ มีบริการนวดแผนไทย และกายภาพบำบัด
 
บางแห่งมีโครงการเชิงรุก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ โดยสามารถดำเนินบทบาททั้ง 3 ด้าน คือ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกัน และการควบคุมโรคในชุมชน ได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ สอ. จำนวน 16 แห่ง ลักษณะงาน ไม่ต่างจากบทบาทสถานีอนามัยทั่วไปจากก่อนและหลังถ่ายโอน คือ มีการทำงานรักษาในสถานีอนามัยและงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ การทำงานตามนโยบายของท้องถิ่นที่ต้องร่วมกับส่วนงานอื่นๆ ของ อบต.
 
ในอีกด้าน ยังมีปัญหาและอุปสรรคของสถานีอนามัยถ่ายโอนที่หลายส่วนยังคงเผชิญอยู่โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การถ่ายโอนในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่ราบรื่น คือ การส่งสัญญาณเชิงนโยบายที่ไม่ชัดเจนจากระดับบน ทำให้เกิดผลเชิงคัดค้านของผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอ ที่ชัดเจนที่สุดคือ การตัดขาดหรือลดการสนับสนุนทางวิชาการ และงบประมาณของ CUP ในหลายพื้นที่ ขณะที่ปัญหาในด้านกำลังคน คือ ยังไม่มีบุคลากรเข้ามาตามอัตราที่ระบุไว้จำนวน 59 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่ คือ ทันตาภิบาล และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ซึ่งจะต้องเร่งบรรจุอัตรากำลังที่วางไว้ให้เต็มโดยผ่านการคัดเลือกที่เป็นธรรม เป็นต้น
 
งานวิจัยนี้พบว่า ความกระท่อนกระแท่นของสถานีอนามัยถ่ายโอนในหลายพื้นที่มิใช่ปัญหาเฉพาะคน หรือเฉพาะพื้นที่ แต่เกี่ยวกับบริบทเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ทางออกในเรื่องนี้นอกเหนือจากการเรียกร้องความชัดเจนเชิงนโยบายแล้ว การระดมสรรพกำลังเพื่อช่วยให้สถานีอนามัยถ่ายโอนในภาพรวมสามารถก้าวผ่านอุปสรรคสู่ความสำเร็จได้ เช่น การเร่งบรรจุอัตราที่ว่างให้เต็มโดยเร็ว การสร้างระบบและกลไกแก้ปัญหาการบริหารที่ค้างคา ฯลฯ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะสถานบริการอื่นๆ ที่พร้อมจะถ่ายโอน เกิดความมั่นใจและกล้าที่จะตัดสินใจถ่ายโอนได้เร็วและมากขึ้น
 
กระจายอำนาจ : ชุมชนท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง
 
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทิศทางและอนาคตการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่ อปท.ว่า การกระจายอำนาจเป็นทิศทางของโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งบางแห่งก็ประสบผลสำเร็จ แต่บางแห่งก็ล้มเหลว เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีการถ่ายโอนสถานีอนามัยเพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บังคับ แต่มีปัญหาเพราะขาดทุน ท้องถิ่นไม่มีเงินจ่าย
 
ส่วนประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น อิตาลีทางตอนเหนือเพราะมีองค์กรชาวบ้านและนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากมายรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้และมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง สอดคล้องกับงานวิจัยปี 1980 ที่พบว่า การกระจายอำนาจที่สำคัญ คือ ชุมชนและสังคมท้องถิ่นต้องเข้มแข็งก่อน
 
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 มีบทบัญญัติให้มีการกระจายอำนาจ ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปีนั้นและปัญหานักการเมืองคอร์รัปชั่น จึงต้องทำตาม IMF เช่นกัน โดยประเทศไทยมีแผนการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแต่ไม่ได้ทำตามนั้น คือ บังคับก็ทำ ไม่บังคับก็ไม่ทำ ซึ่งหากจะให้เกิดผลดี ชุมชนท้องถิ่นและ อปท.จะต้องทำงานร่วมกันเพราะชุมชนมีทรัพยากรมาก เช่น มีทุน บางแห่งมีกลุ่มออมทรัพย์มีเงินรวมกันมากกว่า 20 ล้านบาท มีภูมิปัญญา พระครู หมอ ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้
 
“ในหลายๆ พื้นที่ที่ไม่มีการถ่ายโอนสถานีอนามัย แต่อบต.ก็สามารถทำงานร่วมกับ รพ.สต. ได้อย่างสอดคล้องกัน เป็นมิตรกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นลูกน้องของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งหากทำได้แบบนี้ คือสร้างกัลยาณมิตรระหว่างรพ.สต. อบต. และชุมชน ก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนฯ ก็ได้” นพ.สุวิทย์กล่าว
 
มองต่างมุมการถ่ายโอนอนามัย
 
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาในการถ่ายโอนสถานีอนามัยว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาในพื้นที่เกิดจากเจตคติของผู้บริหารบางแห่งที่ไม่เกื้อหนุนการถ่ายโอน กฎระเบียบต่างๆ ยังไม่ลงตัว เช่น ระเบียบเรื่องการเงิน เรื่องตำแหน่ง รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างสถานีอนามัยกับนักการเมืองท้องถิ่นทำให้การทำงานไม่ราบรื่นความเข้าใจงานด้านสาธารณสุขของผู้บริหารท้องถิ่น อัตรากำลังคนลดลง ส่งผลให้งานบริการไม่ครอบคลุมและกระทบต่อคุณภาพของบริการ บางแห่งถ่ายโอนบุคลากรไปไม่ครบ ในขณะที่ท้องถิ่นก็หาคนมาทำงานทดแทนไม่ได้ ทำให้มีคนทำงานน้อย
 
ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างหรือระบบ เช่น รอยต่อระหว่างระบบบริการสุขภาพ คือกระทรวงสาธารณสุขออกแบบบริการแบบเขตหรือภาค หากตัดกลุ่มปฐมภูมิออกไปจะทำให้มีรอยต่อของระบบ การจัดการในภาวะฉุกเฉิน หากกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถสั่งการได้การสนับสนุนอาจเข้าไม่ถึง หรือระบบข้อมูลสุขภาพ ท้องถิ่นจะต้องส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมของประเทศได้ แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นยังไม่ได้ส่งข้อมูล และประเด็นความเป็นธรรม เพราะท้องถิ่นหรือ อบต.แต่ละแห่งมีทรัพยากรไม่เท่ากัน บางแห่งมีขนาดเล็ก งบประมาณน้อย ทำให้เกิดความแตกต่าง
 
ส่วนทางออกนั้น นพ.ศุภกิจ เสนอความเห็นว่า ต้องคำนึงถึงระบบบริการที่พึงประสงค์โดยการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชาวบ้าน ชุมชน และท้องถิ่นจะต้องมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน และหารูปแบบในการถ่ายโอนที่เหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น
 
“ผมทำงานมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลใดจะสนับสนุนการกระจายอำนาจซึ่งทิศทางในอนาคตเรื่องการถ่ายโอนยังไม่ง่ายนัก แต่ขอให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ คือที่ใดพร้อมจะไป ที่ใดพร้อมจะรับ ก็ควรปล่อยไป ซึ่งผมก็จะพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าวสรุป
 
ทางด้าน นายปิยะ คังกัน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวว่า การถ่ายโอนสถานีอนามัยในช่วงแรกเกิดปัญหาหลายเรื่องเช่น ขาดการประสานงาน ขาดความเข้าใจกัน ระบบงาน ระบบเงินที่ไม่มีระเบียบรองรับทำให้เจ้าหน้าที่สับสน ไม่กล้าดำเนินการเช่น เรื่องเงินบำรุง แต่ปัญหาที่สำคัญคือการกล้าตัดสินใจของผู้บริหาร
 
“สิ่งที่กังวลคือความกลัวต่างหาก คือกลัวว่า อบต.จะบริหารไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณและกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถอุดหนุนเงินได้ แต่เมื่อถ่ายโอนไปแล้ว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถของบจากสำนักงบประมาณมาอุดหนุน อบต.และสถานีอนามัยที่โอนไปแล้วก็ได้เช่นกัน โดยในปี 2555 นี้จะสนับสนุน อปท.แห่งละ 2 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปปีละ 1 ล้านบาท” นายปิยะ กล่าว
 
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ยังกังวล เช่น เรื่องอัตรากำลังคนที่ยังไม่ครบนั้น ในปีนี้กรมส่งเสริมฯ จะทำการสำรวจข้อมูลตำแหน่งที่ยังขาดและคาดว่าปลายปีนี้จะเปิดสอบตำแหน่งที่ขาดได้ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 11 แห่งที่กำลังจะถ่ายโอนไปยัง อปท.ในปีนี้จะดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ส่วนเรื่องงบประมาณ เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆ การโอนย้าย สิทธิ กบข. ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเหมือนเดิม ดังนั้นข้าราชการที่ถ่ายโอนจึงไม่ต้องกังวลเพราะเป็นสิทธิติดตัว
 
นอกจากนี้ ข้าราชการที่ถ่ายโอนไป อปท. แล้วก็จะมีโอกาสเปิดกว้างในหน้าที่การงานมากกว่าเดิม เช่น คนที่เรียนต่อทางด้านรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ อาจจะไปทำงานด้านบริหารได้ เช่น เป็นนิติกรหรือปลัด อบต. แต่ทาง อบต. ก็ต้องหาคนทดแทนด้วย
 
ประสบการณ์และแนวคิดจากท้องถิ่น
 
นางสุชีลา พลไสย์ รักษาการผู้อำนวยการรพ.สต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี กล่าวว่าสถานีอนามัยเขาสมอคอนผ่านเกณฑ์ประเมินการถ่ายโอนในปี 2553 ตั้งแต่ยังไม่ได้มีการยกฐานะเป็น รพ.สต. และเพิ่งจะถ่ายโอนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554ที่ผ่านมานั้น มีความคิดว่าสถานีอนามัยจะต้องทำงานร่วมกับ อบต.ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถทำงานร่วมกับ อบต.ได้เป็นอย่างดี
 
“ตลอด 60 วันช่วงน้ำท่วมนั้น เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต้องทำงานอย่างหนัก เราต้องลงเรือไปเยี่ยมบ้าน ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำงานแบบไม่มีวันหยุด เวลาขอความช่วยเหลือไปยัง อบต. ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่สถานีอนามัยต้องการ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองในท้องถิ่น เราก็ไม่กลัว เพราะเราทำงานกับชาวบ้านช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ได้สนับสนุนการเมืองฝ่ายใด เราจะนำพา รพ.สต. ไปให้ดี เพื่อเป็นแบบอย่างให้ รพ.สต.อื่นๆ อยากจะถ่ายโอนบ้าง” นางสุชีลากล่าว
 
ทพญ.วิไลลักษณ์ ทิวากรกฎ โรงพยาบาลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง‘ความพึงพอใจและผลกระทบภายหลังการถ่ายโอน กรณีสถานีอนามัยสมุทรสงคราม’ โดยพบว่า “บุคลากรของสถานีอนามัยมีความพอใจต่อระบบการบริหารจัดการของ อบต. ที่เร็วกว่าระบบของสาธารณสุขจังหวัดมาก เช่น เมื่อทำเรื่องขออุปกรณ์การติดต่อสื่อสารก็จะได้รับการสนับสนุนจาก อบต. และได้รับเงินโบนัสมากกว่าสาธารณสุขนอกจากนั้น อสม. ก็มีเอกภาพในการทำงานมากขึ้น เพราะแต่เดิม อสม.จะทำงานขึ้นกับสถานีอนามัยแต่ละแห่ง แต่เมื่อถ่ายโอนแล้วก็จะขึ้นอยู่กับ อบต.เพียงแห่งเดียว ทำให้การทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น”
 
ส่วนที่ไม่พึงพอใจ เช่น ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้คำสั่งจาก อบต.บางครั้งมีความล่าช้า ไม่ชัดเจน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่เดิมเพราะถือว่าถ่ายโอนไปแล้ว ฯลฯ ส่วนบุคลากรของ อบต.ไม่พึงพอใจในประเด็นภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น เช่น งานด้านเอกสารโบนัสที่ลดลงเพราะมีเจ้าหน้าที่อนามัยมาเป็นตัวหาร ฯลฯ
 
“อีกด้านของผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจ เพราะมีบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาและประหยัดค่าเดินทาง” ทพญ.วิไลลักษณ์ กล่าว
 
สรุปบทเรียนและข้อเสนอแนะ
 
การประชุม ‘สรุปบทเรียนและทิศทางในอนาคตการถ่ายโอนสถานีอนามัย’ ในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
 
1. การเตรียมความพร้อมรองรับการถ่ายโอน : การถ่ายโอนในช่วงที่ผ่านมานั้น การเตรียมความพร้อมยังไม่เป็นระบบ ขาดการสนับสนุนจากส่วนกลาง ระดับจังหวัด และอำเภอ หมอและเจ้าหน้าที่อนามัยที่ถ่ายโอนไปยังรู้สึกโดดเดี่ยวที่ประชุมเสนอว่า ควรจัดทำคู่มือการถ่ายโอนที่มีความละเอียดเพียงพอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมหรือชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกัน เช่น ระเบียบต่างๆ การบริหารบุคคล ระเบียบการเงินการคลัง ฯลฯรวมทั้งเสนอให้จัดตั้งเครือข่ายในระดับพื้นที่เพื่อเป็นช่องทางในการปรึกษาหารือ
 
2. ปัญหาอุปสรรค และระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการถ่ายโอน : ที่ผ่านมาปัญหาที่เห็นชัดเจน เช่น การขาดแคลนกำลังคน ระเบียบงานบริหารบุคคล ระเบียบเงินบำรุง การบริหารจัดการของโรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริหารของ CUP บางแห่งไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ให้การสนับสนุนแก่สถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปแล้ว ที่ประชุมเสนอว่า ควรมีการโอนย้ายกำลังคนให้มีความพร้อมก่อนการถ่ายโอน ให้มีการจ้างงานระบบพิเศษสำหรับคนในพื้นที่ และ สปสช.สาขาจังหวัด สสจ. และ CUP ควรทำความเข้าใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณค่าหัวให้แก่สถานีอนามัยหรือ รพ.สต. และต้องกำหนดนโยบายชัดเจนให้ CUP มีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากร ความรู้ ฯลฯ แก่สถานบริการที่ถ่ายโอน
 
3. การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขสังกัด อปท. : เนื่องจากที่ผ่านมาบุคลากรสาธารณสุขที่ถ่ายโอนมาไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพจากกระทรวงสาธารณสุขมากนักเนื่องจากอยู่คนละสังกัด และยังต้องเรียนรู้งานของท้องถิ่นมากขึ้น ที่ประชุมมีข้อเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีแผนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ และต้องวิเคราะห์ว่าควรจะต้องมีความรู้เพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากงานในสถานีอนามัยของท้องถิ่นมีขอบเขตที่กว้างกว่างานสถานีอนามัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
 
ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวสรุปว่า การกระจายอำนาจไม่ใช่การถ่ายโอน แต่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ จากเดิมที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางก็เปลี่ยนมาให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการ ซึ่งในช่วงต้นของการถ่ายโอนสถานีอนามัย ถือว่าเป็นการเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนกระบวนการทำงานต่อไปยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องดำเนินการ อาทิ
 
1. ต้องปรับความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจคือให้พื้นที่บริหารจัดการและตัดสินใจเองได้ บนพื้นฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจไม่เท่ากัน เช่น อบต.ใดที่มีเศรษฐกิจดีกว่าอาจจ่ายค่าตอบแทนให้บุคคลากรได้มากกว่า
 
2. เมื่อกระจายอำนาจไปแล้วก็ยังต้องมีความรับผิดชอบในการรายงานผลการปฏิบัติงานเพราะท้องถิ่นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แต่บางส่วนยังไม่เข้าใจบทบาทของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะทัศนคติระหว่างหน่วยงานมีการแบ่งแยกเป็น ‘พวกเขา-พวกเรา’ ต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ให้ถูกต้อง
 
3. ต้องมีการปรับปรุงระบบ ระเบียบ เช่น ระเบียบการจ้างบุคลากร จากเดิมที่ใช้คำว่า ‘ลูกจ้างประจำ-ลูกจ้างชั่วคราว’ ก็อาจเปลี่ยนเป็น ‘ข้าราชการเงินเดือนจากเงินบำรุง’ หรือ ‘ข้าราชการเงินเดือนจากเงินบริจาค’ ซึ่งก็เป็นข้าราชการเหมือนกัน ดังนั้นเงินเดือนและสถานะการจ้างจึงต้องดึงดูดใจเหมือนกับเป็นข้าราชการ ส่วนระเบียบใดที่ยังไม่ชัดเจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการปกครองฯ ต้องปรับปรุงทำให้ชัดเจน หรือให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้ดุลพินิจพิจารณาได้ โดยเชิญ สตง. มาช่วยกันทำระเบียบการบริหารการเงินแล้วทำเป็นคู่มือออกมาเพื่อให้สถานีอนามัยหรือ รพ.สต.นำไปใช้ ฯลฯ
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า เจ้าหน้าที่อนามัยหรือหมออนามัยถ่ายโอนจะต้องมีการรวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่น ใช้ Social media เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกัน ปรึกษาหารือกัน “ในฐานะผู้บุกเบิก ถือว่ามีความกล้าหาญ คนที่ก้าวออกมาก่อนจะอยู่รอดก่อน”
 
นี่คือประสบการณ์และบทเรียนของสถานีอนามัยถ่ายโอนรุ่นแรกทั้ง 28 แห่งทั่วประเทศถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับสถานีอนามัยที่กำลังจะถ่ายโอนในช่วงต่อไปได้ศึกษาเรียนรู้ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมาจนถึงท้องถิ่นก็ต้องช่วยกันขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการถ่ายโอน และช่วยกันสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ถ่ายโอนเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังตามศักยภาพที่มีอยู่
 
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของการถ่ายโอนก็คือ การบริการสุขภาพที่ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเป็นที่ตั้งนั่นเอง..!!
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net