Skip to main content
sharethis

 

จาก “มหาอุทกภัย” ช่วงปลายปี 2554 ได้สร้างความเสียหายและสูญเสียแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง การรับมือภัยพิบัติในอนาคตจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ครบถ้วน โดยเฉพาะในด้าน “การแพทย์และการสาธารณสุข” มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นการตื่นตัวในทุกระดับ ทุกพื้นที่ ทั้งการวางแผน ซ้อมแผน ปรับแผนอย่างต่อเนื่อง 
 
ภารกิจนี้ จึงเปรียบเสมือนกับ “นักมวย” ถ้า “อ่อนซ้อม” เมื่อไหร่ “แพ้” เมื่อนั้น !! 
 
งานวิจัย ‘การสังเคราะห์บทเรียนการรับมือมหาอุทกภัย 2554 ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข’ ดำเนินการโดย ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล และคณะทำงาน ได้ศึกษาบทเรียนการรับมือมหาอุทกภัย 2554 ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลและความรู้สำหรับเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัย สวรส. กล่าวว่า “การเตรียมพร้อม คือการเตรียมการให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการรับมือกับความต้องการที่มักจะมากกว่าภาวะปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมการมาก่อนแล้ว ปัญหาเฉพาะหน้าในภาวะนั้นๆ ก็คือความขาดแคลน ซึ่งนำไปสู่วิกฤตซ้ำซ้อนเข้าไปอีก เช่น ในทางการแพทย์การสาธารณสุข ผู้ประสบภัยอาจไม่เดือดร้อนถึงชีวิตแต่ก็ไม่ได้รับบริการที่ดีและทั่วถึง”
 
ในงานวิจัย คณะทำงานได้จัดทำชุดคำถามเพื่อรวบรวมบทเรียนจากหน่วยงานสาธารณสุข โดยหยิบยกประเด็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ หน่วยงาน “ด้านสาธารณสุข” และ “ด้านการแพทย์” จำแนกช่วงเวลาออกเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดอุทกภัย
 
ก่อนการเกิดอุทกภัย 
 
ความพร้อมในการรับมือทางด้านบริการสาธารณสุขและการแพทย์ ว่าในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีโครงสร้างและสายบังคับบัญชาชัดเจน แต่จุดที่ไม่ชัดเจนคือ เนื้อหาของแผนอำนวยการและการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ อาทิ ภาคชุมชนและภาคเอกชน
 
หน่วยงานทั้งสองส่วน ต่างมีการวางแผน ซ้อมแผน และปรับแผนเป็นระยะๆ  ขณะที่ช่วงเกิดเหตุหน่วยงาน “ด้านสาธารณ” สุขจะปฏิบัติงานโดยมุ่งเน้นการลดความเสี่ยง เช่น เปิดสายด่วน 1667 คลายเครียดช่วงน้ำท่วม การดูแลเรื่องน้ำท่วมขังกับปัญหายุงลาย ฯลฯ ส่วนหน่วยงาน “ด้านการแพทย์” จะเน้นลดความสูญเสีย  เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอาการบาดเจ็บต่างๆ เป็นต้น และหลังเกิดเหตุภัยพิบัติยังต้องพร้อมสำหรับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูระบบบริการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
 
ทั้งนี้ จากบันทึกบทเรียนของกรมควบคุมโรค ระบุว่า “การประสานและสั่งการยังมีความซ้ำซ้อน” ขณะที่บันทึกของกรมอนามัย พบว่า “การประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นทำได้ยาก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจมาก ไม่มีใครให้ข้อมูลได้ ขาดข้อมูลที่เป็นจริงในสถานการณ์จริง”
 
งานวิจัยครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ก่อนเกิดภัย ควรทบทวนการวางแผน ซ้อมแผน ปรับแผนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเชื่อมโยงกันทั้งแนวดิ่งและแนวราบ มีส่วนร่วมทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน รวมทั้งมีระบบสารสนเทศที่เอื้อต่อการใช้ร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของฝ่ายการเมืองเป็นไปตามแผนข้างต้น   และเมื่อหลังเกิดภัยแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ จัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยง 
 
ขณะการเกิดอุทกภัย 
 
สำนักบริหารสาธารณสุข มีการสั่งการชัดเจนไปยังภูมิภาค ทำให้การปรับย้ายสถานที่ให้บริการสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะมีอุปสรรคในการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลเอกชน  แต่ในที่สุดการส่งต่อสามารถดำเนินการได้ครบ หากประมวลผลและอุปสรรคของการดำเนินการในช่วงเกิดภัยพิบัติ พบปัญหา เช่น สถานการณ์ไม่สอดรับแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เนื่องจากผลกระทบมีบริเวณกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ โดยใช้สายด่วน 1668 กด 1 และสนับสนุนยาแก่ทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แต่ไม่มีข้อมูลปัญหาการขาดยาว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด หรือได้มีการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่ทราบว่าครอบคลุมความต้องการจริงเพียงใด โดยพบกรณีเสียชีวิตจากการจมน้ำร้อยละ 86 และไฟฟ้าดูด ร้อยละ 14 เป็นต้น
 
หลังการเกิดอุทกภัย
 
หลังอุทกภัยผ่านไป กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกิจกรรมฟื้นฟูหน่วยบริการและระบบบริการใน 45 วัน การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขอนามัยที่ครอบคลุมคุณภาพอาหาร น้ำ การล้างตลาด การปรับปรุงระบบประปา และคุณภาพสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน และการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยกำหนด 10 ตัวชี้วัดสำหรับการติดตามฟื้นฟู จำแนกเป็น 3 ระดับของสภาวะสุขภาพ คือ ปกติ ดีขึ้นบางส่วน และต้องฟื้นฟูอย่างมาก ทั้งนี้ จากการศึกษาไม่พบว่ามีกลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้
 
เหล่านี้ เป็นสรุปปัญหาหลักที่พบในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554  และถอดบทเรียนสำคัญ ที่ ศ.นพ.ไพบูลย์ และคณะทำงานได้ทำการประมวลผลถึงสถานการณ์ปัญหาออกมาจาก “การสังเคราะห์บทเรียนการรับมือมหาอุทกภัย 2554” ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในแต่ละประเด็นปัญหา สามารถติดตามได้จากรายงานฉบับสมบูรณ์และเอกสารอ้างอิงโดยดาวน์โหลดได้ทาง www.hsri.or.th 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net