Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

19  ก.ค. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดให้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "นโยบายแอลกอฮอล์ เพื่ออนาคตเยาวชนไทย" เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 3 ที่มีผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและความพิการของประชากรโลก อีกทั้งประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 26,000 คนต่อปี โดยมี ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวเปิดการสัมมนา ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ข่าวการเดินทางไปยุโรปของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สนใจเปิดการเจรจาการค้า FTA (เขตการค้าเสรีหรือข้อตกลงทางการค้าเสรี) กับสหภาพยุโรปนั้น ตนได้ศึกษาและจัดทำความเห็นอย่างรอบด้านจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า ไทยต้องเจรจาอย่างฉลาดโดยเฉพาะในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะส่งผลเสียด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเจรจาการค้า FTA กับสหภาพยุโรปมีความยุ่งยากกว่าประเทศอื่น สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สหภาพยุโรปน่าจะเอามาเป็นเงื่อนไขในการเปิด FTA กับไทย ดังนั้นในเบื้องต้นของการเจรจาประเทศไทยจะต้องกำหนดกรอบในการทำ FTA ให้ครอบคลุมและชัดเจน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมเป็นหลัก

ดร.บัญชร ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการภาษีชำนาญการพิเศษ กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ถึงแม้ภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากภาษีสุราและยาสูบ แต่เรามีรายจ่ายด้านสุขภาพที่สูงกว่า ซึ่งไม่คุ้มกับผลเสียที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า หากร่างกฎหมายการจำกัดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้บังคับใช้จะเกิดผลดีต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน เป็นหลักการที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันปัญหา ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีเวลาให้ผู้ประกอบการและร้านค้าปรับตัว

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุรา สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า สุราเป็นประตูพาวัยรุ่นไปสู่ปัญหาอื่นๆมากมาย ทั้งการทะเลาะวิวาท การใช้ยาเสพติด และปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย สาเหตุสำคัญคือการที่เยาวชนถูกมอมเมารอบด้านจากกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมสุรา ทั้งการที่ราคาเครื่องดื่มถูก หาซื้อสะดวก แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้คงต้องวิงวอนผู้เกี่ยวข้องธุรกิจภาคส่วนอื่นๆให้แยกแยะประเด็นสินค้าที่ก่อความเสียหายแก่สุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ สินค้าบางอย่าง ยิ่งผลิต ยิ่งขาย ยิ่งใช้ ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่คงไม่ใช่สินค้าอย่างสุราและยาสูบ

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยสาระสำคัญคือ อยากให้มีการจำกัดการเข้าถึงในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาดทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย ให้ภาครัฐคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับประชาชนมากกว่าประโยชน์ทางด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว และในการเจรจา FTA อยากให้มีการกำหนดกรอบการเจรจาที่โปร่งใส โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด และควบคุมการโฆษณา และโฆษณาแฝง ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net