Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ข้อถกเถียงเรื่อง “ทางเลือกการปรองดอง” น่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน เพราะแต่ละทางเลือกก็มีปัญหา แต่ก็เป็นปัญหาที่สังคมควรรับรู้และถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อไป ผมขอสรุปแต่ละทางเลือกตามที่ถกเถียงกันอยู่ให้เห็นประเด็นปัญหาชัดขึ้น เพื่อช่วยกันคิดต่อดังนี้
 
ทางเลือกที่ 1 ยกเลิกความผิดที่ศาลตัดสินไปแล้วไม่ได้ เพราะทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมต้องให้ทักษิณกลับมาติดคุกก่อน จึงค่อยกำหนดแนวทางปรองดองต่อไป 
 
ทางเลือกนี้เท่ากับยอมรับว่า รปห.19 กันยา 49 ชอบธรรม กระบวนการ คตส.ชอบธรรม ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น
 
1.ในทางหลักการ รปห.ล้ม รบ.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ผิด (มากกว่าคอรัปชัน เพราะการล้มล้างรัฐบาลและรัฐธรรมนูญมีโทษประหารชีวิต) และ รปห.ที่ปล้นอำนาจประชาชนมาไม่อาจเป็นรัฐาธิปัตย์ที่ชอบธรรม
 
อุปมาเหมือนโจรที่ปล้นเงินเราไป แม้เขาจะเอาเงินไปใช้จ่ายลงทุนและ ฯลฯ เขาก็ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินนั้น เงินยังเป็นของเราเช่นเดิม 
 
อำนาจรัฐที่ รปห.ปล้นประชาชนไป แม้คณะ รปห.จะนำไปใช้ในเรื่องต่างๆ แต่อำนาจนั้นยังเป็นของประชาชนเช่นเดิม นี่คือเหตุผลว่าทำไมเมื่อคณะ รปห.หมดอำนาจสังคมกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้วจึงควรลบล้างผลพวง รปห.และนำ คณะ รปห.ขึ้นศาล ดังที่นิติราษฎร์เสนอ 
 
2. เมื่อ รปห.ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์เพราะปล้นอำนาจมา ไม่ใช่เจ้าของอำนาจ นิติรัฐ นิติธรรมจึงไม่มี กระบวนการเอาผิดทักษิณจึงไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมแต่อย่างใด
 
ฉะนั้น ต่อให้ทักษิณผิดจริงตามข้อกล่าวหา กระบวนการที่ไม่มีนิติรัฐ นิติธรรมก็เอาผิดไม่ได้ เพราะไม่มี “ความชอบธรรม” ทั้งทางหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและทางกฎหมายรองรับ
 
จะอ้างมั่วๆ เรื่อง “ตำรวจปลอมจับโจรจริง” เหมือนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ เพราะขัดต่อ “กระบวนการอันเหมาะอันควรในทางกฎหมาย” (due process)
 
3. ถ้ายอมรับความชอบธรรมของ รปห.และเห็นว่ามีนิติรัฐ นิติธรรมเอาผิดได้ ก็เท่ากับยอมรับบรรทัดฐานทางสังคม-การเมืองว่า “ถ้าการเมืองมีปัญหาคอรัปชันควรแก้ด้วยวิธี รปห.” 
 
ก็จะเกิดปัญหางูกินหางว่า ถ้าคณะ รปห.คอรัปชันจะแก้ด้วย รปห.อีกเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ = ในประเทศนี้เจ้าของอำนาจที่แท้จริงไม่ใช่ประชาชน แต่คือกองทัพ หรือเครือข่ายอำนาจนำที่ผูกขาดการทำ รปห.
 
ฉะนั้น ทางเลือกที่ 1 อธิบาย “ความยุติธรรม” ไม่ได้ว่า เช่น ทำไม รปห.ที่ผิดมากกว่าคอรัปชัน ฝ่ายทำ รปห.(และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง) จึงต้องไม่ผิด แต่ฝ่ายถูกทำ รปห.ต้องรับผิด 
 
หรือพูดอีกอย่างว่า ทำไมโจรที่ปล้นอำนาจไม่ผิด แต่เจ้าของอำนาจ (ที่ได้อำนาจมาจากประชาชน) ต้องเป็นฝ่ายผิด 
 
ทางเลือกที่ 2 นิรโทษกรรมทักษิณ ด้วยเหตุผลว่า รปห.และกระบวนการเอาผิดจาก รปห.ไม่ชอบธรรม ก็จะเกิดปัญหาว่า ถ้าไม่ชอบธรรมแล้วการดำเนินการกับทักษิณก็ย่อมไม่มีผลในทางกฎหมาย ทำไมต้องนิรโทษกรรมจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมนั้นด้วย เพราะการนิรโทษกรรมย่อมเท่ากับยอมรับผลของกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม
 
ทางเลือกที่ 3 นิรโทษกรรมทักษิณ ปชป.และคดีเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งคดี ม.112 ตั้งแต่ระดับแกนนำทุกสีทุกฝ่ายถึงระดับชาวบ้านธรรมดา เฉกเช่นที่ คณะ รปห.นิรโทษกรรมตนเอง 
 
แต่ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่า วิกฤต 5-6 ปี ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชัน มีรัฐประหาร มีคนตาย มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำไมต้องถูกทำให้ “เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรเลย
 
ทางเลือกนี้ไม่ยุติธรรมต่อสังคมมากที่สุด แต่อาจจะเป็นไปได้มากที่สุดก็ได้ (ทว่าไม่แน่ว่าคดี ม.112 จะได้รับการนิรโทษกรรม?)
 
ทางเลือกที่ 4 ทำให้รัฐประหารเป็นโมฆะ การดำเนินการของ คตส.เป็นโมฆะ นำคณะ รปห.ขึ้นศาลในฐานกระทำความผิดล้มล้างรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ และนำคดีต่างๆ ของทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ รวมทั้ง “เปิดเผยความจริงเบื้องหลัง รปห.” ดำเนินคดีผู้สั่งสลายการชุมนุมที่มีคนตายและบาดเจ็บ และทุกฝ่ายที่กระทำความผิดตามเป็นจริงทุกกรณี เยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ อย่างเป็นธรรม   
 
แนวทางนี้ถูกหลักการที่สุด ยุติธรรมที่สุด แต่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้มากที่สุด! 
 
ทำไมแนวทางที่ถูกหลักการที่สุด ยุติธรรมที่สุด แต่กลับเป็นไปไม่ได้มากที่สุด?
 
คำตอบคือ เพราะเครือข่ายอำนาจผูกขาดการทำ รปห.และฝ่ายสนับสนุน รปห.เช่น พธม.ปชป.และทุกฝ่ายที่ต้องการเอาผิดทักษิณให้ได้ ไม่ยอมรับทางเลือกนี้แน่นอน
 
อุปสรรคของการปรองดองอยู่ที่ไหน? ทางออกที่ควรจะเป็นคืออะไร?
 
จะเห็นว่าทางเลือกที่ 4 มีความชัดเจนคือ (1) ถูกหลักการที่สุด (2) ยุติธรรมที่สุด และ (3) มีผลต่อการแก้ปัญหา “ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” และ/หรือส่งผลต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยมากที่สุด
 
แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่เครือข่ายอำนาจผูกขาดการทำ รปห.และฝ่ายสนับสนุน รปห.เช่น พธม.ปชป.และทุกฝ่ายที่ต้องการเอาผิดทักษิณให้ได้ ไม่ยอมรับทางเลือกนี้
 
คนเหล่านี้มีความคิดที่มีปัญหา คือ (1) มีความคิดแบบเห็นแก่ได้อย่างผิดหลักการประชาธิปไตยและหลักความยุติธรรมอย่างยิ่งว่า รปห.ชอบธรรม กระบวนการเอาผิดโดย รปห.ชอบธรรม คณะ รปห.และผู้อยู่เบื้องหลังต้องไม่ผิด มีแต่ฝ่ายถูกทำ รปห.เท่านั้นที่ต้องผิด (2) มีความคิดขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง (ความคิดของ ปชป.พธม.และทุกฝ่ายที่สนับสนุนพวกเขา) ว่า ไม่เห็นด้วยกับ รปห.แต่ยืนยันว่ากระบวนการเอาผิดของ รปห.ชอบธรรม (= ยอมรับว่า รปห.ชอบธรรมนั่นเอง)
 
จะเห็นว่า “อุปสรรคสำคัญ” ของการปรองดองอยู่ที่ฝ่ายทำผิดหลักการประชาธิปไตยและฝ่ายที่สนับสนุนการทำผิดนั้น จึงทำให้เกิด “ความเห็นต่างทางหลักการ” ที่ไม่มีวันจะยอมกันได้ 
 
ทางออกจึงอยู่ที่การนำเสนอทางเลือกต่างๆ และปัญหาในทางหลักการ ความเห็นต่างๆ ทุกแง่ทุกมุมให้สังคมรับทราบอย่างกว้างขวางที่สุด และสุดท้ายก็ต้องตัดสินด้วย “เสียงข้างมาก” โดยผ่านกระบวนการรัฐสภา หรือประชามติอยู่ดี
 
เพราะในเมื่อไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันได้ ก็ต้อง “ยืนยัน” การใช้กระบวนการตัดสินด้วยเสียงข้างมากตามกติกาประชาธิปไตย 
 
จะปล่อยให้เสียงข้างน้อยที่พยายามยืนยันว่า ฝ่ายตนต้องถูกเสนอ ทำอะไรไม่ผิด (ทำ รปห.ไม่ผิด สลายการชุมนุมทำให้คนตายไม่ผิด ฯลฯ) ผูกขาดอำนาจชี้นำสังคมตลอดไปไม่ได้!    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net