Skip to main content
sharethis
ตัวแทนชาวบ้านหนองแซง-ภาชี ร้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หลังมีประกาศผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีชี้ชัดอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
 
 
แฟ้มภาพประชาไท
 
วันนี้ (30 มี.ค.55) เวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้าน อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง และดำเนินการโครงการโรงฟ้าของบริษัท เพาแวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เดินทางเข้ายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกให้แก่บริษัทฯ โดยให้ระงับการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
ภายหลังจากที่มีประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 13 ม.ค.55 ซึ่งในบริเวณพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี พื้นที่ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้ายังคงถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการขัดต่อนโยบายของผังเมืองรวมในสาระสำคัญ และหากปล่อยให้มีการดำเนินการก่อสร้างต่อไปจะยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
 
สืบเนื่องจาก คดีของชาวบ้านซึ่งยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้น อ.หนองแซง จ.สระบุรี  ซึ่งออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการออกใบอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎกระทรวงออกตามกฎหมายโรงงาน อีกทั้งในพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม ซึ่งตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่
 
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวว่า ตามความเห็นของชาวบ้าน เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีแล้ว ย่อมเป็นการยืนยันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านจึงรวมตัวกันมาเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในนามเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมได้เคยยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแล้ว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เข้าลักษณะเหตุฉุกเฉิน แต่ก็ได้เปิดช่องให้ยื่นคำร้องได้หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
 
“พอสร้างแล้วมาใช้คำพูดง่ายๆ ว่าสร้างไปแล้วให้อนุญาต ชาวบ้านคงรับไม่ได้” นายตี๋กล่าว
 
ส่วนคดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐละเลยล่าช้าในการประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีนั้น นายตี๋กล่าวว่า คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ  
 
แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวด้วยว่า หากในเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมมีโรงงานขนาดใหญ่หรือโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คงเกิดการตั้งคำถามที่ประจานระบบการจัดการของประเทศว่าปล่อยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ตามความเห็นของชาวบ้านคณะกรรมการผังเมืองน่าจะเป็นหน่วยงานสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามประกาศผังเมืองรวมจังหวัด รวมทั้งการให้เพิกถอนด้วย แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้คิดว่าคงคาดหวังได้ยาก
 
“คณะกรรมการผังเมืองมีอำนาจหน้าที่ แต่เราคาดหวังได้ยากในประเทศไทย เพราะการให้เดินหน้าต่อง่ายกว่าเป็น 10 เท่า ดังนั้นตรงนี้เราก็ต้องเดินหน้าพึงศาลต่อไป” นายตี๋ กล่าว
 
นายตี๋ แสดงความเห็นต่อมาว่า การประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการรักษาพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากโอกาสที่เขตพื้นที่เกษตรกรรมจะถูกเปลี่ยนมือไปทำอุตสาหกรรมหรือโรงงานจะทำได้ยากขึ้น อีกทั้งมีการกำหนดให้ต้องมีแนวพื้นที่กันชน (Buffer zone) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พื้นที่
 
นอกจากนี้ การกำหนดพื้นที่เขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมจะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสถือครองที่ดินได้ เมื่อเจ้าของเดิมต้องการเปลี่ยนมือ เนื่องจากพื้นที่ไม่สามารถนำไปใช้สร้างโรงงาน หรือประกอบการอุตสาหกรรม ต้องใช้เฉพาะเพื่อการเกษตร ตรงนี้จะช่วยลดการเก็งกำไรและปั่นราคาที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินไม่สูงมากจนเกินไป ส่วนพื้นที่ชุมชนก็จะไม่มีมลพิษจากโรงงานเข้าไปอยู่ใกล้ๆ
 
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่าการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีเป็นการจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งได้ซื้อที่ดินไว้เตรียมสร้างโรงงาน
 
แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวถึงแนวโน้มการต่อสู้กับโครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ว่า ขณะนี้ชาวบ้านพยายามสู้ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ และพยายามนำเสนอข้อมูลขึ้นสู่การพิจารณาของศาลให้มากที่สุด ซึ่งการตัดสินคดีก็ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล
 
นอกจากนั้น ชาวบ้านยังได้ติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการว่าได้ปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีการจัดทำไว้หรือไม่ และพยายามให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ลงมาดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อลงบันทึกและทำรายงาน โดยขณะนี้พบว่าการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่มีปัญหาเรื่องการขุดถมดิน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่มีผู้ดูแลกำกับ ทำให้การดำเนินการอาจไม่ตรงตาม EIA ที่จัดทำไว้ และเมื่อทำเรื่องร้องเรียนขอข้อมูลโครงการต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร กลับถูกบริษัทฯ ร้องไม่ให้เปิดเผยข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและเทคนิควิธี
 
“มาตรการป้องกันเดิมๆ ที่ขอไว้ตาม EIA เพื่อลดผลกระทบพอคุณเปลี่ยนแล้วผลกระทบอื่นๆ มันเปลี่ยนแปลงด้วยไหม อีกทั้งไม่มีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่มีการขออนุญาต” นายตี๋ตั้งคำถาม พร้อมกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งสร้างความไม่ไว้วางใจต่อโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น
 
นายตี๋ ให้ข้อมูลต่อมาว่า ผลกระทบจากโครงการที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันคือปัญหาเรื่องมลภาวะทางเสียง จนชาวบ้านยื่นเรื่องร้องเรียน และมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อเยียวยา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกระบวนการ แต่เป็นการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
 
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และเป็นหนึ่งในโครงการที่ชนะการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งเรื่องการคาดการณ์ปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net