Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา แทนที่จะถามกันว่าชาวพุทธนิยมทำบุญ สวดมนต์มากขึ้นหรือน้อยลง ควรฟื้นฟูการสวดมนต์หน้าเสาธงหรือไม่ เราควรจะทบทวนหน่อยไหมว่าเทศนาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าแสดงในวันนี้นั้น เป็นการวางระบบ “วิถีจริยธรรมแบบพุทธ” อย่างไร เป็นที่เข้าใจกันว่า พระพุทธเจ้าวิพากษ์วิถีจริยธรรม 2 แนวทางว่า เป็น “ทางสุดโต่ง” ไปคนละด้าน กล่าวคือ 1) สุดโต่งในทางตอบสนองความต้องการ ทางวัตถุ ทางเนื้อหนังร่างกายโดยถือว่า เมื่อตอบสนองความต้องดังกล่าวอย่างเต็มที่จะทำให้บรรลุนิพพาน แต่พระพุทธองค์วิจารณ์วิถีชีวิตเช่นนี้ว่า เป็น “กามสุขัลลิกานุโยค” หรือเป็นการหมกมุ่นปรนเปรอความต้องการของอัตตามากไป ไม่อาจทำให้พ้นทุกข์ได้ 2) สุดโต่งในทางเผด็จการกับชีวิตของตนเองมากไป ด้วยการคิดว่าเนื้อหนังร่างกายเป็นบ่อเกิดของกิเลสตัณหา ดังนั้น ต้องทรมานให้ร่างกายได้รับความลำบากจนถึงที่สุดจึงจะทำให้พ้นทุกข์ได้ แต่พระพุทธเจ้าวิจารณ์ว่า แนวทางดังกล่าวเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” คือ การทำตัวเองให้ทุกข์ทรมานเปล่า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แล้วพระองค์ก็เสนอทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แต่ว่าคำว่า “กลาง” ไม่ใช่ผลของการคำนวณการลดสัดส่วนของทางสุดโต่งสองทางนั้นแล้วสรุปว่า “กลาง” คืออย่างนี้ แต่ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าเสนอมีความหมายจำเพาะว่า เป็น “วิถีจริยธรรมแบบพุทธที่สัมพันธ์กับทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ ด้วยปัญญา ศีล และสมาธิ” พูดอีกอย่างว่าทางสายกลางคือองค์ประกอบหนึ่งของอริยสัจสี่ ฉะนั้น เราไม่สามารถพูดถึงทางสายกลางที่ไม่สัมพันธ์กับความเข้าใจทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ได้เลย หมายความว่าที่เทศนากันว่า สังคมแบ่งเป็นเหลืองเป็นแดง ทางสายกลางแบบพุทธก็คือ “ความเป็นกลาง” ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง อาจไม่ใช่ “ทางสายกลาง” เพราะความเป็นกลางที่คุณพูดถึงมันอาจไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความเข้าใจทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ ในทางตรงข้าม การเลือกข้างก็เป็นทางสายกลางได้ ถ้าเป็นการเลือกด้วยความเข้าใจว่าทุกข์ของสังคมคืออะไร สาเหตุที่แท้จริงของทุกข์คืออะไร และความดับทุกข์นั้นคืออะไร เช่นรู้ว่าทุกข์ของสังคมคือความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลที่ประชาชนเลือกจำเป็นต้องฟังเสียงข้างน้อยของเหล่าอภิสิทธิชนในประเทศ มากกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสาเหตุของทุกข์คือโครงสร้างอำนาจที่กดทับอำนาจของประชาชนอยู่ยังไม่ถูกแก้ไข ความดับทุกข์ก็คืออำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ รัฐบาลสามารถทำงานตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง และทางดับทุกข์ก็คือการแก้ไขโครงสร้างอำนาจกดทับที่เป็นปัญหานั้น พร้อมกับเพิ่มอำนาจ เพิ่มช่องทางการตรวจสอบแก่ประชาชน เป็นต้น หากชัดเจนว่าการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมีฝ่ายหนึ่งยืนยันแนวทางเช่นนี้ การเลือกข้างที่ยืนยันแนวทางนี้ก็ยังถือว่าเดินสายกลาง ส่วนเป็นกลางที่ไม่เลือกข้าง หรือที่อ้าง “ธรรมะ” ลอยๆ โดยไม่ตอบโจทย์ความดับทุกข์ใดๆ นั้น ไม่ใช่ใช่ทางสายกลาง ที่พูดนี่ผม “ตีความ” นะครับ ถ้าว่ากันตามตัวอักษรจริงๆ ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าพูดถึงในปฐมเทศนา คือทางดับทุกข์ของปัจเจกบุคคล เพราะจริงๆ แล้ว หากความทุกข์มับดับได้จริง หรือหายทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้จริง มันก็น่าจะเป็นไปได้เฉพาะทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ทุกข์ทางสังคม เช่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความไม่เป็นธรรม ฯลฯ คงไม่มีวันดับได้อย่างสิ้นเชิง โลกที่สมบูรณ์แบบอย่าง “โลกพระศรีอาริย์” คงมีในความฝันเท่านั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะลดทุกข์ หรือปัญหาต่างๆ ทางสังคมให้น้อยลง หรือทำอย่างไรที่แม้ว่าสังคมจะยังมีปัญหาต่างๆ อยู่ต่อไป แต่เราก็มีระบบการจัดการปัญหาต่างๆ นั้น ภายใต้ระบบความยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพและความเสมอภาคให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ทางสายกลาง หรือ “วิถีจริยธรรมแบบพุทธ” จะเป็นวิถีที่มุ่งดับทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล แต่เมื่อพิจารณาดู “เนื้อหา” ของทางสายกลางก็มีมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคมอยู่ด้วย เพราะเนื้อหาของทางสายกลางประกอบด้วยการฝึกฝนปัญญา (ปัญญาสิกขา) การฝึกฝนศีล (สีลสิกขา) และการฝึกฝนจิต (จิตสิกขา) การฝึกฝนปัญญา คือการเรียนรู้เพื่อให้มีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือเห็นความจริงตามที่มันเป็น และเห็นถูกต้องว่าครรลองหรือหลักการที่ควรจะเป็นคืออะไร (สมมาทิฐิ) เมื่อเห็นความจริงและครรลองที่ควรจะเป็น ก็ทำให้เกิดความคิดถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) จะเห็นว่าปัญญาในส่วนที่เป็นสัมมาทิฐิสัมพันธ์กับสิ่งสำคัญสองส่วน คือ 1) ความจริงระดับพื้นฐาน เช่น อริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ 5 ฯลฯ 2) ความจริงทางศีลธรรมที่เรียกว่าเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ความจริงอย่างตามข้อ 2) ที่ปัญญาในความหมายของ “สัมมาทิฐิ” เข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องทางสังคมแล้ว คือเป็นเรื่องสังคมควรอยู่ร่วมกันด้วยครรลองที่เป็นธรรมอย่างไร เมื่อมีสัมมาทิฐิเห็นความจริงพื้นฐาน (คือความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและชีวิต) และความจริงทางศีลธรรม หรือความจริงที่ว่าสังคมควรอยู่ร่วมกันด้วยครรลองทางศีลธรรมอย่างไรแล้ว ก็ทำให้เกิดปัญญาในความหมายที่สองที่เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ คือความคิดถูกต้องหมายถึงความคิดที่มุ่งอิสรภาพ คิดไม่พยาบาทเบียดเบียน มีเมตตากรุณา ฉะนั้น เมื่อพูดถึง “ปัญญา” ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะ แม้ปัญญาจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของปัจเจก แต่ความหมายของมันก็ครอบคลุมถึงการเข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของโลกและชีวิต เข้าใจครรลองทางศีลธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งมีความรู้สึกนึกคิดไปในทางรักอิสรภาพจากพันธนาการต่างๆ และมีเมตตากรุณา ฉะนั้น องค์ประกอบของทางสายกลางที่เรียกว่า “ปัญญา” จึงเชื่อมโยงมิติเชิงปัจเจกและมิติทางสังคมเข้าด้วยกัน คือเข้าใจทั้งคุณค่าชีวิตเชิงปัจเจก และคุณค่าเชิงระบบที่พึงประสงค์ของสังคม จึงจะถือได้ว่าความเข้าใจนั้นเป็นการเกิด “ปัญญา” ส่วนการฝึกฝนเรื่องศีลที่ประกอบด้วยการใช้วาจาที่ถูกต้อง (สัมมาวาจา) การกระทำที่ถูกต้องไม่เบียดเบียน (สัมมากัมมันตะ) การเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ (สัมมาอาชีวะ) ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นหลักการพื้นฐานว่า ขั้นต่ำสุดมนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์ การไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว และการมีอาชีพสุจริต และการฝึกฝนจิตที่ประกอบด้วย ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ความมีสติ (สัมมาสติ) และความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) ก็เป็นเรื่องความมุ่งมั่น ความสงบ ความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งปัจเจกแต่ละคนควรจะมี ฉะนั้น วิถีจริยธรรมแบบพุทธตามนัยปฐมเทศนา แม้จะมุ่งไปที่เป้าหมายคือความดับทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล แต่กระบวนการดำเนินชีวิตทางจริยธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ตัดขาดจากการทำความเข้าใจมิติทางสังคม หรือการให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่ควรจะมีครรลองหรือหลักการที่ดี ที่ยุติธรรม ไม่กดขี่เบียดเบียน หรือระบบซึ่งเอื้อต่ออิสรภาพ เมตตากรุณาหรือภราดรภาพทางสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net