Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในบทความชื่อ “ปลดล็อคความไม่สงบหลังเลือกตั้ง” (ประชาไท,3 มิ.ย.2554) คุณหมอประเวศ วะสี วิเคราะห์ว่า คนเป็นอันมากไม่เชื่อว่าจะมีความสงบหลังเลือกตั้ง เพราะปัจจัยให้เกิดความไม่สงบยังดำรงอยู่เหมือนเดิม กล่าวคือ 1. ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงอันดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่เสียงข้างมาก แล้วพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาล พท. และมวลชนคนเสื้อแดงก็จะกล่าวหาว่ากองทัพและมือที่มองไม่เห็นเข้ามาจัดการไม่ให้ พท. เป็นรัฐบาลอย่างนี้ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ต้องเคลื่อนไหวนอกสภาเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยประชาธิปัตย์ 2. ถ้า พท. ได้เสียงข้างมากแล้วจัดตั้งรัฐบาล และต้องการนำทักษิณกลับมา พวกที่เกลียดกลัวทักษิณ พวกที่เกลียดกลัวการล้มเจ้า ก็จะรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล และคุณหมอก็เสนอทางแก้ 5 ข้อ คือ 1) ถ้า พท. ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 ควรให้เวลา พท. พยายามจัดตั้งรัฐบาลอย่างเต็มที่... ข้อนี้ผมเห็นด้วย เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะเปิดให้พรรคที่ได้คะแนนรองลงมารวบรวมเสียงในสภาแข่งกันตั้งรัฐบาลได้ แต่ใน “บริบท” ความขัดแย้งปัจจุบัน หากต้องการให้ประเทศชาติสงบ วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการฟังเสียงประชาชน นั่นคือให้พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลก่อน 2) ถ้า พท. จัดตั้งรัฐบาล จะนำทักษิณกลับหรือไม่ทักษิณก็สามารถบงการรัฐบาล พท. อยู่ดี คุณทักษิณควรจะถือโอกาสแก้ตัว คุณเคยมีอำนาจสูงสุดมาแล้ว ไม่ว่าคุณจะคิดว่าทำดีเพียงใด แต่การที่มีคนเกลียดและกลัวจำนวนมากไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ถ้าคุณทักษิณปรับตัว ว่าอะไรที่ทำให้คนเกลียดและกลัวก็อย่าไปทำ พิจารณาอย่างรอบคอบถึงวิถีประเทศไทยต่อไปในอนาคต การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวเองของคุณทักษิณ จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทยและต่อโลก และเป็นการปลดล็อคความไม่สงบอย่างสำคัญ ข้อเสนอนี้ดูเหมือนจะเป็นการ “ตีกัน” ไม่ให้คุณทักษิณดำเนินการ “นิรโทษกรรม” แก่ตัวเอง หรืออาจไม่จำเป็นต้องกลับมาไทย เพราะ คุณหมอบอกว่า “จะนำทักษิณกลับหรือไม่ทักษิณก็สามารถบงการรัฐบาล พท. อยู่ดี” ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ “ไร้เหตุผล” มาก เพราะ .- (1) อ้างว่ามีคนเกลียดและกลัวทักษิณจำนวนมากไม่เป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ถ้าอ้างกันแบบนี้ ข้ออ้างเดียวกันก็ใช้กับคุณอภิสิทธิ์ได้เช่นกัน คือ คุณอภิสิทธิ์ก็มีคนเกลียดและกลัวจำนวนมาก อาจจะมากกว่าคนที่เกลียดกลัวคุณทักษิณด้วยซ้ำ ฉะนั้น คุณอภิสิทธิ์ควรปรับตัว อย่าไปทำสิ่งที่คนเกลียด เช่น ถ้าได้คะแนนเสียงแพ้พรรคเพื่อไทยก็ควรให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลก่อน ไม่ควรแข่งตั้งรัฐบาล ไม่ควรใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็นต้น ที่จริงในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ แทบจะไม่มีใครที่จะไม่ถูกคนเกลียด แม้แต่พระสงฆ์บางรูป และราษฎรอาวุโส ก็ย่อมรู้ตัวเองว่ามีคนเกลียดมากเหมือนกัน (2) การอ้างคนเกลียดกลัวทักษิณมาก แล้วเสนอให้คุณทักษิณต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดย “การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวเองของคุณทักษิณ จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทยและต่อโลก และเป็นการปลดล็อคความไม่สงบอย่างสำคัญ” นั้น เป็นข้อเสนอที่ไม่แฟร์นัก คือ ถ้าคุณหมอมีข้อเสนอแบบนี้ต่อ ผบ.ทบ. อภิสิทธิ์ สุเทพ พลเอกเปรม เป็นต้นด้วย ผมจะเชื่ออย่างสนิทใจว่านี่เป็นข้อเสนอที่เปี่ยมด้วย “เจตนาดี” ต่อคุณทักษิณและประเทศชาติอย่างแน่นอน แต่หากเจาะจงใช้ข้อเสนอนี้เฉพาะกับคุณทักษิณมันย่อมไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับคุณหมอยอมรับว่า รัฐประหารและกระบวนการเอาผิดแบบ “สองมาตรฐาน” ที่สืบเนื่องจากรัฐประหารเป็นการกระทำที่ “ถูกต้องชอบธรรม” แล้ว คุณทักษิณ (หรือใครก็ตาม) ที่ถูกกระทำเช่นนั้นไม่ควรต่อสู้ใดๆ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ตัวเอง ประเด็นคือ ทำไมคุณหมอจึงให้ความสำคัญกับ “ความเกลียด ความกลัว” ของผู้คน มากกว่า รัฐประหารถูกหรือผิด และกระบวนการเอาผิดแบบ “สองมาตรฐาน” ที่สืบเนื่องจากรัฐประหารเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่? 3) การปลดล็อคให้สถาบันไม่เป็นประเด็นที่คนไทยจะต้องมาฆ่ากันตาย…ข้อนี้ดูเหมือนอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ เป็นต้น มีข้อเสนออย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมระดับหนึ่งแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศของคุณหมอต่างหากที่ได้งบประมาณจาก “ภาษีประชาชน” จำนวนมาก แต่กลับไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในเรื่องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบันเลย 4) ปรับวิถีคิด คนไทยเข้าไปสู่วิถีคิดแบบแยกข้างแยกขั้วและคิดห้ำหั่นกันมากเกิน อะไรเป็นพวกตัวถูกหมด ถ้าเป็นพวกอื่นผิดหมด ฝ่ายค้านๆ และจ้องทำลายฝ่ายรัฐบาลลูกเดียวและกลับกัน พระพุทธศาสนาปฏิเสธวิธีคิดตายตัวแยกส่วนแบบนี้ เพราะผิดธรรมชาติความเป็นจริง ธรรมชาติของสรรพสิ่งๆ ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา คุณหมอก็เสนออยู่เรื่อยนะครับเรื่องวิธีคิดแบบไม่แยกส่วน อิทัปปัจจยตา, มัชฌิมาปฏิปทา แต่อย่างที่คุณหมอเสนอให้คุณทักษิณเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทว่าไม่พูดถึงเรื่องความไม่ถูกต้องของรัฐประหาร ระบบสองมาตรฐานที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร ไม่ให้ความสำคัญกับนักการเมืองที่จะต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ตนเองที่ถูกทำรัฐประหารและถูกใช้กระบวนการสองมาตรฐาน พูดถึงคนเกลียดคุณทักษิณ เสนอให้คุณทักษิณปรับตัว แต่ละเลยที่จะพูดและเสนอเรื่องเดียวกันนี้กับอภิสิทธิ์ สุเทพ ผบ.ทบ. พลเอกเปรมเป็นต้น อย่างนี้มันเป็นวิธีคิดแบบไม่แยกส่วน เป็นอิทัปปัจจยตา เป็นมัชฌิมาปฏิปทา อย่างไรไม่ทราบครับ! โดยเฉพาะใน “บริบท” ของความขัดแย้งเชิงหลักกการเรื่องรัฐประหารและกระบวนการสองมาตรฐานที่สืบเนื่องจากรัฐประหารว่ามีความชอบธรรม ควรยอมรับหรือเพิกถอนผลการเอาผิดโดยรัฐประหารหรือไม่ และใน “บริบท” ของการหาเสียงเลือกตั้งที่ท้าดีเบตกันเรื่อง “นิรโทษกรรม-ไม่นิรโทษกรรม” ข้อเสนอให้คุณทักษิณปรับเปลี่ยนตัวเองแต่ฝ่ายเดียว เป็นวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา และมัชฌิมาปฏิปทาทอย่างไร ? 5) การเคลื่อนไหวมวลชนอย่างสร้างสรรค์ การเคลื่อนไหวมวลชนเป็นการเมืองภาคประชาชนอย่างหนึ่งถ้าทำให้ดีจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายที่ตามปรกติทำได้ยาก... ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เป็นการเคลื่อนไหวใน “บริบท” ของการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบที่ครอบงำการเมืองไทยมานาน ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการกำกับครอบงำของอำนาจนอกระบบและกองทัพ มันอาจมีข้อบกพร่องหลายๆ อย่างเกิดขึ้นได้ แต่โดยรวมแล้วมันเป็นการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้ากว่ายุคที่คุณหมอเคลื่อนไหวให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยซ้ำมิใช่หรือครับ? ทำไมตอนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วยกับคุณหมอ แต่ตอนนี้คนไม่ค่อยเอาด้วยกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ ของคุณหมอเท่าที่ควรจะเป็น ผมคิดว่า เพราะตอนนั้นคุณหมอคิดแบบอิทัปปัจจยตา และทำแบบมัชฌิมาปฏิปทาอย่างเหมาะกับ “บริบท” แต่ตอนนี้คุณหมออาจไม่ได้คิดและทำแบบนั้นอย่างเหมาะกับ “บริบทจริงๆ” ก็ได้นะครับ และสุดท้าย คุณหมอก็พูดถึงเรื่อง “อารยธรรมใหม่ เป็นอารยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน อารยธรรมใหม่เกิดจากวิถีคิดใหม่ และจิตสำนึกใหม่” แต่จริงๆ แล้วคนขับแท็กซี กรรมกร ชาวชนบท คนเสื้อแดงทุกสถานะอาชีพ เขามีจิตสำนึกใหม่กันแล้ว ต้องการอารยธรรมใหม่ในการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ อารยธรรมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพ มีอำนาจปกครองตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งอารยธรรมใหม่นี้สร้างขึ้นได้ด้วยการต้องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้หลักการ กติกา และวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนเกิด “จิตสำนึกใหม่” และพร้อมที่จะสร้าง “อารยธรรมใหม่” กันนานแล้วครับ ว่าแต่ราษฎรอาวุโส ปราชญ์แห่งชาติ ปูชนียบุคคลแห่งชาติทั้งหลาย ตื่นกันหรือยัง !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net