Skip to main content
sharethis

 

 "สุวิทย์"สัมมนาผู้ใช้น้ำวางระบบน้ำอีสาน
23 เม.ย.54 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมสัมมนา การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยมี นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และเครือข่าย องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวนกว่า 1,000 คน จาก 4 จังหวัด คือร้อยเอ็ด,นครพนม,ยะโสธรละกาฬสินธุ์ ให้การต้อนรับและร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำในแต่ละชุมชน หมู่บ้านและท้องถิ่น ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือตามโครงการน้ำถึ่งไร่นา และมีระบบประปาทุกบ้าน เพื่อยุติปัญหาการขาดแคลนและลดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และอื่นๆ อันจะส่งผลถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ แก้ไขปัญหาหนี้สินและแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนในที่สุด โดยเน้นที่การมีน้ำสามารถแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชนและเกษตรกรได้
 
นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จ.ร้อยเอ็ด นั้นมีปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดินที่ใช้ประกอบอาชีพขาดการฟื้นฟูปรับปรุงดิน ลำน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ประกอบด้วย ลำน้ำมูล ลำน้ำชี ลำน้ำยัง ลำน้ำเสียว ยังขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดปัญหา น้ำท่วม ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เกิดการแห้งแล้งซ้ำซาก เพราะขาดการบริหารจัดการที่ดี ให้เพียงพอใช้ได้ตามฤดูกาล ส่งผลถึงวิถีชีวิตประชาชนเป็นอย่างมากเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร
 
ชาวระยองทิ้งใบปลิวค้านตั้งนิคมฯบ้านค่าย

 

22 เม.ย.54 ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ได้จัดทำการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการนิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย) ตั้งอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 59 -60 แยกเข้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร บนพื้นที่ กว่า 2,000 ไร่ พร้อมแจกแบบประเมินผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านตำบลบางบุตรและตำบลหนองบัว
       
โดยบริษัท เอิร์ธ แอนด์ ซัน จำกัด บริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีชาวบ้านค่ายกว่า 600 คนเข้าร่วมรับฟังการชี้แจง โดยมีนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง นายวิเชียร สุขเกิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางบุตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)และพนักงานคอยต้อนรับประชาชนที่มาลงทะเบียน

ขณะที่ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาฯได้ดำเนินการชี้แจงให้ประชาชนได้รับฟัง นายเศรษฐา ปิตุเตชะ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง และเป็นส.จ.เขตอ.บ้านค่าย แกนนำ”กลุ่มคนรักบ้านเกิด” พร้อมด้วยชาวบ้านค่ายตั้งโต๊ะล่ารายชื่อชาวบ้านที่คัดค้านการตั้งนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี (บ้านค่าย) พร้อมตั้งเวทีกางเต็นท์ชูป้าย”ชาวบางบุตร -หนองบัว ไม่เอาโรงงาน IRPC “ “เราไม่ต้องการ นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีกแล้ว รวมพลัง 22 เม.ย. 54 (กลุ่มคนรักบ้านเกิด) “
       
จากนั้นนายเศรษฐา ขึ้นกล่าวบนเวทีว่าวันนี้ที่มาคือไม่เอานิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย)หรือไออาร์พีซี หากพี่น้องประชาชนคิดเห็นว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรมให้ลุกขึ้นออกมารวมตัวที่เวทีแห่งนี้ เพราะเวทีของบริษัทที่มาชี้แจงประชาชนเป็นเวทีมอมเมาประชาชนไม่ใช่เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใครที่คัดค้านให้มาที่เวทีแห่งนี้จะได้ทราบว่า คนที่เห็นด้วยให้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีจำนวนเท่าไหร่ คนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนเท่าไหร่ จะบันทึกภาพทั้งหมดเพื่อที่จะนำไปร้องเรียนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คนบ้านค่ายไม่เอานิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย)
       
ทำให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย ทยอยลุกออกจากที่ประชุมเข้ามารวมตัวกันที่เวทีจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังการประชุมเหลือจำนวนน้อย ทำให้หอประชุมอบต.บางบุตรแบ่งออกเป็น 2 เวที
              

อ่านเพิ่มเติมที่  http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049730  

 
พบคนแม่เมาะยังป่วยอีกร่วมพัน-ชี้ทยอยสิ้นลมแล้วกว่า 20 ราย
กรรมการสิทธิฯลงพื้นที่ดูเหยื่อสารพิษแม่เมาะ ยังมีเพียบ นายก อบต.เผย 981 ชีวิตเสี่ยง วอนหน่วยงานที่รับผิดชอบลงช่วยเหลือด่วน ขณะที่มีผู้ป่วยบางส่วนทยอยสิ้นลมไปแล้วกว่า 20 ราย
       
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า ระหว่างที่ นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมกับคณะ ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจสอบปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องโครงการทำเหมืองบ้านแหง อ.งาว เมื่อ 21 เม.ย.54 แล้ว ได้เดินทางลงพื้นที่ดูปัญาผลกระทบของชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะ ของ กฟผ.ด้วย โดยพบว่าการขยายแอ่งเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ของ กฟผ.ยังคงสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
       
โดยข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ยังคงมีเด็ก คนชรา ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจบกพร่อง และจากการเข้าพบผู้ป่วยอย่างน้อย 3 ราย มีผลกระทบจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นจากการทำเหมืองลิกไนต์
       
นพ.นิรันดร์ บอกว่า จากการลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านยังคงเผชิญปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะชาวบ้านล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หากจะดูการระบาดวิทยาแล้วยังน่าวิตก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นที่ทราบกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไชให้ตรงประเด็น แม้ว่า กฟผ.จะออกมาบอกว่าดูแลชาวบ้านเป็นอย่างดีก็ตาม แต่ปัญหายังคงมีอย่างต่อเนื่องแสดงว่ามาตรฐานหรือเกณฑ์มาตรฐานที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นของ กฟผ.หรือของกรมควบคุมมวลพิษ หรือ สผ.ดูเหมือนว่าจะใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อมีคนป่วยมากขึ้น และในจำนวนนี้พบว่าตายไปแล้วหลายราย
       
“เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็มีคนตายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจไปอีก 1 ราย ถึงเวลาแล้วที่ กฟผ.และรัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหาโดยด่วน”
       
นายแพทย์ นิรันดร์ เปิดเผยอีกว่า กฟผ.ต้องออกมาแสดงความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที ไม่ใช่เดินหน้าแก้ไขปัญหาด้วยการนำเงินไปให้ชาวบ้าน หรือการอพยพเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่พอ หรือยังคงยึดเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐกำหนดเช่นนี้ ไม่เป็นธรรมสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและยังละเมิดสิทธิชาวบ้านอยู่อย่างนี้ ปัญหาไม่จบ และไม่ควรปล่อยปัญหานี้ด้วยการซื้อเวลาหรือบิดเบือนความเป็นจริง ชาวบ้านก็ตกอยู่ในสภาพอันตรายต่อไป
       
ด้าน นายศุกณ์ ไทยธนศุการณ์ กองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ทาง อบต.ได้รับข้อมูลจากการสำรวจโดย อสม.ในพี้นที่ ล่าสุดพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่อยู่ในพื้นที่ อบต.บ้านดง มากถึง 981 ราย ที่ต้องการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
       
 
อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049429 
 
กมธ.พัฒนาการเมืองสภาจี้ “มาร์ค”ค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี

 

ที่รัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม กมธ. ว่า ที่ประชุมมีมติคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่ส.ป.ป.ลาว ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยและประชาชนประเทศต่างๆที่อยู่ริมแม่น้ำโขง รวมถึงกระถึงกระทบต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งในการประชุมเอ็มอาร์ซี ของ4ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะมีเพียงประเทศลาวเท่านั้นที่ยืนยันให้เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในขณะที่อีก 3 ประเทศต้องการให้ศึกษาอย่างละเอียดรอบครอบ นอกจากนี้ กมธ.ยังตั้งข้อสังเกตว่าในการลงนามซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว จะเข้าข่าย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190ที่ไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

นายวัชระ กล่าวต่อว่า กมธ.จะยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ต่อนายกรัฐทนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในฐานะผู้ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากลาว บริษัท ช. การช่าง ในฐานะผู้ก่อสร้างเขื่อน รวมถึงจะทำการตรวจสอบ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็น1ใน4 ธนาคารของประเทศไทยที่ปล่อยกู้เงินในการก่อสร้างเขื่อน ทั้งนี้เขื่อนดังกล่าวแม้จะอยู่ที่ประเทศลาว แต่ก็อยู่เหนือ จ.หนองคาย 80-90 กิโลเมตร
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่าการพัฒนาและผลกระทบในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า เท่าที่ดูภาพถ่ายจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายเตรียมการก่อสร้างในพื้นที่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนมีการประชุม เอ็มอาร์ซี ในวันที่19 เม.ย. ทั้งๆที่ยังไม่ทราบผลการประชุม นอกจากนี้ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าการสร้างเขื่อนจะกระทบต่อสายพันธ์ปลา และแหล่งอาหารบริเวณโดยรอบ ซึ่งหากเขื่อนนี้สร้างได้สำเร็จ ก็จะมีการสร้างเขื่อนอื่นๆตามมาอีก 11เขื่อน และที่ผ่านมาประเทศจีนได้สร้างเขื่อนไปแล้ว 4เขื่อน หากยังปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนนี้ก็จะทำให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมของทุกประเทศริมแม่น้ำโขง
 
ลุ้นพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ปราชญ์ชาวบ้านเชื่อเป็นความหวังแก้วิกฤตสังคมไทย!!
นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์   ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ สำนักงานส่งเสริมการปฎิรูปเพื่อคุณภาพชีวิต เกษตรกร ชุมชนและสังคม (สปกช.)  กล่าวว่า  ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืนฯ อยู่ในกระบวนการเดินหน้ารับฟังความคิดจากทุกภาคส่วน   โดยการตระเวนไปในแต่ละภาคเพื่อให้เกิดสมัชชาคุณภาพชีวิตเกษตรกร  สะท้อนออกมาว่าตัว พ.ร.บ.ควรจะเป็นอย่างไร และมีรูปแบบอย่างไร  ทั้งนี้ เพื่อร่วมกัน ออกแบบ –ส่งเสริม- พัฒนา เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง  ซึ่งภายใน 2-3 ปี นี้ก็จะเห็น พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
 
ในขณะที่ นายบุญส่ง มาตข่าว ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  จ.ยโสธร กล่าวว่า  มีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่เกษตรกรไทยจะต้องมีตัวบทกฎหมายออกมาขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการทำเกษตร ทั้งนี้การมี พ.ร.บ.เป็นการทำงานส่งเสริมการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในภาพรวมทั่วทั้งประเทศ  เป็น เครื่องมือสำคัญการทำงานควบคู่ไปกับการปฎิรูปการเกษตรที่ต้องเดินคู่กันไป เนื่องจาก สถานการณ์ปัจจุบันคือการปล่อยให้เกษตรกรรมย่อยๆ ค่อยๆ ตายไป แล้วไปไม่มีการส่งเสริมให้เท่าเทียมกับ เกษตรกรรมพันธะสัญญา หรือคอนแทคฟาร์มมิ่ง 
 
นายบุญส่ง ระบุว่า การปฎิรูปประเทศ จะต้องคำนึงถึง เกษตรกรที่เป็นกำลังหลัก เพราะเป็นกระดูกสันหลังของชาติ  การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม จึงมีความจำเป็นต้องโยงคู่กับกฎหมาย
  
ในอดีต เรามีวิถีเกษตรกรรม แบบยังชีพ พึ่งพาตนเอง ใช้แรงงานสัตว์ ผูกความไถนา  แต่วันนี้เทคโนโลยีเข้ามา  ผมอยู่จังหวัดยโสธร ซึ่งมีพื้นที่ทำนาเป็นหลัก  อำเภอกุดชุมเราส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยใช้เกษตรแบบอินทรีย์ แต่  กว่า ที่เราจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการเกษตรอินทรีย์ มันผ่านประสบการณ์ ที่แลกมาสุขภาพและชีวิต ที่ได้รับผลกระทบ จากวิถีการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป
 
“การ เกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีการปฎิวัติเขียว เป็นการเปลี่ยนแปลง การตลาดเป็นการขาย เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม เมื่อเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์วิถีชีวิตก็เปลี่ยน กลายเป็นเพื่อการค้า แข่งขัน ข้าวพันธุ์ใหม่ ก็สามารถส่งเสริมการตลาด ปลูกแล้วขาย  ไม่มีการหยิบยื่นกันกิน อาศัยการตลาดเป็นวิถี วิถีชีวิตในชุมชนการช่วยเหลือแบ่งปันก็หายไป”  
 
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบ  ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรรมอย่างยั่งยืน พ.ศ.... และอนุมัติในกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2555-2556 ในวงเงิน 180 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปจัดตั้งงบประมาณประจำปีการสนับสนุนการดำเนินงาน
 
 
กลุ่มคนไทยฯ เปิดเวทีเสวนาบทเรียนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะถึงอุบลราชธานี
นักวิชาการญี่ปุ่น ระบุดินแดนซามูไร มีเป้าหมายสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 38 แห่ง แต่สร้างจริงได้เพียง 17 แห่ง เพราะคนญี่ปุ่นก็ต่อต้านไม่เอานิวเคลียร์เช่นกัน ด้านแกนนำคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังยืนหยัดต้านจนกว่ารัฐบาลจะถอนโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผนสำรองพลังงาน 2010 ระหว่างปี 2553-2573 อย่างเป็นทางการ
       
21 เม.ย. ที่ห้องดอกจาน 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ จัดเสวนา “โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะถึงอุบลราชธานี บทเรียนนิวเคลียร์กับพลังงานทางเลือก” โดยเชิญนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเล่าถึงผลดีผลเสียที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ โดยมีตัวแทนนักวิชาการ ภาคประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าฟังกว่า 100 คน
       
นายฮิเดยูกิ บัน นักวิชาการชาวญี่ปุ่นจากศูนย์ข้อมูลนิวเคลียร์เพื่อประชาชน ระบุว่า เดิมรัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศถึง 38 แห่ง แต่สร้างได้จริงเพียง 17 แห่ง เพราะโรงไฟฟ้าที่เหลือคนญี่ปุ่นต่อต้าน
       
ดังนั้น จึงไม่เป็นความจริงที่มีการกล่าวว่า คนญี่ปุ่นไม่ต่อต้านการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ และที่สำคัญ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เหมือนกับรัฐบาลอื่นในหลายประเทศของโลกนี้ ซึ่งจะให้ข้อมูลด้านดีของการมีพลังงานนิวเคลียร์เพียงด้านเดียว
       
สำหรับผลกระทบหลังเกิดการระเบิดขึ้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้ชาวโลกรับรู้ถึงมหัตภัยที่เกิดขึ้น และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากการแผ่กระจายของสารกัมมันตรังสี ทั้งในอากาศและน้ำ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหารที่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี จึงต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในสภาพเดิม
       
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049043   
 
่าเรือแหลมฉบังเดินหน้าศึกษาท่าเรือฯเฟส 3 คู่ประชาพิจารณ์แม้ถูกชาวบ้านต้าน
ท่าเรือแหลมฉบัง ทุ่มงบกว่า 140 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายละเอียดในการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือเฟส 3 ที่มีงบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ควบคู่การจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นจากชาวบ้าน ชี้แม้ถูกต่อต้านหลังไม่สามารถปฏิบัติตามที่รับปากได้ แต่ก็ต้องเดินหน้าทำความเข้าใจ
       
เจ้าหน้าที่จากการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ว่า แม้การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาจะถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก ทั้งในเรื่องที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในหลายส่วนตามที่ได้รับปากกับชาวบ้าน และชุมชนที่อยู่โดยรอบได้ รวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการท่าเรือแหลมฉบังจะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป
       
ในส่วนของการพัฒนาโครงการก็ยังคงต้องกระทำควบคู่กับการทำประชาพิจารณ์ ที่คาดว่าอาจจะต้องมีอีกประมาณ 2-3 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมของการจัดทำโครงการ โดยใช้งบประมาณในส่วนนี้ถึง 141 ล้านบาท 
       
ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงการออกแบบแปลนท่าเรือในเฟส 3 ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกขนาด 18 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจะมีท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 9 ท่า แบ่งเป็นท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ 7 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปและตู้คอนเทนเนอร์ 1 ท่า และท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งรถยนต์อีก 1 ท่า โดยมีแผนให้ท่าเทียบเรือแรกสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2560 และจะทยอยเปิดท่าอื่นๆ จนครบทั้ง 9 ท่าในปีต่อๆ ไป

 

“งบลงทุนในโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายใต้เนื้อที่ดำเนินงาน 1.6 พันไร่ โดยจะเป็นท่าเทียบเรือที่มีแอ่งจอดเรือยาวถึง 4,500 เมตร ซึ่งหากโครงการนี้เปิดดำเนินการพร้อมกันจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 8 ล้านทีอียูต่อปี และจะสามารถรองรับรถยนต์ส่งออกได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี และยังจะทำให้ศักยภาพโดยรวมของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับตู้สินค้าจากท่าเทียบเรือที่มีทั้ง 3 เฟส ได้มีมากถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี” เจ้าหน้าที่กล่าว
อ่านเพิ่มเติมที่  http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000048956   

 

ค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จวกรวบรัดพิจารณา-เป็นเครื่องมือรัฐคุมคนเห็นต่าง
20 เม.ย.54 เวลาประมาณ 10.30 น. ประชาชนกว่า 60 คนจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน และองค์กรร่วมอีก 38 องค์กร ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และปราศจากกระบวนการพิจารณารับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
แถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 
หยุด!!!คุกคามเสรีภาพประชาชน 
วันที่ 20 เมษายน 2554
 
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... โดยมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานนั้น บัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเสร็จ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันพุธที่ 20 เมษายน 2554
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้ติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะมาโดยตลอด มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้
 
ประการแรก การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. มีเนื้อหาสาระสำคัญอันเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนและประชาธิปไตย กล่าวคือ การชุมนุมสาธารณะที่จะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้รับแจ้ง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน การชุมนุมจะต้องแจ้งสถานที่ จำนวนผู้ร่วมชุมนุม ห้ามตั้งเวทีบนถนน บนพื้นที่จราจร ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานี ขนส่ง สถานทูตสถานกงสุล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ ห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนจัดชุมนุมจะมีความผิดในข้อหาเจตนาฝ่าฝืนการชุมนุม หรือข้อหาชักชวนผู้อื่นร่วมชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษจำคุกข้อหาละ 6 เดือน
 
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนเห็นว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ และความเรียกร้องต้องการทางเศรษฐกิจการเมืองสังคม อันมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการ และระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนจึงไม่เพียงเป็นการสร้างแนวพื้นที่กันชนทางอำนาจให้กับรัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก เนื่องจากการปฏิเสธวิถีประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน
 
ประการที่สอง ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงจะมี ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญของรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง ในการระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เมื่อพิจารณากระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นได้ชัดว่าขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่เข้าไม่ถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีตัวแทนคณะกรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้าน ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาอีกด้วย 
 
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน จึงขอแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และคัดค้านกระบวนการพิจารณาโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34143     

 

ประชาชนริมโขงร้อง “รัฐบาลลาว” ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติเขื่อนไซยะบุรี

20 เม.ย.54 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวยุติการก่อสร้าง โครงการเขื่อนไซยะบุรี ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ วานนี้ (19 เม.ย.54) ที่กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี มีมติที่ประชุมมีผลว่ากัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรีควรจะยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการร่วมไม่สามารถจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับโครงการ
 
“พวกเรา เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลลาว และบริษัท ช.การช่าง ยุติการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที และขอให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ชีวิต และธรรมชาติของภูมิภาคที่มีแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน” แถลงการณ์ระบุ
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34147   

 

ชาวพะเยายันค้านโรงไฟฟ้าแกลบห้ามผุดในพื้นที่-ผวาซ้ำรอยแม่เมาะ-ญี่ปุ่น

 
ชาวบ้าน “อ่างทอง” ไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังแกลบ ผวาซ้ำรอย “โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และญี่ปุ่น” นายก และสภา ยันทำตามมติชาวบ้าน ด้านอุตสาหกรรมจังหวัด ร่อนเอกสารให้ชาวบ้านเซ็น ย้ำ เจตนารมณ์ “ไม่เอาโรงไฟฟ้า”

 

นายอนุชา กาติ๊บ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า ได้มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาติดต่อกับทาง อบต.เพื่อขอก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังชีวมวล ในท้องที่หมู่ 10 ต.อ่างทอง หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นจากทางบริษัทแล้ว ตนจึงแนะนำให้บริษัทดำเนินการจัดทำการประชุมประชาคมกับประชาชนในพื้นที่ หมู่ 10 ด้วยตัวเอง เพราะอำนาจการตัดสินใจจะให้สร้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมติของประชาชนหมู่ที่ 10 ต่อมาบริษัทได้ทำประชาคมเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ประชาคมไม่ผ่าน มติประชาชนหมู่ 10 ไม่ยอมให้สร้าง

 

ทั้งนี้ ประชาชนให้เหตุผลว่ากลัวจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และล่าสุด จากเหตุการณ์การระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ในขณะนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนกลัวมากขึ้น ตอกย้ำประชาชนยิ่งไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

 

นายก อบต.อ่างทอง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ได้มีแบบสอบถามมาถึงประชาชนในพื้นที่ ต.อ่างทอง กรอกเพื่อยืนยันว่าไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้า ส่งเป็นเอกสารหลักฐานกลับให้ สนง.อุตสาหกรรม อีกครั้งหนึ่ง
       

 
 
ชาวไทยภูเขาฮือประท้วงป่าไม้ยื้อตัดถนนดอยช้าง
20 เม.ย.54 ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาใน อ.แม่สรวย และ อ.เมือง จ.เชียงราย จำนวนกว่า 1,000 คน เดินทางโดยรถยนต์กว่า 200 คันไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้ รมว.คมนาคมช่วยเหลือการก่อสร้างถนนจากบ้านห้วยส้านลีซอ ต.ห้วยชมภู อ.เมือง กับบ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาท ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ที่จะถึงนี้ แต่ปรากฏว่าก่อสร้างไปเพียง 2 กิโลเมตรก็หยุดโครงการ เนื่องจากทางสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 15 ออกมาคัดค้านอ้างว่าอยู่ในเขตป่า ทำให้กลายเป็นปัญหายืดเยื้อ เกรงว่าหากหมดระยะเวลาโครงการงบประมาณจะถูกโยกไปยังพื้นที่อื่น ทั้งที่ชาวบ้านต้องทนทุกข์กับการใช้ถนนดินแดงมานานกว่า 100 ปี การขนส่งพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านกว่า 50,000 คนไม่สามารถทำได้ ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นที่ไกลกว่า 70 กิโลเมตร
 
ต่อมา พ.อ.พรชัย ดุริยพันธ์ รอง ผอ.รมน.จ.เชียงราย เป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เดินทางมาเจรจาโดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเจรจาร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน ได้ข้อสรุปให้ดำเนินการก่อสร้างถนนได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องให้เป็นถนนเพื่อความมั่นคง โดยทางทหารจะเข้ามาควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงการใช้เส้นทาง ชาวบ้านต่างพอใจจึงยอมสลายตัวในที่สุด
 
 
เครือข่ายอปท.เสนอ 10 ข้อปฏิรูปองค์กร
ที่โรงแรมรามาการ์เด้น 8 เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้นำเสนอข้อเสนอการปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่นต่อตัวแทนพรรคการเมือง มีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ , นายวิทยา บุรณศิริ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย , พ.ต.อ.ธนบดี ภู่สุวรรณ พรรคประชากรไทย , นายประเสริฐ เลิศยะโส พรรคการเมืองใหม่ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอ
 
นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เป็นตัวแทนนำข้อเสนอในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น 10 ข้อ มีประเด็นหลักคือ 1.จัดตั้ง “ สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” ให้เป็นกลไกกลางในการประสานให้เกิดการพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่น และพัฒนาระบบที่มีความยืดหยุ่นตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม 2.จัดสรรงบประมาณแก่ อปท. ในระดับที่พอเพียงต่อการดูแลประชาชน โดยเบื้องต้นให้ใช้สัดส่วนงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้ของรัฐบาล ภายใน 5 ปี
 
3 .ใช้มาตรการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวของประชากรในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ 4 .ตรากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ และแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นไปโดยกลไกภาคประชาชน
 
5. จัดตั้ง “กองทุนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เป็นกลไกการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น 6. ใช้มาตรการสมทบงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นที่พัฒนาระบบการจัดการตนเองและมีระบบการเงินการคลังของชุมชนด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีระบบบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับของชุมชน
 
7.จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการสำหรับบุคลากรของท้องถิ่น” ให้มีความเสมอภาคกับสวัสดิการที่รัฐให้กับข้าราชการพลเรือน
8. ผลักดันข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการยุบราชการส่วนภูมิภาค 9.ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว และ 10.จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เป็นอิสระ
 
 
สคจ.เปิดบันทึกเจรจากับรัฐบาล ทวงสัญญาแก้ปัญหาปากมูล หลังผ่านมา 40 วัน ไม่คืบหน้า

20 เม.ย 54 มีรายงานว่า สมัชชาคนจน ส่งบันทึกการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านปากมูนในวันที่ 21 ก.พ.54 ที่ผ่านมาให้สื่อมวลชนและสาธารณธชนได้รับทราบ หลังจากได้ตกลงกับรัฐบาล จะครบ 45 วันในวันที่ 22 เมษายน นี้ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย
โดยบันทึกระบุว่า นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบที่จะให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลวิจัยและรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนข้างจึงให้มีการประชุมรวมกันอีกครั้งระหว่าง ขปส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

อ่านรายละเอียดที่ http://prachatham.com/detail.htm?code=n2_20042011_01  

 
นักวิชาการ-เอ็นจีโอ จวก ครม.ทำ ‘ร่างสถาบันฯ ธนาคารที่ดิน’ เพี้ยน หวั่นกระทบถึงธนาคารที่ดิน
19 เม.ย.54 เมื่อเวลา 9.00 น.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ“สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กับการแก้ไขปัญหาคนจนไร้ที่ทำกิน” เพื่อทำความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมกำหนดทิศทางการทำงานและขับเคลื่อนให้การจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการกระจายการถือครองที่ดิน
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 เม.ย.54 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องยืนยันเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วยแล้ว ตามจุดมุ่งหมายของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เพื่อให้เป็นสถาบันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างรอการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
 
นักวิชาการเสนอ 3 แนวทางกระจายการถือครองที่ดิน
 
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความเห็นต่อร่างกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินว่า ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลไกของรัฐในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ซึ่งมีอีก 2 กลไกหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ กลไกตลาดโดยการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกลไกฐานชุมชน โดยการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและถือครองที่ดิน เช่น การจัดทำโฉนดชุมชน      
 
อย่างไรก็ตาม ร่างกฤษฎีกาที่ผ่าน ครม.มานั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนจากร่างแรก โดยได้ตัดส่วนที่พูดถึงการคุ้มครองพื้นที่เกษตรออกไป อีกทั้งในส่วนที่มาของงบประมาณสนับสนุนก็เปลี่ยนจากเดิมที่เขียนเอาไว้ว่าเป็นงบประมาณประจำปีจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ถูกกำหนดให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามสมควร หมายความได้ว่าหากรัฐบาลจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ ทั้งที่ในส่วนนี้ควรต้องมีหลักประกันที่มาที่แน่นอนของแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากเงินประเดิม จึงจะทำให้มั่นใจได้ว่าธนาคารที่ดินจะเดินไปได้
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34137  
 
เครือข่ายประชาชน ตอ.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ จัดการเด็ดขาดโรงงานปล่อยน้ำเสีย
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ สำเนาถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม จัดการเฉียบขาด กรณีโรงงานปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนน้ำประปาส่งกลิ่นเหม็นทั้งเมือง
       
19 เม.ย.ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำสมาชิกเครือข่ายจำนวน 50 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และสำเนาถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังด้วย
       
นายสุทธิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์โรงงาน สยามเอทานอล เอ็กซปอร์ต หมู่ 8 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง อ้างว่า ผนังกั้นดินบ่อบำบัดน้ำเสียแตก ทำให้น้ำกลิ่นคล้ายส่าเหล้าไหลลงคลองใหญ่ลงสู่ฝายต้นน้ำแม่น้ำระยอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคของชาวระยองส่งกลิ่นเหม็น
       
ทำให้ชาวบ้านต้องเปิดน้ำประปาทิ้ง โรงงานผลิตน้ำดื่มที่ใช้น้ำประปาเป็นวัตถุดิบได้รับความเสียหายหนัก ต้องระบายน้ำทิ้งจำนวนหลายหมื่นลิตร อุปกรณ์เครื่องกรองน้ำต้องเปลี่ยนใหม่หมด และน้ำเสียดังกล่าวไหลลงแม่น้ำระยองออกสู่ปากน้ำระยอง หวั่นมีผลกระทบต่อป่าชายเลนปากน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับโรงงานแห่งนี้ เพราะเกิดปัญหาซ้ำซาก รวมทั้งให้จังหวัดมีมาตรการจัดการกับโรงงานที่ตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำผลิตน้ำประปา
       
นายธวัชชัย กล่าวว่า ได้เชิญอัยการจังหวัดระยองมาเป็นที่ปรึกษาข้อกฎหมาย ในการฟ้องคดีทั้งอาญาและแพ่ง และให้ชลประทาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประมง อุตสาหกรรม ประปาภูมิภาค รวบรวมข้อมูลในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนการแก้ไขปัญหาโรงงานที่ตั้งอยู่เหนือต้นน้ำแหล่งผลิตน้ำประปา ซึ่งขณะนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยละเอียดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นอีก
       
จากการตรวจสอบ พบว่า ชลประทานได้วางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่จากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.นิคมพัฒนา เขตติดต่อ อ.บ้านค่าย ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนจากชลประทาน วางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อมายังแหล่งผลิตน้ำประปา อ.บ้านค่าย เพื่อแก้ปัญหาโรงงานลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลอง ส่งผลกระทบปนเปื้อนน้ำประปา โดยจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมาผลิตน้ำประปาแทน ซึ่งต้องใช้งบประมาณเกือบ 200 ล้านบาท แต่กรมชลประทานแย้งว่า เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกี่ยวกับชลประทาน
       
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำประปาในอนาคตของ จังหวัดระยอง ด้วยการติดตั้งโรงกรองน้ำผลิตน้ำประปาเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 720 ล้านบาท ส่งน้ำมาตามแนวชายทะเลมายังพื้นที่ตัวเมืองระยอง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำประปาให้แก่ชาวระยองอย่างทั่วถึง
 
ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับแล้ว-โรงงานขยะ 700 ล้าน อบจ.ลำปาง
นายบุญสม ชมพูมิ่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) ตนพร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านในเขตตำบลบ้านเป้า ตำบลต้นธงชัย รวม 8 คน ได้เข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านในตำบลบ้านเป้า ตำบลต้นธงชัยได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อปี 2553 ให้ระงับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ของ อบจ.ลำปาง ที่ว่าจ้างเอกชนเข้าทำการก่อสร้างด้วยวงเงินงบประมาณเกือบ 700 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มปรับพื้นที่และก่อสร้างไปบางส่วน ในพื้นที่ตำบลต้นธงชัย

 

แต่ทาง อบจ.ลำปาง ต้องชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นได้กำหนดมาตรการหรือวิธีคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ระงับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
       
ล่าสุด 18 เม.ย. ศาลปกครองชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ระบุว่า แม้ อบจ.ลำปาง จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บขยะ โดยโครงการก่อสร้างขยะมูลฝอยมีมูลค่า 695,800,000 บาท เป็นเงินภาษีของประชาชน หากโครงการดังกล่าวยังดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ แล้วต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายที่มากกว่า ประกอบกับขณะนี้โครงการก่อสร้างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การระงับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย จึงย่อมไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
       
นายบุญสม กล่าวว่า การตัดสินของศาลปกครองครั้งนี้ ถือว่ายุติธรรมกับชาวบ้านมาก เพราะหากยังให้ อบจ.ลำปาง ดำเนินการต่อ ชาวบ้านก็คงได้รับผลกระทบ และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ อบจ.ลำปาง ได้ดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก ซึ่งชาวบ้านรอคำสั่งของศาลปกครองมานานแล้ว และวันนี้ก็พอใจกับการตัดสิน
       
และต่อไปชาวบ้านก็คงต้องคอยดูแลเพื่อไม่ให้ อบจ.ลำปาง เข้าไปดำเนินการก่อสร้างบ่อกำจัดต่ออีก จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของส่วนกลางได้เรียบร้อยก่อน ชาวบ้านจึงจะได้ประชุมกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันก็ไม่เหลือป่าไม้อีกแล้ว
 
ชาวบ้านชลบุรีค้านหวั่นนายทุนรุกที่สาธารณะ
ชาวบ้านค้านนายทุนชลบุรีพานายช่างที่ดินมารางวัดที่สาธารณะน้ำทะเลท่วมถึงกว่า 500 ไร่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แถมบางแปลงยังใช้ชื่อสค. 1 ซ้ำซ้อนกะสวมสิทธิ์ ขณะที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดยืนยันแนวเขตหากรุกล้ำอุทยานพร้อมคัดค้านเช่นกัน
 
นายบัญชา เสือเหลือง นายก อบต.เขาแดง ,นายนคร สายฟ้า กำนัน ต.เขาแดง พร้อมด้วยชาวบ้านเขาแดงอีกประมาณ 20 คน เดินทางไปยังชายทะเลหมู่ที่ 2 ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังทราบข่าวว่า นายทุนจาก จ.ชลบุรี ได้พานายช่างรางวัดที่ดิน จากสำนักงานที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาทำการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดิน นอกจากนี้ยังมี นายนพวงษ์ พฤษชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ,นายจรัส คำแพง ผช. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งได้รับหนังสือจากทางสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ไปชี้แนวเขตของอุทยานฯด้วยเนื่องจากที่ดินที่จะทำการรางวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินมีบางส่วนติดกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดด้วย ทั้งนี้ที่ดินที่จะดำเนินการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 16 แปลง เนื้อที่รวมกันกว่า 500 ไร่ มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท แต่หากซื้อขายต่อเพื่อปลูกสร้างโรงแรมรีสอร์ท มูลค่าที่ดินจะขยับขึ้นไปอีก 2-3 เท่าตัว โดยพบว่านายทุนได้ดำเนินการปักไม้ไผ่ผูกถุงพสาสติกเป็นแนวเขตเบื้องต้นแล้ว โดยที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินตะกาดน้ำทะเลท่วมถึง และหน้าที่ดินติดกับชายทะเลสามร้อยยอดที่สวยงามเกือบทั้งหมด
 
ทั้งนี้พบว่าในขั้นตอนของการชี้แนวเขต มีชาวบ้านบางส่วนได้มายืนยันชื่อใน สค. 1 ที่พบว่า มีการซ้ำซ้อนกับ สค. 1 ที่นายทุนได้นำมายื่นเพื่อขอออกโฉนดด้วย โดย สค. 1 ที่ซ้ำซ้อนมิได้อยู่ในจุดที่จะทำการออกโฉนด คล้ายการนำมาสวมสิทธิ์ อีกทั้งการวางวัดที่ยังพบว่านายทุนไม่สามารถชี้แนวเขตของตัวเองที่ถูกต้องได้ เพราะเพื่อชี้ไปตรงจุดใดก็พบว่าเป็นจุดที่ดินของอุทยานฯบ้าง เป็นจุดที่เป็นที่ดินของชาวบ้านบ้าง สุดท้ายการชี้แนวเขตต้องยุติลง โดยระบุว่าในวันที่ 19 เมษายน 2554  นายทุนจะพาเจ้าหน้าที่ที่ดินมาชี้แนวเขตเพื่อรางวัดที่ดินใหม่อีกครั้ง โดยมีการอวดอ้างกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่าหากไม่สามารถรางวัดที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ได้นายทุนจะร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังอธิบดีกรมที่ดินเลยทีเดียว
 
อย่างไรก็ตามในส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้ยืนยันแนวเขตที่ดินของอุทยานกับสื่อมวลชน พร้อมระบุด้วยว่า ที่ดินที่นายทุนขอออกโฉนดนั้น มีการทับซ้อนกับที่ดินของอุทยานแน่นอน โดยขอให้มีการตรวจสอบให้ถูกต้องอีกครั้งจากภาพถ่ายทางอากาศหรือเทียบเคียงกับ สค. 1 ของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง โดยทางอุทยานมีความจำเป็นต้องคัดค้านหากพบว่ามีการรุกล้ำที่ดินของอุทยาน ส่วนที่ดินแปลงอื่นยังพบว่า เป็นที่ดินตะกาด หรือที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยปกติจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ใดๆได้
 
 
ชาวบ้านริมโขงยื่นหมื่นรายชื่อถึงสถานทูตลาว – นายกไทย ค้านเขื่อนไซยะบุรี
18 เม.ย.54 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ราว 100 คน จากจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายถึงนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว แจ้งความกังวลใจและขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีราว 10,000 รายชื่อ
 
สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) จะจัดการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee Special Session) 4 ประเทศ (กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม) ที่สำนักงานในนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ในวันที่ 19 เม.ย.นี้
                        
ตามจดหมายที่ส่งถึง นายกรัฐมนตรีของลาว ระบุถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.54 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 8 เม.ย.54 เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยความเห็นส่วนใหญ่มองว่า ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ ในขณะที่การก่อสร้างโครงการกลับมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลใจต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
พร้อมเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีของลาวเลื่อนการตัดสินใจในการให้ความเห็นชอบต่อการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ของคณะกรรมการร่วม MRC ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย.นี้ ออกไป เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและชัดเจน พร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง
 
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า การเดินทางองชาวบ้านมาที่สถานทูตลาวในวันนี้เป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในการไม่ต้องการเขื่อนของประชาชนริมน้ำโขง โดยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงได้ออกมาพูดด้วยตัวเอง และประชาชนควรเป็นผู้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตที่อยู่ร่วมกับแม่น้ำโขง ไม่ใช่รัฐบาลหรือนายทุน อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษาของ MRC ก็ได้ชี้ชัดแล้วว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง และได้มีข้อเสนอให้ชะลอการตัดสินใจสร้างเขื่อนออกไปอีก 10 ปี เพื่อทำการศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
 
นายนิวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาราว 5 เดือนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ท่าทีของประเทศสมาชิก MRC ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และไทยเองก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเพราะต่างหวั่นเกรงผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลลาวแล้วว่าจะเคารพการตัดสินใจของประเทศสมาชิกอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้นั้นต้องการยุติกระบวนการในฝั่งของรัฐบาลไทย บริษัทเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของไทย เพราะการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่สามารถกล่าวโทษรัฐบาลลาวแต่เพียงฝ่ายเดียวได้     
 
สำหรับการไปยื่นจดหมาย พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี 10,000 รายชื่อต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีสี ผู้แทนไทยในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบการดำเนินการโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ดร.ศรีประภาได้รับปากจะนำเรื่องนี้เขาหารือในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนภายในเดือนพฤษภาคม เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบด้านสิทธิของประชาชน และมีผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งควรถูกยกระดับไปสู่การพูดคุยในวงอาเซียน
  
อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34109
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net