Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

ปลายเดือนสิงหาคมช่วงท้ายของเดือนรอมฎอนพี่น้องชาวบ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสต้องฝันสลายไม่สามารถเอาผิดคนชั่วทีกราดยิงญาติพี่น้องของเขาถึง 10 ศพในมัสยิดอัลฟุรกอน หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้อง หลังจากนั้นสองวันกล่าวคือเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 พี่น้องชาวนราธิวาสต้องผิดหวังอีกครั้งหนึ่งเมื่อ ศาลไม่รับฟ้อง 5 ทหารซ้อม“อิหม่ามยะผา”จนตาย อันเนื่องมาจากศาลได้ ชี้ว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร

กล่าวคือศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดฟังคำสั่งการไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง โจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ส.อ.บัณฑิต ถิ่นสุข อดีตทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ) ทุกข้อกล่าวหา โดยเห็นว่าที่โจทก์อ้างว่าการนำตัว นายยะผา กาเซ็ง กับพวก ไปแถลงข่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้น ระเบียบดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ไม่มีบทลงโทษการกระทำดังกล่าว จึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 6 ได้ 

ส่วนการที่จำเลยที่ 6 นำรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้เป็นที่คุมขังและควบคุมตัว นายยะผา กาเซ็ง ผู้ตายกับพวก ภายในหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก

ส่วนจำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ อย่างไรก็ดี หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1-5 ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจได้

จากคำพิพากษาดังกล่าวทั้งสองคดีทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่คดีของชาวบ้านหากจำเลยเป็นคนของรัฐหรืออดีตคนของรัฐจะรอดและไม่เคยถูกลงโทษ (ทั้งๆ ที่ต้องเคารพในอำนาจการตัดสินใจของศาล) ขณะเดียวกันพวกเขารู้สึกว่าการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ (ทั้งที่ชาวบ้านเห็นว่ากระทำความผิดอย่างชัดเจน) นั้นเป็นเรื่องยากเหลือเกินและไม่ต่างอะไรกับคดีตากใบซ้ำร้ายเป็นชาวนราธิวาสด้วยเช่นกันที่ถูกกระทำ

สำหรับไอร์ปาแย เกิดคำถามมากมายถึงวาทกรรม 2 มาตรฐานที่พวกเขาได้ยินจากกลุ่มคนเสื้อแดงมาตลอดนั้นพวกเขาสัมผัสมาก่อน

ผู้ต้องหามุสลิม มักจะโดนกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงหรือก่อการร้าย (ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงทั้งหมดและผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษทุกคนเป็นชาวมุสลิม) และพวกเขาเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี แต่ชาวไทยพุทธที่ใช้ความรุนแรงก็จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย ศาลจะลงโทษหรือไม่มีความผิดหรือไม่ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่เมื่อผลเป็อย่างนี้หมายความว่าตำรวจใช้อำนาจสอบสวนที่ตนมีอยู่ดำเนินการปิดคดีไปแล้ว อาจจะต้องมีการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาตำรวจว่าความเห็นเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่หรือมีมูลหรือไม่ที่สั่งไม่ฟ้อง อัยการและผู้ว่าราชการจังหวัดยังสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องของตำรวจได้ คำถามจากชาวบ้านว่ารัฐจะทำหรือเปล่า หรือกรณีที่ผู้เสียหายอาจตั้งคดีฟ้องเองแบบคดีอิหม่ามยะผา ก็อาจจะทำได้ แต่ก็ยากลำบากมาก ในขณะที่การใช้กฎหมายพิเศษในการสอบสวน 30 วันตามพรก.ฉุกเฉินนั้นก็ไม่เคยใช้กับไทยพุทธและที่สำคัญเท่าที่ทราบก็ไม่ได้ใช้กับผู้ต้องหาคดีนี้ ไม่เคยออกหมายจับ (ฉฉ.) การสอบสวนของตำรวจมีการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างสุดความสามารถแล้วหรือยังเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิด ทั้งนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการใช้ พรก.ฉุกเฉิน แต่เพียงแสดงให้เห็นว่าการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดเป็นการเลือกปฏิบัติ

ประเด็นก็คือหากสิ่งที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมชายแดนใต้ตั้งข้อสัเกตุข้างต้นเป็นจริงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งยากขึ้นถึงแม้จะเปลี่ยนแม่ทัพภาคสี่สักกี่คนและพูดผ่านสื่อเป็นประจำว่าปัญหาใต้นั้นดีขึ้น

ในขณะเดียวกันอย่าลืมองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำลังจับจ้องการจัดการความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษของไทยไม่ว่าจะเป็นที่เมืองหลวงหรือจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งกรณีนี้อาจจะถูกเขียนรายงานและนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติได้ว่าการใช้กฎหมาย พรก. เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่ไทยเป็นรัฐภาคีหรือไหม หรือการร้องเรียนต่อศาลปกครองหรือศาลปกครองว่าการบังคับใช้กฎหมายพิเศษไปในทางเลือกปฏิบัติได้หรือไม่ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

ที่สำคัญมีหนทางใดบ้างที่จะให้ผู้เสียหายเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งฝากทุกส่วน (ทั้งเมืองหลวงและชายแดนใต้) ต้องช่วยกันทำช่วยกันคิด ไม่ใช่ผลักภาระนี้ให้กับผู้เสียหายและสังคมผู้ถูกกระทำ (ไม่ว่ามุสลิมหรือเสื้อแดงขณะนี้) รู้สึกถึงความอยุติธรรมต่อไปเรื่อยๆ

ศาสนาอิสลามได้บัญญัติถึงความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ไว้แล้วเพราะมนุษย์นั้นไม่ได้แตกต่างกันที่ความเป็นมนุษย์ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ความว่า
 
โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลายเราได้สร้างพวกเจ้ามาจากชายและหญิงและเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นหมู่เหล่าเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้จักกันแท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้าณ อัลลอฮ์นั้นก็คือผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกเจ้าเท่านั้น”(อัลฮุญุร็อต 49:13) 

และท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้กล่าวไว้เช่นกันความว่า
 
“แท้ที่จริงสิ่งที่ทำให้ชนก่อนพวกเจ้าประสบกับความหายนะก็คือเมื่อผู้ดีมีตระกูลของพวกเขาทำผิดโทษฐานขโมยพวกเขาก็จะปล่อยไป(ไม่นำตัวมาลงโทษ)แต่ถ้าหากคนอ่อนแอในหมู่พวกเขากระทำผิดโทษฐานขโมยพวกเขาก็จะนำมาลงโทษขอสาบานต่ออัลลอฮ์หากว่าฟาติมะฮฺบุตรีของมุฮัมมัด(หมายถึงท่านศาสนทูตมุฮัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลม) ขโมยฉันก็จะลงโทษนางเองอย่างแน่นอน”(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และมุสลิม)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net