Skip to main content
sharethis

'ชัยธวัช' เปิดอภิปรายญัตติ ม.152 ชี้ รบ.บริหารมา 6 เดือนแล้ว ไม่มีการดำเนินนโยบายตามที่ให้คำมั่นสัญญา และไม่สามารถตอบสนองความคาดหวัง ปชช. ประชาธิปไตยไม่เดินหน้า ด้าน 'เศรษฐา' แจง 6 เดือนที่ผ่านมา หลายเรื่องมีการดำเนินการ ยินดีตอบทุกคำถาม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ


3 เม.ย. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (3 เม.ย.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นกล่าวเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 รัฐธรรมนูญ โดยไม่ลงมติ ระบุถึงเหตุผลและที่มาที่ไปของการอภิปรายในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการบริหาร 6 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล ไม่ได้มีการดำเนินตามนโยบาย และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และที่เคยแถลงต่อสภาฯ ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ชัยธวัช กล่าวเพิ่มถึงปัญหาว่า หลังการเลือกตั้ง ประชาชนต่างคาดหวังว่าเราจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ที่ต่างจากผู้นำรัฐประหาร แต่เวลาผ่านไป กลับพบว่าพวกเราได้นายกรัฐมนตรีที่ไร้วุฒิภาวะไปอีกแบบ หลายครั้งท่านก็สับสนว่าท่านเป็นใคร มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ขาดภาวะผู้นำในการสร้างความเชื่อมั่น และความชัดเจนในทิศทางของรัฐบาล และมีวิธีคิดในการตั้งรัฐมนตรีแบบเดิมๆ เป็นโควต้าสมบัติพลัดกันชม แทนที่จะตั้งบุคลากรตามความรู้ความสามารถที่เหมาะสมตามกระทรวงต่างๆ 

ชัยธวัช ตั้งคำถามต่อว่า ประชาชนคาดหวังต่อนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจปากท้องให้ดีขึ้น แต่พบนโยบายที่สับสน และขาดยุทธศาสตร์และแนวทางที่ชัดเจน แทนที่ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปากอย่างเสมอภาค กลับพบนโยบายเอื้อทุนผูกขาด หลายนโยบายแอบอ้างประชาชนบังหน้า แต่เบื้องหลังเนื้อใน กลับเต็มไปด้วยความฉ้อฉลเชิงนโยบาย เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีแสวงผลโดยมิชอบอย่างน่าละอาย 

ชัยธวัช ตุลาธน (ที่มา: TP Channel)

หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ตั้งคำถามต่อว่า หลังการเลือกตั้ง ประชาชนคาดหวังที่จะเห็นการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตอนเริ่มรัฐบาลแถลงด้วยความมั่นใจว่าจะมีการจัดทำประชามติให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว แต่วันนี้ผ่านมา 7 เดือน ยังคงวกไปวนมา ประชาชนไม่แน่ใจแล้วว่าตกลงรัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อการปฏิรูปการเมือง และต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าหากจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐบาลสมัยนี้ ก็อาจจะได้ รัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ไว้วางใจประชาชนเหมือนเดิม 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประชาชนคาดหวังว่าจะเห็นการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพ และการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องอย่างยาวนาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเรากลับพบว่ากระบวนการนิติสงคราม ยังดำเนินต่อไป ไม่ต่างจากหลังรัฐประหาร การปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นต่างในนามกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง สิทธิเสรีภาพเริ่มมีสัญญาณว่าถูกคุกคาม แทรกแซง 

ประชาชนคาดหวังในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นิติรัฐ และนิติธรรม แต่กลับพบวิกฤตศรัทธาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในระบบตำรวจและราชการยังเต็มไปด้วยระบบตั๋วและส่วย จนประชาชนไม่สามารถไว้วางใจในกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้ง ความเสมอภาคเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซ้ำเติมวิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 

"ท่านไม่ต้องพูดว่าถ้าไม่ชอบกันก็ต่างคนต่างอยู่ เพราะพี่น้องประชาชนต้องการอยู่ในระบบเดียวกัน ต้องการอยู่ในประเทศเดียวกัน หนึ่งระบบที่พวกเราได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเสมอภาคกัน ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายฉบับเดียวกัน" ชัยธวัช กล่าว

ประชาชนคาดหวังที่จะเห็นระบบการเมือง ไปสู่ระบบอนาคตที่ดีกว่า แต่สิ่งที่เราเจอ และได้กลับเป็น ปชต.แบบไหลย้อนกลับ ที่ผู้นำทางการเมือง และผู้มีอิทธิพลทางการเมืองลุแก่อำนาจ ได้คืบเอาศอก พยายามผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ในชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม แทนที่จะเห็นการยกระดับทางการเมืองไปข้างหน้า เรากลับเห็นการเมืองที่พยายามทำลายสิ่งใหม่ เพื่อรักษาสิ่งเก่า

ชัยธวัช ยังได้ยกตัวอย่างภาพรวมประเด็นปัญหาการทำงานของรัฐบาลในอีกหลายประเด็น เช่น การแก้ไขหนี้ภาคการเกษตร ค่าลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และโครงสร้างพลังงานของประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การปฏิรูปกองทัพ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การต่างประเทศที่ไม่สามารถฟื้นฟูบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลก และอีกหลายด้าน

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า หากปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลบริหารประเทศอย่างไร้ประสิทธิ ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะต่อไป จะส่งผลกระทบต่อทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามที่ประชาชนคาดหวังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา จากสถานการณ์ที่กล่าวถึงขั้นต้น มีความจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยจะได้นำเสนอสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะ และซักถามข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาของประชาชน ซึ่ง สส.ฝ่ายค้านจะมาอภิปรายลงลึกในรายละเอียดแต่ละประเด็นระหว่าง 3-4 เม.ย.นี้ 

'เศรษฐา' แจง 6 เดือนที่ผ่านมา หลายเรื่องมีการดำเนินการ ยินดีตอบทุกคำถาม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นอภิปรายเผยหวังว่า เขายินดีที่ได้มารับฟังข้อคิดเห็นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และเป็นโอกาสที่ดีที่จะมาตอบข้อสงสัย และเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านพร้อมจะให้ความกระจ่าง และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ หวังว่าจะได้มีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

เศรษฐา ทวีสิน (ที่มา: TP Channel)

สำหรับข้ออภิปรายของหัวหน้าฝ่ายค้าน เศรษฐา มองว่าใช้คำรุนแรงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ้นหวัง ล้มเหลว ไม่ปฏิรูป ถอยหลัง วกวน ปิดบัง ทำลาย แต่ว่ามันมีอีกด้านหนึ่ง เขาเชื่อว่ามันคือ มีหวัง สำเร็จ พัฒนาแทนที่จะเป็นปฏิรูป ก้าวหน้า และมีความโปร่งใส เขาเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำเป็นเรื่องของแสงสว่างและเชื่อว่าประชาชนจะได้เห็นต่อไป 

เศรษฐา ชี้แจงว่า นโยบายที่ฝ่ายค้านกล่าวมา หลายเรื่องมีการดำเนินการ เช่น การตั้งคณะกรรมการพักหนี้เกษตร การดูแลราคาเบนซิน-ดีเซล และค่าไฟฟ้า ยืนยันว่าตรงนี้ไม่ได้เพิกเฉย หรือนิ่งนอนใจ เรื่องยาเสพติดมีการทำงานที่ชัดเจน โดยเมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว (2566) มีการจับยาบ้าได้มากที่สุดตลอดทั้งปี ซึ่งสะท้อนการกวดขันเป็นอย่างดี นโยบายการท่องเที่ยวมีการทำหลายอย่างเช่นการฟรี VISA จีน เชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเยอะขึ้น โรงแรม และร้านอาหาร มีการจองการใช้บริการ มีการจับจ่ายใช้สอยเงินอย่างมากขึ้น สะท้อนการพัฒนาในทิศทางที่ดี และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

เศรษฐา ชี้แจงต่อว่า ปัญหาเรื่องรายได้ของเกษตรกรหลายล้านคน ลองคิดดูว่าราคายางขึ้นไปตอนนี้เกือบ 100 บาท ราคาข้าวก็สูง ราคาพืชผลอื่นๆ ก็ดี ไม่มีการประท้วง ไม่มีการมาขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะว่ามีการเปิดตลาด โดยรัฐมนตรีพาณิชย์ที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่เองตอนนี้มีเดินทางไปต่างประเทศการเปิดตลาด มีการเรียกเอกอัครราชทูตพาณิชย์ กำหนด KPI หรือตัววัดอย่างชัดเจนว่า ต้องทำหรือขายของอะไร ซึ่งไม่เคยมีการทำแบบนี้ในอดีต เป็นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อให้พืชผลไทยที่ไปขายในต่างประเทศดีขึ้น มีการเปิดตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องระยะสั้นที่ได้ทำมา  

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และการไปมีตัวตนในเวทีโลก นายกฯ ขอชี้แจงว่า ในการไปร่วมประชุม 10 กว่าครั้งที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องไป การประชุมของอาเซียน เป็นการประชุมที่ต้องไปเป็นประจำอยู่แล้ว และด้วยความเป็นรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องไปพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนนโยบายซึ่งกันและกัน เพื่อให้ไทยมีตัวตนในเวทีโลก เศรษฐา ยกตัวอย่าง การร่วมประชุม World Economic Forum (สภาเศรษฐกิจโลก) ไม่มีตัวแทนไทยเข้าร่วมมา 12 ปี การค้าเสรี เชื่อว่า แต่ละวงประชุมมีคุณภาพ และสามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ประชาชน 

"ต้องใช้เวลา เราเพิ่งเข้ามาบริหารจัดการบริหารประเทศเพียงแค่ 7 เดือน ท่านรัฐมนตรีทุกท่านมีความปรารถนาดีกับพี่น้องประชาชน เผื่อท่านมีข้อเสนอแนะอะไรดีๆ ก็ยินดีรับฟัง ถ้าเกิดมีข้อกล่าวหาอะไร ก็ขอหลักฐาน ขอเหตุผลมา เรื่องของกระบวนการยุติธรรม เรื่องของต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราหลังจากที่มีการเลือกตั้งผ่านมา ก็เรามีการก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ยินดีรับฟัง ยินดีรับข้อเสนอแนะ จากท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน และรัฐมนตรีทุกท่านพร้อมที่จะให้ความกระจ่างท่านสมาชิกทุกๆ ท่านในทุกๆ เรื่อง" เศรษฐา ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net