Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ความสับสนอลหม่านสับสนทางสถานการณ์ทางการเมือง ไม่มีใครเดาได้ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรแล้วความปลอดภัยอย่างพวกเราประชาชนจะมีขนาดไหน กับการแบกภาระปากท้องของครอบครัว ต้องยอมรับว่าความเครียดเกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคน จนยากที่จะหาความสุขได้ อาการป่วยก็มีมาตลอดตั้งแต่เครียด ปวดศีรษะ ความดันสูงปวดเมื่อยเกร็งกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ข้อ ต้องไปโรงพยาบาลเพราะมีอาการป่วยวันละโรคสองโรคต้องรักษาเยียวยากันไป แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของประชาชนอีกหลายต่อหลายคนรวมทั้งผู้ป่วยด้วย ที่คงมีอาการไม่ต่างกันมากนัก เพราะอยู่กับความจน จนเคยชิน ถึงแม้จะพยายามหาเวลาสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน ก็ช่วยไปได้ชั่วครู่ยาม รู้แต่ว่าไม่อยากออกไปไหน รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย และต้องมีรายจ่าย และเป็นห่วงลูกหลานที่ต้องเดินทางไปเรียนหนังสือ คิดว่าหลายๆคนก็คงมีอาการไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ภาวนาแต่ว่าขอให้บ้านเมืองสงบสุขสักที เพราะยิ่งสถานการณ์แบบนี้คนยากคนจน ก็จะยิ่งยากยิ่งจนลง เพราะค้าขาย ทำมาหากิน อะไรก็ไม่ได้ติดขัด หรือ ข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนที่ต้องการให้รัฐบาลหันมาสนใจแก้ไขปัญหาก็คงต้องค้างเต่อต่อไป เพราะรัฐบาลก็จะไม่มีเวลามาแก้ไขปัญหาคนยากคนจน ต้องคอยแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกี่รัฐบาลขึ้นมา ก็ต้องมีปัญหาแบบนี้มาตลอด สถานการณ์ของคนงานที่ป่วยจากการทำงานก็ยิ่งแย่ เพราะถูกปฏิเสธจาก แพทย์ จากนายทุน และจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งที่คนป่วยก็แทบหมดหวังในการที่จะเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนที่ป่วยจากการทำงาน แล้วต้องถูกนายจ้างปลดออกจากงานทั้งๆที่ป่วย ซึ่งเราถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มันคือความหายนะซ้ำซากของผู้ใช้แรงงาน ของประเทศ มันเป็นการสูญเสีย ที่สังคมไทยไม่ค่อยมองเห็น
 
ถึงตรงนี้แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มันก็เกี่ยวกันอย่างมากเพราะหลังจากที่การผลักดันของสมัชชาคนจน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้องกับรัฐบาลมาโดยตลอดจนในช่วง วันที่ 8 กันยายน 2552 ที่องค์กรข้างต้นได้ไปเรียกร้องที่หน้าพรรค์ประชาธิปัตย์ให้สภาผู้แทนราษฎรรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่สภาฯ และหลังจากนั้นก็มีการล็อบบี้ให้ สส.พรรคประชาธิปัตย์โดย คุณรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กับ คุณสถาพร มณีรัตน์ สส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและสามารถเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1 ได้สำเร็จในบ่ายวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 โดยความร่วมมือของเครือข่ายสนับสนุนและร่วมผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานองค์กรภาคี สนับสนุน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมัชชาคนจน กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เครือข่ายภาคประชาชน กทม.และแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ได้ร่วมชุมนุมและกดดันให้สภาผู้แทนราษฎรรับร่างฉบับประชาชน ซึ่งประธานวิปฝ่ายรัฐบาล (ก่อนที่จะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) คุณชินวร บุญยเกียรติ ได้มารับปากกับเครือข่ายพี่น้องแรงงานและชุมชนที่ร่วมกันผลักดัน
           
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบรับหลักการกฎหมายความปลอดภัยฯ ทั้ง 7 ร่าง และให้ยึดร่าง พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรวมจำนวน 36 คนโดยมี รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ และคุณสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ ได้รับเสนอเป็นกรรมาธิการวิสามัญในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์
           
นับ เป็นครั้งแรก ที่มีกฎหมายลักษณะคล้ายกันเสนอเข้าสู่สภาให้พิจารณาคราวเดียวกันจำนวนมากรวม 7 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ (4 ฉบับ) มีเนื้อหาเหมือนร่าง พ.ร.บ. ฉบับรัฐบาล
           
นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกหมวดความปลอดภัยฯ ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวม 5 ฉบับด้วย
           
ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกดังกล่าว มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
 
1. ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....
            1.1 กำหนดให้นายจ้างจัดและดูแลสถานประกอบกิจการให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน การปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้รับอันตราย และกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ซึ่งยินยอมให้บุคคลใดมาทำงานหรือทำประโยชน์ในสถานที่นั้นโดยไม่อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างมีหน้าที่เพื่อให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ (ร่างมาตรา 6)
            1.2 กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความประสงค์จะให้บริการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบรับรอง ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต้องขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาต ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 11)
            1.3 กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเจ็ดคนกับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกห้าคนเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน หรือมาตรการความปลอดภัยฯ (ร่างมาตรา 23 และร่างมาตรา 24)
            1.4 กำหนดอำนาจหน้าที่พนักงานตรวจความปลอดภัย ให้มีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบกิจการ ตรวจสอบ บันทึกภาพ ใช้เครื่องมือในการตรวจวัดเก็บตัวอย่างวัสดุและสอบถามข้อเท็จจริงหรือสอบสวนเรื่องใด ๆ รวมทั้งให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 35)
            1.5 ให้จัดตั้งกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้นในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ (ร่างมาตรา 45)
            1.6 กำหนดให้กองทุนส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมทั้งให้เงินและทรัพย์สินของกองทุน ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (ร่างมาตรา 46 และร่างมาตรา 48)
                1.7 กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” มีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละห้าคน มีอำนาจหน้าที่กำกับการจัดการและบริหารกองทุน (ร่างมาตรา 49 และร่างมาตรา 51)
 
2. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                2.1 ยกเลิกหมวด 8 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตั้งแต่มาตรา 100 ถึงมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ร่างมาตรา 3)
                2.2 แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษของนายจ้างผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ร่างมาตรา 4-ร่างมาตรา 6)
 
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....
 
(1.) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นองค์กรนิติบุคคลของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารสูงสุดคือเป็นลูกจ้างขององค์กรไม่ใช่ข้าราชการ
 
(2.) โครงสร้างการบริหารของสถาบันฯ จะมี “คณะกรรมการ สถาบันคุ้มครองส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ซึ่งมีผู้แทนฝ่ายนายจ้างฝ่ายลูกจ้าง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ฝ่ายละ 7 คน โดยมีฝ่ายปฏิบัติการทำหน้าที่ให้บริการด้านต่างๆ ของสถาบัน
 
(3.) การดำเนินงานของสถาบันฯ เป็นการบริหารด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างครบวงจร ทั้งด้านการป้องกัน บริการส่งเสริม ศึกษาวิจัย การให้ดูแลทางการแพทย์การให้เงินทดแทนและฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่
 
ด้านการป้องกัน จะมีกิจกรรมศึกษา วิจัย ฝึกอบรม บริการตรวจสภาพการทำงาน การให้คำปรึกษาและข้อมูล เป็นต้น
 
ด้านการจัดการทางการแพทย์ จะดำเนินการเกี่ยวกับการรักษา การวินิจฉัยโรค การพิจารณาจ่ายค่าทดแทน และการฟื้นฟูสมรรถภาพของลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน
 
ดำเนินงานเกี่ยวกับงานของกองทุนเงินทดแทน โดยโอนเงินกองทุนเงินทดแทนมาอยู่ในสถาบันนี้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายจัดตั้งสถาบันฯ บังคับใช้
 
(4.) คณะกรรมการสถาบันฯควบคุมดูแลสถาบันให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เป็นผู้ออกระเบียบแต่งตั้งผู้อำนวยการ หลักเกณฑ์วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
(5.) รายได้และค่าใช้จ่ายมาจากกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายเงินทดแทน เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่สถาบันดำเนินงาน เบี้ยปรับจากการลงโทษผู้ทำความผิดตามกฎหมายนี้ รายได้และผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนและจากทรัพย์สินของสถาบัน
 
ประวัติศาสตร์สังคมไทยได้จารึกไว้อีกครั้งว่า บนเส้นทางเดินของกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ใช้ระยะเวลาเดินทางถึง 15 ปีเต็มกว่าจะเข้าสภาฯ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้ผลักดันหลักหลายต่อหลายท่านได้เสียชีวิตล่วงลับไปแล้ว อย่าง เช่น ท่านอาจารย์ธีรนาถ กาญนอักษร ท่าน ศ.นิคม จัทรวิฑูร ซึ่งท่านเหล่านี้มีความหวังที่จะให้เกิดองค์กรอิสระในการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน แล้วตัวดิฉันเองก็ได้สัญญากับท่านที่จากไปว่าจะสานต่อเจตนารมณ์ของท่านนี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ความปลอดภัยเกิดแก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่ง ก่อน พ.ร.บ.นี้ ใช้ชื่อ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ต้องชุมนุมสมัชชาคนจน 99 วันในปี 2538 ที่ข้างทำเนียบในรัฐบาลชุด พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และ ครม. 26 มีนาคม 2538 รับหลักการให้มีการตั้งสถาบันฯ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง 32 คนที่มาจากหลายๆ ฝ่าย โดยมีคุณ เอกพร รักความสุขเป็นประธานยกร่าง มีภาครัฐ สภานายจ้าง สภาแรงงาน ตัวแทนสมัชชาคนจน ร่างภายใน 7 เดือนก็ได้ร่างฉบับสมบูรณ์ แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองอีกเช่นเคย ร่าง พ.ร.บ.จึงมิได้ถูกนำเสนอในสภาผู้แทนราษฎร คณะผลักดันร่าง พ.ร.บ.จึงได้มีมติ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 50,000 รายชื่อเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2540 ใช้เวลาเข้าชื่อ 1 ปีวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 จึงได้นำแบบฟอร์มการเข้าชื่อนี้เสนอต่อประธานรัฐสภานับเป็นประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งที่กฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่สภา แต่หลังกฎหมายรัฐธรรมนูญออกกฎหมายลูกออกมาการเข้าชื่อครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดเอกสารประกอบคือ สำเนาทะเบียนบ้านกับสำเนาบัตรประชาชน
 
ไม่สิ้นหวังด้วยความมุ่งมั่นของคณะทำงาน จึงได้นำเสนอข้อเรียกร้องกับรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อปี 2544 สมัยคุณลัดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สมัยนั้น ได้มีการเปิดโต๊ะเจรจากันอีกครั้งซึ่งครั้งนั้นทางกระทรวงแรงงานก็มีร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัย ฯ ฉบับกระทรวงร่าง มาประกบกันรวมเป็น 2 ร่าง ในการพิจารณาแต่สุดท้ายก็สามารถ บูรณาการร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับออกมาเป็นฉบับเดียวกัน ที่ต่างฝ่ายต่างถอยมากันคนละครึ่งทาง และแล้วก็ไม่พ้นอุบัติเหตุทางการเมืองอีก ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
 
จากนั้นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมฯก็ร่วมรณรงค์ผลักดันเป็นข้อเรียกร้องในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเรื่องมา ในวันกรรมกรสากล วันความปลอดภัยแห่งชาติ จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2550 คณะกรรมการสมานฉันท์ได้มีมติ ให้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยปี 2550 จนถึงปัจจุบันเกือบ 3 ปี ได้รายชื่อมา 8,705 รายชื่อขาดอยู่ อีก 1,300 รายชื่อ ปัญหาอุปสรรคคือตามแบบฟอร์มต้องแนบเอกสารสำเนาบัตรประชาชน กับสำเนาทะเบียนบ้านด้วย จึงเป็นเหตุให้การเข้าชื่อล่าช้า ต้องใช้เวลาและงบประมาณสูง ในขณะที่องค์กรมีงบประมาณและบุคลากร ที่จำกัด
 
จากการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างกฎหมายแล้วก็มีการประชุมกันภายใน 7 วันคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552เริ่มการประชุมกันครั้งแรก มีการแต่งตั้งตำแหน่งกรรมาธิการ โดยมีมติแต่งตั้งนายนคร มาฉิม สส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานกรรมาธิการและมีมติประชุมกันทุกวันพฤหัสบดี จนมาถึงปัจจุบันผ่านการประชุมไป 15-16 ครั้งขั้นตอนการพิจารณา ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยฉบับอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รัฐบาลเป็นหลักพิจารณาไปทีละรายมาตราตั้งแต่
 
มาตราที่ 1 จน ถึงมาตราที่ 24 โดยมีมติแขวนหลักการและเหตุผลไว้ เพื่อเปิดให้ไว้เผื่อหลักการและเหตุผล พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯได้ไว้ใส่เติมให้สมบูรณ์ภายหลัง พิจารณา ในมาตรา 3 พ.ร.บ.ฉบับนี้มิใช้บังคับแก่ 1.ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น 2.กิจการอื่นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง .: มาตรานี้ใช้เวลาพิจารณาจากกรรมธิการชุดนี้หลายครั้งมากและมีมติตัดออกมา ภายหลังกรรมาธิการบางท่านเสนอให้ทบทวนญัติใหม่ แต่ในที่สุดกลับมาคงไว้ตามร่างเดิม และแขวน มาตรา 4 นายจ้าง ความหมายนายจ้าง แล้วก็หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับบริหารจัดการด้านความปลอดภัย การบริการ และ การรับขึ้นทะเบียน ฯลฯ หมวด 3 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาตรา 24 ประกอบ ด้วยภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ฝ่ายละเจ็ด ผู้ทรงคุณวุฒิห้าคนโดยรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มาตรา 25 อำนาจหน้าที่คณะกรรมการ
 
นับว่าการที่ได้นั่งเป็น หนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในสภา มีความกดดันต่อสภาพแวดล้อมตลอดว่า อาจจะมีการยุบสภาหรือไม่ การพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งมีถึง 72 มาตรา จึงเป็นไปแบบรีบเร่ง แล้ว พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯจะไปใส่ลงไปในหมวด ใด มาตราใด ก็ยังกำหนดไม่ได้ แนวโน้มคณะกรรมาธิการจะให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย ไปให้เสร็จก่อน แต่ในรายมาตรากฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างกรรมาธิการฝ่ายรัฐ กับกรรมาธิการฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็ได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ภายหลังดังนี้ 1.คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย 2.คุณศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา 3. คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ 4.คุณทวีป กาญจนวงศ์ 5.คุณบารมี ชัยรัตน์ 6.คุณจะเด็จ เชาน์วิไล ตัวอย่างเช่น มาตรา 21 ลูกจ้างมีหน้าที่ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย โดยคำนึงถึงสภาพของงานและพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในกรณีที่ลูกจ้างทราบถึงข้อบกพร่องหรือการชำรุดเสียหาย และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร แจ้งเป็นหนังสือต่อนายจ้างโดยไม่ชักช้า ......”.ซึ่งข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า การดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ใช่หน้าที่ของลูกจ้าง”เพราะมีบทลงโทษไว้ ที่”มาตรา 59 ดังนี้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคสองหรือมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”สุดท้ายคณะกรรมาธิการก็มีมติให้ตัดบทลงโทษออกไปสำหรับลูกจ้าง
 
ที่ชี้ให้เห็นก็อยากจะบอกว่าถึงพิจารณาร่าง ที่มติ ครม.รับเป็นร่างหลัก พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ก็ยังมีจุดสำคัญหลายจุดที่ผ่านไปเฉยๆไม่ได้ ถึงแม้ท่านประธานกรรมาธิการ (คุณนคร มาฉิม)ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะพยายามบอกว่า ท่านนายกอภิสิทธิ เวชชาชีวะ จะเน้นย้ำว่าอยากให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านโดยเร็ว แต่ในทางปฏิบัติ คณะกรรมาธิการก็ไม่อาจที่จะพิจารณาแบบผ่านๆไปอย่างเร็วๆไม่ได้ เพราะจะเป็นผลเสียผลได้ของผู้ใช้แรงงาน
 
สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ จะเป็นอุบัติเหตุทางการเมืองซ้ำซากอีกหรือไม่ ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่ที่แน่ๆ คือหลังโศกนาฏกรรมเคเดอร์ เมื่อ 10 พ.ค. 2536 ถึงปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 17 ผู้ใช้แรงงานก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองอยู่ดี
 
ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จะต้องแท้งก่อนคลอดอีกหรือเปล่า? และนี่ก็คือชะตากรรมของผู้ใช้แรงงาน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net