Skip to main content
sharethis

วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2552) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายภาคประชาชน กทม. และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ สนับสนุนโดย แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสาธารณะ “ความเสี่ยงสังคมไทย พิษภัยของการพัฒนา” ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ

ชวนร่วมผลักดัน “เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน” เป็นนโยบายระดับชาติ

ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงานโดยนำเสนอปัญหาความเสี่ยงของผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ตั้งแต่ปี 2536 ตึกถล่มทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนกว่า 188 คน และอีกกว่า 469 คนต้องบาดเจ็บมาจนปัจจุบัน ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญไปทั่วโลก จนทำให้ประเด็นสุขภาพความปลอดภัยได้ถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง แต่ถึงขณะนี้สภาพปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ยกตัวอย่างกรณีความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ความไม่ได้มาตรฐานของหัวจักรถไฟ และการทำงานหนักเกินไปในกรณีของพนักงานรถไฟ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด หรือในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่การพัฒนาอุตสากรรมส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

ความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อมและประชากรที่เป็นกำลังแรงงานหลักของประเทศจากผลพวงของการพัฒนา นับเป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นให้เกิดความตระหนักจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน NGOs ต้องรวมกันหาทางออกในการแก้ไขและป้องกันปัญหา โดยร่วมกันผลักดันให้เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานเป็นนโยบายระดับชาติ และร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นสถาบันอิสระ อีกทั้งเน้นการมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้มีระบบวินิจฉัยโรคจากการทำงานที่มีมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายพึงมีพึงได้ อย่างเป็นธรรม เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และคุณภาพชีวิตที่ดี

เร่ง คลอด พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ก่อนปิดสมัยประชุม
 

สมบุญ สีคำดอกแค เครือข่ายผู้ป่วยโรคจากการทำงานกล่าวว่าปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับแรงงานที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพดูแลคุ้มครองแรงงานมีแต่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ในส่วนเครือข่ายผู้ป่วยโรคจากการทำงานได้รวมตัวกันมากว่า 14 ปีแล้ว และในส่วนการผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยฯ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ได้ร่วมกันผลักดันมากว่า 16 ปี ถึงวันนี้ถือเป็นโอกาศที่จะผลักดันร่วมกัน เพื่อให้มีการบรรจุการประเด็น พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยฯ เข้าสู่วาระสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการปิดสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป ในวันที่ 28 พ.ย.นี้

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย ที่จะนำเสนอเข้าสู่สภามี 5 ฉบับ โดยเป็นฉบับที่นำร่างของภาคประชาชนไปใช้พิจารณา 2 ฉบับ และก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับสมัชชาคนจน เข้าพบนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมพูดคุยกันในเรื่องกฎหมายดังกล่าว ซึ่งได้มีการพูดคุยกับกระทรวงแรงงานรับที่จะเสนอกฎหมายของภาคประชาชนควบคู่กฎหมายภาคของภาครัฐ ภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้เธอมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับของภาคประชาชนจะเป็นที่ยอมรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ อยู่ในวาระการประชุมอยู่ 84 ฉบับ ขณะที่ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-28 พ.ย. 52 มีร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้วเพียง 11 ฉบับ

นักวิชาการ ชี้ปัญหาภัยจากการทำงานไม่ใช่คนไม่เข้าใจ แต่รัฐล้มเหลวในการทำให้คนเข้าใจ

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาปัญหาแรงงานมากว่า 20 ปี กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมาตั้งแต่ปี 2503 จากสถิติปัจจุบันโดยเฉลี่ยมีผู้ประสบอันตรายจากการทำงาน 200,000-250,000 คน แต่ขณะนี้ลดลงแล้ว โดยใน 2 แสนกว่าคนนี้ มีตาย พิการ และพบว่าขาดงานมากกว่า 3 วันขึ้นไป ทั้งนี้มีแรงงานถึง 800-1,000 คน เสียชีวิตจากการทำงาน เฉลี่ยในวันหนึ่งๆ มีคนเสียชีวิต 2-3 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการที่มีระบบเหมาช่วง เหมาหลายช่วง ฉะนั้นการจัดการเรื่องความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานจึงไม่มีแน่นอน

รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวต่อมาว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำต่อเนื่องจนทำให้กลายเป็นสังคมที่เสี่ยงภัย และขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องเรียกร้องให้มีกฎหมายเพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ย้อนไปที่เหตุการณ์เคเดอร์ ที่ที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนงานผู้หญิง ผลกระทบไม่ใช่แค่ชดเชย แต่ยังส่งผลต่อคนที่ยังหลงเหลืออยู่ ครอบครัวแตกแยก ลูกออกจากโรงเรียนมาทำงาน กลายเป็นปัญหาระยะยาว นี่คือปัญหาที่มองเห็นชัด เช่น ไฟไหม้ ตึกถล่ม ระเบิด

อีกปัญหาหนึ่งคือ โรคจากการทำงาน เกิดจากการสะสมของสารพิษจากการทำงานเป็นระยะๆ แหล่งที่ก่อมลพิษมาจากโรงงาน ซึ่งไม่ใช่แต่คนงานในกระบวนการผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในที่นี้ยังรวมถึงคนในชุมชนด้วย ฉะนั้นผู้ที่รู้ถึงความเสี่ยงภัยทั้งในส่วนของแรงงานและชุมชนแต่ถูกรัฐบาลปฏิเสธ จึงต้องสู้ผ่านกระบวนทางศาลยาวนานนับสิบปี เช่น คลิตี้ โคบอลต์ มาบตาพุด แม่เมาะ

ในกรณีการคุ้มครองดูแลจากนายจ้างหรือรัฐบาล รศ.ดร.วรวิทย์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์เคเดอร์ที่ปฏิเสธไม่ได้เพราะว่ารัฐมองเห็น หรือโรงงานลำไยระเบิด ซึ่งคนงานก็ได้รับการชดเชยโดยกองทุนเงินทดแทน แต่การชดเชยคิดแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่คนงานได้รับ และกำหนดชดเชยการสูญเสียรายได้ไม่เกิน 10 ปี แต่สำหรับโรคที่มองไม่เห็น ในแต่ละปีมีการประเมินต่ำกว่าร้อยคน เช่น โรคจากสารเคมี ฝุ่นละออง ซึ่งไม่ได้ปรากฏทางร่างกายที่เรียกว่าโรคเนื่องจากการทำงาน พบปัญหาแพทย์ก็ไม่วินิจฉัยว่าป่วย ถูกปฎิเสธสิทธิ ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงการรักษา

สำหรับกรณีมาบตาพุด หากมองในมุมของคนงานในโรงงาน พบว่ามาตรฐานความปลอดภัยลดลง เพราะในโรงงานมีกระบวนการจ้างงานแบบยืดหยุ่น โดยเลิกจ้างพนักงานประจำ มีการจ้างแบบเหมาค่าแรง ซึ่งเป็นคนงานของบริษัทอื่น มีการจ้างงานชั่วคราว ทำให้ไม่มีหลักประกันเรื่องความไม่ปลอดภัย หรือถ้าถูกละเมิดสิทธิกฎหมายก็ไม่คุ้มครอง นอกจากนั้นยังมีการแข่งขันที่เรียกว่าการกระจายงานสู่ชุมชน อย่างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่กระจายออกไป สู่การตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้านซึ่งเป็นสถานที่เปิด แต่พบว่ามีความเสี่ยงหลายจุด เช่น ต้องขยายชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าในโรงงาน ระบบการจัดการความปลอดภัยอยู่นอกเนือการดูแลของรัฐเนื่องจากถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบ หรืออุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการกระจายของสารเคมีก็มีการหลุดออกไปในชุมชนด้วย และรัฐไม่ต้องรัฐผิดชอบ

ส่วนในระบบไทยมีสถานประกอบการ 3 แสนแห่ง แต่มีผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานแค่ 100 คน ในแต่ละปีสามารถตรวจโรงงานได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลากว่า 10 ปีหากจะตรวจให้หมด และยังมีข้ออ้างว่างบประมาณน้อย ดังนั้นความไม่ปลอดภัยในการทำงานจึงยังดำเนินอยู่ มีโรงงานปล่อยสารตลอดเวลา คนงานก็ต้องรับสารเคมีเข้าไป เชิงเดียวกับการเร่งขบวนการผลิต ทั้งนี้ในโรงงานมีคนงาน 9 ล้านคน แต่มีแรงงานนอกระบบที่ผลักไปสู่ความเสี่ยงภัยมีจำนวนหลายสิบล้านแต่เรามองไม่เห็น ทั้งในภาคเกษตรที่ต้องเสียงกับสารเคมี ลูกจ้างเหมาช่วง ความเสี่ยงภัยอันนี้ไม่ใช่คนไม่เข้าใจ แต่รัฐล้มเหลวในการทำให้คนเข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การจัดการของภาครัฐ

“มาบตาพุด” ภาพสะท้อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ความสูญเสียในหลากมิติ

“มาบตาพุดเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ไม่ดี ... ตอนแรกเราก็หวังว่ามันจะเจริญ แต่ตอนหลังมันกลายเป็นยับเยินไปแล้ว” นายเจริญ เดชคุ้ม เกษตรกรผู้ประสบปัญหาจากกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกล่าว

นายเจริญ เล่าว่า อุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อตั้งเมื่อ 21 มิ.ย.2524 โดยครม.ได้อนุมัติพื้นที่นี้เป็นอุตสาหกรรมหลัก ตอนแรกคนมาบตาพุดก็ดีใจที่จะมีอุตสาหกรรมเข้ามา เพราะหวังว่าประเทศไทยจะมีความเจริญรุ่งเรืองจากอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องผลกระทบจากอุตสาหกรรม เพราะเดิมมาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่พึ่งพาภาครัฐก็อยู่ได้ มีเกษตร ประมง แค่อุตสาหกรรมในครัวเรือนก็อยู่ได้แล้วเพราะอยู่แบบพอเพียง แต่พออุตสาหกรรมเข้ามาแล้ว ชาวบ้านต้องเสียใจมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมได้เอาคนนอกพื้นที่เข้ามาทำงานในโรงงาน คนมาบตาพุดเข้าทำงานน้อยมาก ในปี 2527 มีการเวนคืนพื้นที่ สูญเสียที่ดินทำมาหาหากิน

“เด็ก ป.4 อย่างผมเขาไม่เอาไปทำงานหรอกครับ เราก็ต้องอาศัยพื้นที่ยังชีพ แต่ผลที่สุดพื้นที่มันก็เสื่อมโทรมลงจากสารเคมีที่อุตสาหกรรมนำพาเข้ามา เราไม่อยากได้แต่เขาก็บังคับให้เรา เมื่อพื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์คนก็หายไป แล้วคนที่ไม่มีความรู้ทำไง พวกผมก็ต้องลุกขึ้นมาประท้วงลุกขึ้นมาบอกเล่าเก้าสิบบอกเขาว่าพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของเราถูกทำลายไป จะให้เราทำยังไง จะให้เรากินอะไร” นายเจริญเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่าตอนนี้รู้สึกกลัวว่าลูกหลานจะไปทำอะไร แต่ถึงมีความรู้สูงก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

เขากล่าวต่อมาว่า ตอนนี้ชาวบ้านโดนพิษภัยจากอุตสาหกรรม จากโรงไฟฟ้าในทะเลที่ใช้ถ่านหิน ชาวบ้านมีการฟ้องร้องโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดกว่า 1,700 โรงงาน ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาล และจะขึ้นอีก 76 โรงงาน การเคลื่อนไหวล่าสุดชาวบ้านมีการเดินเท้าจากระยองมากรุงเทพฯ ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาที่ชาวมาบตาพุดที่ต้องเผชิญกับสารพิษโรงงาน หลากคนป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ โรคกระดูก ผื่นคัน ซึ่งโรงงานบอกว่าปัญหาสุขภาพภาพของคนมาบตาพุดไม่ใช่มาจากโรงงาน ไม่ใช่โดนสารพิษจากโรงงาน แต่โดนจากสารเคมีจากการทำการเกษตร ตรงนี้เป็นปัญหาความปลอดภัยของคนในชุมชน

“รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองป่วย ก็ต้องเดินทางมากดดันภาครัฐให้รู้ว่า เราชาวมาบตาพุด เราไม่ไหวแล้ว ภาครัฐควรพิจารณาให้เราด้วย เรื่องพ.ร.บ.สุขภาพไปถึงไหน การทำโครงการจะทำ EIA รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำ HIA ต้องประเมินผลกระทบด้านสุขภาพด้วย” ชาวบ้านมายตาพุดกล่าว

ในส่วนข้อเสนอแนะ นายเจริญกล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบดูแลคนในชุมชนทุกด้านที่ได้รับผล โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะถ้ามีการพัฒนา ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรมนุษย์ ของสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย และฝากไปที่ฝ่ายสาธารณสุขต้องดูแลคนในชุมชนมากกว่านี้

คนขับแท็กซี่ร้องรัฐดูแลสวัสดิการ พ้อไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เกิดปัญหาไม่รู้จะหันไปหาใคร

“ผมยังช่วยตนเองไม่ได้ ขึ้นเวทียังต้องช่วยกันหาม จะให้ผมทำอย่างไร ถ้าวิ่งได้ ผมคงไม่ต้องการหรอก” นายเสนอ อินทะรังษี อดีตคนขับรถแท็กซี่ ผู้ได้รับผลจากอุบัติเหตุถูกรถชนขณะที่ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางด่วนจนทำให้ร่างกายพิการไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ระบายความรู้สึกต่อการเข้าไปขอรับสิทธิตามกฎหมายจากหน่วยงานรัฐ

นายเสนอ ในฐานตัวแทนแรงงานนอกระบบ เล่าว่าเขามีอาชีพขับแท็กซี่มา 10 กว่าปี ส่วนอุบัติเหตุที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บเกิดเมื่อปี 2550 เพราะไปช่วยคนที่รถเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนขั้นที่ 1 ก่อนถึงหมอชิตใหม่ มีรถเฉี่ยวชนกันแล้วหนี จังหวะที่กำลังเข้าไปช่วยมีรถวิ่งมาจะชนรถคันดังกล่าว ในขณะเขากำลังช่วยเหลือคนเจ็บ อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เขาสลบไป 5 วัน ผลของอุบัติเหตุทำให้ร่างกายไม่สามารถขยับได้ตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงปลายเท้า เงินที่ใช้ในการรักษากว่า 5 แสนบาท ได้จากการใช้สิทธิประกันสังคมร่วมกับเงินของตัวเอง

แต่หลังจากนั้นเขาต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายที่ศูนย์สิรินธรอีกกว่า 5 เดือน โดยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเดือนละกว่า 3 หมื่นบาท ซึ่งเงินดังกล่าวมาจากประกันชีวิตแบบรวมหมู่ และประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร ในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ถึงวันนี้เงินก็ร่อยหรอลงมากเพราะครอบครัวให้เงินนี้ในการใช้จ่ายในครอบครัวตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาด้วย ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในขณะนี้หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกจะไม่เสียเงินเพราะเคยเป็นทหารผ่านศึกมาก่อน

ในส่วนผลกระทบที่เกิดกับครอบครัว เขาเล่าว่าตั้งแต่ที่เกิดอุบัติเหตุภรรยาของเขาต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแล เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ส่วนลูกคนเล็กอายุ 20 ปีต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงิน และต้องออกมาหาเงินช่วยเหลือครอบครัว

แม้ปัจจุบันเขาจะมีกำลังใจที่ดีขึ้นมากจากการช่วยเหลือและให้กำลังในจากเพื่อสมาชิก สวพ.FM 918 แต่เขาก็ยังมีปัญหาเรื่องการขอรับเบี้ยเลี้ยงชีพสำหรับคนพิการ และยังไม่ได้รับบัตรทองของผู้พิการ (ท.74) หลังจากลาออกจากการประกันตนตามมาตรา 36 และได้ทำการยื่นเรื่องไปนานมากแล้ว เขากล่าวด้วยว่าความช่วยเหลือที่อยากได้จากส่วนราชการมันช้ามาก และเมื่อไปเรียกร้องสิทธิหน่วยงานรัฐแต่ละที่ก็โยนกันไปโยนกันมา

“สำหรับผมอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลสวัสดิการคนขับแท็กซี่บ้าง เพราะไม่มีเลย ไม่รู้จะเรียกร้องจากใคร และเลิกขับรถไม่ได้ เพราะรายได้รายวันจะไม่มีเลย มีบ่อยครั้งที taxi ไปช่วยคนอื่น แต่เกิดอุบัติเหตุไม่มีใครมาดูแลเลย ทั้งๆที่เรากำลังไปช่วยคนอื่นอยู่ ไม่ใช่แค่ taxi มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ตุ๊กตุ๊กก็เจออุบัติเหตุเยอะมาก ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่รู้จะเรียกร้องจากส่วนไหน” นายเสนอกล่าว

“ลูกจ้างโรงงาน” วอน “นายจ้าง” ตระหนักพนักงานทุกคนคือทรัพยากรที่มีคุณค่า

ด้านนายธิติกร บุญบู ตัวแทนแรงงานจากโรงงานอุตสาหกรรมทำยาง สมุทรปราการ ที่ยกของหนักจากกระดูกสันหลังร้าว แล้วถูกนายจ้างให้ออกจากงาน กล่าวว่า ทำงานเกี่ยวกับยางรถยนต์สมุทรปราการ 17 ปี เงินเดือนพออยู่ได้ แต่มาวันหนึ่งได้ไปยกแกนเหล็ก น้ำหนักของ 40 กิโลกรัม ทำให้กระดูกสันหลังร้าว แต่นายจ้างบอกว่าเราประมาทเอง ตอนนี้นั่งนอนเดินไม่ค่อยถนัด ก้มไม่ได้

“นายจ้างเสนอให้ลาออก เพราะจะเลิกจ้างเนื่องจากไม่สามรถทำงานให้บริษัทได้ เขาเสนอให้ 1 แสนบาท แต่เราต้องเซ็นใบลาออก แต่ตอนนี้ผมเลือกไม่ลาออก แต่นายจ้างไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว” นายธิติกรกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เขาเล่าต่อมาว่า ตอนแรกที่ได้รับบาดเจ็บนายจ้างมีใบส่งตัวไปรักษา แต่ตอนหลังนายจ้างหมดงบและให้ใช้ประกันสังคม โดยนายจ้างบอกว่าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุจากากรทำงาน แต่จริงๆ มันเกิดเกิดจากการทำงาน เพราะเขามีอาการปวดหลังตลอดเวลา และเมื่อไปยื่นเรื่องที่กองทุนเงินทดแทน ต้องรอแพทย์วินิจภัยอยู่นานมาก เขากล่าวด้วยว่าอยากให้ทางรัฐบาลมาดูแลเรื่องนี้แต่นายจ้างไม่ยอม ตอนนี้เขาอยู่บ้านไม่มีรายได้ โดยที่ลูกยังเรียนอยู่ ทำให้ต้องหารายได้โดยการพับกระดาษขายแทน แม้ว่ารายได้จะไม่พอ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จากเดิมที่มีรายได้ 16,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้ได้วันละ 200 บาท

“ผมขอฝากว่า พนักงานโรงงานทุกคนคือทรัพยากรที่มีคุณค่า ถ้าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ขาดความรับผิดชอบในการทำงาน โรงงานนั้นก็ดำเนินการไปได้ยาก อยากให้นายจ้างทุกคนตระหนักถึงคนทำงานให้มากกว่านี้” นายธิติกรกล่าว

พนักงานการรถไฟ แจงปัญหา พร้อมยืนยันว่าหากทำผิดก็สมควรถูกไล่ออก

ส่วนนายอรุณ ดีรักชาติ ตัวแทนสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีความไม่ปลอดภัยของคนทำงานรถไฟ (กรณีอุบัติเหตุเขาเต่า) ซึ่งมีชื่ออยู่ในรายชื่อพนักงานรถไฟที่จะถูกโยกย้าย กล่าวว่าการทำงานรถไฟไม่มีความปลอดภัยจริงๆ ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้การรถไฟมีการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยโดยตลอดจากความที่ไม่สนใจจะพัฒนารถไฟ โดยเฉพาะตั้งแต่ 2546 เป็นต้นมา ที่มีการเปลี่ยนระบบของผู้ว่าการรถไฟจากการเลื่อนระดับพนักงานไปเป็นการสรรหา ทำให้ผู้ว่าฯ ต้องทำให้ตัวเลขผลประกอบการออกมาดูดี มีการขาดทุนน้อยที่สุด เป็นผลให้การจัดซื้ออุปกรณ์หลายๆ ตัว ที่สำคัญถูกละเลย

โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ในส่วนสภาพหัวรถจักรซึ่งเป็นส่วนที่คนมองไม่เห็น ใหม่สุด 14 ปี เก่าสุดคือใช้มาแล้ว 50 ปี ที่ปัดน้ำฝนของรถไฟหลายคันใช้การไม่ได้ แต่ที่เป็นปัญหาที่สุดคืออุปกรณ์ที่เรียกว่า death man ซึ่งเป็นตัวเซนเซอร์ที่ช่วยเวลาพนักงานพลั้งเผลอ หากไม่ตอบสนองต่อระบบจะมีเสียงออดดังไม่เกิน 2 นาที แล้วห้ามล้อจะทำงานอัตโนมัติ

ส่วนกรณีสถานีเขาเต่า ซึ่งพนักงานยอมรับว่าวูบก็ต้องรับสภาพไป แต่สิ่งที่ไม่ได้ถูกเปิดเผย คือ death man ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะปกติรถต้องหยุดอัตโนมัติ แต่รถไม่หยุด แปลว่าอุปกรณ์ใช้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปี 2544 สหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ยื่นให้แก้ไขเรื่องอุปกรณ์ไม่สมบูรณ์มาโดยตลอด ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ตกลง แต่ไม่ได้ทำอะไร ส่วนอุบัติเหตุที่เขาเต่าไม่ใช่แค่พนักงาน แต่เป็นเพราะรถไม่สมบูรณ์ด้วย

นายอรุณ กล่าวต่อว่า รถไฟเป็นขนส่งสาธารณะที่ต้องรับผิดชอบผู้โดยสารเป็นพันคน เรารู้ว่าไม่สมบูรณ์ก็ต้องตัดสินใจไม่เดินรถ ทำให้ตอนนี้ต้องตกเป็นจำเลยสังคม ส่วนกรณีสถานีละแม จ.ชุมพร ที่มีการหยุดขบวนรถ ทิ้งผู้โดยสาร ส่วนตัวคิดว่าใครทำแบบนั้นก็ต้องโดนไล่ออก วันนั้นไม่มีใครกล้าบอกว่าใครเป็นพนักงานขับรถ (พขร.) เพราะอารมณ์ผู้โดยสารที่โกรธเคือง อย่างไรก็ตามคนที่มีอำนาจหยุดรถ คือ คำสั่งจากผู้ว่า รฟท.การหยุดรถมีคำสั่งจากผู้บริหาร พขร.ไม่ได้หยุดเอง ทั้งนี้การประนามจากสังคมและการเรียกร้องใหไล่ออกทำให้ พขร.ทนไม่ไหว ต้องเปิดเผยเอกสาร จนผู้ว่าฯ ต้องออกมายอมรับผ่าน NBT แต่บอกเหตุผลที่สั่งหยุด คือ กลัวว่าพนักงานหาดใหญ่จะยึดหัวรถจักร แต่ความจริงคือรถไฟขบวนนี้ไปที่ตรัง คนละทางกับหาดใหญ่ แต่การนำเสนอเรื่องนี้น้อย ประชาชนไม่รู้ข้อมูลนี้

“ตอนนั้ประชาชนบอกว่าใครทิ้งผู้โดยสารต้องถูกไล้ออก ตอนนี้ผู้ว่าฯ ออกมารับแล้ว อยากจะถามสังคมว่าต้องให้ผูว่าออกหรือเปล่า แต่ที่ถูกไล่ออกตอนนี้คือใคร 6 คน ออกไปแล้ว 8 คนกำลังจะถูกไล่ออก (อยู่ในกระบวนการศาล) อีก 10 คนกำลังจะตามมา นี่เป็นสิ่งที่กลับกัน” นายอรุณกล่าว

เขากล่าวด้วยว่าหลังข่าวเหตุการณ์ที่ละแม ก็มีข่าวการปิดหัวลำโพง และยึดรถไฟที่เชียงใหม่ ซึ่งสหภาพแรงงานฯ ยืนยันว่าไม่ได้ทำ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร กับการถูกกล่าวหาว่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ทำผู้โดยสารเดือดร้อน และการสร้างข่าวเพื่อให้เกิดความเกลียดชังสหภาพ

อีกประเด็น คือ พื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ ผู้โดยสารอยู่ข้างหลัง ใครจะยิงไม่รู้ รถวิ่งไป ถ้าคนขับถูกยิง อุปกรณ์หยุดรถไม่สมบูรณ์ จะทำอย่างไร มีนักวิชาการออกมาบอกว่าได้มาสุ่มตรวจ dealth man 4 คันพบว่าปลอดภัย ทั้งที่รถไฟมีกว่า 200 คัน การสุ่มตรวจไม่ปลอดภัย เรื่องอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่งนี้จะสุ่มตรวจไม่ได้ ต้องตรวจทุกคัน และในส่วนตัวคิดว่าการที่นักวิชาการออกมาพูดแบบนี้ถือเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ยืนยันว่าหากพนักงานรถไฟกระทำผิดก็สมควรถูกไล่ออก แต่คนที่กระทำผิดแต่ไม่ถูกไล่ออกในขณะนี้ อยากให้สังคมได้พิจารณา

“พนักงานรถไฟกดดันมาโดยตลอด เพราะทุกอย่างอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม หากนำขบวนรถออกไปก็ถูกผู้โดยสารว่า เราอยากให้มีการปรับปรุงรถไฟให้ปลอดภัยมากกว่านี้ การรถไฟไม่ใช่ของสหภาพ เป็นของประชาชนทุกคนที่ต้องร่วมกันดูแล เราพยายามผลักดันเรื่องความปลอดภัยมาโดยตลอด เรารู้ดี เช่น เสียกลางทาง เราเสนอให้ซื้อรถใหม่ ตอนนี้ใช้ได้แค่ 130 หัว และล้วนแต่เสื่อมโทรม จากที่ต้องใช้แน่นอน 154 หัวต่อวัน เช่น ไปเชียงใหม่ ใช้หัวรถจักร 7 หัว เปลี่ยนหัว 7 ครั้ง เครียดมาก แต่ผู้โดยสารไม่รู้” ตัวแทนสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าว

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net