Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 53 ที่ผ่านมาเว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่าสำนักงานศาลปกครองได้จัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี ศาลปกครอง โดยนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลปกครองในรอบ 9 ปี ว่านับจากวันเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มี.ค.44 ตลอดระยะเวลา 9 ปี มีปริมาณคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณาของศาล จำนวนทั้งสิ้น 55,780 คดี เฉลี่ย 5-7 พันคดีต่อปี แยกเป็นคดีในความรับผิดชอบของศาลปกครองสูงสุด 14,084 คดี ศาลปกครองชั้นต้น 41,496 คดี ซึ่งทั้งสองศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จโดยรวม 43,123 คดี ในอัตราเฉลี่ย 77.51% ต่อปีของปริมาณคดีในความรับผิดชอบทั้งหมด แม้ว่าศาลปกครองจะได้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จได้มากเพียงใดก็ตาม ก็ยังมีจำนวนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งสิ้น 12,657 คดี คิดเป็น 22.67% ของคดีรับเข้า หากพิจารณาเรื่องที่ฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองชั้นต้น ตั้งแต่เปิดทำการ ถึงวันที่ 31 ธ.ค.52 พบว่า เรื่องที่มีฟ้องมากที่สุด คือคดีเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล มีจำนวน 10,410 ดี หรือประมาณหนึ่งในสี่ของคดีรับเข้าทั้งหมด รองลงมา คือคดีเรื่องที่เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ จำนวน 7,972 คดี คดีเรื่องที่เกี่ยวกับการพัสดุ สัญญาทางปกครองฯ 6,084 คดี และคดีเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดิน สาธารณสมบัติของแผ่นดิน 5,635 คดี

“หากพิจารณาในจำนวนเรื่องที่ฟ้องมาก 4 ลำดับแรกดังกล่าว หากจำแนกรายปี พ.ศ. พบว่า คดีเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลฯ มีปริมาณรับเข้าในจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2552 มีปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากหรือประมาณร้อยละ 63.31 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อจำแนกรายเรื่องพบว่า เรื่องการบริหารงานบุคคลเป็นคดีที่ฟ้องมากที่สุด โดยมีจำนวน 4,763 คดี คิดเป็น 44.60% รองลงมาคือเรื่องวินัย จำนวน 3,107 คดี คิดเป็น 29.09% และเรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ จำนวน 1,291 คดี คิดเป็นร้อยละ 12.09% ของคดีในกลุ่มเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลฯ ทั้งหมด” นายอักขราทรกล่าว

สำหรับหน่วยงานรัฐระดับกระทรวงที่ถูกฟ้องคดีปกครองมากที่สุด 10 ลำดับแรก คือ กระทรวงมหาดไทย 13,136 คดี กระทรวงศึกษาธิการ 5,520คดี สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี 4,493 คดี กระทรวงคมนาคม 4,439คดี กระทรวงการคลัง 3,846คดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3,769คดี กระทรวงสาธารณสุข 1,229คดี กระทรวงยุติธรรม 845 คดี กระทรวงอุตสาหกรรม 586 คดี และกระทรวงกลาโหม 480 คดี

สำหรับพื้นที่ที่เกิดคดีปกครอง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนของแต่ละภูมิภาค โดยเมื่อพิจารณาคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น จำแนกตามพื้นที่มูลคดีเกิด พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 47.44% เป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 21.46%ภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 13.57%ภาคใต้ คิดเป็น 11.93% และภาคตะวันออก คิดเป็น 5.60% และหากพิจารณาพื้นที่ภาคกลางซึ่งมีคดีปกครองมากที่สุดจำแนกรายจังหวัดพบว่า กรุงเทพมหานครมีปริมาณคดีปกครองเกิดมากที่สุด โดยมีจำนวน 13,631 คดี คิดเป็น 68.02% ของจำนวนคดีปกครองในพื้นที่ภาคกลาง รองลงมาคือจังหวัดนนทบุรี 1,055 คดี คิดเป็น 5.26% สมุทรปราการ 850 คดี คิดเป็น 4.24% ส่วนจังหวัดในภาคกลางที่มีปริมาณคดีปกครองน้อยที่สุดคือ จังหวัดสมุทรสงคราม มีจำนวน 67 คดี คิดเป็น 0.33% เท่านั้น ทั้งนี้จากปริมาณคดีปกครองดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่พิจารณาได้ว่า ในพื้นที่เมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากย่อมมีโอกาสเกิดคดีปกครองได้มากเช่นกัน

นายอักขราทร กล่าวว่า กว่าที่ศาลปกครองจะโตมาถึงขนาดนี้ ผ่านการพัฒนามาอย่างยาวนาน และแนวโน้มคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลจากนี้ไปคงไม่ต่างไปจากที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลจะเร่งให้รวดเร็ว มีความเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมถึงความน่าเชื่อถือคำพิพากษา ทั้งนี้ คดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และเศรษฐกิจของชาติ ทางศาลได้ยึดมั่นในหลักกฎหมาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและเกิดความสมดุลได้ โดยเฉพาะคดีสิ่งแวดล้อมของมาบตาพุด ซึ่งการตัดสินอะไรต้องดูทั้งสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และต้องดูระหว่างสิทธิของเอกชนที่กฎหมายรับรองกับประโยชน์สาธารณะด้วย

“การตัดสินคดีเช่นนี้ต้องยึดมั่นกฎหมายถือกฎหมายเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และการตัดสินเช่นนี้เราก็ไม่ได้รังแกนักลงทุนเพื่อเอาใจชาวบ้าน เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ต้องวางตัวอยู่ในความถูกต้อง ไม่คิดเอาใจใคร ต้องยึดกฎหมาย ทำให้เกิดความสมดุล ส่วนการแก้ปัญหานั้นหากเราพร้อมใจกันแก้ปัญหาก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ถ้าเราทำสิ่งที่ควรจะทำก็แก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก เรื่องนี้ง่ายกว่าที่คิดเยอะ นอกจากนี้ เท่าที่คุยกับหลายคนก็มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี มีแต่พวกเราเท่านั้นที่มองแปลกๆ เพราะโครงการแบบนี้ไปทำที่บ้านเขาก็คงไม่ได้”

ส่วนเรื่องอนาคตของศาลปกครอง นายอักขราทร กล่าวว่า เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หน้าที่ของเราคือให้ความยุติธรรม ถือเป็นบุญกุศล กว่าปล่อยนกปล่อยปลา แต่ในรูปแบบหากเราพิจารณาให้ถูกต้องรวดเร็วและยุติธรรม และดำรงจุดมุ่งหมายเรื่องความสุจริตได้ตนก็ไม่กังวล ขณะที่เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนนั้น ตนมองว่าเราต้องซื่อสัตย์ แต่ด้วยองคาพยพของศาลเป็นที่จับจ้องและถูกวิจารณ์ได้ตามที่กฎหมายกำหนดก็เป็นเรื่องดี ซึ่งการทำงานรูปแบบองค์คณะทำให้ความเป็นอัตตาของตุลาการไม่แก่กล้าเกินไป เรื่องของอัตตาสังคมไทยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดและพูดถูกต้องอยู่ตลอดเวลา หากลดละเลิกได้สังคมไทยก็จะดีขึ้น เพราะไม่มีใครถูกตลอดเวลา

 

ที่มาข่าว: เว็บไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net