Skip to main content
sharethis

ประชาชนผู้ฟ้องคดี – ทนายความ ยืนยัน “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา “คดีฝุ่นภาคเหนือ” ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งคำอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดตรวจรับเพื่อพิจารณาต่อไป ส่งผลให้คำสั่งศาลที่สั่งให้ทำแผนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือให้แล้วเสร็จใน 90 วัน หลังประชาชนชนะคดีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา มีแววล่าช้าออกไป

 

15 มี.ค. 2567 เวลา 15.15 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นัทมน คงเจริญ, ชนกนันทน์ นันตะวัน, สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือ วัชลาวลี คำบุญเรือง และกรกนก วัฒนภูมิ ตัวแทนทนายความ ร่วมกันชี้แจง กรณี “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ หลังโซเชียลมีเดียมีการแชร์ว่าการยื่นอุทธรณ์คดีของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นข่าวปลอม

ทีมทนายความระบุ จากการตรวจสอบข้อมูลสถานะคดีล่าสุด ในคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเร่งจัดทำแผนฉุกเฉินแก้ไขวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองเชียงใหม่ว่า คดีนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งคำอุทธรณ์และเอกสารสำนวนคดีไปให้ศาลปกครองสูงสุดตรวจรับเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือและทีมทนายความแถลงการณ์ “กรณีฝุ่นภาคเหนือ PM2.5” ระบุ สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือที่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ณ ข้อมูลวันที่ 15 มี.ค. 2567 เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.อุทัยธานี โดยเฉพาะค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 เช้านี้ของเชียงใหม่พุ่งขึ้นไปที่ 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลายเป็นเมืองมลพิษอันดับ 1 ของโลก ควบคู่ไปกับสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ รวมถึงไฟป่าข้ามพรมแดนที่อยู่ใกล้กับจังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM2.5 และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในภาคเหนือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการเลือดกำเดาไหล ระคายเคืองตา มะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น

สถานการณ์ฝุ่นพิษ ไม่เพียงประทุขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ หากแต่เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ภายหลังการฟ้องคดี PM2.5 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทาหรือระงับภัยอันตรายจาก PM2.5 ตามหลักป้องกันล่วงหน้า โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคดีของกลุ่มผู้ฟ้องคดี ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองเชียงใหม่ว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2567 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งคำอุทธรณ์และเอกสารสำนวนคดีไปให้ศาลปกครองสูงสุดตรวจรับเพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป

ด้วยสถานการณ์ฝุ่นภาคเหนือที่วิกฤตอยู่ ณ ขณะนี้ เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือ จึงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ให้มีการยกระดับการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นในระดับวิกฤตหรือใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ตาม มาตรา 9 และบังคับใช้มาตราการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดระดับการสั่งการในระดับที่ 4 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม บังคับใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในสถานการณ์ที่ฝุ่นเหนือวิกฤต ซึ่งเป็นอำนาจฉุกเฉินในทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถสั่งการ ประกาศใช้แผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการกระจายมลพิษ

โดยเห็นว่าต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมลพิษทางอากาศในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือ โดยจะต้องประกอบไปด้วยมาตรการอย่างน้อย 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

หนึ่ง มาตรการด้านสาธารณสุข ต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น หน้ากาก ห้องปลอดฝุ่น โรงพยาบาล เป็นต้น ให้สามารถรองรับต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น

สอง มาตรการการจัดการไฟป่า ต้องมีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่และการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทำงานอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ

สาม มาตรการด้านการสื่อสารกับสาธารณะ ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และประกาศแจ้งเตือนถึงอันตรายอย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องขวนขวายด้วยตนเอง

สี่ มาตรการด้านสังคม ในกรณีที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงต้องมีมาตรการด้านอื่น ๆ รองรับ เช่น การทำงานที่บ้าน การหยุดเรียน เป็นต้น

การสั่งการดังกล่าวจะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐมีระบบการทำงานที่สอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน เป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือในการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม อันรวมถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ปัญหาเรื่องฝุ่น มิใช่กรณีที่สามารถจัดการได้แบบฉับพลันด้วยอำนาจของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การริเริ่มและการผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาลจะเป็นส่วนที่สำคัญต่อการทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะที่ได้แสดงท่าทีต่อการแก้ไขเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นจะต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการผลักดันปัญหาเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ทางผู้ฟ้องคดีจะได้มีการเสนอคำร้องเพื่อให้มีการปฏิบัติตามตามบังคับของของศาลปกครองชั้นต้นที่ ส 1/2567 เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแม้ว่าทางหน่วยงานรัฐจะได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินดังกล่าวก็ตาม โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net