Skip to main content
sharethis

ทีมทนายความคดีฝุ่นภาคเหนือ เผย ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้อง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ระบุ ทั้งสองหน่วยงานไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ. รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ หรือประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การปฏิบัติหน้าที่หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน จึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงต่อความเดือดร้อนเสียหายในคดีฝุ่น PM2.5 ทนายความระบุ กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนจากธุรกิจทางการเกษตร - โรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

5 ม.ค. 2567 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ทีมทนายความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ เผยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ระบุ ศาล กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หรือตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน การปฏิบัติหน้าที่หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงมิได้เป็นผลโดยตรงต่อความเดือดร้อนเสียหายในคดีฝุ่น PM2.5

ประชาชนผู้ฟ้องคดีจึงมิได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของ กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ทำให้ไม่มีสิทธิยื่นฟ้อง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ทั้งนี้ กรกนก วัฒนภูมิ ตัวแทนทนายความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ กล่าวถึงการที่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ว่า ความพยายามในการยื่นฟ้อง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เป็นสิ่งที่เกิดจากการนำแว่นของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) เข้ามา เนื่องจากการแก้ปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือหรือของประเทศไทยไม่สามารถกระทำได้ด้วยกฎหมายเพียงฉบับเดียว ในทางข้อเท็จจริงธุรกิจทางการเกษตรหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากในการปัญหามลพิษข้ามพรมแดน และบทบาทของหน่วยงานในกำกับอย่าง กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีบทบาทสำคัญในการที่จะเข้ามาช่วยเปิดเผยข้อมูลและช่วยควบคุมการทำธุรกิจอย่างเล็งเห็นถึงธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ชนกนันทน์ นันตะวัน ตัวแทนประชาชนผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันและปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือและเชียงใหม่เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายของประเทสไทยยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน ตอนนี้ยังมีการใช้แค่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพียงฉบับเดียว ซึ่งยังครอบคลุมปัญหามลพิษที่ประชาชนต้องเผชิญ ปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือเชื่อมโยงฝุ่นควันในเขตอุตสาหกรรมแปลงใหญ่ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในทุกปีจะมีการเผาและส่งปัญหาฝุ่นควันข้ามจังหวัด ข้ามพรมแดนมาสร้างปัญหามลพาทางอากาศ การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชเศรษฐกิจที่มีการใช้ไฟเกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะกรรมการหรือหน่อยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจด้านการเกษตร ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะมาควบคุมดูแลภาคธุรกิจโดยตรง

วัชราวลี คำบุญเรือง ตัวแทนทนายความ ย้ำว่า กฎหมายปัจจุบันที่ประเทศไทยมีในเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศยังมีเพียงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยยังไม่มีกฎหมายอื่นใดที่จะเข้ามาแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนัก

ศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566

ทั้งนี้ เมื่อ 21 เม.ย. 2566 ประชาชนภาคเหนือรวมตัวกันยื่นฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในภาคเหนือ 17 จังหวัด ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 ซึ่งเป็นอันตรายต่อต่อสุขภาพของประชาชน โดยศาลรับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 3 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผู้ถูกฟ้องที่ 4 คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

นอกจากนี้ศาลปกครองยังไม่รับพิจารณาคำขอท้ายฟ้องข้อ 5 ที่ขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุม (Regulator) กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการจัดทำร้ายงานการเปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดประเด็นเพิ่มเติมในแบบ 56 - 1 One Report หรือกำหนดแบบหรือวิธีการรายงาน ในลักษณะอื่น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทลูก บริษัทย่อย บริษัทร่วมค้า หรือการลงทุนในรูปแบบใดๆ ที่เกี่ยวข้องตามห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในกิจกรรม หลักให้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเปิดเผยอย่างรอบด้านถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ และหรือการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องเผาและเป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะฝุ่น PM2.5 ข้ามพรมแดนกลับมายังประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net