Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายงานจาก “ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน” ต่อสถานการณ์ล่าสุดของผู้ลี้ภัยบ้านหนองบัว และอุสุทะ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่ยังมีการกดดันให้ชาวบ้านอพยพกลับไปฝั่งรัฐกะเหรี่ยง

 

จากที่เมื่อวานนี้ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนได้รายงานสถานการณ์ที่ทหารไทยได้ส่งผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงอุสุทะกลับฝั่งพม่าไปแล้วถึง 26 ครอบครัว (http://gotoknow.org/file/ngaochan/shortnews8feb10.doc ) และเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 ก็มีการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่บ้านหนองบัวจำนวน 3 ครอบครัวเช่นเดียวกัน (http://gotoknow.org/file/ngaochan/shortnews6feb10.doc ) อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างเพิ่มมากขึ้น ทางศูนย์ข่าวฯจึงขอลำดับเหตุการณ์ระหว่างวันที 4-9 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อทหารไทยแอบบังคับ (กดดัน) ผู้ลี้ภัยที่บ้านหนองบัวและอุสุทะกลับมาตุภูมิอย่างละเอียด[1] ดังนี้

 

ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัว : 4 กุมภาพันธ์ 2553

ทหารได้บอกให้ชาวบ้านจำนวน 30 ครอบครัวเตรียมตัวเดินทางกลับฝั่งพม่า โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ถูกทหารเรียกไปถามวันละหลาย ๆ ครั้งว่า “จะกลับหรือไม่กลับ ถ้าไม่กลับก็จะไม่มีที่ให้อยู่ ไม่มีข้าวให้กิน” ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่า “ตนเองถูกไล่อยู่ทุกวี่ทุกวัน” ตัดสินใจบอกทหารว่า “ยินยอมกลับ” ชาวบ้านบางคนให้การว่า “แค่พูดบ่นๆ พึมพำกับตนเองและเพื่อนว่ากลับก็ได้” เมื่อทหารได้ยินคำดังกล่าวก็จะเช็คชื่อทันทีว่า “เป็นผู้ยินยอมพร้อมใจ/สมัครใจกลับพม่า” และบอกว่า “พรุ่งนี้จะมารับไปส่งตอน 7 โมงเช้า”

ตอนเย็นมีชาวบ้านจำนวน 8 ครอบครัวตัดสินใจหนีออกจากหนองบัว เพราะเกิดความกลัวว่าจะถูกส่งกลับ

ตอนหัวค่ำชาวบ้านที่ยังเหลืออยู่ตัดสินใจอีกครั้งว่า “หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรพรุ่งนี้ก็จะไม่ยอมกลับแน่นอน เพราะกลัวที่จะกลับไปตายและอดตาย”

ตีหนึ่งครึ่งทหารถอนกำลังออกจากบ้านหนองบัวทุกนายโดยไม่มีการบอกกล่าว

ตีหนึ่งครึ่งจนสว่างชาวบ้านเกิดความกลัวมาก เพราะพื้นที่พักพิงชั่วคราวอยู่ติดชายแดนชนิดมองเห็นฐานทัพทหารพม่าอีกฝั่งได้ชัดเจน

 

5 กุมภาพันธ์ 2553

เจ็ดโมงเช้า ตามที่ทหารได้นัดไว้ว่าจะมารับผู้ลี้ภัยส่งกลับ ในความเป็นจริงไม่มีทหารแม้แต่นายเดียวปรากฏ

แปดโมงเช้า มีทหารจำนวนหนึ่งกลับเข้ามาที่บ้านหนองบัวและเรียกให้ชาวบ้านที่ลงชื่อไว้ให้รีบเดินทางกลับบ้าน ชาวบ้านสามครอบครัวแรกรวม 12 คน ยอมเก็บของไปกับทหารโดยที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวและคนอื่นไม่ได้เห็นว่าทหารส่งกลับด้วยวิธีการใด ต่อมาทหารย้อนกลับมารับคนที่เหลือ ระหว่างที่ชาวบ้านจำนวนสองครอบครัวกำลังกวีกะวาดเก็บของอยู่ เจ้าหน้าที่ UNHCR ได้เดินทางมาถึงพอดี ทหารกลับถามชาวบ้านว่า "จะเก็บของไปไหน" ชาวบ้านตอบด้วยความงุนงงว่า "อ้าว ก็จะให้กลับไม่ใช่หรือ" ทำให้การส่งกลับยุติ ณ บัดนั้น และชาวบ้านเพิ่งทราบว่า UNHCR ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งกลับนี้ จึงเริ่มกล้าบอกทหารว่า “ไม่กลับ”

การส่งกลับในเช้าวันนี้เป็นไปอย่างรีบเร่ง ชาวบ้านสามครอบครัวแรกยังเก็บของไม่หมดด้วยซ้ำ แต่ทหารก็บอกว่า “ให้กลับมาเก็บตอนเย็น ๆ ก็ได้ แต่ตอนนี้ให้ไปก่อน” แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้กลับเข้ามาในตอนเย็นตามที่ทหารอ้างไว้ในตอนแรก

ตลอดวันนี้ไม่มีทหารที่แต่งเครื่องแบบมาประจำอยู่ที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวเลย มีเพียงทหารนอกเครื่องแบบและมี อ.ส. 1 คน เดินตรวจตราไปมาเท่านั้น ซึ่งถือว่าผิดปกติมาก เพราะทหารที่นี่ไม่ใช่มีหน้าที่เพียง “ควบคุมผู้ลี้ภัยเพียงเท่นั้น” แต่จะต้องทำหน้าที่ "คุ้มครองชาวบ้านด้วย" เพราะพื้นที่ที่นี่อยู่ประชิดประเทศพม่า

 

6 กุมภาพันธ์ 2553

UNHCR เดินทางเข้ามาที่บ้านหนองบัว ทหารได้เข้ามาประจำพื้นที่เรียบร้อยเหมือนเป็นปกติทุกประการดังที่ผ่านมา

ชาวบ้านที่ถูกส่งกลับไปเมื่อวานนี้จำนวน 12 คน เดินทางกลับเข้ามาที่พื้นที่เรียบร้อยแล้ว

การกดดันชาวบ้านผู้ลี้ภัยที่หนองบัวผ่อนคลายลง

เป้าหมายของการส่งกลับชาวบ้านถูกย้ายไปที่อุสุทะแทน

 

ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุสุทะ : 6-8 กุมภาพันธ์ 2553

พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุสุทะ เป็นพื้นที่โดดเดี่ยว ชาวบ้านขาดการติดต่อจากภายนอก และขาดผู้นำ เนื่องจากผู้นำถูกจับ (ตามที่เป็นข่าว อ่านที่ http://gotoknow.org/blog/crossborder-newsagency/322927  ) และผู้นำคนอื่นก็กระจัดกระจายไปอยู่ที่อื่นๆ ชาวบ้านถูกกดดันในลักษณะเดียวกันกับที่บ้านหนองบัว คือ ทหารใช้วิธีการสอบถามและให้ข้อมูลทุกวันว่า “หากยังอยู่ที่นี่จะไม่มีใครให้อยู่ ไม่มีใครให้ข้าว” หรือบางทีก็ถามว่า “จะกลับหรือยัง เมื่อไหร่จะกลับ” เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว และตัดสินใจยินยอมที่จะกลับประเทศพม่ารวม 27 ครอบครัว [2]

 

9 กุมภาพันธ์ 2553

มีคนๆ หนึ่งที่ชาวบ้านตีความ/คาดการณ์/เข้าใจเองว่า เป็นคนจาก Karen Refugee Committee ได้เข้ามาถามว่า ชาวบ้านจะเข้าแคมป์แม่หละหรือจะกลับพม่า แต่ชาวบ้านเกิดความกังวลว่า “ข้อมูลที่ถามนี้ จะเอาไปให้ใคร จะเป็นปัญหาไหม” ชาวบ้านจึงตัดสินใจไม่ตอบคำถามดังกล่าว เพราะอยู่ในสภาพหวาดกลัวมาก เกิดความไม่ไว้วางใจใครทั้งสิ้น

วันนี้มีครอบครัวชาวบ้านที่อุสุทะถูกส่งกลับไปอีก 1 ครอบครัว (อีกแล้ว !)

 


[1] เวลาที่ศูนย์ข่าวฯกล่าวถึงคำว่า “แอบบังคับ (กดดัน)” ในที่นี้มีความหมายเดียวกับคำว่า “Coercion” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง วิธีการของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ได้ใช้อำนาจหรืออิทธิพลบังคับให้คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำตามความต้องการด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้กำลัง ใช้วิธีการทางตรงหรือทางอ้อม ใช้กฎหมาย การบีบบังคับทางใจ ข่มขู่ เป็นต้น ซึ่งมีความแตกต่างอย่างยิ่งกับคำว่า “Force” ที่หมายถึง การใช้กำลังบังคับทางตรงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

[2] จากการรายงานข่าวด่วน : ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (8 กุมภาพันธ์ 2553) ที่ศูนย์ข่าวฯรายงานว่า ที่อุสุทะส่งกลับผู้ลี้ภัยอีกกว่า 26 ครอบครัว‏ จริงๆแล้วที่ถูกต้องคือ 27 ครอบครัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net