Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.) ส่งข้อเสนอถึงนายกฯ รับมือสถานการณ์สงครามเมียวดี ตั้งศูนย์ประสานงานที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดูแลเรื่องสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกันโรค เป็นตัวกลางการเจรจาสันติภาพหาทางออกในประเทศเมียนมาลดผลกระทบต่อไทย ส่วนผู้หนีภัยสงคราม ต้องไม่มีการผลักดันกลับ ชงใช้ ม.19 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ให้อยู่ไทยได้ชั่วคราว

 

12 เม.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (11 เม.ย.) เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.) (Thailand Migration Reform Consortium) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อการมีมาตรการรับมือสงครามเมียวดี ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา โดยเรียกร้องให้ไม่มีการผลักดันผู้หนีภัยสงครามกลับไปเผชิญอันตราย มีการตั้งตั้งศูนย์ประสานงานที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดูแลเรื่องสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกันโรค และเล่นบทเป็นตัวกลางการเจรจาสันติภาพหาทางออกในประเทศเมียนมา

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา กองกำลังต่อต้านทหารพม่า ผสม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) หรือชื่อใหม่ KNA และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ได้ร่วมกันโจมตีและผลักดันค่ายทหารกองพันที่ 355 356 และ 357 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่ปากทางเข้าเมืองเมียวดี และเส้นทางการค้า ถนนเอเชียหมายเลข 1 (เชื่อมไปยังกอกะเร็ก ย่างกุ้ง และยาวไปถึงชายแดนอินเดีย) ออกไปได้

ต่อมา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 เม.ย. 2567 มีรายงานข่าวจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ปีกการเมืองของ KNLA สามารถเข้าไปในค่ายกองพัน 275 หรือค่ายผาซอง ได้แล้ว พร้อมกับเข้ายึดอาวุธและยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ขณะเดียวกัน ทหารของกองพัน 275 ได้เดินทางไปประชิดห่างจากด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก ประมาณ 5 กิโลเมตร รวมถึงการพยายามเสริมกำลังทหารเมียนมาเข้ามาในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงมากขึ้น

ภาพอาวุธของกองทัพพม่าที่ KNU ยึดได้จากค่ายผาซอง หรือค่ายกองพัน 275 (ที่มา: KNU)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ ผลจากการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้หนีภัยสงคราม (ผู้ลี้ภัย) เข้ามาหลบภัยภายในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่ง จำนวน 77 คน อ้างอิงจากแถลงการณ์ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก เรื่อง สถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จังหวัดตาก ฉบับที่ 281 วันที่ 9 เม.ย. 2567 และเมื่อ 9-11 เม.ย. ที่ผ่านมา จากการรายงานสื่อหลายสำนัก ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 (บริเวณตลาดริมเมย) ยังคงมีประชาชนจากฝั่งเมียนมาหลั่งไหลเข้ามาในดินแดนไทย โดยบางส่วนเพื่อประทับหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Border Pass) ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้เพียง 7 วัน แต่หากสถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น และทำให้มีการปิดด่านพรมแดนก็อาจส่งผลให้ชาวเมียนมาที่ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวตกเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย

ทาง คปฐ. จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาลไทย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากสงครามเมียวดี จำนวน 7 ข้อดังนี้ 1. กระทรวงการต่างประเทศ เร่งจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อรับมือสถานการณ์เมียนมา โดยให้มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนรับมือและร่วมตัดสินใจการดำเนินการ

2. กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์สั่งการชายแดนเร่งรัดให้มีการประชุมจัดทำแผนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ รวมถึงการมีมติเสนอให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาอนุญาตเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วน

3. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนให้ดำเนินการตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งได้บัญญัติหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement Principle) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) อย่างเคร่งครัด

4. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเร่งพิจารณาทบทวนแนวทางการอนุญาตให้ผู้หลบหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมเป็นการชั่วคราว เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ

5. กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ชายแดน และรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความรุนแรง  

6. สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้ความเห็นชอบอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลงและมีความจำเป็นที่ต้องหลบหนีความรุนแรง หรือทำงานเลี้ยงชีพ หรือศึกษาต่อ ให้อยู่อาศัยและทำงานได้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้เข้าสู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างเร่งด่วน

7. กระทรวงการต่างประเทศแสดงบทบาทนำในการเปิดพื้นที่เจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านและประสานสมาคมสหประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อเจรจาหาแสวงหาทางออกทางการเมืองจากสงครามการเมืองภายในประเทศเมียนมาเพื่อลดความรุนแรงอันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา

คปฐ. มอง รบ.คาดผู้หนีภัยทะลักมากสุด 1 แสนคน อาจน้อยไป มองไทยต้องแสดงบทบาทตัวกลางเจรจาลดผลกระทบ

วานนี้ (11 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ศิววงษ์ สุขทวี สมาชิก คปฐ. ต่อการประเมินสถานการณ์ มุมมองต่อการจัดการของรัฐบาลไทย และข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมต่อการจัดการผู้ลี้ภัยสงครามที่จะเข้ามา เพราะการต่อสู้ในเขตเมียวดี

ศิววงษ์ ประเมินว่า สถานการณ์ในเมียนมาจะไม่จบโดยง่าย เนื่องจากการบุกยึดเมียวดีของกองกำลังผสม 3 ฝ่ายถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าเมืองเมียวดี เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ผู้อพยพ และการเข้ามาทำงานของแรงงาน ไปจนถึงสินค้าไทยที่จะไปเมียนมา โดยเขาคิดว่าเมียนมาไม่ปล่อยง่าย และมีข่าวว่าจะมีการส่งกำลังเสริมเข้ามาหนุนด้วย ฉะนั้นความรุนแรงจะไม่จบง่ายๆ

ศิววงษ์ มองว่า อีกข้อท้าทายคือตอนนี้กองทัพพม่าไม่ได้มีอำนาจในเมืองเมียวดีแล้ว ดังนั้น กองกำลังผสมจะต้องสถาปนาระบบกลไกการจัดการเมืองขึ้นมาใหม่ให้ได้ ถ้าเกิดมันไม่สามารถทำได้ เมืองมันหยุดนิ่ง มันจะส่งผลต่อความสงบ และความปลอดภัยของเมืองในอนาคต ดังนั้น ต่อให้ไม่มีความรุนแรง แต่ช่วงเวลาที่ยังไม่มั่นคงน่าจะยังมีประชาชนอพยพเข้ามายังฝั่งไทยแน่นอน

ศิววงษ์ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขที่รัฐบาลประเมินว่าจะมีผู้หนีภัยสงครามเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมากสุด 1 แสนคนนั้นอาจเป็นตัวเลขที่ต่ำไป เพราะว่าจากการคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินตัวเลขขั้นต่ำไว้ที่ประมาณ 1 แสนราย โดยจากการประเมินเมื่อปีที่แล้ว (2566) มีตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายในบริเวณชายแดนอยู่ที่ราว 5 แสนคนใน 5 รัฐ ดังนั้น มันมีโอกาสที่จะมีผู้ลี้ภัยเข้ามาในไทยเกิน 1 แสนคนหากมีการปะทะบริเวณชายแดน แต่ตอนนี้ถ้ารัฐบาลตั้งเป้าไว้แค่ 1 แสนคน และเราเตรียมรับมือแค่ 1 แสนคน เราจะมีปัญหาถ้าเราเตรียมตัวไม่พอ ถ้าเราไม่อยากถึงจุดๆ นั้นมันจะถึงจุดที่ไทยจะออกไปทำให้ผู้เกี่ยวข้องในพม่านั่งลงคุยกันให้ได้ เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

เศรษฐา ทวีสิน ประชุมเรื่องปัญหาวิกฤตชายแดน (ที่มา: X Srettha Thavisin)

ให้หน่วยงานท้องถิ่น และระหว่างประเทศเข้ามาช่วยรับมือ

ศิววงษ์ เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานและดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วม จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการปัญชายแดน เขาคิดว่าถ้าย้อนกลับไปดูการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เราจะเห็นรอยร้าวที่เกิดจากการไม่ได้ประสานงานกัน เพราะว่าเราไม่เห็นภาพรวมของสถานการณ์ชายแดน กว่าจะลงตัวว่าใครจะเป็นคนพาเข้าไป ผ่านใครบ้าง มันต้องมีการสำรวจสถานการณ์พื้นที่ชายแดนพอสมควร ไม่รวมกับการเตรียมพร้อมการช่วยเหลือ ดังนั้น ไม่ว่า 100-200 คนจะต้องมีการเตรียมพร้อม และมีการดึงองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างประเทศเข้ามา ซึ่งปัญหาที่พบตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คือหน่วยงานความมั่นคงปฏิเสธการช่วยเหลือให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ พอมีการห้ามไม่ให้เข้าไปพื้นที่ มันเลยมีความล่าช้าว่ามันประเมินสถานการณ์ไม่ออก เข้ามากี่คน อยู่ตรงไหน สถานการณ์เป็นอย่างไร กว่าจะได้เข้าไปใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนแล้ว ซึ่งระหว่างสถานการณ์เฉพาะหน้าเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ การตั้งคณะทำงานอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่น หน่วยงานประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะทำให้การวางแผนการทำงาน ณ ปัจจุบัน เพื่อรับมือกับอนาคตได้ดีกว่าที่ผ่านมา อย่าลืมว่าเรามีประสบการณ์แล้วในการจัดการผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมาในแม่ฮ่องสอน หรือจังหวัดตาก ก็ชัดเจนว่าการมีการมีส่วนร่วมขององค์กรในท้องที่มันทำให้การจัดการทำได้ง่ายขึ้น เสริมข้อจำกัดของภาครัฐได้มากขึ้น การจัดการในวันนี้ไม่ควรย้ำ แผนการเดิมที่ซึ่งเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าไม่เพียงพอในปัจจุบัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ชงใช้มาตรา 19 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ให้ผู้หนีภัยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด หากสงครามยืดเยื้อ

สืบเนื่องจากเมื่อ 10-11 เม.ย. ที่ผ่านมา หลายสื่อรายงานว่ามีประชาชนฝั่งเมียนมาเข้าคิวยาวตั้งแต่เช้าเพื่อข้ามมาฝั่งไทยด้วยการประทับตรา ‘Border Pass’ เนื่องจากกังวลผลกระทบจากความรุนแรง และจะกลับไปเมื่อเหตุการณ์สงบลง อย่างไรก็ตาม หากสงครามยืดเยื้อและมีการโจมตีในเมืองเมียวดี อาจทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางเพื่อไปต่ออายุ ‘Border Pass’ ได้ และไทยควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมา

ประชาชนจากฝั่งเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง รอข้ามแดนในช่วงเช้าวันนี้ (10 เม.ย. 67) (ที่มา: นักข่าวพลเมือง)

ศิววงษ์ กล่าวว่า ไทยสามารถใช้มาตรา 19 พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2558 กรณีที่มีข้อสงสัยว่าเข้าเมืองถูกต้องหรือไม่ มีข้อพิสูจน์ว่าเข้ามาด้วยเหตุผลอะไร ทำไมต้องหนีเข้ามาทางเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถให้คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ที่กำหนดได้ชั่วคราว สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องผ่าน ครม. แต่เป็นอำนาจของ ตม. โดยที่ผ่านมามักจะใช้ในสนามบินเท่านั้น คือตรวจพาสสปอร์ตแล้ว VISA มีปัญหาสงสัย ให้อยู่ในสนามบินไปก่อน

สมาชิก คปฐ. กล่าวว่า ข้อเสนอคือว่า เราอยากให้มีการใช้ในพื้นที่ตรงนั้นเลย สมมติด่านถูกปิด หรือมีการเดินทางแบบฉุกเฉินแบบไม่ปกติ โดยเป็นหนีภัยเข้ามาให้ใช้มาตรา 19 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแทน แต่ทาง ตม.ต้องมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศให้ดีว่าจะขอใช้มาตรานี้ก่อนได้ไหม ซึ่งไทยต้องกล้าที่จะใช้ หรือให้ศูนย์สั่งการชายแดนแม่สอด จ.ตาก ให้เรียกประชุมกรณีที่ ตม.ไม่สามารถประชุมได้ทัน ให้ศูนย์สั่งการชายแดนให้ ตม.ใช้อำนาจตาม ม.19 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ในการให้คนอยู่พื้นที่ชั่วคราว

ส่วนการจัดพื้นที่ชั่วคราวนั้น ศิววงษ์ เสนอให้ตัวแทนการปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของศูนย์สั่งการชายแดน และมากำหนดอีกทีว่าจะใช้พื้นที่ไหนที่จะเหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนในเรื่องนี้ด้วย

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก

เรียน ฯพณฯ ท่าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

เรื่อง ขอให้เร่งเตรียมความพร้อมในการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก

จากสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประกอบด้วยกองกำลังผสมจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่รอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสามารถเข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้อย่างต่อเนื่องจนทำให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) เข้ามาหลบภัยภายในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่ง จำนวน 77 คน จากแถลงการณ์ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก เรื่อง สถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จังหวัดตาก ฉบับที่ 281 วันที่ 9 เมษายน 2567

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานงานขออนุญาตนำเครื่องบินโดยสารเหมาลำ ATR 72-600 ของสายการบิน Myanmar National Airlines (MNA) มาลงที่สนามบินแม่สอดระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2567 เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสิ่งของรวมทั้งหมด 3 เที่ยวบิน แต่ก็พบว่ามีการนำเครื่องบินมาลงเพียงเที่ยวบินเดียวในคืนวันที่ 7 เมษายน 2567 ซึ่งจากคำแถลงของหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีหลักฐานให้ประชาชนทราบชัดเจนว่าเป็นการขนส่งผู้โดยสารหรือสิ่งของประเภทใด

จากรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุด (วันที่ 10 เมษายน 2567) ยังคงมีการปะทะกันอย่างรุนแรงบริเวณฐานที่มั่นค่ายผาซอง กองพันทหารราบที่ 275 สหภาพเมียนมา ห่างจากแนวชายแดน 5 กิโลเมตร รัฐบาลทหารเมียนมายังใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกลุ่มต่อต้านเพื่อคุ้มครองฐานที่มั่นค่ายผาซอง เมื่อเวลา 04.00 น. ทำให้เกิดเพลิงไหม้อาหารใกล้ถนนเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ห่างจากพรมแดนแม่สอดประมาณ 5 กิโลเมตร รวมถึงการพยายามเสริมกำลังทหารเมียนมาเข้ามาในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงมากขึ้น

ขณะที่ด่านพรมแดนแม่สอดทั้ง 2 แห่ง ยังคงเปิดทำการปกติ มีชาวเมียนมาจำนวนมากพากันเดินทางข้ามมาจากเมืองเมียวดีโดยบางส่วนเพื่อประทับหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Border Pass) ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้เพียง 7 วัน แต่หากสถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น และทำให้มีการปิดด่านพรมแดนก็อาจส่งผลให้ชาวเมียนมาที่ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวตกเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.) เห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนตรงข้ามจังหวัดตากมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การไหลบ่าเข้ามาของชาวเมียนมาเพื่อหลบหนีสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยให้เร่งเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. กระทรวงการต่างประเทศ เร่งจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อรับมือสถานการณ์เมียนมา โดยให้มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนรับมือและร่วมตัดสินใจการดำเนินการ

2. กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์สั่งการชายแดนเร่งรัดให้มีการประชุมจัดทำแผนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ รวมถึงการมีมติเสนอให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาอนุญาตเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วน

3. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนให้ดำเนินการตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งได้บัญญัติหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement Principle) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) อย่างเคร่งครัด

4. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเร่งพิจารณาทบทวนแนวทางการอนุญาตให้ผู้หลบหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมเป็นการชั่วคราว เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ

5. กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ชายแดน และรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความรุนแรง  

6. สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้ความเห็นชอบอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลงและมีความจำเป็นที่ต้องหลบหนีความรุนแรง หรือทำงานเลี้ยงชีพ หรือศึกษาต่อ ให้อยู่อาศัยและทำงานได้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้เข้าสู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างเร่งด่วน

7. กระทรวงการต่างประเทศแสดงบทบาทนำในการเปิดพื้นที่เจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านและประสานสมาคมสหประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อเจรจาหาแสวงหาทางออกทางการเมืองจากสงครามการเมืองภายในประเทศเมียนมาเพื่อลดความรุนแรงอันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net