Skip to main content
sharethis

 

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในภาคตะวันออกจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลให้รัฐบาลต้องรีบตัดสินใจในเรื่องทิศทางการพัฒนาประเทศไปด้วย โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากความต้องการขยายตัวของอุตสาหกรรมมีอยู่ตลอดเวลา แต่ภาคตะวันออกไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้สะดวก ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น การคัดค้านของชาวบ้าน รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น เรื่องการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือ เอชไอเอ(HIA)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในงานสมัชชาประชาชน ประชาธิปัตย์ 2552 “เชื่อมั่นประเทศไทย เชื่อมั่นประชาธิปัตย์” ที่พรรคประชาธิปัตย์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 -13 ธันวาคม 2552 ที่โรงแรมเจ.บี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามผู้เข้าร่วมประชุมถึงทิศทางการพัฒนาภาคใต้ว่า จะเอาหรือไม่เอาอุตสาหกรรมอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่นายอภิสิทธิ์มีคำถามเช่นนี้ต่อคนใต้ผ่านเวทีสาธารณะ โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ระเดินทางลงมาพบกับภาคเอกชนภาคใต้ที่อำเภอหาดใหญ่ ครั้งสองในงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน”เมื่อวัน 29 พฤศจิกายน 2552 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

เป็นคำถามที่เหมือนต้องการให้คนใต้รีบให้คำตอบ รัฐบาลจะได้ตัดสินใจว่าทิศทางการพัฒนาภาคใต้จะไปทางไหน ในขณะที่ปัจจัยด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน การก่อสร้างรถไฟและท่อส่งน้ำมันกำลังถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อไป เช่นเดียวกับพื้นที่ขนาดใหญ่ยักษ์ที่ต้องใช้เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนักจะมีความชัดเจนมากขึ้นในไม่ช้าจนน่าตกใจ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุมวันแรกท่ามกลางผู้ร่วมงานจากพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคจำนวนมาก โดยถามผู้เข้าร่วมประชุมถึงทิศทางการพัฒนาภาคใต้ด้วยว่า มีความเห็นอย่างไรกับการพัฒนาภาคใต้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกถึงจุดอิ่มตัว และภาคธุรกิจอยากให้การลงทุนเหล่านั้นมาขยายต่อที่ภาคใต้ในโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด แต่ก็อยู่กับคนภาคใต้ว่า ประชาชนมีความต้องการจริงหรือไม่ เบื้องต้นในส่วนของฝั่งอันดามันนั้นมีเพียงจังหวัดสตูลที่มีเสียงตอบรับ โดยไม่กังวลเรื่องท่องเที่ยวเหมือนจังหวัดอื่นๆ ส่วนฝั่งอ่าวไทยได้มีเพียงจังหวัดสงขลา ขณะที่จังหวัดอื่นๆ นั้นมีเสียงสะท้อนในการคัดค้านเป็นส่วนใหญ่

เช่นเดี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เริ่มมีการศึกษาหาสถานที่ก่อสร้างแล้วเกิดการต่อต้านจากชุมชน ก็ต้องหาคำตอบว่าถ้าไม่เอาพลังงานนิวเคลียร์แล้วจะเอาพลังงานใดมาใช้ในอนาคต แต่หากทั้ง 2 เรื่องนี้ประชาชนมีความต้องการจริง รัฐบาลจะกวดขันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวไว้มีดังนี้ว่า ประวัติศาสตร์การเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มักเป็นรัฐบาลในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญวิกฤตปัญหา เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล หลังจากที่เป็นพรรคฝ่ายค้านมาร่วม 7 – 8 ปี บ้านเมืองกำลังมีปัญหาใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อน

ปัญหาที่เกิดขึ้น กล่าวคือ 1.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายปี และหลายฝ่ายยังมองไม่เห็นทางออก 2.การเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ทำให้การส่งออก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่เคยเติบโตกลับติดลบ 20-30%

การเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังว่า จะสามารถนำพาบ้านเมืองฝ่าวิกฤตเหล่านี้ไปได้ ซึ่งทางพรรคเองได้เล็งเห็นและตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และได้ริเริ่มวาระของประชาชนขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งผลการทำงานเกือบครบ 1 ปีนั้น รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายได้เกือบทุกด้านภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของสภาที่ถือว่า เป็นยุคแรกที่ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมทุกครั้งที่จะมีการลงคะแนนในทุกๆ เรื่อง

อย่างไรก็ตาม การทำงานของรัฐบาลนั้นก็ยังถือว่าสามารถผลักดันการแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่นำไปใช้รองรับการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้มากกว่า 2 รัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีทั้ง พ.ร.บ.(พระราชบัญญัติ), พ.ร.ก.(พระราชกำหนด) ที่ผลักดันมาจากสภานั่นเอง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนี้ได้เป็นไปตามเป้าหมาย จากที่เศรษฐกิจติดลบตั้งแต่ต้นปี กลับฟื้นตัวขึ้นมาทุกๆ ไตรมาส จาก -7.1, -4.5 และ -2.8 ตามลำดับ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะเป็นบวกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เข้ามาแก้ไขปัญหาโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกๆ ทางผสมผสานกัน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เป็นต้น แม้ว่าช่วงแรกจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมา จะใช้โครงการขนาดใหญ่เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ครั้งนี้เราเปลี่ยนวิธี เพราะเห็นว่าโครงการขนาดนั้นใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเกิดขึ้นได้ ผลตอบรับทำให้สามารถหยุดยั้งวิกฤตไม่ให้ฉุดเศรษฐกิจดิ่งถลำลึกลงได้ และมีตัวเลขผู้ตกงานเพียง 458,000 คนจากที่มีการประเมินไว้ในตอนแรกสูงถึง 1 ล้านคน และภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีอาจจะติดลบแค่ 3% เท่านั้น

“ถึงแม้จะมีความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่ร้ายแรงที่สุด แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เสียสมาธิกับการแก้ปัญหาประชาชน และไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบกติกา เพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับการแสดงออกทางการเมืองอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ในด้านการท่องเที่ยวก็เช่นกัน จากสถิติยอดนักท่องเที่ยวในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมามากถึง 12.4 ล้านคน และภายในสิ้นปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะสามารถกระตุ้นให้ยอดนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มเป็น 14 ล้านคนตามเป้าไม่ได้ แม้ว่าผลกระทบในช่วงแรกทำให้ยอดนักท่องเที่ยวหายไป 20-30% ก็ตาม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าโครงการไทยเข้มแข็งว่า ได้มีการใช้จ่ายพัฒนาประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว 3.5 แสนล้านบาท และยังเหลืออีก 4 แสนล้านบาทที่รอการมีส่วนร่วมของประชาชนนำเสนอเพื่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ โดยรัฐบาลมีโครงการที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แน่นอนที่สุดคือโครงการรถไฟรางคู่ โดยเน้นความปลอดภัย และเพิ่มขีดความเร็ว 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากปัจจุบันวิ่งเร็ว ประมาณ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 5 จังหวัดชายแดนใต้นั้น ถือว่าการทำงานของรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเดินไปตามเป้าที่วางไว้ ทั้งในกฎหมายที่จะรองรับการปรับปรุง ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ได้ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 แล้ว นอกจากนี้ก็มีการจัดทำแผนพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากล่างขึ้นบน ร่วมด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอีกไม่ช้านี้โครงการก่อสร้างถนนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เคยค้างคาไว้ จะทยอยเปิดให้บริการประชาชนอย่างแน่นอน

ในส่วนความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้านดั่งเช่นมาเลเซียนั้น นับว่าดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียมีความเข้าใจไทยเป็นอย่างมาก และยังแสดงความมั่นใจและเห็นด้วยกับนโยบายที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินอยู่ ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องภายในประเทศที่มาเลเซียไม่เคยแทรกแซง และยังแสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนไทยอีกต่างหาก

“แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีที่นั่งในภาคใต้มายาวนาน แต่เวลานี้ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) บางคน บางเขตอยู่เหมือนกัน การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องได้เก้าอี้เพิ่มขึ้นให้ได้ โดยการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนจะต้องสามารถตอบโจทย์ให้ได้ ซึ่งนั่นจะเป็นคำตอบเช่นกันว่า ครั้งหน้าจะมีที่นั่งครบในภาคใต้หรือไม่ ซึ่งถ้าเรายังไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ แม้แต่ที่นั่งในจังหวัดที่ไม่น่าจะพลาดก็มีโอกาสชวดเหมือนกัน” นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย
........
หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซด์ผู้จัดการออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net