Skip to main content
sharethis

เครือข่ายวิชาการ ร่วมกับเครือข่ายประชาชนเจ้าของปัญหาในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ อาทิ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ศูนย์ประสานงาน จ.นครศรีธรรมราช) หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ได้รับผลกระทบกรณีท่าเรือเชฟรอน อ.ท่าศาลา เพื่อขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล โรงงานแยกแก๊สไทย-มาเลเซีย ที่ อ.จะนะ สงขลา การท่องเที่ยวเรือสำราญ (เรือยอร์ช) ที่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ เตรียมจัดเวทีวิชาการ ถกปัญหาแผนพัฒนาขนาดใหญ่ และสถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้ เวทีวิชาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการชุมชุมเคลื่อนไหวใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ในชื่อปฏิบัติการ ‘เพชรเกษม 41’ โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช ในประเด็น “การแย่งชิงทรัพยากรจากท้องถิ่น ในบริบทโลกาภิวัตน์ : สถานการณ์ของการไร้คำอธิบายและทางออก” ดร.เลิศชาย ศิริชัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ประสานในการจัดประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า “ปัญหาของพี่น้องประชาชนภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการแผนพัฒนาขนาดใหญ่ สถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างซับซ้อนมาก จนไม่สามารถใช้ความคิดเดิมอธิบายได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะแบบเดิมได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันถกเถียงเพื่อก้าวผ่านสู่วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ดร.เลิศชาย ศิริชัย กล่าวต่อว่า “ในเวทีนี้จะมีการนำเสนอปัญหาในแง่มุมใหม่ๆ ของชาวบ้านหลายกรณีศึกษาในภาคใต้ มีนักวิชาการจากทุกภาคร่วมถกเถียง เช่น ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อาภา หวังเกียรติ ม.รังสิต ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรีม.เชียงใหม่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ม.มหาสารคาม และนักวิชาการจากภาคใต้อีกหลายคน เช่น ผศ.ประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์ มอ.สงขลานครินทร์ อ.วิทยา อาภรณ์ และ ผศ.ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” “ในเวทีนี้ให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของปัญหาและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมได้นำเสนอปัญหาและการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่เกิดขึ้น โดยเน้นเรื่องที่คนภายนอกยังไม่รู้หรือรู้น้อย เผยแพร่ให้นักวิชาการและภาคประชาสังคมที่สนใจได้รับฟังข้อมูลจากเจ้าของปัญหา และร่วมถกเถียงกันเพื่อให้เห็นประเด็นและมุมมองใหม่ๆ สำหรับทำความเข้าใจปรากฏการณ์ โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องการวิจัยทางสังคมวิทยา ซึ่งน่าจะได้สรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับความซับซ้อนของปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรและมุมมองที่ควรได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์” ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิชาการอิสระและนักกิจกรรมทางสังคมที่เกาะติดปัญหาการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ กล่าวว่า “แท้จริงมีอีกหลายเรื่องที่สังคมยังไม่มีการอธิบายหรือทางออก หรือเข้าใจที่มาที่ไป สังคมจะเห็นเพียงการเคลื่อนไหวคัดค้านของพี่น้องประชาชน แท้จริงแล้วยังมีข้อมูลอีกมากในการเข้ามาอย่างไม่เป็นธรรม การสร้างมายาคติโฆษณาชวนเชื่อ ใช้อิทธิพลของผลประโยชน์ นำไปสู่ความขัดแย้ง รุนแรงและบานปลาย อีกส่วนหนึ่งพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มักเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เพราะยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าจากการพัฒนา ดังนั้น จึงเป็นทางออกของสังคมอีกทางหนึ่งในการอธิบายทางวิชาการให้สังคมรับรู้ปัญหาและเข้าใจมากขึ้น นักวิชาการก็ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านเคลื่อนไหวตามลำพัง หรือ เป็นผู้ศึกษาให้เกิดโครงการเสียเอง” ประสิทธิ์ชัย ยังกล่าวเสริมอีกว่า “โดยส่วนตัวคาดหวังกับทางวิชาการเพื่อลุกขึ้นมาอธิบายสังคม ชัดๆ และตรงประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ สร้างวาระทางวิชาการต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะเวลานี้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน รัฐมนตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยับเชิงรุกและส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น อีกทั้งท่าทีของชาวบ้านที่รู้ทันกลไกของรัฐจัดขบวนเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นขบวนใหญ่ ดังปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ที่ผ่านมา” ประสิทธิ์ชัยกล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net